หากธุรกิจของคุณมีหน้าร้านอยู่บนโลกออนไลน์โดยเฉพาะการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง มันจะมีตัววัดผลตัวหนึ่งที่สำคัญที่บ่งบอกถึงคุณภาพของเว็บไซต์นั่นก็คือ Bounce Rate หรืออัตราการตีกลับซึ่งมันหมายถึงการที่ผู้เยี่ยมชมเข้ามาดูข้อมูลในหน้าต่างๆบนเว็บไซต์แค่เพียงหน้าเดียวแล้วออกไปโดยไม่ได้สนใจไปดูหน้าอื่นๆต่อ ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่าผู้เยี่ยมชมไม่ได้สนใจเนื้อหาบนเว็บไซต์หรืออาจเกิดจากข้อมูลที่มีไม่ใช่สิ่งที่ผู้เยี่ยมชมกำลังหาอยู่ก็ได้ทั้งนั้น และบทความนี้ผมจะพาไปดูอัตรา Bounce Rate ของเนื้อหาแต่ละประเภทและแต่ละธุรกิจว่ามีสัดส่วนอยู่ที่เท่าไหร่กันบ้าง โดยผมได้สรุปข้อมูลจากเว็บไซต์ cxl.com มาฝากกันครับ
Bounce Rate ควรจะมากหรือน้อยดี
แน่นอนครับว่า Bounce Rate นั้นควรจะน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากยิ่งมากมันจะแสดงให้ถึงว่าเราควรปรับปรุงพัฒนาให้ Bounce Rate นั้นลดน้อยลงซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากคอนเทนต์ ขนาดตัวหนังสือ ความเร็วในการโหลด คุณภาพโดยรวมของเว็บไซต์ เพราะว่ามันจะมีผลต่อการแสดงผลของ Google ที่ให้ความสำคัญกับเว็บไซต์ที่มี Bounce Rate ต่ำๆในการแสดงผลบนหน้าแรกๆของ Google นั่นเองครับ และสำหรับธุรกิจต่างๆที่มีเว็บไซต์หากมี Bounce Rate มากก็อย่าเพิ่งตกใจไปนะครับเพราะในแต่ละธุรกิจและแต่ละประเภทของคอนเทนต์มันมีเกณฑ์ของ Bounce Rate ที่แตกต่างกันซึ่งมันอาจจะไม่น่าตกใจขนาดนั้น เราลองมาดูกันครับ
หากดูตามประเภทของเว็บไซต์แล้วเราจะเห็นว่าหากเป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหามากๆอย่าง Blog จะมี Bounce Rate ค่อนข้างสูงกว่าประเภทอื่นๆซึ่งต่างจากเว็บประเภท E-Commerce เว็บขายสินค้าออนไลน์หรือเว็บจำพวก B2B ที่ Bounce Rate ค่อนข้างต่ำโดยหากวิเคราะห์ดูแล้วสาเหตุอาจเกิดได้จากความชัดเจนของเนื้อหาบนเว็บไซต์นั้นทำให้ผู้เยี่ยมชมรู้สึกว่าพอเจอในสิ่งที่ต้องการ เช่น ขาย Gadget เสื้อผ้า สินค้าไอที ขาย Solution ต่างๆที่อยู่ในความสนใจที่ใกล้เคียงกันจนใช้เวลาอยู่กับเว็บไซต์นั้นๆนานขึ้น แต่ประเภท Blog นั้นผู้ชมมักจะสนใจในหัวข้อที่อยากรู้เมื่ออ่านแล้วก็จบไปและไม่ได้ติดตามต่อหรือเปิดหน้าอื่นๆก็ได้ครับ
หากแบ่งตามอุตสาหกรรมเราจะเห็นว่าธุรกิจประเภทอสังหาริมทรัพย์นั้น มีอัตรา Bounce Rate ต่ำกว่าธุรกิจอื่นๆและหากนำไปเทียบกับธุรกิจประเภทร้านอาหารถือว่าอัตรา Bounce Rate มากกว่ากันกว่า 20% เลยทีเดียว โดยอาจสรุปได้ว่าเมื่อคนสนใจในการค้นหาอสังหาริมทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งแล้วอาจมีการดูเปรียบเทียบบ้านหรือคอนโดฯในเว็บเดียวกันเพื่อหาข้อมูลที่เหมาะสมกับสิ่งที่อยากได้จึงใช้เวลาอยู่กับเว็บไซต์นานขึ้น และเว็บไซต์อสังหาฯก็มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะเช่นกัน แต่หากเป็นร้านอาหารคนที่สนใจอาจเข้าเว็บไซต์แล้วเห็นเบอร์โทรแล้วโทรไปสอบถามรายละเอียด โทรไปจองโต๊ะ หรือดูแค่แผนที่เพื่อหาทางไปร้านนั้นโดยไม่จำเป็นต้องดูรายละเอียดอื่นๆให้เสียเวลา อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด Bounce Rate มากขึ้น การเปรียบเทียบนี้ทำให้เห็นว่าการวางโครงสร้างเว็บไซต์กับอุตสาหกรรมต่างๆนั้นมีผลต่อ Bounce Rate อย่างมีนัยสำคัญ
ในตัว Google Analytics ยังมีช่องทางที่นำไปสู่การเยี่ยมชมเว็บไซต์ที่แสดงให้เห็นว่า การซื้อโฆษณา Display นั้นเกิด Bounce Rate มากที่สุดเพราะเนื่องจากการที่โฆษณานั้นอาจจะไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนซึ่งบางคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายอาจเห็นโฆษณาแล้วกดเข้าไปดูโดยบังเอิญ แต่ไม่ได้ให้ความสนใจส่งผลให้เข้าชมเว็บไซต์แล้วก็ปิดทิ้ง คล้ายๆกับโซเชียลมีเดียที่เกิด Bounce Rate ค่อนข้างมากเพราะส่วนใหญ่คนเปิดโซเชียลมีเดียผ่านมือถือเป็นหลัก และอาจยากที่จะกดอ่านรายละเอียดแล้วสลับหน้าไปมาระหว่างโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์จนทำให้คนไม่สนใจจะเปิดลิ้งค์ผ่านมือถือมากเท่าที่ควร ต่างกับช่องทางอีเมล์ที่มี Bounce Rate น้อยที่สุดเพราะเนื่องจากการส่งข่าวสารหรือข้อมูลผ่านอีเมล์นั้นได้ถูกคัดกรองลูกค้ามาในระดับหนึ่ง และสามารถส่งคอนเทนต์ที่ตรงตามความต้องการลูกค้าได้เข้าเป้ากว่านั่นเอง การเทียบตรงจุดนี้ทำให้เห็นว่าความใช้งานง่ายและเหมาะสมของเครื่องมือที่ใช้ในการรับข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจะเป็นมือถือ แทปเล็ต หรือคอมพิวเตอร์นั้นก็มีผลต่อ Bounce Rate ด้วยเช่นกัน
ตัวสุดท้ายเป็นการเทียบเครื่องมือต่างๆระหว่างมือถือ แทปเล็ต และเครื่องคอมพิวเตอร์ ในธุรกิจที่เกี่ยวกับการช้อปปิ้ง การโฆษณาและการตลาด รวมไปถึงการเงินเราจะเห็นว่า Bounce Rate จากมือถือนั้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์ เพราะเหตุผลของการที่ต้องสลับหน้าจอไปมาระหว่างแอปพลิเคชันต่างๆซึ่งสร้างความยากลำบากให้ลูกค้านั่นเอง
การเปรียบเทียบ Bounce Rate ในรูปแบบต่างๆจะช่วยให้คุณเห็นและเข้าใจว่าอัตราการเกิด Bounce Rate ที่คุณมีอยู่นั้นมันอยู่ในระดับใดซึ่งมันอาจจะไม่ได้มากอย่างที่คุณคิด แต่หากคุณสามารถหาวิธีทำให้อัตรา Bounce Rate ลดลงกว่าค่าเฉลี่ยได้ก็ยิ่งส่งผลดีกับธุรกิจคุณครับ
Reference :
https://cxl.com/guides/bounce-rate/benchmarks/