Marketing 1.0-4.0

คำว่าการตลาดเป็นแนวคิดทางธุรกิจที่ยึดคนหรือผู้บริโภคเป็นหลัก หัวใจสำคัญของการตลาดคือ การแลกเปลี่ยน (Exchange) ที่ไม่ใช่การขายอย่างที่หลายคนเข้าใจ แนวคิดทางการตลาดของ Marketing ประกอบด้วย 2 สิ่งสำคัญ ได้แก่ Place หรือการมีที่ให้ขาย และ People หรือคน ซึ่งต้องมีทั้ง 2 สิ่งเพื่อเข้าถึงผู้บริโภค (Consumer) โดยรู้ความต้องการของผู้บริโภค และสามารถสร้างให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการได้ อีกทั้งยังสามารถขายสิ่งที่ผู้บริโภคไม่ต้องการได้ด้วยการสร้างให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการ หรือความอยากมี

เมื่อในอดีตย้อนกลับไปในช่วงก่อนปี ค.ศ. 1900 นับเป็นช่วงของการทำเกษตรกรรมจำพวก การปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการทำประมง และการทำป่าไม้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาแนวคิดทางการตลาด โดยการตลาดในสมัยก่อนเน้นการต่อรอง เจรจา เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ากัน เน้นการขายคุณสมบัติของตัวสินค้า สถานที่ขายจะเป็นตามตลาด โดยแบรนด์ที่เกิดขึ้นก็จะเป็นตามแต่คนจะผลิตออกมา

การตลาดยุค 1.0 (Marketing 1.0)

ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนับเป็นจุดเริ่มต้นของการตลาด ที่เน้นการผลิตสินค้าออกมาจำนวนมากเพื่อลดต้นทุนการผลิต (Product Centric) ในยุคนี้นับว่าผู้ผลิตยึดตัวเองเป็นสำคัญ ในการผลิตสินค้าที่ตัวเองต้องการ ทั้งหมดเกือบเป็นการผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกมากนัก เกิดแนวคิดส่วนผสมทางการตลาด 4P ขึ้น คือ ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) สถานที่จัดจำหน่าย (Place) การส่งเสริมการขาย (Promotion) เป็นการตลาดที่มุ่งเน้นคุณสมบัติหรือการใช้งานของผลิตภัณฑ์ และเป็นการสื่อสารเพียงทางเดียวจากผู้ผลิตหรือเจ้าของสินค้า เป็นยุคที่มีการทำเครื่องหมายการค้าให้กับแบรนด์ (ตีตราแบรนด์เป็นสินค้า)

การตลาดยุค 2.0 (Marketing 2.0)

เป็นยุคที่เริ่มมีคู่แข่งมากขึ้น มีการเข้ามาของอินเทอร์เน็ต การผลิตสินค้าที่เน้นจำนวนหรือเน้นที่ตัวผลิตภัณฑ์เป็นหลัก เริ่มใช้ไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น เลยทำให้เจ้าของสินค้าหันมาให้ความสำคัญกับผู้บริโภค (Customer Centric) จนเกิดการพัฒนาแนวคิด 4P มาสู่แนวคิดทางการตลาดที่มองจากมุมมองของผู้บริโภค หรือ 4C คือ 

  • จากสินค้า (Product) มามองที่ลูกค้า (Customer) 
  • จากราคา (Price) มาดูที่ความคุ้มค่า (Cost)
  • จากสถานที่จัดจำหน่าย (Place) มาสู่การอำนวยความสะดวกสบาย (Convenience)
  • จากการส่งเสริมการขาย (Promotion) มาเป็นการสื่อสาร (Communication)

และเริ่มมีการใช้กลยุทธ์ STP ในการวางแผนการตลาด คือ การแบ่งส่วนการตลาด (Segmentation) การเลือกกลุ่มเป้าหมาย (Targeting) การวางตำแหน่งหรือจุดยืนของธุรกิจ (Positioning) การขายสินค้าเน้นทั้งการขายแบบนำเสนอคุณสมบัติและคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ รวมถึงเริ่มมีการสร้างจุดขายทางด้านอารมณ์ (Emotional) เริ่มมีการสื่อสารสองทางระหว่างเจ้าของสินค้าและลูกค้า และการทำ CRM หรือการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า เป็นยุคที่แบรนด์นั้นกลายเป็นสินทรัพย์ (Asset) เริ่มมีการตีตราเป็นมูลค่าทั้งในสิ่งที่จำต้องได้และจับต้องไม่ได้

การตลาดยุค 3.0 (Marketing 3.0)

3i Marketing Strategy

เข้าสู่การตลาดยุค 3.0 ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ มีความรู้สึกนึกคิด มีจิตวิญญาณ (Human Oriented) โดยเหตุผลที่คนจะซื้อสินค้ามาจากการเข้าถึงผู้บริโภคถึงขั้นจิตวิญญาณ (Spiritual) ที่มากกว่าคำว่าเหตุและผล และลึกกว่าอารมณ์ จึงเกิดโมเดล 3i ขึ้นมา โดยต้องเริ่มต้นจากการที่แบรนด์ต้องมีเอกลักษณ์ (Brand Identity) ด้วยการวางตำแหน่งหรือจุดยืนของแบรนด์ (Positioning) และมีความแตกต่าง (Differentiation) แสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ของแบรนด์ (Brand Integrity) กลายเป็นประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า และเมื่อแบรนด์ทีจุดยืนที่ชัดเจน และมีความแตกต่างจากคู่แข่ง จะสร้างให้เกิดภาพลักษณ์ (Brand Image) ที่ดีในสายตาของลูกค้า และเป็นยุคของโซเชียล มีเดีย 

การตลาดยุค 4.0 (Marketing 4.0)

ยุคที่ยึดพื้นฐานมาจากคนทุกๆคนที่ต้องมีการช่วยเหลือ ร่วมมือ สนับสนุนซึ่งกันและกัน (Co-Creation) ให้ความสำคัญกับการหาความต้องการที่แท้จริง (Insight) และแนวทางหรือการเดินทางของผู้บริโภคในตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ (Customer Journey) การตลาดที่จำเป็นต้องผสมผสานกันตั้งแต่การตลาดแบบดั้งเดิม การตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ รวมไปถึงโซเชียล มีเดีย ที่ต้องมีความสอดคล้องกันเชื่อมกันอย่างไร้รอยต่อ (OMNI Channel) การตลาด 4.0 นับเป็นยุคของดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง อย่างเต็มรูปแบบ มีการนำเอาเทคโนโลยี แพลตฟอร์มต่างๆที่อำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้าหรือบริการมาใช้ และเน้นหนักในเรื่องของการสร้างคอนเทนต์ (Content) ที่หลากหลาย เป็นประโยชน์และมีความแตกต่าง แนวคิดทางการตลาดก็เปลี่ยนไปผู้บริโภคมีความซับซ้อนกว่ายุคก่อนๆ เกิดกลยุทธ์การตลาด 5A ขึ้น ได้แก่ การสร้างความรับรู้ (Awareness) ดึงดูดความสนใจ (Appeal) ถามหาแบรนด์ของเรา (Ask) ตัดสินใจซื้อ (Act) และบอกต่อ (Advocacy) ยุค 4.0 เป็นการสื่อสารทางการตลาดด้วยการสร้างอารมณ์หรือความรู้สึก (Emotional) มีเรื่องเล่าต่างๆที่สร้างสรรค์ ทำให้แบรนด์ของตัวเองมีความเป็นมนุษย์ แบรนด์แต่ละแบรนด์จำเป็นต้องสร้างบุคลิกของตนเองให้มีความแตกต่าง เพื่อสร้างการจดจำในสายตาของผู้บริโภค ท่ามกลางคู่แข่งที่มากมาย

เชื่อว่าหลายคนคงเห็นภาพวิวัฒนาการของการตลาดในแต่ละยุคสมัยตั้งแต่ยุคเกษตรกรรม จนมาถึงยุคที่เป็นดิจิทัล ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นฐานสำคัญที่เราต้องนึกถึงอยู่เสมอ นั่นคือ ความต้องการลูกค้าจะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการวางแผนการตลาด ประกอบกับปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ที่นับวันยิ่งมีความสลับซับซ้อน และปัจจุบันก็มีคู่แข่งเกิดขึ้นมากมาย มีการแข่งขันสูง เกิดธุรกิจ Startup ใหม่ๆ ดังนั้น เราไม่สามารถมุ่งทำการตลาดเพื่อขายสินค้าแบบเดิมๆได้อีกต่อไป เราจำเป็นต้องสร้างความแตกต่าง สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ และเชื่อมการสื่อสารทางการตลาดในทุกช่องทางเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดให้แก่ลูกค้าของเรา

อ่านเรื่องของการตลาดยุค 5.0 ได้ที่นี่ครับ สู่ยุคของ Marketing 5.0


Share to friends


Related Posts

สรุป Marketing 5.0 ข้อมูลและเทคโนโลยีสู่การขับเคลื่อนธุรกิจ

ในที่สุดก็ถึงยุคของการตลาด 5.0 ซะทีที่ต้องบอกเลยว่าแนวโน้มของการให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล (Data-Driven) และการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆมาใช้เพื่อสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจที่ต้องเข้าใจผู้บริโภคอย่างทะลุปรุโปร่ง จะเป็นหลักสำคัญในการตลาดเป็นต้นไปซึ่งมันเริ่มมีการใช้ผสมผสานกันตั้งแต่ยุคของการตลาด 4.0 มาสักระยะหนึ่งแล้ว


สร้างความแตกต่างในการทำธุรกิจ ด้วย Brand Positioning

ต้องยอมรับเลยนะครับว่าในสมัยนี้เกิดแบรนด์ต่างๆ ธุรกิจใหม่ๆ สินค้าที่มีความหลากหลายขึ้นแทบจะทุกวันหลายๆแบรนด์พยายามนำเสนอสิ่งใหม่ๆที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งหากแบรนด์ใดสามารถนำเสนอจุดเด่นของสินค้าหรือบริการ หรือการสร้างจุดต่างอื่นๆที่ไม่เหมือนใครและสื่อสารไปให้ลูกค้าหรือผู้บริโภครับรู้และจดจำได้ ก็เรียกได้ว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว นั่นคือ แนวคิดของการวางตำแหน่งแบรนด์ (Brand Positioning)


กำหนดทิศทางของธุรกิจด้วย STP Strategy

ยุคสมัยใหม่ที่มีความรวดเร็วจนทำให้หลายๆธุรกิจ ไม่ทันได้วางรากฐานของธุรกิจและวิเคราะห์ในมุมมองต่างๆอย่างรอบด้าน ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านทิศทางของธุรกิจ กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และความแตกต่างของธุรกิจเมื่อเทียบกับคู่แข่ง หากไม่ชัดเจนตั้งแต่แรกก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ


ขั้นตอนการสร้าง Brand Positioning

การวางตำแหน่งแบรนด์หรือ Brand Positioning ทำให้เรารู้ว่าการวางตำแหน่งแบรนด์ที่แตกต่างในตลาด สามารถสร้างให้เกิดคุณค่ากับผู้บริโภคได้ และยังสร้างให้เกิดการจดจำในสายในผู้บริโภค



Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


copyright 2024@popticles.com
หากท่านต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ไปเผยเพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซต์