สำหรับวิทยากร อาจารย์พิเศษ ผู้บริหาร ที่ต้องออกไปพูด บรรยาย หรือสอนหนังสือให้กับทั้งนักเรียน นักศึกษา พนักงานหรือผู้บริหารตามองค์กรต่างๆ คุณมักจะเจอกับกลุ่มผู้ฟังที่มีหลากหลายระดับ มีทั้งคนที่มีความรู้ในเรื่องที่คุณพูดและไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ซึ่งความสามารถในการวิเคราะห์ผู้ฟังนั้นเป็นทักษะที่จำเป็นของผู้พูด เพื่อให้การสื่อสารหรือการนำเสนองานนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
ในบทความนี้จะอธิบายให้เห็นถึงพฤติกรรมโดยปกติของผู้ฟัง ที่คุณจะต้องพบเจอในงานต่างๆเพื่อให้คุณได้พัฒนาทักษะในการสื่อสาร ได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ
1. ผู้ฟังที่วางตัวเป็นกลาง
ผู้ฟังประเภทนี้มักจะวางตัวอยู่ตรงกลางในเวลาที่คุณพยายามจะพูดอะไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะพยายามขายของ ไม่ว่าคุณจะพยายามโน้มน้าวใจ ผู้ฟังกลุ่มนี้อาจจะสนใจหรืออาจไม่สนใจในสิ่งที่คุณพูดก็ได้ สิ่งสำคัญอย่างน้อยที่สุด ก็คือ คุณต้องไม่พยายามทำให้ผู้ฟังประเภทนี้เกิดความขุ่นเคืองหรือข้องใจใดๆ ที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจ แต่หากมีข้อมูลสนับสนุนที่เป็นประโยชน์มากเพียงพอ ก็อาจทำให้ผู้ฟังประเภทนี้หันมาสนใจก็เป็นได้
2. ผู้ฟังที่มีความเห็นขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา
ผู้ฟังประเภทนี้จะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณกำลังเสนอ เรียกได้ว่ายึดความเชื่อมั่นในความรู้และความคิดของตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่ไม่ต้องตกใจไปนะครับเพราะไม่มีใครจะเห็นด้วยกับทุกสิ่งที่คุณเสนอได้ทุกคนอยู่แล้ว คุณควรหาเรื่องราวอะไรที่เกี่ยวข้องหรือใกล้เคียงกับผู้ฟังเหล่านี้มาเป็นจุดเริ่มต้นในการเชื่อมโยง พยายามคิดให้ออกว่าเพราะอะไรพวกเขาถึงไม่เห็นด้วย อะไรที่เขาไม่ชอบ และจะทำอย่างไรให้พวกเขาเข้าใจ
3. ผู้ฟังที่ไม่รู้ข้อมูลใดๆเลย
ผู้ฟังประเภทนี้จะไม่คุ้นเคยหรือรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่คุณนำเสนอ เพราะอาจจะเกิดจากการที่ไม่สนในเรื่องนั้นจริงๆหรืออาจจะอยู่คนละสายงานที่เกี่ยวข้องกัน โดยคุณจำเป็นต้องให้ข้อมูลอย่างหนักกับกลุ่มผู้ฟังเหล่านี้ แต่อย่าให้ข้อมูลจนล้นเกินไปเพราะอาจเกิดข้อมูลล้นจนจำอะไรไม่ได้ (Information Overflow) ดังนั้นเลือกสื่อสารเฉพาะประเด็นที่เหมาะสม และทำให้เข้าใจง่ายมากที่สุดครับ
4. ผู้ฟังที่มีความเชี่ยวชาญ
ผู้ฟังประเภทนี้มีความรู้เป็นอย่างดีในเรื่องที่คุณนำเสนอ ที่อาจเกิดจากการที่พวกเขาอยู่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ สนใจเรื่องนั้นๆอย่างจริงจัง หรืออาจค้นหาข้อมูลในเรื่องที่คุณจะพูดมาก่อน ดังนั้นคุณอาจต้องแนบประเด็นใหม่ๆ เชื่อมโยงข้อมูลใหม่ๆ หรือไม่ก็บอกแค่หัวข้อหลักที่คุณจะนำเสนอเท่านั้นพอ ไม่ควรเปิดเผยทุกเรื่องให้ผู้ฟังรู้สึกไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้นรออยู่ข้างหน้า
5. ผู้ฟังที่เป็นนักธุรกิจ
ผู้ฟังประเภทนี้จะให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจมาก เวลาเป็นเงินเป็นทอง ไม่มีความอดทนนั่งฟังอะไรนานๆโดยเฉพาะหากเรื่องราวนั้นไม่น่าสนใจ หรือเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ๆที่ส่งผลดีต่อการทำธุรกิจ พยายามทำให้การนำเสนอกับผู้ฟังกลุ่มนี้กระชับที่สุด พูดจาอย่างสุภาพ มีหลักการเหตุผล พูดในสิ่งที่พวกเขาอยากฟัง ไม่ต้องโอ้อวดตัวเองว่าเก่งอย่างไร ระวังอย่าให้ข้อมูลจนมากเกินไปหรือทำให้ผู้ฟังประเภทนี้รู้สึกว่า ตัวเองโดนประเมินค่าต่ำจนเกินไปครับ
6. ผู้ฟังที่ชอบอะไรใหม่ๆ
ผู้ฟังประเภทนี้จะตื่นเต้นและให้ความสนใจกับเรื่องราวใหม่ๆ สินค้าใหม่ๆที่ออกมาในตลาด หรืออะไรก็ตามที่พวกเขาไม่เคยรู้มาก่อน ผู้ฟังประเภทนี้ชอบหาความรู้อะไรใหม่ๆเพื่อสร้างความก้าวหน้าหรือต่อยอดธุรกิจให้กับตัวเอง มีการใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ ไม่ได้ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ
7. ผู้ฟังที่เป็นนักคิด
ผู้ฟังประเภทนี้จะคิดตามในสิ่งที่ผู้พูดนำเสนออยู่ตลอดเวลา เป็นคนที่ชอบคิดวิเคราะห์หาเหตุผลมารองรับ จะไม่ปักใจเชื่อสิ่งต่างๆง่ายๆ โดยจะค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ ผู้ฟังประเภทนี้โน้มน้าวใจได้ยากมาก ดังนั้นการนำเสนอจำเป็นต้องมีข้อมูล สถิติ การอ้างอิง ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย รายงานที่ได้รับการรับรองต่างๆ เพื่อทำให้ผู้ฟังกลุ่มนี้ยอมทำตาม
8. ผู้ฟังที่ชอบตั้งคำถาม
ผู้ฟังประเภทนี้จะเชื่อมั่นในข้อมูลที่มีและสงสัยใคร่รู้อยู่ตลอดเวลา โดยจะฟังรายละเอียดทุกคำพูดดูเอกสารทุกหน้าอย่างละเอียด และคอยตั้งคำถามจากรายละเอียดนั้นๆ เรียกได้ว่าเจาะลึกกันเลยทีเดียวครับ การที่ผู้ฟังตั้งคำถามเยอะนั้นก็มาจากความสนใจในสิ่งที่คุณนำเสนอ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าข้อมูลลที่เตรียมมานั้นดีในระดับหนึ่งเลยครับ ดังนั้นหน้าที่คุณคือพยายามตอบคำถามเหล่านั้นให้ได้ เพื่อทำให้ผู้ฟังกลุ่มนี้รู้สึกเชื่อมั่นในตัวคุณนั่นเอง
9. ผู้ฟังที่เชื่อประสบการณ์ในอดีต
ผู้ฟังประเภทนี้จะเชื่อมั่นในข้อมูลจากการที่ได้เคยสัมผัสมาด้วยตัวเอง หรือเห็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จและผิดพลาดจากคนที่รู้จัก จะไม่ตัดสินใจอะไรง่ายๆจากเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ชอบความเสี่ยงใดๆ ผู้ฟังกลุ่มนี้หากได้รับการสนับสนุนในสิ่งที่ตัวเองเคยมีประสบการณ์มาก่อน และอาจเสริมด้วยวิธีการปรับปรุงหรือพัฒนาบางสิ่งให้ดีขึ้น จะทำให้พวกเขารู้สึกมีกำลังใจมากยิ่งขึ้น
10. ผู้ฟังที่ชอบคุมเกม
ผู้ฟังประเภทนี้จะชอบควบคุมการตัดสินใจทุกอย่าง อยู่กับหลักการและเหตุผลไม่ใช้อารมณ์ตัดสินใจ เชื่อความคิดตัวเองเป็นหลักและต้องมีข้อมูลหลักฐานที่แสดงอย่างชัดเจนเท่านั้นถึงจะยอมเชื่อ ก็คล้ายๆประเภทนักคิดนั่นเองครับ
ทั้งหมดก็เป็น 10 ประเภทของผู้ฟังที่นักพูดด้านต่างๆต้องเจออย่างแน่นอนครับ อย่าลืมนะครับว่าการรู้จักว่าใครคือผู้ฟังของคุณ จะทำให้คุณสามารถเตรียมข้อมูลและเตรียมการนำเสนอได้อย่างถูกต้อง และยังได้ใจของผู้ฟังที่ตั้งใจมาฟังคุณอีกด้วยครับ
Photos by freepik – www.freepik.com