เทคนิคการเขียนหัวข้ออีเมล์ให้เกิด Open Rate สูงสุด

การทำการตลาดผ่านอีเมล์ (Email Marketing) ยังคงมีความสำคัญสำหรับการทำธุรกิจในปัจจุบันอยู่เสมอครับ โดยมีหลากหลายข้อมูลสนับสนุนในเรื่องของการสร้างอัตราการเปิดอ่าน (Open Rate) โอกาสการเปลี่ยนไปสู่ยอดขาย (Conversion Rate) อัตราการคลิกเข้ามายังลิ้งค์นั้นๆ / การเยี่ยมชม (Click-Through Rate) อัตราการสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement Rate) รวมไปถึง ROI ที่ค่อนข้างมาก และในบางครั้งก็อาจจะมากกว่าสื่อโซเชียลมีเดียบางแพลตฟอร์มด้วยซ้ำไป นั่นเป็นเหตุผลที่ธุรกิจทั้ง B2B และ B2C ยังคงนำ Email Marketing มาใช้ในการนำเสนอข้อมูลของสินค้าหรือบริการ และยังนำมาเป็นช่องทางในการทำโปรโมชั่นอยู่เสมอ เพราะเสน่ห์อย่างหนึ่งของอีเมล์นั้นก็คือจะเป็นกลุ่มคนที่สนใจในข้อมูลของแบรนด์ สินค้าหรือบริการอย่างแท้จริง ซึ่งมาจากการที่ผู้ที่สนใจสมัครรับข้อมูลข่าวสารต่างๆไม่ว่าจะผ่านหน้าเว็บไซต์หรือจากช่องทางอื่นๆนั่นเอง

สิ่งที่สำคัญที่สุดนอกจากเนื้อหาที่เหมาะสมครบถ้วนถูกต้องและตรงตามความต้องการของกลุ่มผู้อ่านแล้ว นั่นก็คือ “หัวเรื่อง / ชื่อเรื่อง” (Subject) หรือบางคนอาจเรียกว่าหัวข้อเรื่อง เพราะหากเนื้อหาในอีเมล์ที่คุณนำเสนอจะน่าสนใจมากขนาดไหน แต่ถ้าชื่อเรื่องไม่ดึงดูดใจก็จะไม่มีคนเปิดอ่านนั่นเองครับ ผมจึงได้รวบรวม 10 เทคนิคการเขียนชื่อเรื่องอีเมล์ให้เกิด Email Open Rate หรือโอกาสที่จะเกิดการเปิดอ่านอีเมล์มากที่สุดมาฝากกันครับ

What's next?

10 เทคนิคที่ช่วยให้ชื่อเรื่องอีเมล์ดูน่าเปิดอ่านมากที่สุด

ก่อนที่จะไปถึงเทคนิคทั้ง 10 ข้อนั้นผมอยากให้ดูสถิติที่น่าสนใจจาก Backlinko บริษัทด้านการทำ SEO Strategy ระดับโลก ซึ่งทำการวิเคราะห์อีเมล์กว่า 12 ล้านฉบับทั่วโลกว่า ความยาวของชื่อเรื่องหรือ Subject Line สำหรับอีเมล์นั้นควรมียาวขนาดไหนถึงจะเหมาะสมมากที่สุด

จำนวนตัวอักษรที่เหมาะสมกับการเขียนหัวข้ออีเมล์

จากข้อมูลที่เห็นบอกได้ว่าชื่อเรื่องอีเมล์ที่มีจำนวนตัวอักษรต่ำกว่า 15 ตัวอักษรนั้นมีอัตราการตอบสนองหรือการเปิดอ่านน้อยที่สุด เพราะเนื่องจากผู้อ่านไม่สามารถเข้าใจหรือไม่ให้ความสำคัญว่าอีเมล์ฉบับนี้คืออะไร ต้องการจะสื่ออะไร สำคัญมากขนาดไหน ซึ่งอาจส่งผลให้อีเมล์ฉบับนั้นขาดประสิทธิภาพตั้งแต่แรกเริ่มครับ โดยหากจะเขียนชื่อเรื่องอีเมล์ให้เกิดโอกาสการเปิดอ่านได้มากที่สุด ก็ควรเขียนชื่อเรื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 36 – 50 ตัวอักษรนั่นเอง เช่น

  • 1 – 15 ตัวอักษร (รายละเอียดไม่เพียงพอต่อความสนใจ)
    • กลยุทธ์การตลาด
    • คอร์สการตลาด
  • 36 – 50 ตัวอักษร (รายละเอียดที่เข้าใจมากขึ้น)
    • กลยุทธ์การตลาดระดับเทพที่ทำให้คู่แข่งตามไม่ทัน
    • คอร์สด้านการตลาดที่จะช่วยให้ยอดขายพุ่งกระฉูด 40%

เมื่อเรารู้แล้วว่าชื่อเรื่องอีเมล์ที่เหมาะสมนั้นควรมีกี่ตัวอักษร ก็ได้เวลามาดูกันแล้วครับว่า 10 เทคนิคดีๆที่จะช่วยให้ชื่อเรื่องอีเมล์ดูน่าเปิดอ่านมากที่สุด มีอะไรกันบ้าง

1. สร้างให้เกิดความสงสัย

เทคนิคแรกที่ทรงพลังที่สุดเทคนิคหนึ่งคือการสร้างให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยใคร่รู้ว่าคุณกำลังจะนำเสนออะไร โดยทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำไมเรายังไม่รู้หรือมองข้ามไปให้หันกลับมาสนใจ เช่น

  • “ความลับ” ที่จะทำให้คุณต่อราคา Supplier ได้มากที่สุด
  • สิ่งที่ผู้รับเหมา “ไม่เคยบอก” ให้คุณรู้ที่ทำให้คุณประหยัดงบได้หลายสิบเท่า

2. เอาข้อมูล / สถิติ / ตัวเลขต่างๆเข้าสู้

แม้ว่าการตลาดสมัยใหม่จะใช้การนำเสนอเชิงอารมณ์เป็นหลัก แต่ในบางครั้งการใช้เหตุและผลกับการทำธุรกิจด้วยการนำเสนอสถิติ ตัวเลข Case Study ต่างๆ หรือผลวิจัยอะไรก็ตามที่ช่วยให้เกิดประโยชน์กับผู้อ่านและธุรกิจ ก็ช่วยให้อีเมล์ฉบับนั้นมีโอกาสการเปิดที่สูงมากขึ้น เช่น

  • เราสร้างยอดขายให้คุณได้ “50-70%” ด้วยเงินลงทุนเพียง 10,000 บาท
  • เราสร้าง “ROI ได้มากกว่า 30% ให้ 18 ธุรกิจชั้นนำ” ได้ภายใน 3 เดือน

3. ดึงดูดด้วยการเล่าเรื่อง

อันที่จริงการเล่าเรื่องราวอาจจะดูเข้ากับคอนเทนต์รูปแบบวีดิโอซะเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจเหมาะกับการเล่าอะไรยาวๆที่เป็นประวัติหรือที่มาที่ไปของธุรกิจบนหน้าเว็บไซต์ แต่หากลองนำมาปรับแต่งสักเล็กน้อยให้เข้ากับชื่อเรื่องสำหรับอีเมล์ ก็จะเป็นการเปิดทางไปสู่การเปิดอ่านเรื่องราวที่คุณอธิบายในอีเมล์ได้ดีมากขึ้นครับ เช่น

  • นี่คือวิธีที่เรา “พลิกวิกฤตธุรกิจ” ให้กลายเป็นผลกำไรทะลุร้อยล้าน
  • จาก “ต้นทุนเพียง 10,000 บาท ไปสู่อาณาจักร 1,000 ล้าน” แบบไร้คู่แข่ง

4. ช่วยให้หายเจ็บปวด

การนำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นที่อาจจะทำให้ธุรกิจของคุณหยุดชะงักหรือติดขัด จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้อ่านสนใจเปิดดูเพื่อหาวิธีที่จะป้องกันหรือก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งนั่นเป็นเทคนิคที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้อ่านได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง โดยอาจนำบทเรียนที่คุณเคยเจอมาก่อนและนำเสนอวิธีแก้ปัญหาให้กับผู้อ่าน เพื่อให้ผู้อ่านอยากรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างที่จะได้ไม่ต้องเจอกับปัญหาเหล่านั้น เช่น

  • ข้อผิดพลาดที่ทำให้ “ธุรกิจโดน Blacklist” จากสถาบันทางการเงิน
  • เหตุผลที่ผมเสีย “งบโฆษณา 100,000 บาท บน Facebook” โดยไม่ได้อะไรกลับมาเลย

5. เสนอทางออกที่ดี

เมื่อคุณกำลังประสบปัญหาที่ไม่รู้จะแก้ไขมันอย่างไร การนำเสนอทางออกที่ดีที่ช่วยแก้ไขเรื่องที่เป็นอยู่จะทำให้ผู้อ่านรีบเปิดอีเมล์ของคุณได้ในทันที (มันก็คือการแก้ปัญหาวิธีหนึ่งนั่นแหละครับ) เช่น

  • แก้ปัญหา “การจัดเก็บเอกสารที่ไม่เป็นระบบ” ด้วยโซลูชั่นของเรา
  • วิธีที่จะช่วย “ให้คุณหยุดเมื่อยหลัง” จากการนั่งทำงานประจำในออฟฟิศ

6. อ้างถึงคนมีชื่อเสียง

เทคนิคนี้ยังใช้ได้อยู่ประจำครับเพราะโดยส่วนใหญ่แล้วกลุ่มผู้อ่านมักจะมีผู้มีชื่อเสียงในวงการต่างๆเป็นไอดอลในดวงใจ โดยหากนำมาใช้กับชื่อเรื่องอีเมล์ก็จะทำให้เกิดการดึงดูดใจมากเป็นพิเศษ เช่น

  • บทเรียนครั้งสำคัญของ “คุณ…………” ที่พลิกโฉมธุรกิจไทย
  • วิธีที่ “คุณ…………” ใช้ในบริหารจัดการองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7. เขียนแบบ Personalized หรือเฉพาะเจาะจงรายบุคคล

มีสถิติชี้ชัดครับว่าการทำการตลาดแบบ Personalized Marketing Link นั้นสามารถสร้างให้เกิดความประทับใจให้กับลูกค้า จนเกิดโอกาสในการขายที่มากขึ้น และยิ่งเป็นการส่งอีเมล์ที่เฉพาะเจาะจงมาเป็นชื่อของคุณด้วยแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความพิเศษจนต้องกดเข้ามาอ่านครับ เช่น

  • สวัสดี “คุณ…………” นี่คือโปรโมชั่นพิเศษสำหรับคุณ
  • “คุณ…………” แนะนำให้บริษัทของเราติดต่อขอความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านระบบ Cloud จากคุณ

8. ตั้งคำถาม

สะกิดต่อมเอ๊ะให้เกิดขึ้นในจิตใจของผู้อ่านถือเป็นเทคนิคที่ยังใช้ได้เสมอ แถมยังเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทบทวนว่าสิ่งที่คุณมีสิ่งที่คุณเป็นมันใช่อย่างที่คิดมากหรือน้อยขนาดไหน เช่น

  • คุณกำลัง “ป่วยเป็นโรคไมเกรน” อยู่หรือเปล่า
  • ชีวิตจะดีขึ้นได้อย่างไร “หากคุณลดน้ำหนักได้ 10 กิโลกรัม” โดยไม่อดข้าวเลยสักมื้อ

9. สร้างเงื่อนไขแบบเร่งด่วนให้ตัดสินใจ

เทคนิคนี้ถือเป็นหนึ่งใน Fear of Missing Out (FOMO) Link หรือที่เราเรียกกันว่า การกลัวที่จะไม่ได้หรือไม่มีเหมือนที่คนอื่นๆเขามี ด้วยการกำหนดระยะเวลาให้เกิดการตัดสินใจให้ต้องมีของสิ่งนั้นเร็วยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดวันหมดอายุ ราคาโปรโมชั่นสุดพิเศษในช่วงเวลาจำกัด จำกัดสิทธิ์เฉพาะ 3 คนแรก เป็นต้น เช่น

  • คุณมีเวลา “แค่เพียง 2 ชั่วโมง” ก่อนลงปิดลงทะเบียน……
  • “399 บาท สำหรับวันนี้เท่านั้น” กับชุดเครื่องครัว 7 ชิ้น ที่จะทำให้การทำอาหารของคุณง่ายขึ้น

10. สร้างเรื่องให้เกิดการถกเถียง

เทคนิคสุดท้ายอาจดูขัดใจสักหน่อยแต่มันก็เป็นเชิงจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งบางอย่างขึ้นในหัวด้วยการแย้งความคิดเดิมที่เราเคยเชื่ออยู่ สิ่งที่เรายังบอกหรือพันธงอย่างแน่ชัดไม่ได้ สร้างความไม่มั่นใจให้กับคุณ หรือตั้งประเด็นให้เกิดการถกเถียงกันขึ้นว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งนั่นสามารถช่วยให้อีเมล์ของคุณน่าเปิดอ่านได้มากยิ่งขึ้น เช่น

  • ธุรกิจออฟไลน์ “กำลังจะเกิดการ Disrupt ครั้งใหญ่ที่สุด” ในโลก
  • “อีเมล์ของคุณกำลังถูก Block” ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

เป็นอย่างไรครับกับเทคนิคทั้ง 10 อย่างสำหรับการเขียนชื่อเรื่องอีเมล์ ที่ผมเชื่อว่ามันสามารถสร้างความแตกต่างและเพิ่มความน่าสนใจในการทำ Email Marketing ได้ แต่นั่นก็จำเป็นต้องเข้าใจกลุ่มผู้อ่านเป้าหมายว่าเป็นใคร อยากรู้เรื่องอะไร พวกเขามีปัญหาอะไร เพื่อที่คุณจะนำเสนอทั้งเนื้อหาและชื่อเรื่องได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และยังต้องมีการทดสอบหรือการทำ A/B Testing ด้วยนะครับว่า ชื่อเรื่องต่างๆที่คุณเขียนไปนั้นมันสร้างให้เกิดอัตราในการเปิดอ่าน หรือ Open Rate มากน้อยแค่ไหน แล้วนำมาปรับปรุงให้มันดีขึ้นอยู่ตลอดเวลานั่นเอง


Share to friends


Related Posts

รู้จักประเภทของ Email Marketing สำหรับการทำธุรกิจ

การทำการตลาดผ่านอีเมล์หรือที่เราเรียกกันว่า Email Marketing นับเป็นหนึ่งในช่องทางการทำการตลาดที่สร้าง Conversion Rate ได้ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการตลาดผ่านช่องทางอื่นๆ โดยสถิติจาก Smart Insights ระบุถึง Conversion Rate จากการส่งอีเมล์หาลูกค้าของธุรกิจทั้ง B2C และ B2B


สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำเวลาส่ง Email Marketing

การทำ Email Marketing ยังคงมีความจำเป็นสำหรับการทำธุรกิจ แม้ว่าหลายๆคนจะเห็นว่า Social Media นั้นมาแรงแซงทุกสิ่งก็ตาม แต่การทำการตลาดผ่านอีเมล์ก็ยังคงมีเสน่ห์และตอบวัตถุประสงค์ทางการตลาดอยู่หลายแบบด้วยกันครับ


เทคนิคการเขียนอีเมล์ให้ดึงดูดใจ

การติดต่อสื่อสารผ่านอีเมล์ยังคงมีความสำคัญค่อนข้างมากสำหรับการทำธุรกิจ โดยหลายๆคนอาจคิดว่าสมัยนี้ใครๆก็ติดต่อสื่อสารแอปพลิเคชั่นด้านการสื่อสาร (Communication Application) อย่าง Line หรือช่องทางออนไลน์กับโซเชียลมีเดียอื่นๆก็ตาม แต่มันก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ตอบโจทย์แบบ 100% ของจุดมุ่งหมายทางการสื่อสาร



copyright 2024@popticles.com
หากท่านต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ไปเผยเพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซต์