
ในการทำธุรกิจหากคุณสามารถสร้างคู่ค้าหรือพันธมิตร ที่เป็นการสร้างความร่วมมือกับแบรนด์ในรูปแบบ Brand Partnership ได้อย่างเหมาะสม ย่อมจะส่งผลดีให้กับแบรนด์และธุรกิจของคุณในระยะยาว เพราะมันคือการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ (Strategic Collaboration) ที่ทั้งสองบริษัทนั้นได้ผลประโยชน์ร่วมกัน โดยอาจจะออกมาในรูปแบบของการผลิตสินค้าร่วมกัน การโปรโมทผ่านแคมเปญร่วมกัน จัดงานอีเว้นท์ร่วมกัน และอื่นๆอีกหลายหลายรูปแบบ โดยข้อดีของการสร้าง Brand Partnership นั้น จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการจดจำและยังสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกได้อีกด้วย เรามาดูกันครับว่า Brand Partnership นั้นมีกี่รูปแบบเพื่อที่คุณจะลองนำไปปรับใช้กับแผนธุรกิจในอนาคต
1. Brand Partnership ผ่านรูปแบบการทำ Content Marketing
ทุกๆคนรู้อยู่แล้วครับว่าการทำ Content Marketing สามารถช่วยสร้างให้แบรนด์ของคุณกลายเป็นที่รู้จักในตลาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายถึงการที่สองธุรกิจให้ความร่วมมือและสนับสนุนกันและกัน ในการสร้างคอนเทนต์ร่วมกันและแชร์ต่อไปยังแพลตฟอร์มต่างๆไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ บล็อก หรือช่องทางดิจิทัลอื่นๆ
2. Brand Partnership ผ่านรูปแบบการทำ Sponsorship Marketing
การทำ Brand Partnership ในรูปแบบนี้จะเป็นการที่แบรนด์หนึ่งสนับสนุนแบรนด์หนึ่งในการจัดอีเว้นท์หรือการทำแคมเปญ อาทิ กิจกรรมการวิ่ง Virtual Run การสัมมนา หรือแม้แต่การเปิดตัวสินค้า โดยเราจะเห็นการสนับสนุนทั้งเป็นผู้จัดร่วม หรือการสนับสนุนแบบตัวเงินอย่างเดียวและได้ชื่อรวมถึงโลโก้ของแบรนด์ในสื่อต่างๆ
3. Brand Partnership ผ่านรูปแบบการทำ Affiliate Marketing
รูปแบบการทำ Affiliate Marketing คือ การที่แบรนด์สร้างคู่ค้าหรือผู้สนับสนุนกับใครก็ตามที่นำสินค้าของแบรนด์ไปโปรโมทผ่านช่องทางต่างๆ ในทางกลับกันการสร้างคู่ค้าในลักษณะนี้จะได้ส่วนแบ่งเป็นรายได้หรือค่าคอมมิชชั่น ตามแต่ที่จะตกลงกับแบรนด์ การทำ Partnership รูปแบบนี้กลายเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมากในปัจจุบัน ที่จะช่วยให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
4. Brand Partnership ผ่านรูปแบบการทำ Charity
อีกหนึ่งรูปแบบของ Brand Partnership นั่นก็คือ ความร่วมมือในการสนับสนุนกิจกรรมการกุศล ด้วยการจัดตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมารับผิดชอบกิจกรรมต่างๆและมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลกิจกรรมการกุศล ผ่านทั้งเครือข่ายโซเชียลมีเดียและช่องทางอื่นๆเพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมบริจาคหรือทำกิจกรรมการกุศลร่วมกัน
5. Brand Partnership ผ่านรูปแบบการทำ Co-Branding
การทำ Co-Branding ก็คือ การที่ 2 หรือมากกว่า 2 แบรนด์มาร่วมกันสร้างอะไรใหม่ๆร่วมกัน โดยส่วนใหญ่เราจะเห็นลักษณะของการออกสินค้าใหม่ๆที่นำเอาจุดดีของแต่ละแบรนด์มาผสมผสานกัน ซึ่ง Partnership รูปแบบนี้เรามักจะเห็นกันค่อยข้างบ่อยมากที่สุดรูปแบบหนึ่ง
6. Brand Partnership ผ่านรูปแบบการทำ Distribution ร่วมกัน
รูปแบบการทำ Brand Partnership นี้หมายถึงการที่แบรนด์ 2 แบรนด์จัดตั้งทีมร่วมกัน เพื่อกระจายสินค้าไปสู่กลุ่มลูกค้าซึ่งทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายร่วมกันได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น และเพิ่มโอกาสสร้างให้เกิด Brand Loyalty โดยอาจสร้างให้เกิดกับทั้ง 2 แบรนด์เลยก็ได้
7. Brand Partnership ผ่านรูปแบบการทำ Licensing
การทำ Licensing คือ การที่แบรนด์หนึ่งอนุญาตให้อีกแบรนด์ใช้ชื่อหรือโลโก้บนตัวสินค้าหรือบริการ โดยที่เรามักจะเห็นรูปแบบนี้อยู่เป็นประจำก็เช่น แบรนด์อนุญาตให้นำโลโก้ไปติดอยู่บนเครื่องแต่งกายและรองเท้า รวมไปถึงอุปกรณ์กีฬาประเภทต่างๆ แลกเปลี่ยนด้วยค่าลิขสิทธิ์ในแบบต่างๆ (ตัวอย่างเช่น Nike, Adidas)
8. Brand Partnership ผ่านรูปแบบการทำ Product Placement
รูปแบบการทำ Product Placement เราเห็นกันมาตั้งแต่การทำการตลาดสมัยแรกๆ และยังคงเห็นอยู่กันในปัจจุบันครับ โดยการที่แบรนด์ซื้อช่วงเวลาในการนำสินค้าไปวางในรายการเกมโชว์หรืออาจจะเป็นในบางฉากของหนังหรือภาพยนตร์ ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการวางสินค้าเพียงอย่างเดียวและอาจมีการทำคอนเทนต์เพื่อโปรโมทเชิงโฆษณาก็ได้เช่นกัน
9. Brand Partnership ผ่านรูปแบบการทำ Referral
การ Refer หรือ การกล่าวถึง คือ หนึ่งในรูปแบบการทำ Brand Partnership ที่แบรนด์กระตุ้นหรือสนับสนุนให้ลูกค้านั้นกล่าวถึง เสนอแนะ แนะนำแบรนด์ให้กับคู่ค้าหรือแบรนด์อื่นๆ โดยแลกมาด้วยค่าคอมมิชชั่นหรือรางวัล Brand Partnership ในรูปแบบนี้สามารถที่จะช่วยขยายฐานลูกค้าได้กว้างมากยิ่งขึ้น
10. Brand Partnership ผ่านรูปแบบการทำ Joint Venture
ในรูปแบบของการทำ Joint Venture ระหว่าง 2 แบรนด์ก็เพื่อที่จะสร้างสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ที่นำเอาจุดแข็งของทั้งของแบรนด์มาใช้ โดยอาจดูคล้ายกับ Co-Branding ครับ แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดๆนั้นก็คือ Co-Branding จะค่อนข้างเป็นแบบระยะสั้นในเชิงของการตลาด แต่หากเป็น Joint Venture จะมีการทำสัญญาค่อนข้างเป็นระยะยาว และมีการใช้ทรัพยากรร่วมกันในเชิงกลยุทธ์มากกว่าซึ่งเป็นเชิงธุรกิจนั่นเองครับ
การสร้างแบรนด์และการทำการตลาดสมัยใหม่ เราจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้าและสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ โดยเฉพาะการคิดในแบบเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partnership) เพื่อให้แบรนด์นั้นสามารถขยายฐานลูกค้าและสร้างความแข็งแกร่ง จากพลังของ Partner ในรูปแบบต่างๆเพื่อให้แบรนด์ของคุณได้ผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาวนั่นเองครับ