เทคนิคการสร้าง Employer Branding ให้ทุกคนร้อง Wow

การเป็นนายจ้างที่ดีจะช่วยดึงดูดให้เกิดความต้องการอยากที่จะมาร่วมงานและเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ซึ่งนั่นก็ต้องมากับการที่องค์กรนั้นมีชื่อเสียงที่ดีในหลากหลายด้าน และการจะมีชื่อเสียง (Reputation) ที่ดีได้นั้นก็ต้องทำกระบวนการหนึ่งให้เกิดขึ้นซึ่งนั่นก็คือการสร้าง Employer Branding นั่นเอง เรามาดูกันครับว่าถ้าหากคุณเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนองค์กร คุณจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ Employer Branding นั้นออกมาดูดีและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับทุกๆคนกันครับ

What's next?

อะไรคือ Employee Branding

ก่อนจะไปสู่เทคนิคในการสร้าง Employer Branding ผมขออธิบายความหมายของคำๆนี้ให้ผู้อ่านได้เข้าใจก่อนครับ Employee Branding หากแปลตรงๆนั้นมีความหมายว่า “กระบวนการสร้างแบรนด์นายจ้าง” เพื่อให้นายจ้างหรือองค์กรนั้นๆมีภาพลักษณ์ที่ดี ซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวองค์กร พนักงาน คนที่กำลังหางาน รวมไปถึงลูกค้าและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด โดยผลลัพธ์ที่ได้จะออกมาในรูปแบบของการพูดถึง การนึกถึง การคิดถึงแบรนด์หรือธุรกิจของคุณ และบอกต่อหรือพูดคุยกับเพื่อนๆและครอบครัว ซึ่งอาจจะมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบก็ได้ทั้งนั้น

Employer Branding ประกอบไปด้วย 2 ส่วนครับ ได้แก่ 1. อัตลักษณ์ (Identity) 2. ชื่อเสียง (Reputation) โดยอัตลักษณ์ที่ว่านั้นหมายถึง เป้าหมาย (Purpose) วิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) คุณค่าหลัก (Core Values) รวมไปถึงวัฒนธรรมองค์กร (Culture) ส่วนชื่อเสียงของแบรนด์ (Brand Reputation) นั้นก็หมายถึง การที่คนทั้งภายในและภายนอกองค์กรรับรู้ว่าแบรนด์ ธุรกิจ องค์กรนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะมาจากเรื่องราวในอดีต การได้สัมผัสกับคนในองค์กร รวมถึงการเคยเป็นลูกค้าที่ได้ใช้สินค้าหรือบริการของธุรกิจนั้นๆ

Employer Branding นั้นสำคัญอย่างไร เรามาลองดูสถิติต่างๆเหล่านี้ที่รวบรวมมาจาก Flexjobs.com กันดูครับ

  • 95% ของผู้ที่กำลังมองหางานนั้นบอกว่าชื่อเสียงของนายจ้าง (Employer’s Reputation) นั้นมีผลมากในการเลือกเข้าไปสมัครงานในบริษัทนั้นๆ
  • 79% ตรวจสอบประวัติบริษัทตั้งแต่เป้าหมาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ ก่อนจะสมัครงาน
  • 75% ของผู้ที่กำลังมองหางานมักจะสมัครงานกับบริษัทที่มีการบริหารจัดการแบรนด์แบบเชิงรุก
  • 52% ของบริษัทหรือนายจ้างนั้นมองว่าการสร้างแบรนด์ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการดึงดูดคนเก่งๆเข้ามาร่วมงาน
  • 30% ของบริษัทหรือนายจ้างบอกว่าการสร้างแบรนด์นั้นช่วยให้พนักงานเก่งๆอยู่กับองค์กรต่อไป

นอกเหนือจากชื่อเสียงที่สามารถดึงดูดให้คนอยากเข้ามาร่วมงาน หรือแม้แต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆที่อยากจะเข้ามาทำธุรกิจด้วย Employer Branding ยังช่วยให้ธุรกิจของคุณลดต้นทุนในการหาพนักงานใหม่ เพราะเนื่องจากองค์กรของคุณนั้นมีดีมากเพียงพอที่จะทำให้พนักงานอยู่กับคุณไปได้อย่างยาวนานนั่นเอง

อะไรคือ Employee Branding

9 เทคนิคการสร้าง Employer Branding ให้แข็งแกร่งและน่าประทับใจ

การวางกลยุทธ์ในการทำ Employer Branding ที่ดีจะช่วยให้องค์กรของคุณ ดึงดูดผู้ที่มีความสามารถมาร่วมงานได้ โดยมีเทคนิคง่ายๆ ดังนี้

1. หา Value Proposition ของตัวเองให้เจอ

Value Proposition หรือ Core Values ของธุรกิจคือกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อน Employer Branding ซึ่งนั่นก็เริ่มต้นตั้งแต่สิ่งที่แบรนด์หรือธุรกิจสื่อสารออกมาจากเป้าหมาย (Purpose) วิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) คุณค่าหลัก (Core Values) โดย Core Values นั้นก็คือค่านิยมที่ใช้ขับเคลื่อนองค์กรนั่นเอง ค่านิยมอาจจะเป็นเรื่องของความเท่าเทียม ความหลากหลาย การสร้างนวัตกรรม ความโปร่งใส การเป็นองค์กรแห่งความรู้ การยึดเรื่องความซื่อสัตย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจจากภายในสู่ภายนอก สิ่งเหล่านี้จะดึงดูดให้คนที่มีความสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร แต่ก็ต้องไม่ลืมนะครับว่าอะไรที่มันสวยหรูแต่ทำไม่ได้จริงก็อย่านำมาใช้เป็น Core Values เพียงเพราะอยากจะให้องค์กรดูดี เพราะมันจะต้องมาจากแก่นแท้ของตัวธุรกิจอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นผลลัพธ์ที่ตามมาจะกลายเป็นเรื่องราวเชิงลบในทันที

2. ทำ Brand Audit

การทำ Employer Brand Audit คือ การตรวจสอบเพื่อหาข้อมูลว่าใครคิดอย่างไรกับธุรกิจของคุณ โดยคำว่าใครนั้นครอบคลุมถึงพนักงาน คนที่กำลังมองหางาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย วิธีการสำรวจนั้นก็สามารถทำได้ด้วยการทำแบบสำรวจพนักงานภายในองค์กร การสอบถามผู้ที่ติดตามแบรนด์และธุรกิจบนโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงการดูรีวิวหรือการดูว่ามีใครพูดถึงคุณว่าอย่างไรบ้าง การทำ Brand Audit จะช่วยให้คุณนำความคิดเห็นเชิงลบมาปรับปรุงให้ธุรกิจของคุณนั้นมี Employer Branding ที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

3. ใช้ประโยชน์จากพนักงาน

หลายๆคนที่กำลังหางานทำนั้นต้องการที่จะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจของคุณ ซึ่งนั่นก็หมายถึงการหาข้อมูลที่แท้จริงจากพนักงานภายในองค์กรนั้นๆ เพราะว่าคนในจะเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากที่สุด ซึ่งอาจจะมากกว่าสิ่งที่แบรนด์สื่อสารสู่ภายนอกด้วยซ้ำ พนักงานภายในจึงเป็นกลุ่มคนที่สำคัญมากครับที่คุณต้องทำให้พนักงานนั้นกลายเป็น Brand Advocate Link หรือผู้สนับสนุนแบรนด์ด้วยใจจริง วิธีง่ายๆในการทำ ก็คือ ให้พนักงานแบ่งปันความรู้สึกเกี่ยวกับองค์กรและการทำงาน แล้วนำมาทำเป็นวีดิโอหรือเป็น Quote ต่างๆ และนำไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียของธุรกิจ และประโยชน์จากจุดนี้สามารถทำให้คนภายนอกรับรู้และเกิดความรู้สึกดีๆกับธุรกิจของคุณได้กว่า 90% เลยทีเดียวครับ (แต่อย่าลืมนะครับว่าความจริงใจสำคัญที่สุด ทุกๆอย่างต้องแสดงออกมาจากใจจริงไม่มีการเขียนบทพูดให้ออกมาดูสวยงาม หรือแต่งเรื่องหลอกๆให้องค์กรดูดี)

ใช้ประโยชน์จากพนักงาน

4. ปรับเปลี่ยนตามคำแนะนำของพนักงาน

เมื่อคุณได้ข้อคิดเห็นจากพนักงานในมุมใดก็ตาม และโดยเฉพาะหากเป็นความเห็นเชิงลบที่ส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการทำงาน อย่าปล่อยให้ความคิดเห็นนั้นสลายไปพร้อมกับสายลม เพราะความรู้สึกที่ไม่ดีจะเป็นโรคร้ายที่กัดกินวัฒนธรรมองค์กร หากปล่อยผ่านๆไปมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งฝังรากลึกมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นคุณควรใส่ใจรายละเอียดและเสียงสะท้อนของพนักงาน และนำมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้บรรยากาศในองค์กรกลับมาดีอีกครั้ง

5. สร้าง First Impression

ประสบการณ์ที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นกับวันแรกของการทำงานสำหรับพนักงานที่เข้าใหม่ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่คุณควรให้ความสำคัญมากที่สุดเรื่องแรก เพราะหากในวันแรกพนักงานใหม่เกิดรู้สึกว่าองค์กรไม่ใส่ใจจนเกิดความรู้สึกเชิงลบ นั่นอาจจะทำให้พวกเขามีโอกาสในการหาตัวเลือกการทำงานที่ใหม่ได้ในทันที ดังนั้นคุณควรมีการวางแผนสำหรับต้อนรับพนักงานใหม่อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การ Orientation การต้อนรับพนักงาน การแนะนำทีมงาน การมีกิจกรรมต่างๆที่ทำให้พนักงานใหม่รู้สึกอบอุ่นใจ ทั้งหมดจะส่งผลให้ความรู้สึกของพนักงานอยู่ในเชิงบวก และลดการเกิดโอกาสที่พนักงานจะย้ายงานนั่นเอง

6. สร้างกระบวนการสรรหาพนักงานอย่างประทับใจ

ขั้นตอนและกระบวนการสรรหาพนักงานควรมีความเป็นมืออาชีพ ด้วยการทำให้ทั้งตัวพนักงานในองค์กรเองและผู้ที่สมัครงานรู้สึกประทับใจในองค์กร นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีกระบวนการจ้างงานอย่างชัดเจน เป็นธรรม และสอดคล้องกันทั้งกระบวนการ รวมถึงการสร้างหน้าเว็บไซต์เพื่อรับสมัครงานที่มีรายละเอียดอย่างชัดเจน มีการเล่าเรื่องราวของธุรกิจ คำอธิบายหน้าที่งาน รวมไปถึงสิ่งที่พนักงานจะได้รับหากได้รับเลือกเข้ามาทำงาน สิ่งเหล่านี้คือการสร้างความประทับใจตั้งแต่กระบวนการแรกของการเข้าสู่องค์กร

สร้างกระบวนการสรรหาพนักงานอย่างประทับใจ

7. โปรโมทแบรนด์ผ่าน Social Media

ธุรกิจจำเป็นต้องมีหน้ามีตาบนโลกออนไลน์โดยเฉพาะ Social Media ครับ คุณควรนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยในการสื่อสารความเป็น Employer Branding ด้วยการเล่าเรื่องราวของธุรกิจ เล่าถึงความสำเร็จที่ได้ช่วยเหลือลูกค้า เล่าถึงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในองค์กร กิจกรรมของพนักงานที่ทำไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมขององค์กร หรือกิจกรรมอาสาเฉพาะส่วนบุคคลที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กร ทั้งหมดจะช่วยสร้างให้เกิดสิ่งดีๆขึ้นกับ Employer Branding

8. สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้

พนักงานหลายๆคนลาออกจากงานเพราะรู้สึกว่าไม่ได้พัฒนาทักษะหรือศักยภาพใดๆ มีความน่าเบื่อและไม่มีอะไรที่ท้าทายให้ทำอีกแล้ว องค์กรจำเป็นต้องให้โอกาสพนักงานได้ฝึกฝนทักษะใหม่ๆให้กับพนักงาน Link ในแบบต่างๆ จะเป็นการ Re-skill หรือ Up-Skill ก็ได้ทั้งนั้น อย่าลืมนะครับว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่องค์กรให้คุณค่าแก่ตัวพนักงาน พนักงานก็จะส่งมอบคุณค่ากลับมายังองค์กรและลูกค้าภายนอกเสมอ

9. ซื่อสัตย์และจริงใจ

จะสร้าง Employer Branding ให้ยิ่งใหญ่และประทับใจก็จำเป็นต้องมีความจริงใจ ซื่อสัตย์ โปร่งใสเป็นที่ตั้ง ข้อนี้เชื่อมโยงกับเรื่องของการฟังความคิดเห็นของพนักงานอย่างตรงไปตรงมานั่นเองครับ หากเป็นความคิดเห็นเชิงลบก็ต้องเปิดใจรับฟัง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการสร้างภาพเพื่อให้องค์กรมีแต่เรื่องราวดีๆ เพื่อนำไปสื่อสารภายนอกทำให้ผู้คนคิดว่าองค์กรนั้นมีการทำ Employer Branding ที่ดี ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณหลอกตัวเองผลเสียก็จะตกอยู่กับตัวองค์กรของคุณ และอาจแพร่กระจายสู่ภายนอกได้อย่างรวดเร็วได้เช่นกัน


Share to friends


Related Posts

ฝึกสอนพนักงานอย่างไรให้มีทักษะที่เก่งขึ้น

การให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะความสามารถในการทำงาน คือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้องค์กรประสบความสำเร็จ และยังเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงานโดยเฉพาะเมื่อมีพนักงานใหม่เข้ามาทำงานกับองค์กร เค้าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ซึมซับแนวทางและวิถีการดำเนินชีวิตภายในองค์กรนั้นๆ


วิธีสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ของคุณ (Brand Reputation)

ชื่อเสียงของแบรนด์ (Brand Reputation) เป็นสิ่งสำคัญมากต่อการทำธุรกิจ ที่เกิดจากมุมมองของลูกค้าเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับแบรนด์ต่างๆในตลาด โดยเป็นผลมาจากการเห็นกิจกรรมต่างๆที่แบรนด์จัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้าหรือบริการ การโฆษณา หรือการจัดอีเว้นท์ต่างๆ นับว่ามันสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อแบรนด์ได้มากมายเลยทีเดียว


คุณสมบัติหลักของพนักงานที่องค์กรอยากได้

การรับคนเข้าทำงานอาจดูเป็นเรื่องไม่ยากเย็นเท่าไหรนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสักทีเดียวในการที่จะตรวจสอบว่าใครมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ทั้งเพศ อายุ การศึกษา ซึ่งนั่นเป็นเพียงแค่พื้นฐานแต่ยังมีคุณสมบัติอีกหลายอย่าง ที่องค์กรมองหาจากพนักงานอยู่อีกครับ



copyright 2024@popticles.com
หากท่านต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ไปเผยเพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซต์