ในทุกครั้งเวลาที่คุณคิดจะเริ่มธุรกิจใหม่ๆก็จำเป็นต้องเริ่มต้นในการเขียนหรือออกแบบรูปแบบธุรกิจ (Business Model) เพื่อให้เห็นภาพโดยรวมอย่างชัดเจนและสิ่งที่ขาดไม่ได้และจำเป็นสำหรับการออกแบบธุรกิจ นั่นก็คือ การเขียนธุรกิจบนผืนผ้าใบ (Business Model Canvas) ซึ่งหากใครทำงานที่เกี่ยวกับการวางแผนองค์กร การออกแบบธุรกิจใหม่ๆ ก็คงจะรู้จักคำนี้เป็นอย่างดี แต่ในบทความนี้ผมจะไม่ได้พูดถึงการทำ Business Model Canvas ครับ ผมจะพูดถึงรูปแบบของธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ได้รวบรวมมาจากหลายๆแหล่ง เพื่อเอามาช่วยในการออกแบบธุรกิจกันครับ
12 Business Model ที่เป็นที่นิยม
1. ธุรกิจแบบสมัครสมาชิก (Subscription Model)
รูปแบบ Subscription Model หรือการสมัครเป็นสมาชิกเป็นรูปแบบธุรกิจที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งการทำธุรกิจแบบเดิมๆและธุรกิจบนโลกออนไลน์ ซึ่งกลายเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบันโดยลูกค้านั้นเป็นคนจ่ายเงินทั้งเป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี ซึ่งสร้างให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งระบบสมาชิกนั้นอาจมีแบ่งตามระดับราคาที่จะได้สิทธิในการใช้สินค้าหรือบริการที่อาจไม่เท่ากัน ก็แล้วแต่การวางแผนรายได้ของแต่ละธุรกิจ ตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้ Business Model นี้เช่น Netflix, Disney+, GoPro, HBO, Adobe รวมถึงค่ายรถยนต์ในบางประเทศอย่าง Nissan, Porsche และธุรกิจอื่นๆก็นำ Subscription Model มาใช้เช่นกัน
2. ธุรกิจแบบสร้างดีลพิเศษ (Bundling Model)
รูปแบบการให้ดีลพิเศษที่ไม่ได้มีให้กันง่ายๆที่เรามักจะเรียกกันว่า Bundle ก็นับเป็นรูปแบบธุรกิจที่เห็นอยู่บ่อยๆในตลาด ซึ่งเป็นรูปแบบของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าหรือบริการที่รวมเอา 2 อย่างขึ้นไปมาผูกกันให้เป็นแพคเกจเดียวกัน หรืออาจจะเป็นระหว่าง 2 ธุรกิจที่มีสินค้าที่สามารถเชื่อมโยงกันได้มาทำแพคเกจคู่กัน และด้วยรูปแบบธุรกิจนี้จะทำให้ราคาของสินค้าหรือบริการนั้นดูลดลง หรืออาจเรียกได้ว่าซื้อแพคเกจนี้คุณจะได้ของแถมเพิ่มเป็นสินค้าอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งคุ้มกว่าการซื้อแบบแยกเดี่ยวแต่ละอันนั่นเอง และการ Bundle นี้เองจะช่วยให้คุณขายสินค้าที่ขายยากให้ออกได้อย่างรวดเร็วด้วยเช่นกันแต่ก็ส่งผลต่อรายได้ที่ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าที่ควร ตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้ Business Model ลักษณะนี้ เช่น Microsoft, Burger King, Pizza, AT&T
3. ธุรกิจแบบของฟรีในช่วงแรก (Freemium Model)
Freemium ถูกใช้อย่างมากในธุรกิจที่ทำบนโลกออนไลน์เป็นหลักรวมไปถึงธุรกิจในลักษณะ Software-as-a-Service (SaaS) โดยรูปแบบ Freemium นี้ก็คือการให้ทดลองใช้ฟีเจอร์ต่างๆฟรีในช่วงแรกอาจจะเป็นระยะเวลา 1 เดือนแล้วต้องมาต่อสัญญาแบบเสียเงิน หรือของฟรีอาจใช้ได้แค่บางฟีเจอร์เพียงเท่านั้น ตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้ Business Model ลักษณะนี้ เช่น Skype, Spotify, LinkedIn, MailChimp, TaxiMail รวมถึงธุรกิจสาย Tech ที่ทำ Digital Platform ต่างๆ เป็นต้น
4. ธุรกิจแบบใบมีดโกน (Razor Blades Model)
Razor Blades Model หรือรูปแบบธุรกิจที่แยกผลิตภัณฑ์ออกเป็นชิ้นส่วนหลักและชิ้นส่วนเสริมที่ใช้ประกอบกัน ทำให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นไม่ต้องเปลี่ยนอยู่บ่อยๆ ลองนึกถึงมีดโกนยี่ห้อ Gillette ที่สามารถซื้อใบมีดโกนต่างหากได้โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนด้ามจับ และ Razor Blades Model ก็พัฒนามาจากแบรนด์ Gillette นี่เองครับซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจที่สร้างให้ Gillette โด่งดังมาจนถึงทุกวันนี้ โดยราคาชิ้นส่วนหลักอาจจะแพงเพราะต้องใช้วัสดุที่ทนทานและมีคุณภาพเพื่อให้ใช้ได้ยาวนาน แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันก็ทำให้ราคาต้นทุนนั้นถูกลง เช่น เครื่องปริ้นที่ซื้อเครื่องครั้งเดียวแล้วเปลี่ยนหมึกได้หลายครั้งทั้งแบบตลับและแบบแทงก์ด้วยราคาหมึกพิมพ์ที่ไม่แพง
ไม่ใช่แค่เพียงตัวอย่างข้างต้นที่กล่าวมา Razor Blades Model ยังดึงให้คนที่ซื้อสินค้ามาซื้ออุปกรณ์เสริมอื่นๆซึ่งก็ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจรูปแบบนี้เช่นเดียวกัน โดยหลักๆแล้วรายได้หลักจะมาจากสินค้าหลักที่ราคาค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ส่วนอุปกรณ์เสริมก็จะมีราคาที่ถูกกว่าแต่โอกาสที่ลูกค้าจะซื้อก็มีมากด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อซื้อ iPhone 1 เครื่อง ก็ต้องตามด้วยเคสป้องกัน ติดฟิล์ม ซื้อประกันเครื่อง หรืออาจขยับไปซื้อ Apple Watch ก็ได้ หรือธุรกิจอย่าง Nespresso กับเครื่องชงกาแฟแบบแคปซูล
5. จากผลิตภัณฑ์ไปเป็นการบริการ (Product to Service Model)
รูปแบบการให้บริการที่ประกอบด้วยการขายโซลูชันและผลลัพธ์ให้กับลูกค้า ที่ส่งมอบคุณค่าที่แท้จริงจากผลิตภัณฑ์แทนที่จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้เพียงอย่างเดียวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ Business Model รูปแบบนี้เกิดขึ้นมาพร้อมกับความคาดหวังของลูกค้าที่ไม่ค่อยมีความอดทนรออะไรนานๆ เพราะความรวดเร็วในยุคสมัยและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้ความสวยงามของผลิตภัณฑ์นั้นไม่ใช่สิ่งเดียวที่ลูกค้าคาดหวังแต่การใช้งานที่ตอบโจทย์จะสำคัญกว่า โดยความท้าทายคือจะนำเสนอโซลูชันอย่างมีประสิทธิภาพให้กับลูกค้าได้อย่างไรและจะสร้างให้เกิด Personalization ได้อย่างไร เช่น
- Uber เป็น Transportation-as-a-Service ทำให้คนไม่ต้องซื้อรถยนต์ ไม่ต้องเสียค่าบำรุงรักษาแค่ใช้บริการ Uber รับส่งจะคุ้มกว่า
- Phillips เป็น Lighting-as-a-Service ที่ผลิตหลอด LED ประหยัดไฟที่ช่วยประหยัดค่าไฟให้กับคุณ นำเสนอโซลูชันตั้งแต่การประเมินสถานที่ การออกแบบ การติดตั้ง การบำรุงรักษาให้ตลอดสัญญาการใช้งานให้กับสถานที่ใหญ่ๆที่ใช้ไฟอย่างมหาศาลอย่าง เช่น สนามบิน อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า
6. ธุรกิจแบบการเช่า (Leasing Model)
ธุรกิจแบบการเช่าคือการที่บริษัทซื้อสินค้ามาแล้วเอามาให้คนอื่นๆได้เช่าไปใช้งาน โดยเสียค่าธรรมเนียมค่าเช่าในรูปแบบต่างๆ โดยเราจะเห็นได้จากธุรกิจรถเช่า การเช่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องพิมพ์เอกสารต่างๆ
7. ธุรกิจแบบที่เกิดจากกลุ่มคนจำนวนมาก (Crowdsourcing Model)
เรามักจะเริ่มคุ้นๆกับคำว่า Crowdsourcing ซึ่งเป็นการเปิดรับความคิดเห็นข้อมูลหรืองานจากผู้คนจำนวนมากผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดีย หรือเรียกได้ว่าจะมีกูรูในด้านต่างๆเข้ามาแสดงความคิดเห็น แชร์ข้อมูลต่อ หรือพูดถึงเรื่องต่างๆที่เป็นประโยชน์ รูปแบบธุรกิจประเภทนี้ช่วยให้บริษัทต่างๆสามารถเข้าถึงเครือข่ายของคนระดับหัวกะทิได้อย่างมากมายโดยไม่ต้องจ้างพนักงานในบริษัทของตัวเอง ตัวอย่างเช่น Wikipedia, YouTube, IMDB, eToro ที่นำรูปแบบธุรกิจนี้มาใช้
8. ธุรกิจแบบซื้อ 1 มอบให้ 1 (One-for-one Model)
ธุรกิจในรูปแบบนี้จะคล้ายๆกับการนำเอาแนวคิดของการทำเพื่อสังคม (CSR) เข้ามาใช้ ซึ่งชื่อรูปแบบธุรกิจก็บอกอย่างชัดเจนอยู่แล้วโดยหากคุณซื้อสินค้า 1 ชิ้น ทางแบรนด์หรือบริษัทจะบริจาค 1 ชิ้นให้กับกิจกรรมการกุศลในแบบต่างๆ ซึ่งแบรนด์ที่ใช้ธุรกิจรูปแบบนี้แล้วประสบความสำเร็จในระดับโลก คงไม่มีใครไม่รู้จักแบรนด์รองเท้า TOMS กับแนวคิด One-for-one หากคุณซื้อรองเท้า 1 คู่ ทาง TOMS เองจะบริจาคให้กับเด็กที่ไม่มีรองเท้าใส่ 1 คู่
Source: https://hauteliving.com/2015/11/find-out-how-toms-is-saving-the-world-one-shoe-at-a-time/592060/
9. ธุรกิจแบบแฟรนไชส์ (Franchise Model)
หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับธุรกิจแบบแฟรนไซส์กันมากที่สุด ซึ่งเราจะเห็นจากธุรกิจร้านกาแฟ ธุรกิจอาหารจานด่วนอย่าง Starbucks, Domino’s, Subway, McDonald’s ซึ่งหลายๆแบรนด์ก็ขยายธุรกิจออกไปในระดับโลกซึ่งมีมากกว่า 1,000 สาขาเลยทีเดียว สำหรับธุรกิจแบบแฟรนไซส์นี้ก็คือการที่เจ้าของธุรกิจเปิดโอกาสให้ทุกๆคนเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกันในแบบการลงทุนในสาขาต่างๆ ซึ่งทางเจ้าของจะเป็นคนกำหนดเรื่องต่างๆไว้เป็นแบบแผนทั้งการทำการตลาด การควบคุมคุณภาพสินค้า การออกแบบตกแต่งร้าน และหาวิธีช่วยให้สาขาต่างๆเติบโตไปด้วยกัน โดยคนที่สนใจก็ต้องมีการเสียค่าแฟรนไซส์และจำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์หรือส่วนผสมจากบริษัทแม่เท่านั้น และในหลายๆรูปแบบจะมีการแบ่งปันกำไรให้กับทางเจ้าของธุรกิจตามสัดส่วนด้วยเช่นกัน
10. ธุรกิจแบบการกระจายสินค้า (Distribution Model)
บางธุรกิจก็เน้นการเป็นผู้กระจายสินค้า (Distributor) ซึ่งก็คือธุรกิจมีโรงงานในการผลิตสินค้าขึ้นมาแล้วกระจายไปสู่ตลาด และมีนายหน้าหรือตัวแทนรับไปขายต่อ เราจะเห็นได้จากโรงงานผลิตยาหรือเวชภัณฑ์ที่ผลิตเครื่องสำอางและหาตัวแทนมาขายให้ และหลายๆธุรกิจอย่างช็อกโกแลต Hershey ที่ผลิตอย่างเดียวและให้ตัวแทนนำไปขายให้ โดยรายได้จะมาจากการที่ตัวแทนเหมาไปในแบบขายส่ง
11. ธุรกิจแบบโรงงานผลิต (Manufacturer Model)
รูปแบบธุรกิจเก่าแก่ดั้งเดิมที่เป็นการนำเอาวัตถุดิบมาใช้เพื่อผลิตให้ออกมาเป็นสินค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ หรือนำเอาวัตถุดิบจากโรงงานอื่นๆเข้ามาประกอบในการผลิตสินค้า เช่น ธุรกิจคอมพิวเตอร์อย่าง Dell และ HP
12. ธุรกิจแบบค้าปลีก (Retailer Model)
รูปแบบผู้ค้าปลีกเป็นตัวเชื่อมสุดท้ายในห่วงโซ่อุปทาน โดยธุรกิจเหล่านี้ซื้อสินค้าจากผู้จัดจำหน่ายแล้วขายให้กับลูกค้าในราคาที่ครอบคลุมทั้งค่าใช้จ่ายและสร้างผลกำไร ผู้ค้าปลีกอาจมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น เครื่องครัว หรืออาจนำเสนอผลิตภัณฑ์หลายประเภท ตัวอย่างเช่น Home Depot, Best Buy
Source:
https://www.nerdwallet.com/article/small-business/what-is-a-business-model
https://articles.bplans.com/what-is-a-business-model-business-models-explained/