Sense of Community แนวคิดในการสร้างความสำเร็จของธุรกิจ

Sense of Community หรือจิตสำนึกร่วมชุมชน ถือเป็นแนวคิดที่มีมานานกว่า 40 ปี ซึ่งหมายถึงลักษณะของกลุ่มคนที่มีความรู้สึกร่วมกัน อาจอยู่ในรูปแบบของชุมชนที่เป็นสถานที่หรือชุมชนเสมือนที่เลือกปฏิบัติต่อสิ่งที่มีความสนใจร่วมกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มีการพึ่งพาอาศัย ห่วงใยต่อกัน การมีส่วนในการเติมเต็มความรู้สึกที่ขาดหายและเปี่ยมไปด้วยพลังของความผูกพันในชุมชน สู่การสร้างความสัมพันธ์และความผูกพันที่แนบแน่น โดยประกอบขึ้นจากความหลากหลายทางสังคมแต่สามารถผสมผสานความสนใจไว้รวมเป็นหนึ่งเดียว ที่มีองค์ประกอบด้วยกัน 4 องค์ประกอบ คือ

  • การเป็นสมาชิก (Membership)

    การเป็นสมาชิกนั้นมีลักษณะอยู่ 5 องค์ประกอบร่วมกัน ได้แก่

    • ขอบเขต (Boundaries) ที่ระบุให้ทราบได้ว่าผู้ใดเป็นส่วนหนึ่งหรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิก เช่น การใช้ภาษา การแต่งกายที่ลักษณะคล้ายคลึงกัน

    • ความปลอดภัยทางอารมณ์ (Emotional Safety) เป็นเรื่องของความปลอดภัยที่มีไว้สำหรับปกป้องภายในกลุ่มใกล้ชิด ที่เป็นมากกว่าเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกในกลุ่มสมาชิก ตัวอย่างเช่น ความปลอดภัยทางด้านร่างกายและเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของส่วนรวม

    • ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและร่วมเป็นพวกเดียวกัน (A Sense of Belonging and Identification) เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก ความเชื่อ ความคาดหวังที่ลงตัวกับกลุ่มสมาชิก มีสถานที่ มีความรู้สึกที่ยอมรับซึ่งกันและกัน มีความเต็มใจที่จะเสียสละร่วมกันภายในกลุ่มสมาชิกที่แสดงให้เห็นได้ว่า “นี่คือกลุ่มของฉัน” หรือ “ฉันเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม”

    • การลงทุนส่วนบุคคล (Personal Investment) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในด้านความรู้สึกของบุคคลที่มีในกลุ่มสมาชิก และเป็นสิ่งที่ทำให้สมาชิกมีความหมายและมีคุณค่าในตนเองเพิ่มมากขึ้น

    • ระบบทางสัญลักษณ์ที่ใช้ร่วมกัน (A Common Symbol System) ทำหน้าที่สำคัญอย่างหลากหลายในการสร้างและรักษาความสำนึกร่วมแห่งความเป็นชุมชน หนึ่งในนั้นคือการรักษาขอบเขตของสมาชิกในกลุ่ม
  • การมีอิทธิพลต่อกัน (Influence)

    สมาชิกจะต้องมีแรงดึงดูดใจต่อกันและกัน ถึงจะมีอิทธิพลต่อกลุ่มสมาชิกได้ และการรวมกันเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพจะมีอิทธิพลไปยังกลุ่มสมาชิกได้เช่นกัน ซึ่งแนวคิดของการมีอำนาจ การมีอิทธิพลและการมีส่วนร่วมนั้น มีความเกี่ยวข้องกับความสำนึกร่วมแห่งความเป็นชุมชน โดยจะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวของกลุ่มเพื่อนบ้านที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความแข็งแกร่งของสหภาพแรงงาน การเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ
  • การผสมผสานและเติมเต็มความต้องการ (Integration and Fulfillment of Needs)

    เมื่อใดก็ตามที่สมาชิกมีการแบ่งปันคุณค่าร่วมกันนั้น พวกเขามักจะมองหาในสิ่งที่เป็นความต้องการที่คล้ายคลึงกัน มีการจัดลำดับความสำคัญ มีเป้าหมายในการที่จะเข้าร่วมไปกับกลุ่มสมาชิก ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้รับในสิ่งดีขึ้นกว่าเดิม เช่น การจัดงานโอลิมปิก ที่นอกเหนือจากการมุ่งประเด็นไปที่การท่องเที่ยว แต่ผู้จัดงานยังวางแผนให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดผลสำเร็จทางการค้าระหว่างนักธุรกิจ มากกว่าการทำให้เกิดผลด้านความผูกพันทางสังคม แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับคือการขยายเครือข่ายทางสังคมของนักธุรกิจ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านสุขภาพและชุมชนไปในตัว
  • การแบ่งปันอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน (Shared Emotional Connection)

    ด้วยการพูดคุยเสนอความคิดเห็นต่อเหตุการณ์หรือปัญหา และมีการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆ ผ่านการสื่อสารข้อมูลที่อยากรู้ทั้งในเว็บไซต์สื่อสังคม กระทู้ต่างๆ ความเป็นจิตสำนึกร่วมชุมชนมีระดับของการสร้างความสัมพันธ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องของกลุ่มทั้งในด้านกายภาพ ความรู้สึกนึกคิด ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมในการทำบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดงานมหกรรมหรืออีเว้นท์ระดับประเทศ เช่น โอลิมปิก เทศกาลดนตรีรวมถึงสิ่งที่เกี่ยวของกับวัฒนธรรมท้องถิ่น

สร้าง Sense of Community ในรูปแบบไหนได้บ้าง

เมื่อคุณรู้แล้วว่าองค์ประกอบของการมีจิตสำนึกร่วมชุมชนมีอะไรบ้าง เราลองมาดูกันว่าความมีจิตสำนึกร่วมชุมชนสามารถนำไปทำผสมผสานกับกิจกรรมรูปแบบไหนได้บ้าง

  • งานแสดงดนตรี
  • งานแสดงศิลปะ
  • งานแสดงสินค้ามือสอง
  • งานแสดงสินค้าของชุมชน
  • งานแข่งขันกีฬา
  • งานแสดงสินค้าอื่นๆ
  • งานเทศกาลต่างๆ
  • งานอีเว้นท์ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม
  • งานอีเว้นท์ที่เกี่ยวข้องกิจกรรมเพื่อสังคม
  • กิจกรรมอาสาสมัครต่างๆ
  • กระทู้ต่างๆบนโลกออนไลน์

ประโยชน์ของแนวคิด Sense of Community

การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ชุมชนต่างๆ หรือกิจกรรมที่จัดขึ้นผ่านแนวคิดการสร้างจิตสำนึกร่วมชุมชน สามารถสร้างประโยชน์และประสบการณ์ให้กับผู้ที่เข้าร่วมได้อย่างมาก เช่น

  • การสร้างความสัมพันธ์อันดี (Connection)

    การร่วมกิจกรรมหรือการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สามารถช่วยให้ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมสร้างโอกาสในการเพิ่มเครือข่ายและความเป็นมืออาชีพด้านต่างๆ เพราะคุณจะพบกับบุคคลที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน และยังมีโอกาสได้พบกับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆที่อาจส่งผลให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจในอนาคต
  • สร้างให้เกิดแรงบันดาลใจ (Inspiration)

    บางครั้งในการทำธุรกิจหรือการทำงานเดิมๆซ้ำไปซ้ำมาในแต่ละวัน ก็อาจทำให้ความคิดของคุณเกิดตันขึ้นมาได้ การออกมาร่วมกิจกรรมต่างๆนั้นอาจเปิดโลกทัศน์ในด้านความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานและการใช้ชีวิต เพราะในกิจกรรมมักจะมีการออกแบบและการนำเสนอที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงอาจได้พบกับสินค้าหรือบริการใหม่ๆที่สามารถนำไปต่อยอดในการทำงานได้อีกหลายอย่าง

    โดยปกติกิจกรรมที่จัดขึ้นด้วยการผสมผสานแนวคิดจิตสำนึกร่วมชุมชนเข้าไป จะกลายเป็นแหล่งสังคมที่อุดมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ที่ไม่มีสิ้นสุด การเล่าเรื่องราวที่สร้างให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดี ที่คุณสามารถนำไปใช้ในชีวิตการทำงานและชีวิตประจำวันได้
  • แหล่งทรัพยากรชั้นดี (Resource)

    คุณคงไม่สามารถทำงานได้ด้วยตัวคนเดียว ซึ่งจำเป็นต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือหรือคนที่เหมาะสมมาช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ฉะนั้นการรวมตัวของกลุ่มคนในงานหรือกิจกรรมต่างๆทั้งบริษัทที่ออกงานรวมไปถึงคนที่เข้าร่วมงาน สามารถรับประกันได้ในระดับหนึ่งว่า คุณจะเจอแต่คนที่มีความเข้าใจในเรื่องเดียวกัน มีความรู้ดีๆและส่วนที่ขาดหายไปเพื่อเติมเต็มธุรกิจของเรา
  • การสนับสนุนชั้นดี (Support)

    การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆสามารถการันตีได้ว่า คุณจะพบกับทั้งสิ่งที่มองหาในการเติมเต็มการทำงานและธุรกิจของคุณ รวมถีงกลุ่มคนที่มีเป้าหมายคล้ายๆหรือเป็นไปในทางเดียวกันที่สามารถแบ่งปันประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ เราจะเห็นได้จากหลายๆกิจกรรมที่มีเวทีเสวนาหรือการเปิดโอกาสให้คนมาแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ ที่คุณอาจไม่เคยคิดถึง มีมุมมองใหม่ๆที่สนับสนุนในสิ่งที่คุณเคยคิดเพื่อผลักดันให้ประสบความสำเร็จได้ในอนาคต

อันที่จริงแล้วแนวคิดนี้สามารถนำไปใช้ได้กับทุกกิจกรรรมทางการตลาด ในการผสมผสานแนวคิดและการนำเอาไอเดียใหม่ๆมาใช้สร้างสรรค์ เพื่อให้ธุรกิจของเรามีความแตกต่าง และความแตกต่างนี้จะสร้างให้เกิดพลังของคนที่เข้าร่วมกิจกรรมให้เกิดการบอกต่อ การร่วมแชร์หรือแบ่งปันประสบการณ์ดีๆให้กับธุรกิจของคุณได้อย่างมากเลยทีเดียว


Cover photo by freepik – www.freepik.com

Share to friends


Related Posts

รู้จัก Brand Loyalty เพื่อความได้เปรียบทางธุรกิจ

ความภักดีต่อแบรนด์ หรือ Brand Loyalty เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกที่ดีต่อแบรนด์ และเกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง โดยผลจากการที่คุณภาพของสินค้าหรือบริการที่สามารถตอบสนองและช่วยส่งเสริมลูกค้าได้ ซึ่งความภักดีต่อแบรนด์ นับเป็นหนึ่งองค์ประกอบของการสร้างคุณค่าของแบรนด์


ยุคแห่งการสร้าง Customer Experience

การทำการตลาดแบบเดิมๆในยุคสมัยใหม่ที่เรียกว่ายุค Digital อาจไม่ทรงประสิทธิภาพเท่าการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค แม้ว่าคุณจะทุ่มงบการตลาดมากเท่าไหร่แต่หากมันไม่สร้างให้เกิดประสบการณ์กับผู้บริโภคเลย ก็นับว่าคุณกำลังทำบางสิ่งบางอย่างที่ผิดพลาดไปแล้ว


ลูกค้าต้องการอะไรจาก Brand?

การเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไรเป็นสิ่งที่นักการตลาดในยุคนี้ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ความคาดหวังจากลูกค้าที่ได้รับการเติมเต็มนั้นจะทำให้แบรนด์ของเราเข้าไปอยู่ในใจของลูกค้าได้ และแน่นอนครับว่าท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์ ที่ส่งผลให้เกิดการสนับสนุนและบอกต่อ



Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


copyright 2024@popticles.com
หากท่านต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ไปเผยเพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซต์