Brand Ambassador หรือ บุคคลที่ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทให้เป็นตัวแทนของแบรนด์เพื่อโปรโมทและประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการ ที่ส่งผลโดยตรงต่อภาพลักษณ์และรายได้ให้กับธุรกิจและ Brand Ambassador นั้นถือว่าเป็นหน้าเป็นตาของบริษัทที่จำเป็นต้องมีการถ่ายทอดอัตลักษณ์ แนวทางปฏิบัติ คุณลักษณะ รวมไปถึงคุณค่าของแบรนด์ ซึ่ง Brand Ambassador นั้นก็มีอยู่หลากหลายประเภทครับ และในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับประเภทและคุณลักษณะของคนที่จะมาเป็น Brand Ambassador กันครับ
คุณลักษณะของ Brand Ambassador
Brand Ambassador ถือเป็นหน้าเป็นตาของธุรกิจซึ่งไม่ใช่ทุกคนนั้นสามารถจะเป็นได้ถ้าหากขาดคุณสมบัติต่างๆเหล่านี้
1. เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง
คุณสมบัติสำคัญที่สุดอันแรกคือความมีชื่อเสียงของตัวบุคคลครับ เพราะชื่อเสียงนั้นจะช่วยผลักดันให้แบรนด์และธุรกิจของคุณเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นเป็นผลมาจากการที่ Brand Ambassador นั้นสามารถการันตีผู้ติดตามหรือบรรดาแฟนคลับ ซึ่งส่งผลต่อการเจาะตลาดและกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์
2. มี Passion
Passion หรือที่เราเรียกกันว่าความหลงใหลที่เป็นแรงผลักดันหรือแรงกระตุ้นก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับ Brand Ambassador ครับ เพราะหากคนที่ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ตรงจุดนี้ขาดพลังงานในการขับเคลื่อนตัวเอง มันก็ยากที่จะเติมเต็มเป้าหมายของแบรนด์ที่ได้ตั้งไว้ โดยหากใครก็ตามที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Brand Ambassador แล้วก็ต้องแสดงพลังความใส่ใจในการทำการบ้านและเรียนรู้รายละเอียดของแบรนด์ สินค้า บริการ และแนวทางปฏิบัติต่างๆเพื่อความสมบูรณ์แบบในหน้าที่ที่ได้รับนั่นเองครับ
3. ความเป็นมืออาชีพ
Brand Ambassador ก็เป็นเหมือนการได้รับบทบาทหนึ่งในการทำงานที่คุณต้องแสดงความเป็นมืออาชีพอย่างสูงสุด เพราะคุณต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆไปออกงานอีเว้นท์ต่างๆรวมถึงรายการโทรทัศน์ต่างๆตามที่ได้รับมอบหมายจากทีมงาน และคุณก็แบกหน้าตาของแบรนด์เอาไว้อยู่ตลอดระยะเวลาที่ทำหน้าที่ Brand Ambassador กับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง ถ้าทำแต่สิ่งดีๆก็จะยิ่งส่งเสริมแบรนด์แต่หากทำอะไรที่เสียหายขึ้นมามันก็ส่งผลกระทบเชิงลบต่อแบรนด์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ
4. สร้าง Profile บนโลกออนไลน์
ด้วยความที่เป็นยุคของออนไลน์และโซเชียลมีเดียซึ่งการมีฐานของบรรดาแฟนคลับหรือผู้ติดตามไม่ว่าจะบน Facebook, Instagram, YouTube หรือที่มาแรงอย่าง TikTok มีจำนวนมากในระดับหลายแสนคนขึ้นไปและบางคนก็อาจจะมีถึงหลายล้านคน มันหมายถึงการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ที่มีมากขึ้นเช่นกัน
ประเภทของ Brand Ambassador
หากมองดูดีๆแล้ว Brand Ambassador นั้นมีหน้าที่คล้ายๆกับการเป็นผู้สนับสนุนและบอกต่อสิ่งต่างๆที่ดีให้กับคนอื่นๆได้รับรู้ หรือในภาษาทางการตลาดที่เราเรียกว่า Brand Advocacy ซึ่งมันต่างกันตรงที่ความยิ่งใหญ่ที่สร้างผลกระทบในระดับสาธารณะ (Public) แบบกลุ่มเฉพาะเจาะจง (Niche) หรือในระดับบุคคล โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 8 ประเภทด้วยกัน คือ
1. กลุ่มลูกค้าผู้สนับสนุน
กลุ่มผู้สนับสนุนก็คือกลุ่มลูกค้าเดิมของคุณนั่นเองครับ เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกค้าได้ใช้สินค้าหรือบริการของคุณแล้วรู้สึกดีก็จะบอกต่อไปยังคนรู้จัก และนั่นก็จะช่วยให้แบรนด์ของคุณเป็นที่รู้จักและกระจายไปอย่างรวดเร็วอีกทางหนึ่ง ซึ่งหากเรามองในมุมของ Marketing Funnel แล้วท้ายที่สุดเราก็อยากให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ (Retention) เป็นจำนวนเยอะๆแล้วเกิดการบอกต่อ (Advocacy) แบบอัตโนมัติ และหากแบรนด์ใดเห็นช่องทางตรงจุดนี้ก็อาจดึงเอาลูกค้ามาทำเป็น Customer Brand Ambassador ในอนาคตก็ได้เช่นกัน
2. กลุ่มนักเรียนนักศึกษา
กลุ่มนักเรียนนักศึกษานับเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลในการดึงดูดเพื่อนๆในวัยเดียวกันให้มาสนับสนุนแบรนด์ของคุณ และโดยส่วนใหญ่เราจะเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นนั้นจะวนเวียนอยู่กับสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือกิจกรรมออกค่ายต่างๆ กลุ่มนักเรียนนักศึกษานั้นถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความคิดสร้างสรรค์และสามารถสร้างคอนเทนต์ที่หลากหลายและตรงใจกับกลุ่มเพื่อนๆในสถานศึกษาได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็เป็นอะไรที่แบรนด์นั้นไม่ควรมองข้ามหากจะจับกลุ่มนักเรียนนักศึกษาด้วยการลองทำ Student Brand Ambassador ดูครับ
3. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
กลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญในสายอาชีพนั้นๆซึ่งมีคุณสมบัติเด่นชัดที่เหมาะกับการเป็น Brand Ambassador ที่มีความเฉพาะทางกับแบรนด์ของคุณ เช่น หากคุณขายเครื่องมือแพทย์ก็ให้หมอมาเป็นตัวแทน ขายอุปกรณ์ออกกำลังกายก็ให้ครูสอนฟิตเนสมาเป็นตัวแทน ขายแปรงสีฟันก็ให้หมอฟันมาเป็นตัวแทน อาจทำได้ทั้งการโฆษณาในสื่อต่างๆหรือการเขียนบล็อกให้ความรู้ก็ได้
4. กลุ่มผู้มีชื่อเสียง
กลุ่มที่เราเรียกกันว่า Celebrity เช่น ดารานักแสดงผู้มีชื่อเสียงมากๆในวงการต่างๆที่ได้รับการว่าจ้างให้มาเป็นตัวแทนของแบรนด์ โดยต้องเข้าไปเรียนรู้และศึกษาสินค้าหรือบริการที่ตัวเองต้องนำเสนอ ซึ่งกลุ่ม Celebrity นั้นถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็น Brand Ambassador อยู่บ่อยครั้งที่สุดเพราะมี Profile และมีแฟนคลับในระดับล้านคน
5. กลุ่มพนักงาน
กลุ่มพนักงานหรือ Employee Ambassador ก็ถือเป็นกลุ่มที่สามารถเป็นตัวแทนของแบรนด์ได้ดีที่สุดกลุ่มหนึ่ง เพราะพนักงานในองค์กรนั้นจะรู้ข้อมูลทุกอย่างดีที่สุดนั่นเอง และหากคุณจะเริ่มสร้าง Employee Ambassador ละก็คุณก็จำเป็นต้องกำหนดบทบาทหน้าที่และขอบข่ายให้ชัดเจนเพราะพนักงานก็มีงานประจำที่ต้องทำอยู่แล้ว และยังมีอีกบทบาทหน้าที่ในการโปรโมทสินค้าหรือบริการอีกด้วยและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอวยสินค้าหรือบริการของตัวเองมากจนเกินไป
6. กลุ่มทูตสันถวไมตรี
ทูตสันถวไมตรี (Goodwill Ambassador) จะเน้นไปที่การเป็นตัวแทนให้กับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นหลัก โดยส่วนใหญ่จะได้รับการแต่งตั้งโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหรือการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมในมุมต่างๆ โดยเป็นลักษณะการเชิญชวนให้ผู้คนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมกับองค์กร ซึ่งตัวของ Goodwill Ambassador นั้นอาจเป็นคนที่มีชื่อเสียงมากๆในระดับดารานักแสดงหรือคนในแวดวงสังคมที่เป็นที่รู้จัก เช่น ปู ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ได้รับแต่งตั้งเป็นทูตสันถวไมตรีจาก UNHCR
7. กลุ่มเน้นออกอีเว้นท์
เราจะเรียกกลุ่มนี้ว่า Event / Experiential Ambassador ที่เน้นความถนัดในการออกอีเว้นท์หรือกิจกรรมเป็นพิเศษโดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านการพูดคุย ซึ่งตัวแทนในลักษณะนี้จะสร้างให้เกิดความรู้สึกคุ้นเคยและเข้าถึงแบรนด์ได้ง่ายมากขึ้น โดยอาจเป็นการว่าจ้างเป็นครั้งคราวไปสำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นและบางครั้งเราจะเห็นการแต่งตั้งเป็นทีมเฉพาะกิจสำหรับจัดกิจกรรมเลยก็มีครับ เช่น กลุ่ม Red Bull Wings Team ที่เป็นทีม Event / Experiential Ambassador เวลาจัดกิจกรรมกีฬาเอ็กซ์ตรีมของ Red Bull
8. กลุ่มตัวแทนแบบไม่เป็นทางการ
หลายแบรนด์และหลายๆธุรกิจได้เปิดโอกาสให้มีตัวแทนของแบรนด์ในการขายสินค้าหรือบริการ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการตลาดแบบ Referral Program และ Affiliate Program โดยไม่ได้เข้มงวดกวดขันในเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์เหมือนอย่างกลุ่มอื่นๆ แต่เน้นไปที่การขายแบบเพียวๆด้วยการแชร์ข้อมูลให้เพื่อนๆหรือทำการตลาดในช่องทางของตัวเอง ซึ่งตัวของแบรนด์เองก็ต้องมีความพร้อมในการเตรียมชุดข้อมูลให้กับตัวแทนให้เรียบร้อยแบบพร้อมเสริฟได้ทันที กลุ่มตัวแทนแบบไม่เป็นทางการนี้ก็จะได้ส่วนแบ่งเป็นค่าคอมมิชชั่นตามแต่ตกลงกัน
ในยุคที่มีการแข่งขันกันสูงกลยุทธ์การใช้ Brand Ambassador ก็ถือเป็นกลยุทธ์ที่สร้างความแตกต่างและสร้างข้อได้เปรียบให้กับแบรนด์ และหลายๆแบรนด์ได้นำกลยุทธ์นี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนบริหารจัดการแบรนด์แบบสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน ซึ่ง Brand Ambassador ก็มีอยู่หลากหลายประเภทที่คุณสามารถนำตัวอย่างข้างต้นไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับแผนการตลาดและกิจกรรมที่คุณกำลังจะทำได้ครับ