
เคยสงสัยไหมครับว่าบริษัทที่เราทำอยู่นั้นอยู่ในธุรกิจประเภทไหน ซึ่งเรามักจะคุ้นหูกับธุรกิจแบบ B2C และ B2B แต่ปัจจุบันนั้นมีหลากหลายประเภทธุรกิจเกิดขึ้นอย่างมาก อันเนื่องมาจากกลุ่มเป้าหมาย เทคโนโลยี และรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การทำการตลาดนั้นมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักประเภทของธุรกิจที่นอกเหนือจาก B2C และ B2B กันครับ
เรามาเริ่มกันที่ B2B (Business-to-Business) เป็นการทำธุรกิจระหว่างธุรกิจด้วยกัน ใน scale ที่ใหญ่ ที่จำเป็นต้องสร้างความเป็นคู่ค้าทางธุรกิจในระยะยาว โดยส่วนใหญ่การทำธุรกิจประเภทนี้จะเป็นการนำเสนอ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่ช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ เช่น ธุรกิจที่ปรึกษา ธุรกิจที่ขายเครื่องจักรในกระบวนการผลิต หรือบิสิเนส โซลูชันประเภทต่างๆ ธุรกิจประเภทนี้อยู่ในทุกอุตสาหกรรม
การตลาดและการสร้างแบรนด์ของ B2B จะแตกต่างจากประเภท B2C กลุ่มลูกค้าเป้าหมายไม่ใช่ผู้บริโภคโดยตรง แต่เป็นระดับองค์กร นั่นหมายถึงนักการตลาดในธุรกิจประเภทนี้ต้องสื่อสารกับผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจโดยตรง การจะผลักดันยอดขายหมายถึงการเข้าใจกระบวนการทางธุรกิจของบริษัทต่างๆ และพัฒนากลยุทธ์เฉพาะธุรกิจร่วมกับทีมขาย เพื่อเปลี่ยนลูกค้าเป้าหมายให้กลายเป็นผู้ซื้อให้ได้
กุญแจสำคัญในการตลาด B2B คือการแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของธุรกิจ หากโซลูชันของคุณสามารถปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดีขึ้น มุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพที่ลูกค้าของคุณจะได้รับ โซลูชันของคุณสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของคู่ค้าเพิ่มผลกำไร หรือเชื่อมโยงไปถึงการขายจะยิ่งดีมากขึ้น
ตัวอย่างประเภทธุรกิจ ได้แก่ IBM, SAP, Caterpillar, Oracle, Cisco, Microsoft, Google Cloud, Amazon และอีกมากมาย
ประเภทต่อไป คือ B2C (Business-to-Customer) เป็นการขายสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง ธุรกิจประเภทนี้เราจะเห็นอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ เพราะเน้นการทำโฆษณา กิจกรรมทางการตลาดอยู่สม่ำเสมอ ส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ประเภท FMCG เสื้อผ้า เครื่องสำอางค์ อาหาร ธุรกิจหรือแบรนด์ใดๆ ที่ขายแบบ B2C ต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะกลับมาซื้อซ้ำ ซึ่งแตกต่างจาก B2B ที่มีแคมเปญการตลาดเพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการ B2C ต้องกระตุ้นการตอบสนองทางอารมณ์ของลูกค้าให้ได้ ยิ่งในปัจจุบันเป็นยุคของการสร้างความรู้สึกร่วมทางด้านอารมณ์เป็นหลัก
เราจะเห็นการตลาดที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดในธุรกิจนี้ และจะทุ่มเม็ดเงินโฆษณากันอย่างมาก กิจกรรมทางการตลาดที่มีความสร้างสรรค์ และไม่ได้จำกัดอยู่ที่ร้านค้าอีกต่อไป เพราะเป็นยุคสมัยของออนไลน์ เราจะเห็นช่องทางการสื่อสารและการขายทางออนไลน์มากขึ้น
ตัวอย่างประเภทธุรกิจ ได้แก่ McDonald, KFC, Pepsi, Coke, ธุรกิจร้านค้าปลีกต่างๆ
อีกประเภทหนึ่งที่เราเริ่มเห็นมากขึ้น คือ C2B (Customer-to-Business) รูปแบบธุรกิจที่ผู้ใช้หรือผู้บริโภคสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการขึ้นมา เพื่อทำให้กระบวนการทางธุรกิจมีความได้เปรียบในการแข่งขันวิธีการของ C2B นั้นพัฒนามาจากการเติบโตของสื่อและคอนเทนต์ที่สร้างโดยผู้บริโภค เช่น เว็บไซต์ บล็อก พอดแคสต์
วิดีโอ และเครือข่าย สังคมออนไลน์ต่างๆ
ในรูปแบบ C2B ผู้บริโภคให้โอกาส ธุรกิจหรือแบรนด์ต่างๆทำการโฆษณา หรือโปรโมทสินค้าตัวเองผ่านเว็บไซต์ บล็อค พอดแคสต์ หรือวิดีโอที่ผู้บริโภคสร้างขึ้นมา หรือแม้แต่การรีวิวสินค้าประเภทต่างๆ แลกด้วยค่าสนับสนุน หรือส่วนแบ่งยอดขาย จนกลายเป็น influencer หรือ กูรู ได้ในอนาคต
ตัวอย่างประเภทธุรกิจ ได้แก่ bloger ต่างๆ เจ้าของเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาดีๆและมีผู้ติดตามจำนวนมาก ทั้งการตลาด เทคโนโลยี อสังหาฯ รถยนต์ เว็บที่ให้ความรู้ข่าวสารต่างๆ
ที่ดังสุดในยุคนี้น่าจะเป็นธุรกิจประเภท C2C (Customer-to-Customer) เพราะด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และการเข้ามาของอินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ C2C เป็นรูปแบบธุรกิจที่ลูกค้าสามารถแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน ผ่านระบบออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งมีแบรนด์ต่างๆเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในรูปแบบอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์ม เช่น Ebay, Shoppee, Lazada โดยผู้สร้างแพลตฟอร์มจำเป็นต้องสร้างระบบที่คำนึงถึง UX/UI หรือความสวยงามของระบบ และประสบการณ์การใช้งานของผู้บริโภค เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้สึกใช้งานง่าย รวมการนำเสนอโปรโมชัน และรูปแบบการตลาดที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้งาน
นอกเหนือจากผู้สร้างระบบขึ้นมาแล้ว การที่เราทำสินค้ามาขายผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ก็นับเป็นรูปแบบหนึ่งของ C2C ด้วยเช่นกัน เช่นการขายสินค้าผ่าน Facebook, Pantip, Instagram และเว็บอื่นๆอีกมากมาย
อีกหนึ่งประเภทที่เป็นการผสมผสานระหว่าง B2B และ B2C กลายเป็นธุรกิจประเภท B2B2C (Business-to-Business-to-Customer) ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจในแบบออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ และพอร์ทัลต่างๆ โดยการร่วมมือกับธุรกิจ ผลิตภัณฑ์และบริการที่มุ่งเน้นผู้บริโภค เน้นการแก้ไขปัญหาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
ตัวอย่างของรูปแบบ B2B2C เช่น แพลตฟอร์มที่รวมร้านอาหาร และมีฟีเจอร์ที่ช่วยให้ลูกค้ามีความสะดวกในการสั่งอาหาร หรือบริการอื่นๆ ซึ่งเป็นโอกาสในการเพิ่มลูกค้าให้ธุรกิจต่างๆด้วย หรือ แพลตฟอร์มทางการเงิน ที่เชื่อมกับบัญชีผู้ใช้งาน โดยสามารถเบิกเงินเดือนล่วงหน้าได้ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างธุรกิจเพื่อให้พนักงานในบริษัท มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น โดยผู้สร้างแพลตฟอร์มจะได้ค่าบริการในการเบิกเงินล่วงหน้า เป็นต้น
ท้ายสุด คือ B2G (Business-to-Government) ธุรกิจที่ขายสินค้าและบริการของตัวเองกับหน่วยงานราชการ ข้อแตกต่างที่สำคัญเมื่อเทียบกับ B2B และ B2C คือ ในรูปแบบ B2G โดยทั่วไปบริษัทจะเสนอราคาแบบมีโครงสร้างตามรายละเอียดที่ภาครัฐต้องการ มีการเปรียบเทียบราคา การยื่นซองประกวดราคา มีการทำสัญญาที่มีระยะเวลาที่ชัดเจน หากผิดสัญญาหรือไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตรงตามเวลา จำเป็นต้องมีบทลงโทษ เนื่องจากจะมีผลต่อการส่งมอบงานตามแผนงานของรัฐบาล และกระทบต่อการเบิกงบประมาณ และบริษัทที่จะทำธุรกิจในลักษณะนี้ จำเป็นต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดของภาครัฐ เช่น ประสบการณ์กี่ปีขึ้นไป การมีผลงานอ้างอิง เป็นต้น
อันที่จริงยังมีอีกหลายประเภทธุรกิจ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แต่หลักๆที่เราจะเจอกันบ่อยๆ ก็มีตามที่ผมอธิบายไปนั่นแหละครับ หวังว่าคุณจะมองออกแล้วว่าแบรนด์หรือธุรกิจของคุณอยู่ในธุรกิจประเภทไหน และมันมีความแตกต่างอย่างไร