8 รูปแบบของความเป็นผู้นำ คุณเป็นผู้นำแบบไหน (8 Types of Leadership)

รับฟังผ่าน YouTube ได้ที่นี่ https://youtu.be/jIkQes7BZng


คำว่าผู้นำนั้นมีอยู่หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นชีวิตการทำงาน ครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อนฝูง ก็ล้วนแล้วแต่ต้องมีผู้นำในด้านใดด้านหนึ่งที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้นำนั้นก็เปรียบเสมือนกับหัวเรือใหญ่ในการนำทัพให้ธุรกิจ ชีวิตครอบครัว หรือกลุ่มสังคมต่างๆประสบความสำเร็จ และหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อความอยู่รอดของคนในทีมที่เหมาะสมที่สุด โดยในปัจจุบัน ผู้นำสามารถออกได้เป็น 8 ประเภทด้วยกัน คือ

1. ผู้นำแบบประชาธิปไตย (Democratic Leadership)

เมื่อเห็นชื่อก็สามารถบอกได้ชัดเจนแล้วว่าผู้นำลักษณะนี้จะเป็นอย่างไร โดยผู้นำแบบประชาธิปไตยนั้นจะตัดสินใจเรื่องใดๆก็ตามจากข้อมูลที่รวบรวมมาจากสมาชิกในทีม ที่ทุกคนต่างก็มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเรื่องต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน ผู้นำในแบบนี้นับเป็นหนึ่งในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพที่สุด จากการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีหน้าที่การงานที่ต่ำกว่าได้เรียนรู้หรือฝึกฝนในการเสนอความคิดเห็น เผื่อว่าในสักวันพนักงานเหล่านั้นอาจต้องขึ้นมาทำหน้าที่ผู้นำในด้านต่างๆแทน

2. ผู้นำแบบเผด็จการ (Autocratic Leadership)

ผู้นำประเภทนี้จะตรงกันข้ามกับผู้นำแบบประชาธิปไตย นั่นก็คือ ชอบใช้ความคิดตัวเองไม่มีการเปิดโอกาสให้คนอื่นเสนอความคิดหรือความเห็นใดๆ และไม่มีการสอบถามถึงผลกระทบหรือผลลัพธ์ใดๆจากคนรอบข้าง เรียกได้ว่าตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเองคนเดียว หากองค์กรมีผู้นำประเภทนี้ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว เพราะไม่มีพนักงานคนใดรับกับพฤติกรรมได้จนอาจส่งผลให้พนักงานลาออกจากการทำงาน

3. ผู้นำแบบเสรีนิยม (Laissez-Faire Leadership)

ผู้นำที่ปล่อยอิสระให้พนักงานทำอะไรได้เต็มที่ หรือเรียกได้ว่ามอบอำนาจให้พนักงานแทบจะทั้งหมด ซึ่งเราจะเห็นได้จากบริษัทประเภทสตาร์ทอัพที่มีพนักงานเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ไม่ได้เอาเรื่องเวลาการทำงานเป็นตัววัดผล แต่ให้ความเชื่อมั่นในผลงานของตัวพนักงานมากกว่า แต่ว่าผู้นำลักษณะนี้ก็อาจจะทำให้ขาดประสิทธิภาพในการบริหารงานไปบ้าง หากพนักงานเกิดไม่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ตามมาตรฐาน

4. ผู้นำแบบมีกลยุทธ์ (Strategic Leadership)

ผู้นำที่รักษาสมดุลระหว่างการดำเนินงานภายในและโอกาสในการเติบโตขององค์กร ที่แบกรับและมองทั้งมุมของผู้บริหารในด้านภาระค่าใช้จ่าย การสร้างผลงาน และจำเป็นต้องดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อให้พนักงานทุกคนมีความสะดวกสบายในการทำให้ผลงานออกมาดี ซึ่งเป็นผู้นำที่หลายๆองค์กรต้องการ เพราะทักษะในเชิงกลยุทธ์จะสามารถช่วยสนับสนุนพนักงานได้หลายประเภทในครั้งเดียว แต่ก็อาจจะมีข้อเสียอยู่บ้างเล็กน้อยหากไม่สามารถสนับสนุนหรือช่วยเหลือพนักงานกลุ่มอื่นๆได้อย่างทันท่วงที

5. ผู้นำความเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership)

ผู้นำที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆอยู่ตลอดเวลา โดยเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีต่อองค์กรหรือการคิดนอกกรอบเดิมๆเพื่อให้พนักงานไม่ยึดติดกับเนื้องานเดิมๆหรือติดอยู่กับ Comfort Zone ซึ่งเป้าหมายในการทำงานก็จะท้าทายและยากขึ้นอยู่เรื่อยๆ โดยผู้นำประเภทนี้เหมาะสำหรับองค์กรที่มีจิตวิญญาณที่มุ่งมั่นในการเติบโตของธุรกิจ เพราะมันกระตุ้นให้พนักงานเห็นและดึงศักยภาพของตัวเองออกมาได้ แต่ผู้นำประเภทนี้ก็อาจทำให้พนักงานไม่สามารถไปได้สุดกับสิ่งที่ตัวเองถนัด เพราะต้องเปลี่ยนแปลงไปทำอย่างอื่นอยู่บ่อยๆ

