
สำหรับคนทำงานหรือนักเรียนนักศึกษาที่ต้องนำเสนองานรูปแบบต่างๆอยู่เป็นประจำ การทำพรีเซนเทชั่นนั้นถือว่าสำคัญมากพอๆกับการเตรียมเนื้อหาและการนำเสนอครับ และโปรแกรมยอดนิยมอย่าง PowerPoint ก็เป็นโปรแกรมที่หลายๆคนนำมาใช้สร้างความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์นั่นเอง
นอกเหนือจากความสวยงามรวมไปถึงการเรียงลำดับเรื่องราวในการนำเสนอแล้ว การเลือกใช้รูปแบบตัวอักษรหรือฟอนต์ (Font) ที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญครับไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่มีมากับตัวเครื่อง โดยก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนครับว่า หลักการเลือกฟอนต์ที่ดีสำหรับการทำ Powerpoint มีอะไรกันบ้าง

วิธีเลือกฟอนต์
- เลือกฟอนต์มาตรฐานและเรียบง่ายที่สุด เพราะผู้ฟังเห็นบ่อยมีความคุ้นเคย และอ่านสบายตา
- เลือกใช้สีให้เหมาะสมโดยหากใช้พื้นหลังสีเข้ม ฟอนต์ก็ควรเป็นสีขาวหรือสีสว่าง แต่หากให้พื้นหลังสีสว่างฟอนต์ก็ควรเป็นสีเข้ม และอาจต้องคำนึงถึงความหนาบางของฟอนต์ในแต่ข้อความด้วยนะครับ
- จับกลุ่มฟอนต์ให้ถูกคู่ บางครั้งเราจะเห็นพรีเซ็นเทชันที่มีฟอนต์หลายตัว บางทีหัวข้อเป็นฟอนต์แบบมีหัว (Serif) ข้อความเป็นแบบไม่มีหัว (Sans Serif) หรือบางทีก็ผสมปนเปกันไปทั้งสไลด์ ดังนั้นเลือกจับคู่ให้ดีเพราะคนอ่านอาจจะรู้สึกไม่สบายตาได้ครับ
- อย่าใช้ฟอนต์ใหญ่ทั้งหมดครับ มันจะให้ความรู้สึกเหมือนคุณกำลังสร้างอิฐบล็อก ยิ่งทำให้รู้สึกอึดอัดอ่านยากสะกดยากและดูลายตา
- เลือกขนาดฟอนต์ให้เหมาะสมตัวใหญ่ไปตัวเล็กไปก็ไม่ดีครับ โดยการตั้งขนาดฟอนต์ก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้ฟังรวมไปจนถึงระยะห่างของจอภาพนำเสนองานกับผู้ฟังด้วยเช่นกัน
- อย่าพยายามใช้ฟอนต์อักษรประดิษฐ์หรือแบบลายมือ เพราะนอกจากจะอ่านยากแล้วแต่ละบรรทัดอาจทับกันไปมา เพิ่มความปวดหัวให้กับผู้ฟังได้ยกเว้นจะทำเป็นหน้าหรือหัวข้อพิเศษที่อยากเน้นอะไรบางอย่างครับ
- ใช้อย่างคงเส้นคงวา อย่าพยายามใช้ฟอนต์สองแบบสลับไปมาในแต่ละหน้า
ฟอนต์ที่เหมาะสำหรับทำ PowerPoint มี 3 ประเภท
ฟอนต์แบบมีหัว (Serif)
ฟอนต์แบบไม่มีหัว (Sans Serif)
ฟอนต์ประดิษฐ์ / ตกแต่ง / ลายมือ (Script / Decorative / Handwriting)

ฟอนต์ภาษาอังกฤษยอดนิยม สำหรับทำ PowerPoint
Font

Verdana
หนึ่งในฟอนต์ที่ได้รับความนิยมในการทำ PowerPoint คือ Verdana เป็นตัวหนังสือที่เรียบง่าย อ่านง่ายสบายตาแบบไม่มีหัว (Sans Serif) น้ำหนักของแต่ละตัวจะเท่ากัน ที่มีมาพร้อมระบบปฏิบัติการทั้ง Windows และ Mac

Calibri
ฟอนต์ที่ได้รับความนิยมที่เป็นรองเพียงแค่ Arial ซึ่งถูกนำมาใช้แทนใน Office 2007 ที่มีความเหมาะสมลงตัว โค้งมนอ่านง่าย นับเป็นฟอนต์แบบไม่มีหัว (Sans Serif) เช่นกัน

Tahoma
ฟอนต์ที่ถูกออกแบบมาสำหรับ Microsoft โดยเฉพาะและอ่านง่ายสำหรับการทำพรีเซ็นเทชั่น เป็นแบบไม่มีหัว (Sans Serif) ดูมีความเป็นทางการ ระยะห่างระหว่างตัวหนังสือกำลังพอดี มีความคล้ายกับ Vedana

Gill Sans
ฟอนต์นี้เป็นฟอนต์คลาสิกมากสำหรับการทำพรีเซ็นเทชั่น ที่นำมาจับคู่กับฟอนต์ Times New Roman ได้อย่างลงตัวให้ความอบอุ่นและเป็นมิตร และฟอนต์นี้ก็ยังสามารถจับคู่กับฟอนต์อื่นๆได้อีกครับ

Garamond
หนึ่งในฟอนต์ที่เก่าแก่ที่สุดตระกูลหนึ่งแบบโรมัน (มีหัว – Serif) เหมาะกับการทำพรีเซ็นเทชั่นในส่วนของเนื้อหาได้อย่างลงตัว

Century Gothic
ฟอนต์แบบไม่มีหัว (Sans Serif) ที่มีความกว้างของตัวหนังสือค่อนข้างมากก็เป็นหนึ่งฟอนต์ที่นิยมในการทำพรีเซ็นเทชั่น โดยสมัยก่อนก็ถูกนำมาใช้ในการโฆษณาต่างๆ ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีแต่ไม่ได้มีสำหรับ Microsoft ครับ

ฟอนต์ไทย สำหรับทำ Powerpoint

สำหรับฟอนต์ไทยนั้นก็มีอยู่หลายตัวที่เราคุ้นเคยและนิยมนำมาใช้ในการทำ PowerPoint ที่มากับทั้ง Windows และ Mac เช่น Angsana, Cordia และยังมีฟอนต์ฟรีอื่นๆที่เหมาะสำหรับการทำพรีเซนเทชั่นที่สามารถโหลดมาใช้ได้ฟรีๆจาก Google เช่น Kanit, Prompt, Sarabun (เห็นบ่อยในหน่วยงานราชการ) และ Browallia สำหรับฟอนต์ Sukhumvit Set นั้นมีมาเฉพาะสำหรับ Mac เท่านั้นซึ่งก็เป็นฟอนต์ยอดนิยมที่ถูกนำมาใช้ทำ PowerPoint เช่นกันครับ
การเลือกฟอนต์ที่เหมาะสมนั้นควรเลือกฟอนต์มาตรฐานที่ทุกเครื่องมี เพราะบางครั้งคุณจำเป็นต้องไปนำเสนอหรือพรีเซนต์งานนอกสถานที่ และจำเป็นต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของสถานที่นั้นๆ หากใช้ฟอนต์ที่แปลกๆอาจจะไปสามารถแสดงผลออกมาตรงตามที่ทำไว้หรืออาจเพี้ยนไปเลยก็ได้ครับ