อะไรๆก็โซเชียลมีเดีย (Social Media) ไปซะหมด จนทำให้โซเชียลมีเดีย (Social Media) นั้นกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญที่แทบทุกธุรกิจจำเป็นต้องมีแบบขาดไม่ได้ไปซะแล้ว โดยเสน่ห์ของโซเชียลมีเดีย (Social Media) ที่แตกต่างจากเครื่องมือทางการตลาดอื่นๆ ก็เห็นจะเป็นความ Real-time ของข้อมูลข่าวสารและการสร้างการมีร่วมร่วม (Engagement) แบบทันทีทันใด ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามข้อมูล การตอบคำถามจากการเล่นเกม การสั่งจอง/ซื้อสินค้า การแสดงความคิดเห็น การแชร์ข้อมูลข่าวสาร และอื่นๆ ส่งผลให้โซเชียลมีเดีย (Social Media) เป็นแหล่งที่รวมของคอนเทนต์อันมหาศาลแหล่งหนึ่ง ที่ต้องแข่งขันกันในเรื่องการสร้างสรรค์คอนเทนต์ และความเป็นคอนเทนต์ที่มีคุณภาพนั้นก็ควรจะสร้างการมีร่วมร่วม (Engagement) ให้ได้มากที่สุดครับ ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องของการคิด Caption หรือคำบรรยาย/คำอธิบายต่างๆนั่นเอง
ในบทความนี้จะเป็นการสรุปเรื่องของเทคนิคการเขียน Caption เพื่อสร้างการมีร่วมร่วม (Engagement) ของผู้อ่านและผู้ติดตามบนสื่อโซเชียล ที่นับว่าสำคัญสุดๆอย่างหนึ่งสำหรับการทำคอนเทนต์เลยทีเดียว ถ้าพร้อมแล้วเรามาดูรายละเอียดกันครับ
ก่อนที่จะไปสู่เทคนิคต่างๆก็มีข้อควรจำก่อนจะทำคอนเทนต์บน Social Media ดังนี้
- ความถูกต้องของการสะกดคำ
- ใช้คำง่ายๆไม่ต้องตีความให้มากความ
- สื่อสารแบบภาษาที่มนุษย์เขาพูดกัน ไม่ใช่ลักษณะการพูดคุยกับ Bot
- ความยาวตัวอักษรบน Instagram คือไม่เกิน 2,200 ตัวอักษร
- ความยาวตัวอักษรบน Facebook คือไม่เกิน 63,206 ตัวอักษร
- ความยาวตัวอักษรบน Twitter คือไม่เกิน 280 ตัวอักษร
- ความยาวตัวอักษรบน TikTok คือไม่เกิน 140 ตัวอักษร
- Caption เป็นไปได้ทั้งข้อความหรือคำพูดธรรมดา และการออกแบบกราฟิกให้ออกมาเป็นภาพ
เทคนิคการเขียน Caption ให้เกิดการมีส่วนร่วม
เมื่อเรารู้หลักเบื้องต้นและสิ่งที่ควรจำในแต่ละแพลตฟอร์มของ Social Media ไปแล้ว ก็ถึงเวลาของการนำเอาเทคนิคไปปรับใช้ดังนี้
1. Caption ต้องแสดงถึงเจตนาบางสิ่งเสมอ
การทำคอนเทนต์อะไรก็ตามแต่จำเป็นต้องมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไรบางอย่างเสมอครับ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างการรับรู้ (Awareness) การขายสินค้า (Sales) การดึงให้คนเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ (Traffic) การให้ติดต่อเข้ามาสอบถามข้อมูล (Message) โดยสิ่งที่คุณต้องทำก็คือการตั้งผลลัพธ์ที่คุณอยากจะให้เกิดขึ้น เช่น การกดลิงค์ การใส่ข้อมูล หรือการส่งคำสั่งซื้อสินค้า เป็นต้น โดยลองตั้งคำถามเหล่านี้ดูครับ
- หากต้องการจะขายสินค้า ก็ให้ข้อมูลสินค้าให้ครบถ้วน และชวนให้คนที่สนใจพิมพ์ว่า “สนใจ” “ติดต่อ” หรือ Message เข้ามาถามข้อมูลเพิ่มเติม
- หากต้องการสร้างการรับรู้ในตัวแบรนด์หรือสินค้า ก็อาจเชิญชวนให้ติด #Hashtag กดแชร์ หรืออาจให้เล่นกิจกรรมต่างๆ
- หากต้องการให้เกิดการคอมเม้นท์หรือไลค์เยอะๆ ก็อาจจะตั้งคำถามบางอย่าง การทำเป็น Poll สำรวจความเห็น หรือให้เล่นเกมบางอย่าง
- หากต้องการดึงกลุ่มเป้าหมายไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ ก็ต้องใส่ลิ้งค์ให้กดเข้าไปแบบชัดเจน
ประเด็นสำคัญก็คือคุณจำเป็นต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของการสื่อสารก่อน และนำมาผสมผสานเข้ากับอัตลักษณ์ของแบรนด์ของคุณ (Brand Identity) ซึ่งอาจเป็นการออกแบบสื่อต่างๆเพื่อมาประกอบการเขียน Caption การเข้าใจ Brand Voice หรือ Tone of Voice ในการสื่อสารของแบรนด์ ที่สะท้อนความเป็นแบรนด์ของคุณครับ
2. บอกเล่าเรื่องราว
หนีไม่พ้น Storytelling จริงๆกับการทำคอนเทนต์ในยุคสมัยนี้ครับ และ Caption ที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้ดีก็คือการเล่าเรื่องอะไรบางอย่าง หรืออาจเป็นการนำเอาคำพูดของบางคน สถิติ หรือหลักฐานบางอย่างมานำเสนอและปรับให้เข้ากับแบบฉบับของตัวเอง ก็เป็นเทคนิคที่สามารถดึงความสนใจของผู้อ่านและผู้ติดตามให้หยุดอ่านรายละเอียดของคุณได้ โดยเฉพาะหากเรื่องเล่านั้นเป็นเรื่องจริงไม่ไก่กาอาราเร่ก็จะยิ่งสร้างการมีส่วนร่วมด้านอารมณ์ได้อีกหลายเท่า และนอกจากการเล่าเรื่องของคุณแล้วก็อย่าลืมตั้งคำถามกับผู้อ่านเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม เช่น “คุณรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้” “คุณคิดว่าเรื่องราวจะจบอย่างไร” “คุณอยากให้เรื่องราวต่อไปเป็นอย่างไร” เป็นต้น การเล่าเรื่องนั้นก็ทำได้หลายรูปแบบที่ไม่ใช่ Storytelling ที่เกี่ยวกับแบรนด์คุณแบบตรงๆ 100% ก็ได้นะครับ เช่น
- ในวันนี้เป็นวัน Earth Hour ที่รณรงค์ให้คนดับไฟ 1 ชั่วโมง คุณก็สามารถนำประวัติของ Earth Hour มาเล่า แล้วเชิญชวนให้ผู้อ่านปิดไฟ 1 ชั่วโมงพร้อมกัน และอาจต่อยอดเป็นกิจกรรมถ่ายภาพในบรรยากาศภายใต้แสงเทียน ก็ดูน่าสนใจไปอีกแบบครับ
- การเล่าถึงวันสำคัญอื่นๆ
- การเล่าถึงเหตุการสำคัญๆที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง
- การรณรงค์ในบางสิ่งบางอย่าง
- การนำเอา Testimonial ของลูกค้ามาใช้บอกเล่าเรื่องราว
ประเด็นสำคัญ ก็คือ การนำเรื่องต่างๆมาเชื่อมโยงให้เข้ากับแบรนด์หรือธุรกิจคุณให้ได้ และนั่นจะทำให้การเขียน Caption มีพลังในการสร้างการมีส่วนร่วมได้เป็นอย่างดี
Source: https://www.facebook.com/earthhour
3. เอาประเด็นสำคัญๆขึ้นมาก่อน
แม้ว่า Social Media อย่าง Facebook หรือ Instagram นั้นจะสามารถพิมพ์ตัวอักษรได้หลักพันขึ้นไป แต่การแสดงผลให้คนเห็นนั้นมันมีเพียง 1-2 หรือ 3-4 บรรทัดสั้นๆเท่านั้นเอง ที่เหลือมันจะถูกตัดไปเป็นอ่านต่อ หรือ Read More ถ้ากดถึงจะเห็นข้อมูลเพิ่มเติมที่คุณเขียนอย่างยาวเหยียด สิ่งที่ผมกำลังจะบอก ก็คือ มันมีโอกาสที่ผู้อ่านและผู้ติดตามจะไม่กดก็ได้ถูกไหมครับ และมันจะเสียโอกาสในการสื่อสารของคุณในทันที ดังนั้นเพื่อป้องกันในป้องกันไม่ให้ผู้อ่านและผู้ติดตามพลาดโอกาสดีๆไป และคุณในฐานะแบรนด์ที่กำลังจะเสนอสินค้าหรือบริการบางสิ่งก็จำเป็นต้องเอาประเด็นสำคัญหรือประโยคเด็ดๆ ที่คุณต้องการให้ผู้อ่านและผู้ติดตามนั้นอยากจะรู้ต่อว่าคุณกำลังจะนำเสนออะไรดีๆต่อไป เช่น
- พลาดแล้วพลาดเลย……..
- โปรโมชั่นวันสุดท้าย……..
- โอกาสสุดท้าย……..
- การันตีด้วยยอดขาย……..
- หรือยิงหมัดน็อคแบบผสมผสานเข้าไป เช่น โอกาสสุดท้าย…ลด 70%…ส่งฟรี…ซื้อเลย…
Source: https://www.facebook.com/areeyahome
เทคนิคนี้เป็นการดึงความสนใจจากผู้อ่านและผู้ติดตามให้จดจ่อกับสิ่งที่คุณกำลังนำเสนอ ซึ่งการเอาประเด็นสำคัญๆขึ้นมาก็ต้องอยู่ที่การตั้งวัตถุประสงค์ของโพสต์นั้นๆด้วยนะครับ ว่าอยากให้เกิดผลลัพธ์ในลักษณะไหนบ้าง และการขึ้นประโยคด้วยประเด็นสำคัญๆนั้นก็สามารถนำเอาเทคนิคแบบ Fear-of-Missing-Out (FOMO) หรือการกลัวจะตกเทรนด์ มาปรับใช้ก็ได้เช่นกัน
4. ตั้งคำถาม
การตั้งคำถามเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมที่ชัดเจนที่สุดครับ โดยเป้าหมายก็คือให้ผู้อ่านหรือผู้ติดตามมีส่วนร่วมกับการตอบคำถาม การตั้งคำถามนั้นสามารถตั้งได้หลายประเด็นครับ ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการของคุณ โดยสิ่งที่ซ่อนอยู่ในคำถามเหล่านั้นมันอาจจะทำให้คุณเห็นข้อมูล Insight อะไรบางอย่าง เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขสินค้าหรือบริการ หรืออาจเห็นโอกาสในการต่อยอดอะไรบางอย่างก็ได้ เช่น
- คุณคิดว่าสินค้า A ของแบรนด์เรา มีอะไรที่เป็นจุดเด่นมากที่สุด
- ช่วยเล่าประสบการณ์จากการใช้สินค้าของเรา ว่ามีอะไรที่ประทับใจบ้าง
- คุณคิดว่าประเด็นที่เกิดขึ้นในตอนนี้ จะส่งผลในด้านไหนบ้าง
- วันหยุดยาวคุณไปเที่ยวที่ไหนกันมาบ้าง
- คุณมีแผนสำหรับวันคริสต์มาสที่จะมาถึงกันอย่างไร
- คุณวางแผนจะเที่ยวในช่วงปีใหม่ที่ไหนบ้าง
Source: https://www.facebook.com/kfcth
5. ชวนเพื่อนๆมาร่วมวง
มันมีสถิติที่ระบุว่าการตัดสินใจซื้อสินค้าใดๆก็ตามโดยส่วนใหญ่จะมาจากคนรู้จัก เพื่อน หรือครอบครัว ที่มีการรีวิวหรือแนะนำบอกต่อกันมา และมันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมโหฬาร เมื่อคุณนำกิจกรรมดีๆมาร่วมกับการให้บรรดาผู้ที่ติดตาม Social Media ของคุณ Tag เพื่อนๆกันเองนี่แหละครับ เช่น
- สินค้า A กำลังจะออกรสชาติใหม่ ใคร Tag เพื่อนมากที่สุดจะได้รับสิทธิ์ซื้อ 1 ฟรี 1
- สินค้าราคาพิเศษเพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น อย่าให้เพื่อนๆตกเทรนด์ #TagAFriend #TellAFriend
ผมเชื่อว่าหลายๆคนน่าจะเคยโดน Tag จะเพื่อนๆมาไม่มากก็น้อยแน่นอน
6. ชวนติด #Hashtag
พลังของ #Hashtag หรือ เครื่องมือที่ช่วยแยกข้อมูลประเภทเดียวกันให้อยู่ด้วยกัน เมื่อคุณต้องการที่จะหาอะไรก็เพียงแค่พิมพ์ #สิ่งที่ต้องการหา โดย #Hashtag นั้นน่าสนใจทีเดียวครับเพราะหากคุณเลือกติด #Hashtag ที่เหมาะสม มันจะสามารถสร้างการรับรู้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับ Instagram นั้นก็มีสถิติจาก Social Insider เกี่ยวกับการติด #Hashtag ที่น่าสนใจมากๆ ดังนี้