6. ผู้นำด้านการทำธุรกรรม (Transactional Leadership)

ผู้นำด้านนี้เราจะเห็นได้เป็นปกติในทุกๆวัน ซึ่งมักจะให้รางวัลกับพนักงานที่ทำงานได้ตามเป้าหมาย เช่น การให้โบนัสพิเศษเมื่อทำเป้าได้เหนือกว่าที่ตั้งไว้ ผู้นำประเภทนี้มักจะเสนอแผนการมอบสิ่งจูงใจเป็นรูปแบบของเงินรางวัลพิเศษ หากเราสามารถทำสิ่งต่างๆได้ตามเป้าหมายหรือเกินกว่าเป้าหมายตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้ามาทำงาน ซึ่งถือเป็นการตั้งบทบาทหน้าที่ให้กับพนักงานทุกคนและกระตุ้นให้พนักงานมีความพยายามในการสร้างผลงานให้คุ้มค่าอยู่ตลอดเวลา

7. ผู้นำที่ชอบสอนงาน (Coach-Style Leadership)

ขึ้นชื่อว่าโค้ชหรือผู้สอนงานแล้ว ผู้นำประเภทนี้จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพของทีมงานแต่ละคน เพื่อสร้างให้เกิดความแข็งแกร่งในการทำงานเป็นทีม โดยลักษณะผู้นำแบบนี้จะคล้ายๆกับผู้นำแบบประชาธิปไตย (Democratic Leadership) กับ ผู้นำแบบมีกลยุทธ์ (Strategic Leadership) แต่เน้นไปทางการเพิ่มศักยภาพพนักงานรายบุคคล

ผู้นำในลักษณะนี้จะไม่ใช่แค่มุ่งเน้นไปที่ทักษะที่ถนัดของแต่ละคนเท่านั้น แต่ยังสร้างทีมด้วยการค้นหาว่าใครมีความสามารถอื่นๆที่ใช้ต่อยอดเรื่องต่างๆได้ ด้วยการมอบหมายงานใหม่ๆ การให้คำปรึกษาหรือแนวทางในการทำงาน เพื่อกระตุ้นให้ทีมงานสามารถเพิ่มขีดความสามารถด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆจากเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ

8. ผู้นำแบบราชการ (Bureaucratic Leadership)

ผู้นำที่ยึดตำราเป็นหลักที่ยังเปิดโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นจากพนักงาน แต่จะปฏิเสธทันทีหากมีข้อที่ขัดต่อระเบียบหรือนโยบายองค์กร ซึ่งจะเห็นได้จากองค์กรเก่าแก่ที่มีผู้อาวุโสบริหารงาน รวมไปถึงหน่วยงานราชการ ความคิดใหม่ๆที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรมักจะถูกปฏิเสธเพราะขัดกับธรรมเนียมปฏิบัติเดิมๆ ซึ่งอาจพูดได้ว่ายึดถือความสำเร็จแบบเดิมๆในอดีตและคิดว่ายังใช้ได้อยู่ตลอดไป โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงใดๆ

พนักงานที่อยู่ภายใต้ผู้นำในลักษณะนี้ จะรู้สึกเหมือนถูกควบคุมให้อยู่ในระเบียบ คิดอะไรที่ออกนอกกรอบไม่ได้ โดยได้แต่ทำตามหน้าที่ให้เสร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งจะทำให้พนักงานหมดพลังและแรงกระตุ้นในความก้าวหน้าในอาชีพ

ทั้งหมดนั้นเป็นรูปแบบของผู้นำที่เราเห็นกันอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยไม่ว่าใครจะทำอาชีพอะไรก็ตามก็ต้องมีโอกาสได้เป็นหัวหน้าหรือบริหารคน ดังนั้นลองตรวจสอบและตั้งคำถามให้กับตัวเองดูครับว่า เราเป็นคนแบบไหนและอยากเป็นผู้นำแบบไหนกับความเป็นผู้นำในบริบทต่างๆ


Photos by freepik – www.freepik.com

Share to friends


Related Posts

Critical Thinking สิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานยุคใหม่

ในชีวิตการทำงานนอกเหนือจากทักษะการทำงานทั้ง Hard Skill และ Soft Skill ที่จะเป็นต้องมีแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่เรียกได้ว่ามีความจำเป็นมากสำหรับชีวิตการทำงานในยุคปัจจุบัน นั่นก็คือ Critical Thinking


ฝึกสอนพนักงานอย่างไรให้มีทักษะที่เก่งขึ้น

การให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะความสามารถในการทำงาน คือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้องค์กรประสบความสำเร็จ และยังเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงานโดยเฉพาะเมื่อมีพนักงานใหม่เข้ามาทำงานกับองค์กร เค้าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ซึมซับแนวทางและวิถีการดำเนินชีวิตภายในองค์กรนั้นๆ



Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


copyright 2024@popticles.com
หากท่านต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ไปเผยเพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซต์