การคิดเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Thinking สามารถช่วยให้คุณเข้าใจและพัฒนาทักษะด้านความคิด ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดด้านการวิเคราะห์ (การพิจารณาและการไตร่ตรอง) และการสังเคราะห์ (การประกอบเรื่องราว) ในสิ่งที่คุณได้เรียนรู้หรือกำลังเรียนรู้ ที่ทำให้คุณคิดเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกได้อย่างแม่นยำมากขึ้น โดยก่อนที่เราจะรู้ว่าลักษณะสำคัญของ Critical Thinking นั้นมีอะไรกันบ้าง เรามาทำความเข้าใจขั้นตอนต่างๆของ Critical Thinking กันก่อนครับ
“ขั้นที่ 1 – การคิดที่ถูกบดบัง”
บุคคลที่อยู่ในการคิดขั้นนี้ ไม่ได้ตระหนักถึงว่าอะไรคือปัญหาสำคัญที่มีอยู่
ในแบบแผนความคิด
“ขั้นที่ 2 – การคิดที่ถูกท้าทาย”
บุคคลที่อยู่ในการคิดขั้นนี้ รับรู้ว่ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น
ในแบบแผนความคิด
“ขั้นที่ 3 – การคิดที่เริ่มมีการฝึกฝน”
บุคคลที่อยู่ในการคิดขั้นนี้ สามารถเริ่มต้นในการพัฒนาแบบแผนความคิดได้แล้ว
แต่ยังไม่ได้ทำตามแบบแผนอย่างต่อเนื่อง
“ขั้นที่ 4 – การคิดเชิงรุก”
บุคคลที่อยู่ในการคิดขั้นนี้ รู้ว่าจะพัฒนาจุดไหนอย่างไรเพื่อให้ได้ความคิด
ที่เป็นแบบแผน
“ขั้นที่ 5 – การคิดที่ถูกพัฒนา”
บุคคลที่อยู่ในการคิดขั้นนี้ จะเริ่มพัฒนาและฝึกฝนทักษะอยู่เป็นประจำ
เพื่อปรับปรุงแบบแผนความคิดให้ดีขึ้น
“ขั้นที่ 6 – การคิดที่มีความเชี่ยวชาญ”
บุคคลที่อยู่ในการคิดขั้นนี้ จะสามารถมองเห็นได้รอบด้าน สามารถปรับเปลี่ยน วิเคราะห์
และกลายเป็นทักษะที่ติดตัวเป็นนิสัย และมีการประเมินกระบวนการคิด
ในมุมมองต่างๆอยู่เสมอ
21 ลักษณะของการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)
- การสังเกต – หากคุณไม่เป็นคนช่างสังเกต คุณก็ไม่สามารถเข้าใจในแง่มุมต่างๆของสถานการณ์หรือปัญหาได้
- ความอยากรู้ – ความสงสัยใคร่รู้ในปรากฎการณ์ต่างๆจะทำให้คุณตั้งคำถามอยู่ในหัว และพยายามหาคำตอบให้กับสิ่งเหล่านั้น
- มีจุดมุ่งหมาย – คุณต้องตัดเอาความรู้สึกทางอารมณ์ออกให้หมด เพราะอารมณ์จะทำให้คุณมองอะไรผิดพลาด ดังนั้นต้องใช้ความมีเหตุผลเข้ามาใช้ในการคิดแบบรอบด้าน
- การไตร่ตรอง – การทำสมาธิจะช่วยให้คุณมีเวลาในการตั้งคำถาม วิเคราะห์สิ่งต่างๆ และจะทำให้คุณมองเห็นปัญหา
- การคิดแบบวิเคราะห์ – การวิเคราะห์จะช่วยให้คุณเข้าใจที่มาที่ไปของปัญหา และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ผ่านการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้วิธีที่เหมาะสมที่สุด
- ความไม่ลำเอียง – ความลำเอียงจะส่งผลให้กระบวนการคิด มีผลทำให้การตัดสินใจผิดพลาด ดังนั้นคุณไม่ควรตัดสินใจอะไรอย่างรีบเร่ง แต่ควรฟังข้อมูลให้รอบด้านอยู่เสมอ
- การพิจารณาความเกี่ยวข้อง – ความสามารถในการแยกแยะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากกัน เพื่อไม่ให้ไปผิดทิศผิดทาง
- การสรุป – ความสามารถในการสรุปข้อมูลที่มาจากทุกทิศทาง ที่ต้องอาศัยการคิดแบบมีเหตุผล เพื่อสรุปว่าจะทำอะไรต่อในแต่ละสถานการณ์
- ความเมตตาและเห็นอกเห็นใจ – แม้ว่าการคิดเชิงวิพากษ์จะเน้นไปที่การใช้เหตุผลเป็นหลัก แต่ด้วยความที่เราเป็นมนุษย์ก็ย่อมหนีไม่พ้นในการใช้อารมณ์ ซึ่งการตัดสินใจในหลายๆเรื่องก็หลีกไม่พ้นที่จะส่งผลกระทบต่อใครสักคนหนึ่ง แต่มันก็นับเป็นหนึ่งในทักษะจำเป็นต้องมีของคนที่มีความคิดแบบ Critical Thinking
- อ่อนน้อมถ่อมตน – แม้ว่านักคิดเชิงวิพากษ์จะดูเก่งมากมายแค่ไหน แต่ก็ต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ควรรู้สึกภาคภูมิใจจนเกินพอดี
- ตั้งคำถามอยู่เสมอๆ – การที่คุณไม่หยุดในสิ่งที่คิดได้เป็นอย่างดีแล้ว แต่ยังหาทางเพิ่มหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆเพื่อเอามาใช้ให้ดีที่สุด
- ใจกว้าง – อย่าปล่อยให้ความคิดที่ถูกยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ต้องเปิดใจให้กับทุกๆความเป็นไปได้ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ตาม เพราะคุณอาจค้นพบคำตอบบางอย่างสำหรับบางสิ่งในอนาคตได้
- ค้นหาข้อผิดพลาดและแก้ไขให้ดีขึ้น – แม้ว่านักคิดเชิงวิพากษ์จะวางแผนทุกอย่างมาเป็นอย่างดี แต่ก็ยังต้องค้นหาช่องว่างหรือโอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดอยู่อย่างสม่ำเสมอ
- ความคิดสร้างสรรค์ – ปัญหาสามารถมาได้ทุกรูปแบบ ดังนั้นการมีทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้คุณหาทางออกในแต่ละสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี
- ทักษะการสื่อสาร – อาจจะมีหลายคนที่ไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังจะทำ หรือกระบวนการคิด การสื่อสารที่ดีจะกลายเป็นแรงสนับสนุนให้กับคุณได้
- การรับฟังอย่างตั้งใจ – ข้อมูลที่เข้ามาจุดทุกทิศทาง ทำให้คุณต้องใช้ความตั้งใจในการรับฟังและคัดกรองความเป็นเหตุเป็นผลของแต่ละข้อมูล เพื่อบรรลุเป้าหมายในสถานการณ์ต่างๆ
- ความสามารถรอบตัว – การที่คุณเผชิญหน้ากับปัญหาในรูปแบบต่างๆจนมีความชำนาญ และสามารถปรับเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุดในแต่ละสถานการณ์
- ความรอบรู้ – คุณต้องเปิดรับข่าวสาร รับฟังปัญหาอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่พลาดเรื่องต่างๆที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งที่คุณกำลังจะทำ
- ความเด็ดขาด – บางครั้งคุณอาจไม่มีเวลามากนักในการเตรียมการด้านต่างๆ ดังนั้นคุณต้องอาศัยความเด็ดขาดจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่คุณได้มา แล้วลงมือวางแผนเพื่อทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย
- เรียนรู้จากความผิดพลาด – ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องของความล้มเหลว แต่มันคือประสบการณ์ชั้นดีในการพัฒนาให้งานที่คุณทำออกมาดีกว่าเดิม
- ความพยายาม – หลายครั้งเมื่อคุณเผชิญปัญหาต่างๆ และอาจจะหาทางออกไม่ได้ แต่อย่าเพิ่งท้อและต้องพยายามต่อไป
การที่จะเป็นนักคิดเชิงวิพากย์ได้นั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแค่คุณต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เผชิญกับปัญหาและเรื่องราวต่างๆ และค่อยๆพัฒนาทักษะในแต่ละด้าน และคุณจะมีความคิดเชิงวิพากษ์ได้อย่างแน่นอน
Photos by freepik – www.freepik.com