เว็บไซต์กับธุรกิจในยุคดิจิทัลกลายเป็นของคู่กันอย่างขาดไม่ได้ ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะมีธุรกิจไหนที่ไม่มีเว็บไซต์กันในปัจจุบัน เพราะเว็บไซต์คือช่องทางที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้ค้นหาข้อมูลของธุรกิจ สินค้า บริการ และเรื่องราวของคุณ ด้วยวิธีการค้นหาผ่าน Google และเครื่องมือค้นหา (Search Engines) อื่นๆ เว็บไซต์ก็เปรียบเสมือนหน้าบ้านออนไลน์ของธุรกิจคุณนั่นแหละครับ ที่จะสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจของคุณได้ โดยหากเป็นเป้าหมายสูงสุดของการทำการตลาดออนไลน์ เมื่อมุ่งเป้าไปที่เว็บไซต์แลั้วนั้นผมเชื่อว่าก็น่าจะหนีไม่พ้นในเรื่องของการทำให้เว็บไซต์ติดอันต้นๆจากการค้นหาบน Google อย่างแน่นอนครับ
การทำให้เว็บไซต์ของธุรกิจคุณไปอยู่ในอันดับต้นๆของการค้นหาบน Google มันก็ประกอบไปด้วยสามส่วนหลักๆด้วยกันครับ คือ 1. ส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายใน (On-page SEO) เช่น การปรับแต่ง Content ชื่อหัวเรื่องหน้าเว็บ (Title Tag) คำอธิบายหน้าเว็บ (Meta Description) รูปภาพ ข้อความ ลิ้งค์ต่างๆ 2. ปัจจัยภายนอก (Off-page SEO) ที่เชื่อมโยงเข้ามาที่เว็บไซต์ของคุณ เช่น Backlink, Social Media Profile, Forum, Webboard เป็นต้น 3. การปรับแต่งเชิงเทคนิค (Technical SEO) ที่เกี่ยวกับโครงสร้างของเว็บไซต์ สำหรับบทความนี้จะขออธิบายเทคนิคเกี่ยวกับ On-page SEO เป็นหลัก โดยอาจมีการเอาบางปัจจัยในส่วนของ Technical ที่มีผลต่อเนื่องกันมาอธิบายด้วยนะครับ แต่ก่อนอื่นเราไปทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า On-page SEO กันก่อนดีกว่า
อะไรคือ On-page SEO
On-page SEO หรือปัจจัยภายในที่เป็นกระบวนการปรับแต่งองค์ประกอบของ Front-end และ Back-end ของเว็บไซต์ที่ส่งผลต่อการติดอันดับต้นๆของการค้นหาบน Google ประกอบไปด้วย
- คุณภาพของคอนเทนต์ (High-Quality Page Content)
- ชื่อหัวเรื่องหน้าเว็บไซต์ (Page Titles / Title Tags)
- ส่วนบนสุดของหน้า (Headers)
- คำอธิบายหน้าเว็บไซต์ (Meta Descriptions)
- คำอธิบายรูปภาพที่แทรกอยู่ใน HTML Code ของเว็บไซต์ (Image Alt-text)
- โครงสร้างข้อมูล (Structured Markup)
- ที่อยู่เว็บไซต์ (Page URLs)
- ลิงค์ภายใน (Internal Linking)
- การรองรับการทำงานบนหน้าจออุปกรณ์มือถือ (Mobile Responsiveness)
- ความเร็วเว็บไซต์ (Site Speed)
On-page SEO มีความสำคัญมากเพราะมันจะบอกให้ Google รู้ว่าเว็บไซต์ของคุณคือเว็บไซต์อะไร และมีเนื้อหาอะไรที่สร้างคุณค่าให้กับผู้เยี่ยมชมรวมไปถึงลูกค้าบ้าง การปรับแต่ง On-page SEO นอกจากจะช่วยให้ Google มองเว็บไซต์ของคุณนั้นดีขึ้นมันยังช่วยให้เว็บไซต์ของคุณดึงดูดมนุษย์อย่างเราๆให้สนใจเข้าไปศึกษาข้อมูลที่ส่งผลดีต่อธุรกิจ ในด้านการสร้างยอดขาย การติดต่อ และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของธุรกิจได้อีกด้วย และหากคุณสามารถปรับแต่ง On-page SEO ได้อย่างมีประสิทธิภาพมันจะมีส่วนช่วยให้เกิดผลดีกับการติดอันดับต้นๆบน