ในบทความที่ผ่านมาผมได้สรุปเกี่ยวกับความสำคัญของการพูดแบบสร้างแรงจูงใจ (Motivational Speech) ไป ซึ่งมันสามารถนำไปใช้ได้กับหลากหลายสถานการณ์ ที่ส่งผลดีต่อทั้งตัวผู้พูดและโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวผู้ฟัง ไม่ว่าคุณจะนำไปใช้กับการพูดเพื่อกล่าวปราศรัย การพูดในที่สาธารณะ หรือการประชุมในองค์กรรูปแบบต่างๆ ก็นับเป็นเรื่องดีเสมอหากใส่ลักษณะการพูดที่สร้างแรงจูงใจเข้าไปครับ และในบทความนี้ผมได้นำเอาเทคนิคง่ายๆที่ช่วยให้มีแนวทางในการเขียนสำหรับการพูดแบบสร้างแรงจูงใจ (Motivational Speech) มาฝากกันครับ แต่ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนครับว่าทำไมถึงจำเป็นต้องมีการเขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรกันด้วย
เหตุผลที่ต้องเขียนคำพูด (Speech) ให้ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร
เมื่อคุณต้องพูด สื่อสาร หรือนำเสนออะไรก็ตามการเตรียมตัวถือว่าสำคัญมาก เพราะมันคือเรื่องของการสร้างความน่าเชื่อถือ และแน่นอนว่าคุณคงไม่อยากทำอะไรให้การพูดแบบสร้างแรงจูงใจ (Motivational Speech) นั้นเกิดอาการสะดุดระหว่างทาง เรามาดูเหตุผลต่างๆกันครับว่าทำไมทุกๆการเตรียมความพร้อมสำหรับการพูดนั้นจำเป็นต้องเขียนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน
- ช่วยให้เห็นและเข้าใจภาพรวมของหัวข้อทั้งหมดที่คุณกำลังจะสื่อสารออกไป
- บริหารจัดการลำดับไอเดียการนำเสนอได้ดีขึ้น
- ช่วยให้คุณจดจำเรื่องราวต่างๆได้อย่างถูกต้อง
- ไม่ทำให้คุณพูดออกนอกเรื่อง
- ช่วยควบคุมเวลาให้เหมาะสม
- ช่วยให้คุณเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมในการสื่อสาร
- ช่วยให้คุณฝึกซ้อมได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
- เพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของการพูดให้มีมากขึ้น
แม้ว่าคุณจะเป็นนักพูดหรือนักสื่อสารที่เก่งมากแค่ไหน ก็ควรที่จะเขียนหัวข้อและรายละเอียดที่จะพูดออกมา ไม่ว่าจะเป็นการเขียนลงบนกระดาษหรือทำบน PowerPoint Presentation ก็ดีกว่าการนึกแล้วจดบันทึกเอาไว้ในสมองแล้วเอามาด้นแบบสดๆ เพราะบางครั้งมันอาจเกิดการผิดพลาดแล้วผลลัพธ์มันอาจจะทำให้การพูดของคุณนั้น กลายเป็นการพูดที่ขาดประสิทธิภาพและขาดความน่าเชื่อถือไปเลยก็ได้ ทีนี้เรามาดูเทคนิคง่ายๆในการเขียนรายละเอียดสำหรับการพูดแบบสร้างแรงจูงใจ (Motivational Speech) ให้ออกมามีประสิทธิภาพกันครับ
เทคนิคการเขียนสำหรับการพูดแบบสร้างแรงจูงใจ ให้ออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด
คุณอาจจะมีโอกาสในการพูดตามสถานการณ์ต่างๆเพียงไม่กี่ครั้ง หรือแม้กระทั่งโอกาสในการนำเสนองานที่อาจมีแค่ครั้งเดียว ดังนั้นการสร้างความประทับใจจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่คุณต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมงานเขียนให้ออกมาดีที่สุด กับเทคนิคทั้ง 6 ดังนี้
1. ไม่ควรมีประเด็นมากจนเกินไป
เพื่อป้องกันให้ทั้งตัวของคุณและผู้ฟังไม่หลงประเด็นและเข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังจะพูด คุณควรตั้งเป้าไว้ที่ประเด็นสำคัญๆเพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น อย่าพยายามแตกประเด็นให้ออกมามากจนเกินไป เพราะจะทำให้ผู้ฟังสับสนและจับประเด็นอะไรไม่ได้เลย ดังนั้นคุณควรมีทิศทางในการนำเสนออย่างชัดเจนและก็มุ่งไปทางนั้น อย่าลืมนะครับว่าคุณกำลังจูงใจให้ผู้ฟังคล้อยตามและสนับสนุนความคิดของคุณ อย่าพยายามทำให้ผู้ฟังสับสงมึนงง
2. วางโครงสร้างของเรื่องที่จะพูดให้ดี
การจัดลำดับเรื่องราวถือว่าสำคัญต่อการจดจำของผู้พูด และที่สำคัญกว่านั้นก็คือการจัดลำดับเรื่องราวที่ดี จะสร้างผลลัพธ์ต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้ฟังได้ดีมากยิ่งขึ้น หรือมันก็คือการเชื่อมเรื่องราวแต่ละจุดให้ออกมาเนียนๆแบบไม่สะดุด ดังนั้นการเขียนและวางโครงสร้างของเรื่องจึงมีความสำคัญมาก คุณจะเห็นประเด็นต่างๆได้ชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ต้นเรื่อง กลางเรื่อง ไปถึงปลายเรื่องนั้นๆ และมันจะทำให้การพูดทุกๆอย่างนั้นไหลลื่นมากยิ่งขึ้นนั่นเองครับ
3. ใช้ภาษาให้เข้าใจง่าย
หลายๆครั้งผู้พูดมักจะแสดงความเป็นมืออาชีพกับการใช้คำพูดที่ดูหรูหราเกินไป มันอาจจะทำให้ผู้ฟังนั้นไม่เข้าใจและต้องนำมาตีความมากกว่าเดิมก็ได้ เผลอๆการตีความนั้นอาจจะผิดจากสิ่งที่คาดหวังไว้ ซึ่งมันคงไม่ใช่เรื่องดีที่เป้าหมายของการพูดกับผลลัพธ์ที่ออกมานั้นไม่ตรงกัน ดังนั้นการพูดเพื่อสร้างแรงจูงใจนั้นควรคิดเอาไว้เสมอว่า ต้องใช้ภาษาที่ดูเข้าใจง่ายฟังง่ายจดจำง่ายและนำมาใช้กับการถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมด
4. นำเแนวทาง Storytelling และการยกตัวอย่างมาใช้
เทคนิคนี้ถือว่าสำคัญมากและขาดไม่ได้จริงๆครับ เพราะการสร้างแรงจูงใจนั้นคือการปลุกในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งการถ่ายทอดผ่านการเล่าเรื่องราว (Storytelling) และการยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงที่สร้างแรงบันดาลใจในมุมต่างๆ จะเป็นกุญแจสำคัญให้การสื่อสารลักษณะนี้ประสบความสำเร็จ
5. เปิดปิดเรื่องด้วยพลังอันแรงกล้า
การพูดเปิดเรื่องและการจบบทสรุปของเรื่องก็มีความสำคัญไม่แพ้กันกับเทคนิคอื่นๆครับ เพราะการดึงดูดความสนใจและการสร้างแรงบันดาลใจมันจะมาตั้งแต่จุดเริ่มต้น หากเริ่มเรื่องได้ไม่ดีและไม่มีพลังเพียงพอ การสื่อสารแบบสร้างแรงจูงใจก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้ ผู้ฟังก็ไม่อยากจะฟังในสิ่งที่คุณพูดต่อแล้วงานนั้นก็จะกร่อยไปในทันที ในขณะที่บทสรุปก็เช่นกันหากคุณเริ่มต้นมาอย่างดีแต่ไม่สามารถสรุปให้เห็นถึงความสำคัญและสร้างให้เกิดแรงบันดาลใจ หรือแรงจูงใจเพื่อเปลี่ยนความคิดหรือพฤติกรรมบางอย่างได้ ก็ถือได้ว่าพลังของการพูดนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพพอเช่นกันครับ
6. แสดงความแท้จริงของตัวเองออกมา
บางครั้งในการพูดเพื่อสร้างแรงจูงใจคุณอาจจำเป็นต้องนำเอาข้อมูลประกอบอื่นๆมาสนับสนุน ซึ่งหลายๆครั้งคุณอาจไม่ได้เห็นด้วยกับข้อมูลทั้งหมดโดยคุณสามารถนำมาเพิ่มเติมประเด็น แล้วเขียนจดบันทึกลงไปที่อาจเป็นการเสนอความคิดเห็น ความรู้สึก คำแนะนำต่างๆในแต่ละประเด็น นั่นทำให้คุณมีโอกาสได้แสดงความเป็นลักษณะเฉพาะของตัวคุณเอง ซึ่งมันส่งผลต่อการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ฟังได้ดีเช่นกัน
เป็นอย่างไรบ้างครับกับเทคนิคดีๆทั้ง 6 ข้อ ที่สามารถช่วยให้คุณนำไปวางแผนเขียน Speech หรือวางแผนการนำเสนองานสำหรับการพูดแบบสร้างแรงจูงใจ (Motivational Speech) ยังไงหากได้ลองนำไปทำตามดูแล้วมีผลลัพธ์อย่างไร ก็ลองนำมาแชร์กันได้ที่คอมเม้นท์ด้านล่างนะครับ