หลายคนคิดอยากมีแบรนด์เป็นของตัวเอง โดยเฉพาะในยุคนี้ที่เป็นยุคของ Entrepreneur ที่หลายๆคนก็อยากจะมีกิจการเป็นของตัวเอง เรามาทำความรู้จักกันสักนิดว่าโดยทั่วไปการสร้างแบรนด์นั้นมีระดับไหนกันบ้าง และเราอยากจะสร้างแบรนด์ของเราให้ไปอยู่ในจุดไหน โดยในระดับแรกเราเรียกว่า
แบรนด์ที่แทบจะไม่มีตัวตน (Brand Absence)
โดยสถิติได้บอกว่ากว่า 97% ของผู้ประกอบการใหม่ๆนั้นอยู่ในระดับนี้ อาจเป็นเพราะผู้ประกอบการยังไม่เห็นความสำคัญของการสร้างแบรนด์ หรือคิดแค่เพียงจะขายสินค้าให้ได้กำไรแบบรวดเร็ว ฉาบฉวย ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถจดจำแบรนด์ได้อย่างชัดเจน หรืออาจจะไม่มีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราก็ไม่อยากจะอยู่ในระดับนี้กันใช่ไหมครับ
การสร้างการรับรู้ (Brand Awareness)
นับเป็นขั้นแรกของการเริ่มสร้างแบรนด์ ซึ่งทุกแบรนด์ต้องผ่านจุดนี้ก่อน แต่ในความเป็นจริงการรับรู้ว่ามีแบรนด์ของเราอยู่ในตลาดยังไม่เพียงพอ เพราะในยุคนี้มีคู่แข่งมากมาย ที่พร้อมจะปลิดชีวิตแบรนด์ของเราได้อยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นการซื้อโฆษณาผ่านช่องทางต่างๆอาจไม่เพียงพอ และไม่ได้การันตีว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้
ความชื่นชอบในตัวแบรนด์ (Brand Preference)
เป็นเรื่องปกติที่เจ้าของแบรนด์อยากให้ลูกค้าชื่นชอบในสินค้าหรือบริการของเรา จนถึงขั้นที่เลือกแบรนด์เราเป็นลำดับต้นๆ เพราะเมื่อลูกค้าชอบเราเค้าก็จะมาหาเรา แต่มีข้อสังเกตที่ว่า แม้ว่าลูกค้าจะชื่นชอบในแบรนด์เราแล้ว เค้าก็มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนใจได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น การบริการหลังการขายที่ไม่รวดเร็ว ลูกค้ารอนาน สินค้ามีข้อบกพร่องซ้ำซาก สาเหตุเหล่านี้อาจทำให้ความชื่นชอบนั้นหมดไป แล้วหันไปหาแบรนด์คู่แข่งได้ เพราะแค่ความชื่นชอบระดับผิวเผินอาจไม่เพียงพอ มีความเสี่ยงที่จะถูกคู่แข่งคว้าตัวไป
ความยึดมั่นในตัวแบรนด์ (Brand Insistence)
ขั้นที่เรียกว่าแทบจะไม่เปลี่ยนใจไม่จากแบรนด์ของเรา เนื่องจากผู้บริโภคยึดมั่น เชื่อมั่นในแบรนด์ของเราด้วยเหตุผลบางอย่าง จนกลายเป็นความภักดีในตัวแบรนด์ (Brand Loyalty) ทุกครั้งที่คุณจะดื่มกาแฟจะต้องเป็น Starbucks เท่านั้น ซึ่งกว่าแบรนด์จะมาถึงจุดนี้ได้ต้องเรียกได้ว่า มีความแข็งแกร่งมาก ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีจากแบรนด์ในทุกๆมิติ เป็นยอดปรารถนาของทุกแบรนด์
ผู้สนับสนุนแบรนด์ (Brand Advocacy)
ผมขอเรียกว่าสาวกละกันครับที่ทุกแบรนด์อยากมี เรียกได้ว่าเป็นจุดสูงสุดจุดหนึ่งของการสร้างแบรนด์ๆหนึ่งเลยก็ว่าได้ สิ่งที่แน่นอนคือลูกค้าจะไม่เปลี่ยนใจไปไหน และยังบอกต่อให้กับเพื่อนรอบข้าง ที่สามารถสร้างให้เกิดความน่าเชื่อถือได้มากกว่ากิจกรรมทางการตลาดในรูปแบบอื่นๆ แถมยังเสียเงินในการทำการตลาดที่น้อยลงอีกด้วย แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว
ในการสร้างแบรนด์นั้นจุดเริ่มต้นมักจะยากเสมอ แต่ถ้าเราวางแผนมาเป็นอย่างดี มีจุดยืนของแบรนด์ที่จัดเจน และรู้ถึงระดับของการสร้างให้แบรนด์มีคุณค่าในตลาด เราจะรู้ว่าจะไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร ด้วยวิธีไหน และต้องทำอะไรบ้าง สิ่งสำคัญคืออย่าขาดความต่อเนื่องนะครับ