Google อย่างไม่ต้องสงสัยเลย โดยอาจจะใช้งบประมาณอันน้อยนิดหรืออาจไม่จำเป็นต้องใช้ในการทำ SEM (Search Engine Marketing) เช่น การซื้อโฆษณา Google AdWords เลยก็ได้ครับ ทีนี้เรามาดูองค์ประกอบทั้ง 10 ตัวของ On-page SEO กันครับ โดยจัดออกได้เป็น 3 กลุ่ม ซึ่งก็คือ 1. องค์ประกอบด้านคอนเทนต์ (Content) 2. องค์ประกอบด้านภาษาที่ใช้ในการแสดงผล (HTML) และ 3. องค์ประกอบด้านสถาปัตยกรรมเว็บไซต์ (Site Architecture)
10 เทคนิคการปรับแต่ง On-page SEO
องค์ประกอบด้านคอนเทนต์ (Content)
สำหรับองค์ประกอบด้านคอนเทนต์นั้นหมายถึงเนื้อหาต่างๆทั้งหมดบนเว็บไซต์ของคุณ ซึ่งเป็นการปรับแต่งให้คอนเทนต์ทั้งหมดมีคุณภาพมากที่สุด (Quality Content) ที่ช่วยส่งผลให้เกิดประโยชน์กับผู้เยี่ยมชมและ Google เองก็จะจดจำเว็บไซต์คุณว่าเป็นเว็บไซต์ที่มีคุณภาพจนส่งผลต่ออันดับต้นๆนั่นเอง
1. คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ (Quality Content)
คอนเทนต์ในแต่ละหน้าถือว่าเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำ On-page SEO ที่ช่วยให้ตัวของ Google เองและผู้อ่านรู้ว่าธุรกิจของคุณคืออะไร ดังนั้นในขั้นตอนแรกก็จะเป็นการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ (Quality Content) โดยเกี่ยวกับการเลือกสรรคำค้นหาหลัก (Keywords) และหัวข้อ (Topics) ที่คุณต้องให้ความสำคัญกับการค้นหาคำค้นหลักๆที่ผู้คนสนใจ และมันก็มีเครื่องมือหลากหลายที่สามารถนำมาใช้ค้นหา Keywords เช่น Ahrefs, Google Keyword Planner, UberSuggest เป็นต้น
ขั้นต่อมาเมื่อคุณหาคำค้นหาหลัก (Keywords) ที่เปรียบเทียบมาจากทั้งคู่แข่งและเว็บไซต์อื่นๆได้แล้ว ก็จำเป็นต้องนำมาวิเคราะห์ดูความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์และการเดินทางของลูกค้า (Buyer’s Journey) เพื่อนำมาดูว่าจะทำคอนเทนต์ประเภทไหนรูปแบบไหนให้เหมาะสมที่สุด เราลองมาดูตัวอย่างของการเดินทางของลูกค้า (Buyer’s Journey) กันครับ
- การสร้างการรับรู้ (Awareness)
ในขั้นแรกของการสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์หรือธุรกิจ อาจใช้คอนเทนต์ประเภท Blog Posts หรือ วีดิโอคอนเทนต์ เอาไว้ที่หน้าแรกของเว็บไซต์ (Homepage)
- การพิจารณา (Consideration)
ในขั้นของการตัดสินใจเมื่อผู้เยี่ยมชมหรือลูกค้ารับรู้ในตัวแบรนด์หรือธุรกิจคุณแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงกำลังพิจารณาว่าจะซื้อสินค้าหรือบริการจากคุณหรือไม่ คุณต้องให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อดึงให้ลูกค้ายังอยู่กับเว็บไซต์ของคุณ โดยอาจทำเป็นคู่มือการเลือกสินค้า (Buyer’s Guide) หรือมีกรณีศึกษา (Case Studies) ถึงผลลัพธ์จากการใช้สินค้าหรือบริการของคุณ ซึ่งอาจใส่ไว้หน้ารายละเอียดสินค้า (Product Details) หรือหากลูกค้าอยากทำความรู้จักเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณ ก็ต้องมีคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องบนหน้าเกี่ยวกับเรา (About us)
- การตัดสินใจ (Decision)
กระบวนการสุดท้ายของการซื้อสินค้าหรือบริการที่คุณต้องทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อให้ได้ คุณอาจนำเสนอการให้ทดลองใช้สินค้า (Product Demos) นำเสนอตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติและราคา (Comparison) ไว้บนหน้าสินค้า (Product Page) หรือหน้าราคา (Pricing Page) และอย่าลืมหน้าติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม (Contact us) เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจได้รวดเร็วมากขึ้น
และมันก็มีเทคนิคที่จะช่วยให้การเขียนคอนเทนต์ของคุณให้มีคุณภาพ (Quality Content) ได้ดังนี้
- ผสมผสานคำค้นระหว่าง Short-tail (คำค้นแบบทั่วๆไป) และ Long-tail (คำค้นแบบเฉพาะเจาะจง) หรือเรียกได้ว่า Keywords ที่ทำให้เกิด Conversion ต่ำ ผสมกับ Keywords ที่ทำให้เกิด Conversion สูง เพื่อเพิ่มอันดับให้ดียิ่งขึ้น
- เพิ่มคอนเทนต์ที่อ่านง่ายและเกี่ยวข้องให้มากขึ้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ
- เขียนคอนเทนต์แบบเฉพาะเจาะจงให้เหมาะกับลักษณะของผู้ซื้อสินค้า
- เขียนคอนเทนต์ประเภทที่แก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าหรือผู้อ่าน
- เขียนคอนเทนต์ที่สร้างให้เกิดการแชร์และบอกต่อ
- ใส่ Call-to-actions (CTAs) หรือ ข้อความ / ปุ่มให้เกิดการกระทำต่างๆเอาไว้ในหน้าสินค้า หน้าติดต่อเรา และหน้าอื่นๆ
องค์ประกอบด้านภาษาที่ใช้ในการแสดงผล (HTML)
สำหรับ HTML นั้นเป็นภาษาหนึ่งที่ใช้เขียนเว็บไซต์ครับ ซึ่งประกอบไปด้วย 5 อย่าง ดังนี้
2. ชื่อหัวเรื่องหน้าเว็บไซต์ (Page Titles / Title Tags)
ชื่อหัวเรื่องจะบอกให้ผู้เยี่ยมชมและการค้นหาบน Google รู้ว่าเค้าจะเข้ามาพบเจอกับอะไรในแต่ละหน้าบนเว็บไซต์ของคุณ และเพื่อที่จะให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับการค้นหาดีๆคุณก็จำเป็นต้องเลือกใช้คำค้นหาหลัก (Keywords) สำหรับหัวเรื่องให้ดีและให้ตรงกับเนื้อหาบนเว็บไซต์ของคุณ โดยมีข้อสังเกตดังนี้
- ใช้ความยาวไม่เกิน 60 ตัวอักษรจะเหมาะสมที่สุด (มากกว่านั้นจะถูกตัดออกไม่ให้แสดงผล) และดูด้วยว่าคุณสะกดถูกต้อง
- ชื่อหัวเรื่องต้องเกี่ยวข้องกับแต่ละหน้า
- หากเป็นภาษาอังกฤษอย่าใช้ตัวอักษรใหญ่ทั้งหมด
- อย่าลืมใช่ชื่อธุรกิจเข้าไปในชื่อหัวเรื่องด้วย เช่น “บล็อกรวมคอนเทนต์ด้านการตลาด – Popticles”
- อย่าใส่ Keywords เยอะแยะแบบรัวๆมากมายจนเกินไปเพื่อหวังผลให้ติดอันดับการค้นหาต้นๆ (โดยไม่เป็นธรรมชาติ) เพราะมันจะทำให้ตัว Search Engine มองว่าเป็นสแปม (Spam) และทำให้ลดความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์คุณได้
3. ส่วนหัว (Headers)
ส่วนของหัวหรือส่วนที่แสดงชื่อหัวข้อที่คุณใช้ในแต่ละหน้าหรืออาจเรียกว่า Body Tags นับเป็นส่วนประกอบหนึ่งของ HTML ที่จะช่วยจัดระเบียบคอนเทนต์ของคุณให้ง่ายต่อผู้อ่านรวมถึง Search Engine อย่าง Google ที่แสดงถึงความสำคัญของคอนเทนต์ที่อยู่ภายใน คุณจำเป็นต้องใส่ Keywords ที่สำคัญๆลงไปในหัวข้อต่างๆด้วยเช่นกัน ซึ่ง Hearders เองนั้นก็มีอยู่หลายขนาดตั้งแต่ <h1>, <h2>, <h3> ไปจนถึง <h6>
4. คำอธิบายหน้าเว็บไซต์ (Meta Descriptions)
คำอธิบายเนื้อหาเว็บไซต์ซึ่งคอยทำหน้าที่อธิบายภาพรวมของหน้าเว็บไซต์นั้นๆ โดยจะแสดงขึ้นเมื่อผู้ใช้งานค้นหาบน Search Engine ซึ่งมันก็มีเทคนิคที่สำคัญดังนี้
- ความยาวของ Meta Descriptions ไม่ควรเกิน 160 ตัวอักษร
- ใส่รายละเอียดทั้งคำค้นหลัก (Keywords) แบบเฉพาะเจาะจง และในรูปแบบประโยคหรือวลีที่กว้างมากขึ้น (Keyword Phrase)
- เขียนเป็นประโยคในลักษณะที่ดึงดูดใจสักหนึ่งหรือสองประโยค
- หลีกเลี่ยงอักขระที่เป็นตัวอักษรและตัวเลขคละกัน เช่น -, &, +
5. คำอธิบายรูปภาพ (Image Alt-text)
คำอธิบายรูปภาพที่แทรกอยู่ใน HTML Code ของเว็บไซต์ (Image Alt-text) ซึ่งมันคือการทำ SEO ให้กับรูปภาพทั้งหมดบนเว็บไซต์ของคุณครับ การใส่ชื่อให้กับรูปภาพจะช่วยให้ Google และ Search Engine ต่างๆรู้ว่ารูปนั้นๆมันเกี่ยวข้องกับอะไร ดังนั้นรูปภาพก็เป็นส่วนสำคัญกับการติดอันดับต้นๆของเว็บไซต์ได้เช่นกัน และมันก็มีเทคนิคที่ช่วยให้ผู้คนค้นหาคุณผ่านรูปภาพได้ดียิ่งขึ้น ได้ดังนี้
- เขียนลักษณะคำอธิบายและเฉพาะเจาะจง เช่น “เสื้อยืดสีขาวขนาดเบอร์ L คอกลมสำหรับผู้ชาย”
- เขียนโดยคำนึงถึงบริบทรอบด้านที่เกี่ยวข้องกับคอนเทนต์ในแต่ละหน้า
- ไม่เขียนเกิน 125 ตัวอักษร
- ใช้คำค้นหลัก (Keywords) เท่าที่จำเป็น และไม่เขียนแบบซ้ำๆเยอะๆในครั้งเดียว
6. โครงสร้างข้อมูล (Structured Markup)
Structured Markup บางครั้งก็อาจเรียกว่า Structured Data ซึ่งเป็นรูปแบบของการระบุหรือการทำเครื่องหมายให้กับชุดข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์ เพื่ออธิบายให้บอทของ Google เข้าใจเกี่ยวกับหน้าเว็บของเรามากยิ่งขึ้น โดย Structured Markup จะอยู่เบื้องหลังการของ Featured Snippets หรือผลการค้นหาอันดับแรกสุดบน Google หรืออันดับ 0 และ Knowledge Panels ที่เป็นกรอบข้อมูลความรู้ที่ขึ้นอยู่บริเวณด้านขวาเวลาทำการค้นหาข้อมูลบน Google โดย Structured Markup นั้นถือเป็นเรื่องของการปรับแต่งเชิงเทคนิค (Technical SEO) ซึ่งผมจะไม่ได้ลงรายละเอียดแต่สรุปให้เห็นว่ามันสำคัญกับเรื่องของ On-page SEO อย่างไรครับ
องค์ประกอบด้านสถาปัตยกรรมเว็บไซต์ (Site Architecture)
องค์ประกอบด้านสถาปัตยกรรมเว็บไซต์หมายถึงองค์ประกอบที่ประกอบขึ้นเป็นเว็บไซต์และหน้าเว็บไซต์ของคุณ วิธีที่คุณจัดโครงสร้างเว็บไซต์ของคุณนั้นสามารถช่วยให้ Google และเครื่องมือค้นหาอื่นๆ รวบรวมข้อมูลหน้าและเนื้อหาของหน้านั้นๆได้อย่างง่ายดายมากขึ้น ประกอบไปด้วย 4 อย่าง ได้แก่
7. ที่อยู่เว็บไซต์ (Page URLs)
URLs หรือที่อยู่ของเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ตควรจะง่ายต่อการค้นหาของผู้อ่านผู้เยี่ยมชมรวมถึงเครื่องมือค้นหาอื่นๆ (Search Engines) ด้วยครับ Page URLs ค่อนข้างสำคัญในเวลาที่คุณวางโครงสร้างของหน้าต่างๆบนเว็บไซต์ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมีหลายหน้าและหลากหลายเมนู คุณจำเป็นต้องจัดระเบียบให้ดีและใช้ชื่อที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน และมันก็มีเทคนิคดีๆดังนี้
- ไม่ใช้อักขระพิเศษหรือคำที่ไม่จำเป็น
- ใช้ Keywords เพียงคำหรือสองคำ แบบเฉพาะเจาะจงให้เข้ากับเนื้อหา
- อย่าลืมใช้ https เพื่อความปลอดภัยและช่วยให้ Google ส่งให้เว็บไซต์คุณติดอันดับได้ดีขึ้น
8. ลิงค์ภายใน (Internal Linking)
การสร้างลิ้งค์ภายในเว็บไซต์ของคุณก็คือการที่คุณใส่ลิ้งค์ เพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้เยี่ยมชมเข้าไปอ่านเนื้อหาในหน้าอื่นๆภายในเว็บไซต์ของคุณเองได้นานมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับว่าสำคัญมากๆกับการทำ On-page SEO ครับ เพราะมันจะช่วยให้ Google มองว่าเว็บไซต์ของคุณนั้นมีคุณภาพและเป็นประโยชน์ ยิ่งผู้อ่านใช้เวลาอยู่บนเว็บไซต์ของคุณมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อการจัดอันดับของ Google มากเท่านั้น
9. การรองรับการทำงานบนหน้าจออุปกรณ์มือถือ (Mobile Responsiveness)
คงไม่มีใครในยุคนี้มองข้ามเรื่องนี้อย่างแน่นอนครับ เพราะ Google ให้ความสำคัญกับการปรับแต่งเว็บไซต์เพื่อให้รองรับการแสดงผลผ่านมือถือ โดยคุณต้องปรับแต่งการใช้งานให้อ่านง่าย ขนาดตัวหนังสือใหญ่เพียงพอ จัดการเมนูและการวางเลย์เอ้าท์ให้เหมาะสม หากไม่แน่ใจว่าเว็บไซต์ของคุณนั้นรองรับกับอุปกรณ์มือถือหรือไม่ก็ลองเข้าไปตรวจสอบได้ที่นี่ครับ Google’s Mobile-Friendly Test tool (ปัจจัยตัวนี้โดยหลักแล้วเป็นเรื่องของ Technical ครับ)
10. ความเร็วเว็บไซต์ (Site Speed)
วิธีหนึ่งในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งานเว็บไซต์ และเพิ่มโอกาสในการติดอันดับต้นๆบน Google คือ การให้ความสำคัญกับความรวดเร็วในการโหลดของเว็บไซต์ (ทั้งคอมพิวเตอร์และมือถือ) โดยความเร็วของเว็บไซต์นั้นส่งผลอย่างมากกับเรื่องของ Conversions และ ROI ครับ และเทคนิคง่ายๆที่ช่วยให้ความเร็วเว็บไซต์เพิ่มขึ้นก็อย่าง เช่น
- ลด/ปรับขนาดภาพให้เล็กลงและเหมาะสม
- ลบปลั๊กอินที่ทำงานช้าออกหรือใช้อันอื่นแทน
- ใส่ข้อมูลจากเว็บภายนอกให้น้อยที่สุด
- ลดขนาดของ CSS, JavaScript และ HTML
- เก็บ Cache ใน Browser
- ลง Caching plugin หรือเครื่องมือที่จะทำให้เว็บไม่ต้องโหลดตลอดเวลาซึ่งเป็นการกินพลังงานเครื่อง
- ลดขนาดของโค้ดลง
- ใช้ CDN (Content Delivery Network) หรือการโหลดข้อมูลจากเซิฟเวอร์ที่อยู่ใกล้ลูกค้าของคุณมากที่สุด
(ปัจจัยตัวนี้โดยหลักแล้วเป็นเรื่องของ Technical ครับ) ลองทดสอบความเร็วเว็บไซต์ได้ที่นี่ครับ >> Google Page Speed Insight หรือ GTMetrix
ทั้งหมดก็เป็น 10 เทคนิคดีๆเบื้องต้นที่สามารถช่วยในการปรับแต่ง On-page SEO ที่ส่งผลให้เว็บไซต์ของคุณ ติดอันดับต้นๆของการค้นหาบน Google ได้อย่างแน่นอน และยิ่งหากคุณเป็นนักการตลาดออนไลน์ด้วยแล้วละก็ ยิ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ On-page SEO เป็นอันดับแรกก่อนที่จะไปมองเรื่องของการทำ SEM หรือการซื้อโฆษณารูปแบบต่างๆ เพราะมันคือการปรับแต่งเว็บไซต์ของคุณให้พร้อมสำหรับเรื่องอื่นๆต่อไปครับ