การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้นั้นต้องอาศัยการวางกลยุทธ์ (Strategy) ที่ดี และกลยุทธ์โดยหลักๆที่เราคุ้นเคยกันในการทำธุรกิจ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการวางกลยุทธ์การตลาด (Marketing Strategy) และการวางกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy) ซึ่งเชื่อว่าหลายๆคนน่าจะเข้าใจความแตกต่างของทั้ง 2 กลยุทธ์กันเป็นอย่างดี แต่ในระยะหลังๆเราก็จะได้ยินคำว่าการสร้างแบรนด์ (Branding) นั้นได้กลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของการทำธุรกิจในระยะยาว โดยหลายๆคนที่อาจจะยังไม่ได้คุ้นเคยกับเรื่องของ Branding มากเท่าไหร่นัก ก็อาจสับสนและสงสัยว่ากลยุทธ์ของแบรนด์ (Brand Strategy) กับ กลยุทธ์ของธุรกิจ (Business Strategy) มันเหมือนกันหรือไม่
พักหลังๆที่ผมไปสอนและบรรยายเรื่องการสร้างแบรนด์สำหรับธุรกิจ ก็มักจะเจอะเจอกับคำถามในลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง และความสับสนมันก็เกิดขึ้นกับทั้งเจ้าของกิจการ ทีมผู้บริหาร และพนักงาน ทำให้การวางกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจอาจเกิดการสะดุดไม่ราบรื่นก็ได้ ผมเลยจะมาสรุปให้ผู้อ่านได้เข้าใจและเห็นถึงความแตกต่างระหว่างกลยุทธ์ของแบรนด์ (Brand Strategy) กับ กลยุทธ์ของธุรกิจ (Business Strategy) แต่ก่อนอื่นเราลองมาดูคำจำกัดความของทั้ง 2 กลยุทธ์กันก่อนครับ ซึ่งน่าจะทำให้คุณเห็นอะไรบางอย่างชัดเจนมากขึ้น
Brand Strategy มุ่งเน้นไปในเรื่องของการสร้างแบรนด์เพื่อให้ธุรกิจเติบโต
ส่วน Business Strategy นั้นจะเน้นเรื่องของการทำอะไรก็ตาม
เพื่อสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ
กลยุทธ์ของธุรกิจ (Business Strategy)
กลยุทธ์ของธุรกิจ (Business Strategy) มาจากการวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจ ที่ครอบคลุมทั้งด้านการบริหารจัดการองค์กร การดำเนินงานภายใน การจัดการด้านการเงิน รวมไปถึงการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ ซึ่งทั้งหมดนั้นก็มาจากวิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) และเป้าหมายของการทำธุรกิจในระยะยาว กลยุทธ์ของธุรกิจนับเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรเลยก็ว่าได้ เพราะหากไร้ซึ่งกลยุทธ์ที่ดีก็อาจทำให้ทั้งองค์กรและการทำธุรกิจนั้นล้มครืนลงเลยก็ได้เช่นเดียวกัน โดยกลยุทธ์ของธุรกิจนั้นก็ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญว่าจะต้องบรรลุเป้าหมายในส่วนใดเป็นอันดับแรก และจะมีแผนในการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างไร เพื่อให้รักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดรวมถึงสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ
กลยุทธ์ของธุรกิจจึงมีเรื่องให้คิดทบทวนอยู่หลายอย่าง ตั้งแต่การวิเคราะห์การแข่งขันในตลาด คู่แข่งในตลาด การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย การวิเคราะห์แนวโน้มที่เกิดขึ้นในตลาด การพัฒนาสินค้าและบริการ การทำวิจัยตลาด การกำหนดตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ การสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ กลยุทธ์ต่างๆในการทำธุรกิจ การวางแผนขยายธุรกิจหรือปิดกิจการ การวางแผนรายได้ การวิเคราะห์ต้นทุน กำลังคนที่ใช้ การวางแผนโครงสร้างองค์กร รวมไปถึงการดำเนินงานในองค์กร และอื่นๆอีกมากมาย
ทั้งหมดของกลยุทธ์นั้นจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์และนำ Framework ต่างๆมาช่วยในการวางแผนธุรกิจ เช่น การวิเคราะห์ SWOT การวิเคราะห์ PESTEL การวิเคราะห์ Five Forces Model การทำ Business Model Canvas เป็นต้น
กลยุทธ์ของแบรนด์ (Brand Strategy)
กลยุทธ์ของแบรนด์ (Brand Strategy) ก็จำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบในการสร้างแบรนด์เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ด้วยการที่คุณต้องระบุให้ได้ว่าอยากให้ลูกค้ารู้สึกกับธุรกิจของคุณแบบไหนอย่างไร และจะทำอย่างไรเพื่อให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกแบบนั้นในใจให้ได้ ทำอย่างไรเพื่อที่จะกระตุ้นให้ลูกค้าอยากที่จะสนับสนุนและซื้อสินค้ารวมถึงบริการและกิจกรรมต่างๆที่จัดขึ้น ทำให้ลูกค้าเห็นว่าธุรกิจของคุณนั้นมีคุณค่ามากกว่าธุรกิจอื่นๆและสามารถเชื่อมโยงลูกค้ากับแบรนด์ได้ ผ่านเป้าหมาย (Purpose) วิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) คุณค่า (Values) คำมั่นสัญญา (Brand Promise) เรื่องราว (Story) บุคลิกภาพ (Brand Personality) อัตลักษณ์ (Brand Identity) โทนและน้ำเสียง (Brand Voice) รวมถึงการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับพนักงานภายในองค์กรอีกด้วย
การสร้างแบรนด์ (Branding) จึงนับเป็นกลยุทธ์และกลายเป็นแก่นแท้ของทั้งองค์กร สินค้า บริการ ว่าเราสร้างและทำธุรกิจมาเพื่ออะไร แตกต่างจากคนอื่นๆอย่างไร แล้วทำไมลูกค้าถึงต้องหันมาสนับสนุนธุรกิจของคุณ ทั้งหมดคือการเติมเต็มและเสริมความมีชีวิตชีวาให้กับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจครับ
ผมหวังว่าผู้อ่านพอจะเริ่มมองเห็นภาพความเหมือนและความแตกต่างของทั้ง 2 กลยุทธ์กันออกแล้วนะครับ โดยหากลองนำมาเปรียบกับระดับของกลยุทธ์ (Level of Strategy) ก็จะเห็นว่ากลยุทธ์ของแบรนด์ (Brand Strategy) จะถูกนำไปผสมผสานแนวคิดการขับเคลื่อนธุรกิจในระดับของ Corporate Level ส่วนกลยุทธ์ของธุรกิจ (Business Strategy) นั้นจะอยู่ในระดับ Business Level และอย่าลืมนะครับว่า กลยุทธ์ของธุรกิจ (Business Strategy) จะมาก่อนกลยุทธ์ของแบรนด์ (Brand Strategy) และตามมาด้วยกลยุทธ์การตลาด (Marketing Strategy) นั่นเอง