Brand History
หนึ่งในแบรนด์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกในที่ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยี และยังเป็นแบรนด์ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกแบรนด์หนึ่ง อย่าง Amazon ที่มีจุดเริ่มต้นจากการขายหนังสือออนไลน์ธรรมดาๆในปี ไปสู่เว็บไซต์ที่โด่งดังอย่าง Amazon.com ที่เป็นแหล่งรวมสินค้าแทบทุกประเภทมีฐานลูกค้าอยู่ทั่วทุกมุมโลก มีระบบคลาวด์อย่าง AWZ ที่มีผู้ใช้งานทั่วโลก และแตกไลน์ธุรกิจออกไปอีกหลายอย่าง โดยในปี 2023 แบรนด์ Amazon มีมูลค่ากว่า 276,929 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่ามากที่สุดอันดับ 3 ของโลก (จัดอันดับโดย Interbrand) แล้วที่มาที่ไปของ Amazon นั้นเป็นอย่างไร เรามาดูกันในบทความนี้ครับ
จากร้านขายหนังสือออนไลน์สู่แบรนด์ระดับโลกที่ชื่อ Amazon กับเบื้องหลังการตั้งชื่อแบรนด์
ก่อนจะมาเป็นแบรนด์ที่ชื่อ Amazon นั้น เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ได้เริ่มธุรกิจด้วยการขายหนังสือออนไลน์ตั้งแต่ปี 1994 ซึ่งในตอนนั้นเขาก็คิดเอาไว้แล้วว่ามันจะกลายเป็นธุรกิจที่ใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยแรกเริ่มเดิมที Amazon มีชื่อว่า Cadabra (มาจาก Abracadabra) หรือแปลออกมาได้ว่าเป็นคาถาเวทมนต์อะไรสักอย่างที่ไม่ได้มีความหมายชัดเจน และทนายของเจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) เองก็บอกว่าชื่อเวทมนต์มันดูคลุมเครือไป และคนทั่วไปที่ได้ยินชื่อทางโทรศัพท์ก็ได้ยินชื่อผิดเพี้ยนมาโดยตลอดจนกลายเป็น Cadaver ที่แปลว่า “ศพ” ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องดีเอาซะเลยกับการตั้งชื่อของแบรนด์
เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) และภรรยาของเขาจึงเริ่มคิดที่จะจดทะเบียนชื่อโดเมนใหม่เพื่อโอกาสในการขยายศักยภาพของธุรกิจ โดยมีการจดทะเบียนชื่อโดเมนเอาไว้หลายชื่อ เช่น Awake.com, Browser.com และ Bookmall.com และเขายังจดทะเบียนชื่อโดเมน Relentless.com เก็บไว้อีก เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ยังพยายามเปิดดิกชันนารีเพื่อหาแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อ และเขาก็เกิดสะดุดตากับคำหนึ่งที่ชื่อว่า Amazon และมันก็เป็นชื่อที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะเขาจินตนาการว่าร้านค้าออนไลน์ของเขาจะกลายเป็นร้านค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก เหมือนกับแม่น้ำอเมซอนที่เป็นแม่น้ำสายหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก และนั่นก็คือปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังของ Amazon.com ที่กลายเป็นร้านที่ขายทุกสิ่งอย่าง โดยเริ่มที่การขายหนังสือออนไลน์ซึ่งค่อนข้างหาง่ายนำมาบรรจุและส่งมอบให้ผู้ซื้อได้ง่าย
ความแตกต่างที่ Amazon.com มีก็คือความสะดวกสบายที่มากขึ้น ตามรูปแบบการส่งคำสั่งซื้อออนไลน์โดยตรงไปยังที่อยู่ของลูกค้าที่อยู่ทั่วโลก อย่างที่เราทราบกันดีว่าในปัจจุบัน Amazon เป็นมากกว่าหนังสือ และไม่ได้เป็นเพียงผู้ค้าปลีกออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) จินตนาการว่า Amazon จะกลายเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีที่ทำให้การทำธุรกรรมออนไลน์เป็นเรื่องง่ายๆสำหรับลูกค้า
นอกจากหนังสือแล้ว Amazon ขายอะไรอีกบ้าง
แผนธุรกิจของเจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) นั้นไม่ใช่แค่เพียงการขายหนังสือ โดยในปี 1998 ก็เริ่มนำเอาเกมคอมพิวเตอร์และเพลงมาขาย และได้ขยับขยายธุรกิจไปยังการซื้อหนังสือออนไลน์จากร้านค้าในประเทศอังกฤษและเยอรมนี ซึ่งเป็นการเปิดตัวสู่ความเป็นสากลนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ในช่วงต้นยุคปี 2000 Amazon ก็เริ่มต้นการขายสินค้าแทบทุกประเภท ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้า เกม โปรแกรมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ของเล่น และอื่นๆอีกมากมายนับไม่ถ้วน และอีกหนึ่งบริการที่สร้างผลกำไรให้กับ Amazon นั่นก็คือ Amazon Prime บริการพิเศษสำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกของ Amazon ที่ช่วยให้ผู้ซื้อได้รับสินค้าเร็วมากยิ่งขึ้นและไม่มีขั้นต่ำในการสั่งซื้อสินค้า ในรูปแบบการสมัครสมาชิกรายปีซึ่งเปิดตัวในปี 2005 จนไปสู่การเปิดตัว Prime Video ในเวลาต่อมา
ในช่วงปี 2006 Amazon ก็เปิดตัวระบบคลาวด์อย่าง Amazon Web Service หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ AWS จนทำให้ Amazon กลายเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ไม่ใช่ผู้ค้าปลีกออนไลน์หรือเว็บไซต์ E-Commerce เพียงอย่างเดียว หลังจากนั้น Amazon ก็ได้ขยายพอร์ตโฟลิโอของ AWS ด้วย Elastic Computer Cloud (EC2) และได้เปิดตัว Simple Storage Service (S3) ตามมา ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ของบริษัทได้อย่างมาก
Source: radixweb.com/aws-development
ในปี 2007 Amazon ก็ได้เปิดตัว Kindle E-reader หรือเครื่องอ่าน eBook เครื่องแรก ซึ่งเป็นแท็บเล็ตมือถือที่มีราคาค่อนข้างต่ำ เพื่อมากระตุ้นตลาด eBook และภายในปี 2012 Kindle สร้างยอดขายได้ประมาณ 50% ของยอดขายแท็บเล็ตที่ใช้ Android ทั้งหมด และ Amazon ก็ได้ประกาศว่า ยอดขาย eBook บนเว็บไซต์มียอดขายมากกว่าหนังสือฉบับพิมพ์ทั่วไปเสียด้วยซ้ำ ตั้งแต่นั้นมา Amazon ก็ขยายไปสู่บริการอื่นๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการขนส่งผักผลไม้สด การจัดส่งด้วยโดรน และนวัตกรรมด้านอื่นๆ
Source: radixweb.com/aws-development
หนึ่งในการเติบโตอย่างที่สุดของ Amazon นั่นก็คือ การเข้าซื้อกิจการที่มีมากกว่า 99 ธุรกิจในหลากหลายประเภท เช่น ธุรกิจด้านดิจิทัล ธุรกิจ E-Commerce ธุรกิจสายเทคโนโลยี และอื่นๆ ที่ใช้เงินไปมากกว่า 36.9 พันล้านเหรียญเลยทีเดียว
และวันที่ 5 กรกฎาคม ปี 2021 เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ก็ก้าวลงจากตำแหน่ง CEO ของ Amazon เพื่อมุ่งเน้นไปที่บริษัทด้านการบินและอวกาศอย่าง Blue Origin ในขณะที่ Amazon ก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ผลิตภัณฑ์ที่ Amazon ทำแล้วไม่ปัง
ไม่ใช่ว่าแบรนด์อย่าง Amazon จะผลิตอะไรออกมาแล้วขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่ก็มีอีกหลายๆผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมาแล้วกลับกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำเงินจนต้องปิดตัวไปอย่างน่าเสียดาย เช่น มือถือสมาร์ทโฟนที่ชื่อ Fire Phone ที่ออกมาในปี 2014 ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่ไม่สามารถสู้กับระบบอย่าง iPhone และ Android ได้เลย แม้จะขายในราคาแค่ 99 เซ็นต์แล้วก็ตาม ทำให้ Amazon สูญเงินไปกว่า 170 ล้านเหรียญ และ Fire Phone ก็หายไปจาก Amazon.com ในช่วงเดือนกันยายน เป็นต้นมา
นอกจากนั้นยังมี Destinations ที่เป็นแพลตฟอร์มขายดีลห้องพักโรงแรม Amazon Local แพลตฟอร์มเอาไว้หาดีลที่พัก ร้านอาหาร สปา และความบันเทิงต่างๆ Amazon Wallet รวมไปถึง Music Importer ที่สามารถอัพโหลดเพลงออนไลน์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ และยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ไม่ประสบความสำเร็จและปิดตัวลงในไม่กี่เดือนหลังจากออกสู่ตลาด แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ Amazon สะดุดเพราะธุรกิจหลักๆนั้นถือว่าแข็งแกร่งค่อนข้างมาก
สรุป Timeline สำคัญๆถึงการเติบโตของแบรนด์ Amazon
- 1994: เริ่มก่อตั้ง Amazon ที่ขายหนังสือออนไลน์
- 1997: เข้าสู่ IPOs ราคา $18.00 / share
- 1998: เริ่มขยายสู่ธุรกิจอื่นๆที่มากกว่าหนังสือ
- 1999: เปิดตัว zShops
- 2005: เปิดตัว Amazon Prime
- 2006: เปิดตัว Amazon Web Services (AWS)
- 2006: เปิดตัว Amazon Kindle
- 2007: เปิดตัว Amazon Music
- 2008: เข้าซื้อกิจการ Audible
- 2009: เข้าซื้อกิจการ Zappos
- 2011: เปิดตัว Amazon Instant Video
- 2011: เปิดตัว Amazon Appstore
- 2012: เข้าซื้อกิจการ Kiva Systems
- 2013: เข้าซื้อกิจการ GoodReads
- 2013: Amazon เปิดตัวในประเทศอินเดีย
- 2014: เปิดตัว Kindle Fire
- 2014: เข้าซื้อกิจการ Twitch
- 2015: เปิดตัว Amazon Underground
- 2015: เปิดตัวร้านค้าจริงๆที่ไม่ใช่ออนไลน์เป็นครั้งแรก (นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ Amazon)
- 2016: เปิดตัว Amazon Prime Air
- 2017 เข้าซื้อกิจการ Whole Foods
- 2018: เข้าซื้อกิจการ PillPack
- 2019: ครบรอบ 25 ปี ของการก่อตั้ง
- 2021: เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ก้าวลงจากตำแหน่ง CEO
- 2022: เข้าซื้อกิจการ MGM
Source:
www.interestingengineering.com/culture/a-very-brief-history-of-amazon-the-everything-store
www.history.com/this-day-in-history/amazon-opens-for-business
www.officetimeline.com/blog/amazon-history-timeline
www.thestreet.com/investing/stocks/here-are-10-of-amazon-s-biggest-failures-13364106