Key Success Factors สู่ความสำเร็จในการทำงาน (Key Success Factors to Achieve Your Business)

ในการทำงานไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ก็จำเป็นต้องมีการกำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจและการทำการตลาด ซึ่งหากไม่มีแผนการที่เหมาะสมก็อาจทำให้คุณเสียเงินและเวลาไปเปล่าๆ วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้การเริ่มต้นธุรกิจของคุณเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การที่คุณสามารถระบุปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factors) เพื่อความมั่นใจในการทำธุรกิจให้เติบโตและประสบผลสำเร็จ

อะไรคือ Key Success Factors

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ หรือ Key Success Factors คือหนึ่งในกลยุทธ์ของการวางแผนธุรกิจที่มีความสำคัญมากสำหรับการสร้างความสำเร็จและความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับลูกค้าของคุณ โดย Key Success Factors นั้นควรเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยความต้องการของตลาดและลูกค้าของคุณ มากกว่าสิ่งที่คุณกำหนดขึ้นมาเอง ซึ่งต้องมีการทำการสำรวจหรือวิจัยความต้องการของตลาดและลูกค้า เพื่อทำความเข้าใจว่าพวกเขาเหล่านั้นต้องการอะไรจากบริษัท และอะไรทำให้พวกเขายอมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการ

ธุรกิจมักจะตั้ง Key Success Factors ประมาณ 3-5 ข้อ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ซึ่งอาจจะครอบคลุมถึงจุดอ่อนขององค์กร ที่ต้องการจะเปลี่ยนเป็นจุดแข็ง
เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับลูกค้า

5 Key Success Factors ในการทำธุรกิจ

1. กลยุทธ์

ไม่มีองค์ใดสามารถขับเคลื่อนได้หากไม่มีกลยุทธ์ในการทำธุรกิจที่เหมาะสม ที่ครอบคุลมด้านความเป็นผู้นำ การบริหารจัดการ และการวางแผน โดยปัจจัยด้านกลยุทธ์นั้นก็ประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 10 อย่างด้วยกัน คือ

  • ธุรกิจควรตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า (Customer-Driven) ไม่ใช่ตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้าของธุรกิจ โดยที่ไม่เข้าใจลูกค้าเลย
  • คุณค่าหลัก (Core Value) หรือสิ่งที่สร้างให้เกิดความเชื่อมั่นของทีมงานในการทำธุรกิจ และส่งมอบให้กับลูกค้า ผ่านการสื่อสารที่เหมาะสม
  • ความเป็นผู้นำ (Leaders) ที่ต้องสื่อสารคุณค่าผ่านกิจกรรมต่างๆที่ทำ ไม่ใช่แค่คำพูดแต่จำเป็นต้องลงมือทำ
  • ทำในสิ่งที่ถนัด (Focus) คุณสามารถคิดใหญ่โตได้ แต่ควรเริ่มต้นจากสิ่งที่ธุรกิจถนัดที่สุดก่อน แล้วค่อยๆขยายธุรกิจในโอกาสที่เหมาะสม และควรทำอย่างยั่งยืน
  • มีจุดมุ่งหมาย (Purpose) ที่สร้างแรงบันดาลใจทั้งวิสัยทัศน์ และพันธกิจที่สามารถจับต้องได้ เป็นจริงได้
  • ยืดหยุ่นและสามารถทำได้จริง (Flexible and Achievable) ที่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของ SMART Goal คือ มีความเจาะจง วัดผลได้ สามารถทำได้จริง อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง และมีระยะเวลาที่ชัดเจน
  • ความชัดเจน (Clear) ทั้งกลยุทธ์ กลวิธี และหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละทีมงาน
  • มีความคืบหน้า (Progress) แผนที่ทำออกมาแล้วต้องนำมาใช้จริง ซึ่งควรมีระบบและแนวทางในการปฏิบัติอย่างชัดเจน ไม่ใช่ทำออกมาแล้วนำไปขึ้นหิ้งทิ้งไว้เฉยๆ
  • แผนสำหรับอนาคต (Future Plan) ทำการปรับเปลี่ยนแผนรวมถึงทำให้ข้อมูลทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อดูว่าอะไรที่มันล้าสมัยไปแล้ว อะไรที่มันไม่เหมาะสมกับสถานการณ์
  • ความสอดคล้อง (Alignment) ถือเป็นความสำคัญที่สุดในการทำกลยุทธ์ เพราะทุกอย่างที่เกี่ยวข้องต้องมีความสอดคล้อง ทั้งวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย กลุ่มเป้าหมาย ทรัพยากร

2. พนักงาน

บริษัทดูแลและบริหารจัดการพนักงานอย่างไร เพื่อให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จ ด้วยมุมมองด้านการบริการงานบุคคล ตัวพนักงาน การเรียนรู้ และการพัฒนา

  • การจ้างงานอยู่บนพื้นฐานของความสามารถผู้สมัครงานแล้วหรือยัง
  • โครงสร้างองค์กรชัดเจนหรือไม่ และสามารถปรับเปลี่ยนได้หรือไม่
  • โอกาสในการพัฒนาทักษะหรือความรู้มีมากน้อยเพียงไร
  • พนักงานเข้าใจในกลยุทธ์ทั้งหมดขององค์กร และสิ่งที่บริษัทคาดหวังหรือไม่
  • มีระบบการให้รางวัลตอบแทนเมื่อพนักงานทำผลงานออกมาได้ดีหรือไม่
  • มีการสำรวจความคิดเห็นพนักงานเรื่องความพึงพอใจในการทำงานหรือไม่
  • พนักงานได้อำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆที่สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์หรือไม่
  • พนักงานได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆอย่างทั่วถึงและต่อเนื่องหรือไม่

3. กระบวนการทำงาน

การบริหารจัดการกระบวนการทำงานภายในองค์กรเป็นอย่างไร ทั้งมิติของกระบวนการ และการทำงาน

  • ทุกอย่างมันสอดคล้องกันและสามารถส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าหรือไม่
  • มีเอกสารต่างๆ การควบคุม การวัดผล พร้อมสำหรับการทำงานหรือไม่
  • มีการอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจในหน้าที่รับผิดชอบมากน้อยเพียงใด
  • มีการสนับสนุนและสร้างความร่วมมือในการนำเอานวัตกรรมมาใช้ในองค์กรหรือไม่
  • การสนับสนุนด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ และระบบต่างๆในการทำงานมีมากน้อยเพียงใด
  • มีแผนในการเปลี่ยนหรือแก้ไข หากเกิดข้อผิดพลาดในกระบวนการต่างๆหรือไม่

4. การตลาด

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กร ที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ยอดขาย และการตอบสนองความต้องการของลูกค้า

  • มีการกำหนดตลาดเป้าหมายที่เหมาะสมแล้วหรือยัง
  • มีการตรวจสอบหรือสำรวจความต้องการของลูกค้า คุณค่า รวมไปถึงความพึงพอใจของลูกค้าแล้วหรือยัง
  • มีการระบุตำแหน่งของแบรนด์ที่แตกต่างกว่าคู่แข่งแล้วหรือยัง
  • เตรียมช่องทางการสื่อสารกับลูกค้า เพื่อดึงดูดลูกค้าที่เหมาะสมแล้วหรือยัง
  • วิธีการขายเชิงกลยุทธ์รวมไปถึงระบบติดตามลูกค้าเป็นอย่างไร
  • มีการเตรียมการจัดการกับความคาดหวังของลูกค้า เพื่อสร้างความประทับใจมากน้อยแค่ไหน
  • มีการบริหารจัดการความคิดเห็นจากลูกค้า และสื่อสารให้ทุกคนรู้อย่างไร
  • มีการตรวจสอบคู่แข่งและแนวโน้มตลาดเพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้าหรือไม่

5. การเงิน

ปัจจัยสุดท้าย คือ ด้านการเงิน ทั้งสินทรัพย์ รวมไปถึงอุปกรณ์และทรัพยากรต่างๆ

  • ราคาที่ตั้งเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ควรใช้กลยุทธ์การตั้งราคาแบบใด ราคาเหมาะสมกับคุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับหรือไม่
  • มีทีมในการจัดทำและวิเคราะห์เรื่องการทำ Cash flow รวมไปถึงวิเคราะห์ผลกำไรหรือไม่
  • ผู้บริหารระดับสูงมีความเข้าใจและสามารถติดตามผลทางการเงินได้อย่างเหมาะสมเพียงใด
  • การกำหนดราคามีความยืดหยุ่น หรือมีตัวเลือกให้ลูกค้ามากน้องเพียงใด
  • ต้นทุนของสินค้าหรือบริการ รวมไปถึงการกำหนดราคามันสร้างผลกำไรหรือไม่
  • พนักงานทุกคนเข้าใจถึงผลกระทบของต้นทุน ยอดขาย กำไรกับการทำธุรกิจหรือไม่
  • สิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานเพื่อสร้างยอดขาย และกำไรมากเพียงพอหรือไม่

ทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการทำธุรกิจ ซึ่งทุกปัจจัยจะมีความสอดคล้องกันที่ผู้บริหารและพนักงานต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อร่วมผลักดันธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จ


Photos by freepik – www.freepik.com

Share to friends


Related Posts

ตัวอย่าง Key Success Factors เพื่อสร้างความสำเร็จให้ธุรกิจ

Key Success Factors หรือปัจจัยแห่งความสำเร็จ ทำให้คุณจะเห็นว่าการที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมีปัจจัยพื้นฐานอยู่ด้วยกัน 5 ปัจจัย ซึ่งได้แก่ กลยุทธ์ พนักงาน กระบวนการทำงาน การตลาด และการเงิน ที่ต้องทำหน้าที่อย่างสอดคล้องกัน


กำหนดทิศทางของธุรกิจด้วย STP Strategy

ยุคสมัยใหม่ที่มีความรวดเร็วจนทำให้หลายๆธุรกิจ ไม่ทันได้วางรากฐานของธุรกิจและวิเคราะห์ในมุมมองต่างๆอย่างรอบด้าน ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านทิศทางของธุรกิจ กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และความแตกต่างของธุรกิจเมื่อเทียบกับคู่แข่ง หากไม่ชัดเจนตั้งแต่แรกก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ


กลยุทธ์การตั้งราคาสินค้า (Strategy of Pricing)

การตั้งราคาขายนับเป็นสิ่งที่ยากสำหรับคนที่เริ่มทำธุรกิจใดๆก็ตาม ตั้งแต่พ่อค้าแม่ค้าจนไปถึงธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ในบทความนี้ได้รวมวิธีการตั้งราคาขายสินค้าที่สามารถเอาไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกลายเป็นเรื่องง่ายดาย


สร้างความแตกต่างในการทำธุรกิจ ด้วย Brand Positioning

ต้องยอมรับเลยนะครับว่าในสมัยนี้เกิดแบรนด์ต่างๆ ธุรกิจใหม่ๆ สินค้าที่มีความหลากหลายขึ้นแทบจะทุกวันหลายๆแบรนด์พยายามนำเสนอสิ่งใหม่ๆที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งหากแบรนด์ใดสามารถนำเสนอจุดเด่นของสินค้าหรือบริการ หรือการสร้างจุดต่างอื่นๆที่ไม่เหมือนใครและสื่อสารไปให้ลูกค้าหรือผู้บริโภครับรู้และจดจำได้ ก็เรียกได้ว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว นั่นคือ แนวคิดของการวางตำแหน่งแบรนด์ (Brand Positioning)



Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


copyright 2024@popticles.com
หากท่านต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ไปเผยเพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซต์