
เชื่อว่าหลายๆคนคงได้ยินสำนวนไทยที่ว่า “สองหัวดีกว่าหัวเดียว” กันอย่างแน่นอนครับ ซึ่งมันก็คือการรวมพลังกันของคนหลายๆคนนั้นจะช่วยให้สิ่งต่างๆที่ทำนั้นสำเร็จได้ดีมากขึ้น โดยในแง่ของการทำธุรกิจนั้นความร่วมมือ (Collaboration) ก็มีทั้งในรูปแบบการเป็นพันธมิตรคู่ค้า (Partner) การร่วมธุรกิจ (Joint) หรือการสร้างดีลพิเศษ (Bundling) ต่างๆขึ้นมา และในระดับของการทำการตลาดเองก็มีการสร้างความร่วมมือระหว่างแบรนด์ ซึ่งมันก็มีการทำการตลาดในลักษณะนี้มาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตแล้วครับ แต่พักหลังๆเราจะเริ่มเห็นความคึกคักและกระแสของการทำ Collab Marketing บ่อยมากขึ้นโดยเฉพาะในไทย ผมเลยลองรวบรวมตัวอย่างการ Collab กันระหว่างแบรนด์มาให้ดูครับว่ามีแบรนด์ไหนกันบ้างที่ Collab Marketing กัน
ทำความรู้จักกับคำว่า Collab Marketing
หากพูดแบบให้อินเทรนด์ก็ต้องเรียกว่า Brand X Brand หรือการ Collab ระหว่างแบรนด์ 2 แบรนด์ เพื่อสร้างให้เกิดพลังหรือแรงผลักดันทางการตลาดในการขับเคลื่อนธุรกิจครับ โดยชื่อเต็มๆของการ X กัน ก็คือ Collaborative หรือ Collaboration ที่เราเอามาเรียกกันสั้นๆได้ใจความว่าการ Collab นั่นเองครับ
Collaboration Marketing คือ กิจกรรมทางการตลาดอย่างหนึ่งที่เป็นการสร้างความร่วมมือในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยอาจเป็นไปได้ทั้งการสนับสนุนเงิน การสนับสนุนทรัพยากร หรือการร่วมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นมา เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการตลาดที่ได้ผลประโยชน์ด้วยกันทั้งของฝ่าย (Win-Win Situation) และจุดเริ่มต้นนั้นก็มาจากการที่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งมีความสนใจในการสร้างพันธมิตรในธุรกิจ โดยที่ต้องไม่ใช่คู่แข่งทางตรง (Direct Competitor) และควรที่จะส่งเสริมสนับสนุนกันไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม โดยมันก็มีรูปแบบการสร้างพันธมิตรอยู่ 5 แบบ นั่นก็คือ
- การแบ่งปันกลุ่มตลาดเป้าหมาย (Shared Target Market)
- ความเหมือนกันของลักษณะกลุ่มผู้ซื้อสินค้า (Buyer Personas)
- การผสมผสานอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Complimentary Brand Identity)
- มีเป้าหมายทางการตลาดที่เหมือนกัน (Similar Marketing Goals)
- เสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ (Brand Image)
ซึ่งการ Collab Marketing นั้นก็จะมีการร่วมมือกันในเรื่องของงบประมาณในการทำโปรโมชั่นระหว่างกันด้วยเช่นกัน จะไม่ปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นใช้จ่ายงบประมาณทางการตลาดเพียงฝ่ายเดียว แต่จะมากจะน้อยอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการตกลงของทั้ง 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งอาจใช้งบประมาณไปกับการผลิตสินค้าที่มากกว่า หรืออีกฝ่ายอาจสนับสนุนในการโปรโมทกิจกรรมที่เป็นสัดส่วนที่มากกว่าก็ได้ และนั่นก็ส่งผลให้เกิดพลังในการผลักดันให้ความร่วมมือนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นครับ
หากลองเปรียบเทียบคำว่า Collab Marketing กับ Co-Branding นั้น อาจมีความคล้ายคลึงกันมากแต่มันก็มีจุดสังเกตถึงความต่างที่ว่า Collab Marketing คือ ความพยายามในการร่วมมือด้านการตลาด ซึ่งแน่นอนครับว่ามันจะมีช่วงระยะเวลาของมันที่อาจไม่ได้ยาวนาน โดยอาจเป็นการ Collab กันตามกระแสสำคัญๆต่างๆหรือตามช่วงฤดูกาล ส่วน Co-Branding นั้นจะเป็นความร่วมมือในระดับแบรนด์ที่อาจส่งผลต่อธุรกิจในระยะยาวมากกว่า จนอาจเกิดเป็นแบรนด์ใหม่ขึ้นมา เช่น BMW และ Louis Vuitton ร่วมมือกันสร้างเพื่อนร่วมเดินทางแบบพิเศษสำหรับรถยนต์รุ่น i8 ด้วยการออกแบบกระเป๋าเดินทางและกระเป๋าแบบพกพาเป็นรุ่นพิเศษเพื่อ i8 โดยเฉพาะ และในปัจจุบันการ Collab ก็ได้ขยายออกเป็นหลายอย่างนอกจาก Brand X Brand เป็น Brand X Presenter หรือแม้แต่ นักร้อง X นักร้อง เป็นต้น
หากท่านใดสนใจเรื่องการ Co-Branding ลองเข้าไปศึกษาดูในบทความนี้ได้ครับ >> รู้จักประเภทของ Co-Branding เพื่อเสริมแกร่งให้ธุรกิจ
เทียบให้เห็นว่า Collab Marketing มีข้อดีข้อเสียอย่างไร
จริงๆแล้วการทำ Collab Marketing ไม่ได้ถือว่ามีข้อเสียอะไรที่ร้ายแรงครับ เพียงแค่มันอาจจะไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่เพราะด้วยความร่วมมือของแบรนด์ 2 แบรนด์ที่มีความต่างในเชิงธุรกิจ เราลองมาดูตารางเปรียบเทียบสรุปกันครับ
ข้อดี (Pros) | ข้อเสีย (Cons) |
---|---|
การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ อย่างที่รู้กันครับว่าการทำ Collab Marketing นั้น ส่วนใหญ่มักจะเน้นไปที่การเพิ่มฐานลูกค้าที่นอกเหนือจากที่แบรนด์ตัวเองมี | ใช้เวลาในการดำเนินการนาน การจะร่วมแคมเปญ Collab กันนั้นก็จำเป็นต้องประชุมแนวคิดและใช้เวลาในการเตรียมการค่อนข้างนาน เพื่อให้ผลงานนั้นออกมาตอบโจทย์วัตถุประสงค์ |
ลดต้นทุน ความร่วมมือของทั้ง 2 แบรนด์ จะช่วยให้ต่างคนต่างแบ่งงบประมาณกันอย่างเหมาะสม ซึ่งส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่ลดลงทั้ง ค่าทำการตลาด ค่าการผลิต และอื่นๆ | อาจมีข้อจำกัดเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ด้วยความร่วมมือในการสร้างสรรค์แคมเปญร่วมกัน อาจมีเรื่องข้อจำกัดและการใช้อัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) ![]() |
เสริมความแกร่งให้กับแบรนด์ หากคุณเลือกแบรนด์ที่จะมา Collab ได้อย่างลงตัวเหมาะสม มันจะสร้างให้เกิดความน่าเชื่อถือกับแบรนด์ทั้ง 2 ในความร่วมมือที่เกิดขึ้น | ความไม่เท่าเทียม ความไม่เท่าเทียมจะเกิดขึ้นในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจได้ผลประโยชน์ที่มากกว่า ซึ่งนั่นก็เกิดจากการเลือกแบรนด์ที่ไม่เหมาะสมเพื่อจะมา Collab กัน รวมถึงการวางแผนสร้างสรรค์แคมเปญที่อาจส่งผลดีกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งมากกว่า |
อัดแน่นด้วยประสบการณ์ การ Collab ระหว่าง 2 แบรนด์เป็นการพบเจอกันของทั้งทีมงานมืออาชีพ และจุดแข็งของแต่ละแบรนด์ เพื่อช่วยสรรค์สร้างแคมเปญให้ออกมาดีที่สุด | ความคิดที่ขัดแย้ง การร่วมงานกันหลายคนหลายฝ่ายย่อมเกิดความคิดหลากหลายและแตกต่าง โดยหากไม่สามารถหาข้อสรุปที่ดีและลงตัวได้ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในการทำแคมเปญร่วมกัน |

ตัวอย่าง Brand X Brand
สมใจ X Netflix “All of Us Are Dead”
นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักซีรี่ย์เกาหลีเรื่อง “All of Us Are Dead” หรือมัธยมซอมบี้อย่างแน่นอน เพราะทำการตลาดในไทยค่อนข้างแรงและเมื่อเทียบช่วงเวลาเปิดตัวก็แซงหน้าความแรงของ Squid Game ในเวลาเพียงแค่อาทิตย์เดียว บน NETFLIX เป็นที่เรียบร้อย Real-time event นี้จึงสบโอกาสแบรนด์เครื่องเขียนอย่าง “สมใจ” ที่กลุ่มเป้าหมายนั้นเป็นกลุ่มเดียวกับเนื้อเรื่องในซีรี่ย์นั่นก็เด็กในวัยเรียน ได้เนรมิตร้านให้เข้ากับบรรยากาศหนังซอมบี้และเล่นใหญ่แบบรัชดาลัยด้วยการเอาซอมบี้มาเดินเล่นในร้าน เชื้อเชิญแขกแบบสร้างความสยองปนความสร้างสรรค์ ก็เรียกได้ว่าสร้างกระแสความแรงต่อเนื่องให้กับ NETFLIX กับซีรีย์เรื่อง “All of Us Are Dead” และแบรนด์ “สมใจ” ได่สมใจจริงๆ

Source: https://www.facebook.com/SomjaiStore/
นันยาง X Netflix “All of Us Are Dead”
“นันยาง” ก็เอากับเค้าด้วยเมื่อซีรีย์ทั้งเรื่องนั้นมีแต่ วิ่ง วิ่ง วิ่ง กันอุตหลุดทั้งคนและซอมบี้ ไม่มีอะไรเหมาะไปกว่ารองเท้าผ้าใบในตำนานอย่าง “นันยาง” อีกแล้ว ซึ่งการ Collab ในครั้งนี้ผมเชื่อว่าโดนใจหลายๆคนแน่ครับ

Source: https://www.facebook.com/NanyangLegend/
ปีโป้ X M150
แบรนด์เยลลี่รูปกรวยขวัญใจวัยเด็กจนถึงปัจจุบันอย่าง “ปีโป้” ก็สร้างเสียงฮือฮาด้วยการ Collab กับแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลัง “M-150” กลายเป็น “ปีโป้กลิ่น M-150 Limited Edition” โดยหากดูแล้วทั้ง “ปีโป้” และ “M-150” ไม่ได้มุ่งเป้าไปยังการขยายฐานลูกค้าของกันและกันโดยตรง แต่เป็นการสร้างความแปลกใหม่และความคึกคักในตลาดกับกลุ่มลูกค้าปัจจุบันของ “ปีโป้” ให้ลองสัมผัสรสชาติของ “M-150” ซึ่งเป็นการ Collab ที่ไม่เลวเลยทีเดียว และยังทำให้ภาพลักษณ์ของ “M-150” นั้นดูสดใสมากขึ้นอีกด้วย

Source: https://www.gourmetandcuisine.com/happening/detail/1308
SAPPE x TAKABB
การ Collab กันของแบรนด์เครื่องดื่มอย่าง “SAPPE” ที่มีกลุ่มเป้าหมายต่างกันกับยาแก้ไอตรา “ตะขาบ (TAKABB)” แต่มีจุดเชื่อมโยงกันนั่นก็คือเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย กลายเป็นเครื่องดื่มน้ำสมุนไพรบรรจุขวดรุกตลาด Herbal Drink เจาะกลุ่มคน Gen Y และ Gen Z แถมยังชุ่มคออีกด้วย

Source: https://shopee.co.th/
ทิวลี่ X โอวัลติน
การนำจุดแข็งของ 2 แบรนด์มาผสานกันอย่างลงตัว โดย “ทิวลี่” เป็นแบรนด์เวเฟอร์เคลือบที่ครองใจผู้บริโภคชาวไทยมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ที่มีกลุ่มเป้าหมายคือ เด็ก วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ส่วน “โอวัลติน” แบรนด์เครื่องดื่มมอลต์สกัดรสช็อกโกแลต ที่อยู่มานานกว่า 80 ปี มีกลุ่มเป้าหมายคือ เด็ก วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน ชูจุดเด่นด้านความกรอบอร่อย ได้รสชาติเวเฟอร์ไส้โอวัลตินช็อกมอลต์และครั้นชี่เฟลค เคลือบด้วยช็อกโกแลตเข้มข้น

Source: https://www.ryt9.com/s/iq04/3236621
BBQ Plaza X Pizza Hut
การร่วมมือคิดค้นสูตรอาหารใหม่กันระหว่าง “Bar B Q Plaza” ตัวจริงเรื่องปิ้งย่าง และ “Pizza Hut” ตัวจริงเรื่องพิซซ่า เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการอาหารในช่วงแรกของการทำ Collab Marketing เลยก็ว่าได้ ที่ทำให้เราได้กินพิซซ่าในรูปแบบปิ้งย่าง และกินบาร์บีคิว พลาซ่าในสไตล์ของพิซซ่า ภายใต้แคมเปญ “ฟินเว่อร์ ฮัทเจอก้อน” ของทั้ง 2 แบรนด์

Source: https://www.stockvitamins.co/bar-b-q-plaza-x-pizza-hut
Uber X Spotify
การร่วมมือที่เติมเต็มกันและกันได้อย่างสมบูรณ์แบบระหว่าง “Uber” กับ “Spotify” โดยทั้ง 2 นั้นไม่ใช่คู่แข่งขันทางตรงกันแต่อย่างใด ด้วยการที่ “Uber” อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ใช้บริการรถ Uber สามารถเชื่อมต่อกับ Spotify ผ่านแอปพลิเคชั่นบนรถได้อย่างเรียบเนียน นับเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่ Spotify มอบให้กับลูกค้าของ Uber และทั้ง 2 แบรนด์ก็ทำโปรโมชั่นกันอย่างสนุกสนานที่ได้ประโยชน์กับลูกค้าทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้แคมเปญความร่วมมือเป็นที่พูดถึงและกระจายไปอย่างกว้างขวาง

Source: https://ampjar.com/blog/collaborative-marketing-guide/
Lego X Netflix “Stranger Things”
Original Series อย่าง Stranger Things ของ “NETFLIX” ที่สร้างปรากฎการณ์จนโด่งดัง ก็ได้รับความสนใจจาก “Lego” มา Collab กันในการสร้างตัวละคร Stranger Things กับฉากที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดในแบบฉบับของ Lego จนกลายเป็นคอลเลคชั่นที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าแบบทวีคูณ และถือเป็นการเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ของ Lego เลยทีเดียวกับกลุ่มวัยรุ่นและเด็กโต เพราะซีรี่ย์นั้นเจาะกลุ่มเป้าหมายช่วงอายุ 18-29 ปี ที่เป็นคนละกลุ่มเป้าหมายกับ Lego ที่ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กในวัย 1 ขวบ ถึง 15 ปี

Source: https://shopee.co.th/
Adobe X Billie Eilish
การ Collab กันของเจ้าตลาด SaaS ในด้านการออกกราฟฟิกที่สร้างประสบการณ์ให้กับโลกดิจิทัลอย่าง “Adobe” กับนักร้องสาวชาวอเมริกันที่มาแรงที่สุดคนหนึ่งอย่าง “Billie Eilish” ในแคมเปญการตลาดที่ชื่อ “Create what’s true for you” เชิญชวนให้นักเรียนนักศึกษามาใช้ผลิตภัณฑ์ของ “Adobe Creative Cloud” ในราคาประหยัดถึง 60% นับเป็นการ Collab กันระหว่างแบรนด์กับบุคคลที่มีกลุ่มเป้าหมายคล้ายคลึงกัน นั่นก็คือกลุ่มวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ที่อยากปลดปล่อยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์อย่างไรขีดจำกัด

จริงๆแล้วยังมีอีกหลายแบรนด์ที่ Collab กันในการทำการตลาดครับ ซึ่งการทำการตลาดในลักษณะนี้ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจค่อนข้างมาก ที่ผู้อ่านทุกคนสามารถลองนำไปวางแผนแล้วปรับใช้ให้ได้ประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงผลประโยชน์ร่วมมากที่สุดนั้นก็คือสิ่งที่มอบให้แก่ผู้บริโภคนั่นเอง