Brand Archetype หรือต้นแบบของแบรนด์ที่สะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกภาพของแบรนด์ (Brand Personality) ว่าแบรนด์ของคุณนั้นมีบุคลิกลักษณะเป็นอย่างไรผ่านการสื่อสารในแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา การทำแคมเปญการตลาด จนสร้างให้เกิดการรับรู้ในตัวแบรนด์ที่เชื่อมโยงเข้ากับบุคลิกของตัวลูกค้า โดย Brand Archetype นั้นเป็นสิ่งที่เกิดจากการมัดรวมกันของธีม แนวคิด การเชื่อมโยงความรู้สึกทางทางอารมณ์ ผ่านช่วงเวลารวมถึงวัฒนธรรมต่างๆของแบรนด์ครับ ทำให้กระบวนการการสร้าง Brand Archetype นั้นกลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดเรื่องราวรวมไปถึงคุณค่าของแบรนด์อย่างขาดไม่ได้เช่นเดียวกัน และในบทความนี้ผมจะมาพูดถึงเคล็ดลับของการสร้าง Brand Archetype ให้ออกมาโดดเด่นและเหมาะสมที่สุดสำหรับธุรกิจของคุณกันครับ
ทำความรู้จักกับ 12 ต้นแบบของแบรนด์ (Brand Archetypes)
Source: https://www.adweek.com
ตามทฤษฎีของ คาร์ล กุสทัฟ ยุง (Carl Gustav Jung) นักจิตบำบัดและจิตแพทย์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ ได้แบ่งต้นแบบของแบรนด์ที่สะท้อนถึงบุคลิกภาพที่เชื่อมโยงกับลักษณะของบุคคลเอาไว้ 12 แบบด้วยกัน ได้แก่
- ผู้นำ (Ruler) คือ บุคลิกที่ชอบควบคุม ชอบจัดการ มีความทีเด็ด ชอบอำนาจ
- ผู้ห่วงใย (Caregiver) คือ บุคลิกที่ชอบดูแล ชอบห่วงใย รักคนอื่นๆ
- นักสร้างสรรค์ (Creator) คือ บุคลิกที่ชอบคิดอะไรใหม่ๆ สร้างสรรค์ นอกกรอบ ไม่ซ้ำแบบเดิมๆ
- นักผจญภัย (Explorer) คือ บุคลิกที่ชอบความท้าทาย ออกไปเผชิญโลกกว้าง ไม่หยุดนิ่ง
- ผู้รู้ (Sage) คือ บุคลิกที่มีความฉลาด ปราดเปรื่อง มีความรู้
- ผู้บริสุทธิ์ (Innocent) คือ บุคลิกที่มีความสดใส เป็นมิตร ไม่มีพิษมีภัย
- วีรบุรุษ (Hero) คือ บุคลิกที่มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ชอบการแข่งขัน
- ผู้วิเศษ (Magician) คือ บุคลิกที่สร้างสรรค์สิ่งที่น่าเหลือเชื่อ มหัศจรรย์
- ผู้นอกเหนือกฎ (Outlaw) คือ บุคลิกที่ชอบคิดต่าง มีความท้าทาย ไม่ตามใคร
- ผู้สนุกสนาน (Jester) คือ บุคลิกที่มีความสดใส ร่าเริง
- คนธรรมดา (Everyman) คือ บุคลิกที่เรียบง่าย เข้าได้กับทุกคน
- คนรัก (Lover) คือ บุคลิกที่มีความดึงดูด มีเสน่ห์ น่าค้นหา
วิธีการสร้าง Brand Archetype
1. รู้จักอย่างลึกซึ้งถึงคุณค่าและการมีอยู่ของแบรนด์
จุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์คือการที่คุณต้องระบุให้ได้ว่าคุณกำลังจะนำเสนออะไรให้ลูกค้า ซึ่งมันจะสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญว่าทำไมถึงต้องมีแบรนด์ของคุณอยู่บนโลกใบนี้ ด้วยการเชื่อมโยงความรู้สึกทางอารมณ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้าให้เกิดสายสัมพันธ์ที่ดี หากการมีอยู่ของแบรนด์คุณนั้นไม่สามารถสะท้อนหรือเชื่อมโยงถึงความต้องการของลูกค้า คุณก็จะไม่สามารถเชื่อมโยง Brand Archetype ที่มีทั้ง 12 แบบได้เลย ซึ่งแน่นอนครับว่ามันเป็นมุมมองด้านจิตวิทยาที่ต้องนำมาผสมผสานกับเรื่องของกลยุทธ์เอาไว้ด้วยกัน ดังนั้นการเจาะลึกไปที่เป้าหมาย คุณค่า วิสัยทัศน์ รวมถึงพันธกิจของแบรนด์ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเริ่มต้นในการสร้าง Brand Archetype ของคุณ
2. เชื่อมโยงความรู้สึกด้านอารมณ์
ในยุคที่ลูกค้าโดยส่วนใหญ่นั้นรับรู้เรื่องราวของแบรนด์ที่สร้างผลกระทบเชิงอารมณ์ จนทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการจนส่งผลให้การสร้าง Brand Archetype นั้นดูทรงพลังมากยิ่งขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคุณจำเป็นต้องสร้างแบรนด์ด้วยการยึดความรู้สึกทางอารมณ์เป็นหลัก อย่าลืมนะครับว่าในยุคที่ลูกค้าไม่รู้สึกว่าแบรนด์คุณเชื่อมโยงบางสิ่งบางอย่างกับตัวเขาเอง มันก็จะเป็นเหตุที่ทำให้ลูกค้าหันไปมองแบรนด์อื่นๆที่เชื่อมโยงกับตัวเขาได้มากกว่าเสมอ
3. เข้าใจในตัวลูกค้าให้ดีที่สุด
แม้ว่าคุณจะพยายามเชื่อมโยงความรู้สึกทางอารมณ์มากเพียงใด แต่ถ้าหากคุณไม่รู้จักลูกค้าเลยมันก็จะกลายเป็นความพยายามที่สูญเปล่า ดังนั้นคุณต้องพยายามทำความเข้าใจตัวลูกค้าให้มากที่สุดครับว่าอะไรเป็นสาเหตุที่เขาต้องซื้อสินค้าหรือบริการของคุณ กระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการนั้นมีอะไรบ้าง โดยคุณต้องหาดูว่าจะเชื่อมโยงด้านอารมณ์กับลูกค้าด้วยวิธีไหนอย่างไร เพื่อประเมินให้เห็นว่าลูกค้าจะเชื่อมโยงกับ Brand Archetype ได้มากน้อยแค่ไหน ลูกค้ารู้สึกว่าตัวเขาเองนั้นมีลักษณะเหมือนแบรนด์หรือคล้ายคลึงกับแบรนด์หรือไม่ ลูกค้าจะมีการตอบรับกลับมาอย่างไรบ้าง ทั้งนี้การทำความเข้าใจลูกค้านั้นจะทำให้คุณเห็นวิธีการเชื่อมโยงบุคลิกลักษณะของคุณผ่านการสื่อสารในช่องทางต่างๆได้อย่างลงตัวมากขึ้น
4. นำเสนอผ่านสัญลักษณ์บางอย่าง
การเพิ่มพลังความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ผ่านรูปภาพหรือสัญลักษณ์บางอย่าง จะช่วยกระตุ้นให้เกิดภาพการจดจำที่เชื่อมโยงความรู้สึกได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยคุณอาจลองเทียบแบรนด์ของคุณกับสิ่งต่างๆดูว่าคุณอยากนำเสนอตัวเองออกมาเป็นอย่างไร มันใช่กับแนวทางที่คุณได้วางเอาไว้ตั้งแต่ต้นหรือไม่ ซึ่งนั่นจะเป็นการต่อยอดแนวคิดในการออกแบบและนำเสนอผ่านสื่อโฆษณาและการตลาด เช่น การเลือกใช้ภาพพรีเซ็นเตอร์ การเลือกใช้สีสะท้อนความหมาย การเปรียบเทียบกับสัญลักษณ์แห่งผู้นำหรือสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ
ตัวอย่าง Brand Archetype
Godiva
Godiva แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มที่โดดเด่นในเรื่องของช็อคโกแล็ตและกาแฟจากประเทศเบลเยี่ยม มี Brand Archetype ที่ชัดเจนของการเป็น คนรัก (Lover) ซึ่งเป็นบุคลิกที่มีความดึงดูด มีเสน่ห์ น่าค้นหา ที่ถูกถ่ายทอดออกมาในชิ้นงานโฆษณาต่างๆ โดยเราจะเห็น Mood & Tone ที่สัมผัสได้อย่างชัดเจน
Source: https://www.nytimes.com/2009/11/16/business/media/16adnewsletter1.html
นาทีนี้ใครหาอะไรไม่เจอก็เปิด Google กันทั้งนั้นโดยใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่วินาทีคุณก็สามารถค้นในสิ่งที่อยากรู้ได้ตลอดเวลา และนั่นก็ทำให้ Google มี Brand Archetype ที่ชัดเจนมากของ ความเป็นผู้รู้ (Sage) ที่มีความฉลาด ปราดเปรื่อง ตรงตามพันธกิจของ Google ที่ว่า “To organize the world’s information and make it universally accessible and useful” หรือแปลเป็นไทยก็คือ “บริหารจัดการข้อมูลข่าวสารต่างๆบนโลกให้ทุกๆคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและได้ประโยชน์สูงสุด”
Netflix
Video Online Streaming Platform ที่ใหญ่ที่สุดเบอร์ต้นของโลกอย่าง Netflix กับ Brand Archetype ของความสนุกสนาน (Jester) มีความสดใสร่าเริ่ง โดยหากคุณได้ติดตาม Netflix ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ คุณจะเห็นได้อย่างชัดเจนในแนวทางการนำเสนอและการสื่อสารที่มีอารมณ์ของความสุขสนุกสนาน หรือแนวการเล่าเรื่องในแบบ Teaser เพื่อโปรโมทหนังเรื่องต่างๆ ที่สร้างความบันเทิงใจน่าติดตามให้กับผู้ติดตามอยู่สม่ำเสมอ
Source: https://digitalagencynetwork.com/key-takeaways-from-netflix-digital-marketing-strategy/
Apple
น้อยแบรนด์ที่จะสรรค์สร้างอะไรที่แปลกใหม่และว้าวด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้กับการผลิตสินค้าของตัวเอง อย่าง Apple ที่กลายเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในด้านเทคโนโลยีของโลกมาติดต่อกันหลายปี ก็มี Brand Archetype ของความเป็น ผู้วิเศษ (Magician) ที่ไม่ว่าจะผลิตอะไรออกมาก็ตามมันเหมือนกับจะดูล้ำสมัยไปซะทุกอย่าง
Source: https://www.macrumors.com/2021/07/09/apple-in-the-dark-ad/