รับฟังผ่าน Popticles.com Podcast
ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อนเราจะได้ยินกระแสของความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งอาจจะยังดูไม่ค่อยคุ้นหูกับคนไทยมากนัก แต่ว่าในต่างประเทศนั้นมีการพัฒนาแนวคิดของความยั่งยืนมานานมากแล้ว ด้วยการนำแนวคิดความยั่งยืนมาพัฒนาให้แบรนด์นั้นเติบโตอย่างยั่งยืนหรือก็คือการไปสู่ Sustainable Brand ครับ และเราจะมาทำความรู้จักกับคำว่า Sustainable Brand กันในบทความนี้กันครับ
อะไรคือความหมายของ Sustainable Brand
ความยั่งยืนหรือ Sustainability ในช่วงแรกๆเรามักจะได้ยินแนวคิดของโลกที่เต็มไปด้วยสีเขียวหรืออะไรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Go Green) เช่น การนำต้นไม้มาสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้ดูเป็นองค์กรสีเขียว การปลูกต้นไม้ให้ดูร่มรื่นตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งมันเป็นแค่การเริ่มต้นแบบก้าวเล็กๆของการปูทางสู่ความยั่งยืน แต่หากจะเป็น Sustainable Brand ให้ได้นั้นมันไม่ใช่แค่เพียงเท่านั้น
ในแนวคิดของความยั่งยืน (Sustainability) นั้นมันคือความใส่ใจรายละเอียดในทุกๆมิติที่ไม่ใช่แค่เพียงมิติด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่มันต้องประกอบไปด้วย 3 มิติด้วยกัน นั่นก็คือ โลก (Planet) ผู้คน (People) และผลกำไร (Profit) หรือที่เราเรียกว่า 3P ที่มุ่งเน้นการรักษาสมดุลและนำมาปรับใช้กับธุรกิจโดยครอบคลุมด้านสังคม (Social) เศรษฐกิจ (Economic) และสิ่งแวดล้อม (Environmental) ซึ่งในแนวคิดของความยั่งยืน (Sustainability) นั้นก็พัฒนามาจากการทำธุรกิจในสมัยก่อนที่เรามุ่งเน้นแต่เรื่องของผลกำไรเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งต่างๆรอบด้านประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ที่เราทำร้ายโลกใบนี้ด้วยกระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้แบรนด์และธุรกิจต่างๆนั้นต้องหันมาใส่ใจกับการให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ที่มากกว่าเรื่องของผลกำไร รวมทั้งคนใน Generation ใหม่ๆก็ให้ความใส่ใจกับแบรนด์ที่ใส่ใจโลกและสังคมด้วยเช่นกัน ซึ่งจะกลายเป็นตัวสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจในยุคใหม่
Sustainable Brand จึงเป็นแบรนด์ที่มีให้ความใส่ใจกับทุกๆกระบวนการขององค์กรทั้งองค์ร ตั้งแต่แนวคิดการทำธุรกิจที่ช่วยลดผลกะทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด การบริหารจัดการในองค์กร ไปจนถึงแนวคิดการทำเพื่อสังคม (CSR) และชุมชนบนพื้นฐานของความมีจริยธรรมในการทำธุรกิจ และต้องทำอย่างจริงใจจริงจังในระยะยาวไม่ใช่แค่ทำตามกระแส ที่ครอบคลุมมิติด้านสังคม (Social) เศรษฐกิจ (Economic) และสิ่งแวดล้อม (Environmental) โดยตัวอย่างของการนำแนวคิดนี้ไปพัฒนาเพื่อเข้าสู่การเป็น Sustainable Brand อาทิเช่น
- แนวคิดการลดปริมาณคาร์บอนหรือ Zero Carbon ในกระบวนการผลิต
- การลดการใช้กระดาษในองค์กร
- การสร้างอาคารหรือออฟฟิศที่ประหยัดพลังงาน
- การนำเอาของเสียจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่
- การนำเอาขยะมาผ่านกระบวนการผลิตเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก
- การผลิตสินค้าที่ย่อยสลายได้เร็ว
- การทำ CSR เพื่อชุมชน
- การสร้างงานให้ชุมชน
- การบริหารงานอย่างโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้
- มีจริยธรรมในการทำงาน
ทำไมความยั่งยืน (Sustainability) ถึงมีความสำคัญ
ความยั่งยืน (Sustainability) นั้นช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนทุกๆคนรวมถึงยังช่วยสร้างและคืนสมดุลให้ระบบนิเวศน์ นอกเหนือจากนั้นก็ยังทำให้องค์กรนั้นตื่นตัวในการปรับกระบวนการภายในองค์กรเพื่อส่งมอบสิ่งดีๆให้กับลูกค้าด้วยเช่นกัน และมันก็มีความสำคัญอยู่หลายอย่างครับ
- สร้างอนาคตที่น่าอยู่ให้กับโลกใบนี้ด้วยการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก
- ลดการใช้พลังงานที่ส่งผลต่อสภาวะโลกร้อน (Global Warming) และสภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect)
- คุณภาพชีวิตของทุกๆคนจะดียิ่งขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ผลกระทบในทางที่ดีต่อสังคมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสังคมในครอบครัว ภายในองค์กร สังคมเพื่อนร่วมโลกรวมไปถึงชุมชนทั้งหมด
ตัวอย่างแนวคิด Sustainable Brand
Pepsico
Pepsico ได้วางแผนไว้ว่าภายในปี 2025 จะลดปริมาณน้ำตาลและไขมันในผลิตภัณฑ์ รวมถึงออกแบบบรรจุภัณฑ์ด้วยวัสดุที่ใช้แล้ว (Recycle) และลดปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิต
ให้ได้ถึง 50% และยังให้ความสำคัญกับเรื่องของสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
Ford Motor Company
วางแผนในการใช้พลังงานทางเลือกแบบ 100% ในกระบวนการผลิตทั่วโลกภายในปี 2035
Dell Computer
พัฒนาแนวทางการลดการใช้พลังงานให้ได้ 80% ภายในปี 2020 และภายในปี 2030
จะก้าวสู่ธุรกิจแบบยั่งยืนอย่างสมบูรณ์แบบ
SCG
ปรับโครงสร้างการบริหารงานเพื่อความยั่งยืนภายใต้คณะกรรมการ
การพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น โดยจัดให้มีการดูแลผ่านมิติทั้ง 3 มิติ คือ มิติด้านสังคม มิติด้านสิ่งแวดล้อม และมิติด้านเศรษฐกิจ
แม้ว่าการจะไปสู่การเป็นแบรนด์ที่ยั่งยืน (Sustainable Brand) นั้นดูแล้วต้องมีการปรับเปลี่ยนและเตรียมการในหลายๆอย่าง แต่หากไม่เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้อนาคตอาจจะไปสู่จุดนั้นก็อาจจะยากเกินไป หากคู่แข่งและลูกค้าของคุณก้าวไปสู่จุดเริ่มต้นของความยั่งยืนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว