Coaching การเป็นโค้ชคืออาชีพในฝันของหลายๆคนที่เป็นเรื่องของการสร้างหรือเพิ่มพูนศักยภาพให้กับคนอื่นๆ ซึ่งการจะเป็นโค้ชที่สามารถสอนใครๆได้นั้นก็ต้องมีทั้งความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถในระดับที่สูงมาก เพื่อประสิทธิภาพในการพัฒนาคนที่มาเรียนรู้ให้มีทักษะหรือความสามารถในด้านใดด้านหนึ่งที่เพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ และสำหรับใครที่อยากเป็นทำอาชีพ Coaching หรือสนใจที่จะรู้จักอาชีพนี้ให้มากขึ้น ลองมาเรียนรู้จากบทความนี้ดูครับว่า Coaching นั้นมีกี่ประเภทกันบ้างครับ
ทำความรู้จักคำว่า Coaching ให้ชัดเจน
Coaching คือ อาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งหรืออาจจะเชี่ยวชาญในหลายๆด้าน ที่จะช่วยกำหนดแนวทาง แนะนำ สั่งสอน หรือเค้นความสามารถของคนในรูปแบบต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนและเกิดพลังในทางที่ดีขึ้นสำหรับการใช้ชีวิตรูปแบบต่างๆ และคนที่เป็นโค้ชนั้นก็มักจะมีบุคลิกลักษณะที่ชอบใฝ่หาความรู้ เรียนรู้อะไรใหม่ๆเสมอ มองโลกในเง่ดี และเพิ่มพลังเชิงบวกให้กับตัวเองอยู่สม่ำเสมอ ส่วนผสมสำคัญของความเป็น Coaching นั้นประกอบไปด้วย
- มอบหมายงานและความรับผิดชอบ
- ฟังมากกว่าพูด
- ให้ความร่วมมือมากกว่าการควบคุม
- ไม่ตัดสินใครง่ายๆ
- ให้ความคิดเห็นอย่างชัดเจน
- ขอความร่วมมือมากกว่าการสั่งการ
- เป็นที่ปรึกษาและครูที่ดี
- สอนงานเสมอ
Coaching มีกี่ประเภท
Coaching นั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่
1. Coaching ภายนอกองค์กร (External)
โค้ชประเภทนี้จะไม่ได้ทำงานอยู่ภายในหรือมีความสัมพันธ์กับองค์กร โดยจะได้รับการว่าจ้างให้มาสอนเพื่อเติมเต็มสิ่งที่องค์กรนั้นขาดหายไป โค้ชประเภทนี้จะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น เน้นถ่ายทอดความสามารถเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนในองค์กรนั้นๆ ซึ่งมีประโยชน์อยู่หลายอย่าง เช่น
- มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆอย่างชัดเจนและได้รับการฝึกสอนมาเป็นอย่างดี ซึ่งมีความสามารถตรงตามที่องค์กรอยากได้
- พนักงานจะมีความผ่อนคลายและไว้ใจในการขอคำปรึกษามากกว่า ทั้งในเรื่องงาน เพื่อนร่วมงาน ตัวองค์กร ซึ่งต่างกับการเป็นโค้ชภายในองค์กรที่รู้จักทุกๆคนจนอาจไม่มีใครกล้าพูดหรือปรึกษาปัญหาต่างๆ
- สามารถให้การรับประกันและรักษาความลับของลูกค้าได้
- มองสิ่งต่างๆออกอย่างทะลุปรุโปร่งอย่างไม่ลำเอียงใดๆ
- ให้ความร่วมมือและความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ในหน้าที่ที่ได้รับ ซึ่งต่างจากการเป็นโค้ชภายในองค์กรที่อาจมีงานหลายอย่างที่ต้องทำ
- กล้าให้ความคิดเห็นและวิธีแก้ไขอย่างเปิดเผย โดยไม่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผลประโยชน์ใดๆกับองค์กร
2. Coaching ภายในองค์กร (Internal)
โค้ชที่มีตำแหน่งงานหรือเป็นพนักงานในองค์กรและโดยส่วนใหญ่นั้น จะมีตำแหน่งในระดับหัวหน้าหรือผู้นำในสายงานต่างๆที่รู้จักพนักงานและองค์กรเป็นอย่างดี โดยมีหน้าที่ทั้งพัฒนาศักยภาพพนักงานรวมไปถึงรับผิดชอบหน้าที่การงานของตัวเองไปพร้อมๆกัน และโค้ชประเภทนี้ก็มีประโยชน์อยู่หลายอย่างครับ เช่น
- ไม่ต้องจ้างโค้ชมาเพื่อให้เสียงบประมาณหรืออาจมีการให้ผลตอบแทนที่ถูกกว่าการจ้างโค้ชจากภายนอก ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณได้มากเลยทีเดียว
- เข้าใจและสามารถนำเอาเนื้องานที่มีอยู่มาปรับใช้ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงรู้จักบุคลิกลักษณะของพนักงานเป็นอย่างดี
- มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันและเคารพซึ่งกันและกันระหว่างโค้ชกับทีมงาน ซึ่งสร้างให้บรรยากาศมีความผ่อนคลาย
- โอกาสในการสังเกตพฤติกรรมพนักงานเพื่อหาทางปรับปรุงหรือแก้ไขเรื่องต่างๆในอนาคต
- ทำให้พนักงานรู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญขององค์กร และยังสามารถช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานได้
การมีโค้ชภายในองค์กรเองก็อาจมีข้อเสียเปรียบอยู่บางอย่าง เช่น การต้องทำทั้งงานและสอนไปในตัวซึ่งจะจัดตารางได้ค่อนข้างยาก พนักงานอาจจะไม่กล้าพูดบางเรื่องที่อาจกระทบความสัมพันธ์ในทีม และอาจมีอาการพูดเข้าข้าง (Bias) เพื่อเอาใจพนักงานได้เพราะต้องการความนับถือจากลูกน้องตัวเอง
6 ลักษณะของ Coaching
หากแยกเป็นลักษณะของ Coaching นั้นก็มีอยู่ด้วยกันหลักๆ 6 ลักษณะ คือ
1. โค้ชผู้บริหาร
เป็นโค้ชที่เน้นการเสริมทักษะและศักยภาพให้กับระดับผู้บริหารขององค์กร (Executive) จากโค้ชมืออาชีพภายนอกที่มีประสบการณ์และคุณสมบัติสูง มาทำการสอนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาและการเผชิญหน้ากับเรื่องต่างๆในการบริหารงาน และค่าใช้จ่ายนั้นค่อนข้างแพงซึ่งขึ้นอยู่กับขอบเขตเรื่องที่จะสอนด้วย
2. โค้ชสายอาชีพ
โค้ชลักษณะนี้จะช่วยพนักงานในการแนะนำเป้าหมายในการทำงาน (Career) หาวิธีพัฒนาทักษะ ความรู้ และขุดศักยภาพของพนักงานออกมา และยังสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดบรรยากาศดีๆในการทำงาน
3. โค้ชสร้างผู้นำ
โค้ชที่เน้นการสร้างศักยภาพในการเป็นผู้นำ (Leader) ให้เกิดขึ้น ทั้งทักษะการพูด การนำเสนอ การแก้ไขปัญหา การตัดสินใจ โดยจะเน้นให้พูดคุยถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆเพื่อหาทางแก้ไขและสรุปใจความสำคัญเพื่อนำมาปรับปรุง
4. โค้ชการทำธุรกิจ
โดยหลักคือการช่วยผู้บริหารและพนักงานในองค์กรสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นให้กับธุรกิจ (Business) โดยจะเกี่ยวข้องกับการสอนและให้คำแนะนำตั้งแต่วิสัยทัศน์ พันธกิจ จุดมุ่งหมาย ไปจนถึงกลยุทธ์ต่างๆ
5. ไลฟ์โค้ช
โค้ชที่เรามักจะเห็นในช่วงหลังๆที่สร้างแรงบันดาลใจและสอนการใช้ชีวิต (Life) เพื่อให้เอาชนะอุปสรรคด้านต่างๆทั้งการทำงาน ชีวิตส่วนตัว รวมถึงชีวิตครอบครัว ซึ่งโค้ชลักษณะนี้จะสร้างผลกระทบเชิงบวกด้านจิตใจและมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก
6. โค้ชการบริหารจัดการ
โค้ชที่จะช่วยให้ผู้บริหารไม่ว่าจะเป็นระดับสูงหรือระดับผู้จัดการ ในการสอนวิธีบริหารจัดการ (Management) ให้ทำผลงานออกมาได้อย่างราบรื่น โดยอาจมีการนำระบบต่างๆเข้ามาใช้ในการแก้ปัญหาเพื่องานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับใครที่อยากทำอาชีพ Coaching ก็ลองค้นหาตัวเองดูนะครับว่าเรามีลักษณะและความสามารถอะไรบ้างที่จะพัฒนาต่อได้ในสายอาชีพนี้ และหากเป็นธุรกิจหากจะเลือกใครสักคนมาช่วยพัฒนาศักยภาพคนในองค์กร ก็ลองดูครับว่าส่วนไหนที่องค์กรนั้นจำเป็นในการหามืออาชีพมาช่วยเสริมความแข็งแกร่งครับ