- การมี 0 Hashtag – สามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมบางอย่างต่อผู้ติดตาม 1,000 คน ได้มากถึง 18%
- การมี 1 Hashtag – สามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมบางอย่างต่อผู้ติดตาม 1,000 คน ได้มากถึง 29%
- การมี 2 Hashtags – สามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมบางอย่างต่อผู้ติดตาม 1,000 คน ได้มากถึง 41%
- การมี 3 Hashtags – สามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมบางอย่างต่อผู้ติดตาม 1,000 คน ได้มากถึง 39%
- การมี 4 Hashtags – สามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมบางอย่างต่อผู้ติดตาม 1,000 คน ได้มากถึง 31%
- การมี 5 Hashtags – สามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมบางอย่างต่อผู้ติดตาม 1,000 คน ได้มากถึง 43%
- การมี 6 Hashtags – สามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมบางอย่างต่อผู้ติดตาม 1,000 คน ได้มากถึง 33%
- การมี 7 Hashtags – สามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมบางอย่างต่อผู้ติดตาม 1,000 คน ได้มากถึง 30%
- การมี 8 Hashtags – สามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมบางอย่างต่อผู้ติดตาม 1,000 คน ได้มากถึง 39.5%
- การมี 9 Hashtags – สามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมบางอย่างต่อผู้ติดตาม 1,000 คน ได้มากถึง 49.5%
- การมี 10 Hashtags – สามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมบางอย่างต่อผู้ติดตาม 1,000 คน ได้มากถึง 22%
- การมี 11 Hashtags – สามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมบางอย่างต่อผู้ติดตาม 1,000 คน ได้มากถึง 79.5%
โดยส่วนใหญ่แล้ว #Hashtag นั้นจะติดเอาไว้ด้านท้ายสุดของข้อความต่างๆ แต่ก็อาจสามารถนำมาติดไว้ตั้งแต่เริ่มต้น หรือในระหว่างเนื้อหาก็ได้ครับ แต่อาจต้องจัดระเบียบดีๆให้อ่านง่ายและสร้างความต่อเนื่องของเนื้อหาด้วยนะครับ
Source: https://www.facebook.com/TopsThailand
7. ใช้ Emoji อธิบายแทนคำพูด
ความน่ารักและความดูผ่อนคลายของ Emoji หรือตัวการ์ตูนที่แสดงถึงอารมณ์หรือไอคอนที่แสดงถึงสิ่งต่างๆ ก็เป็นหนึ่งเทคนิคที่สร้างการมีส่วนร่วมได้อย่างดีเช่นกัน โดยคุณสามารถนำ Emoji มาใช้ได้กับหลายๆธุรกิจและหลากหลายอุตสาหกรรม แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่ดูจะเป็นทางการอย่างธุรกิจการเงินและอื่นๆก็ตาม Emoji สามารถนำมาใช้ได้ทั้ง Instagram, Facebook หรือ Twitter ก็ได้ทั้งนั้นครับ โดยนอกจากมันจะกระตุ้นการมีส่วนร่วมแล้ว ในบางครั้งมันก็ประหยัดเวลาในการคิด Caption ลงไปได้อีก แต่ก็ควรใช้อย่างเหมาะสมและสมเหตุสมผลกับคอนเทนต์ ที่ต้องเข้ากับแบรนด์ด้วยนะครับไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเล่นแต่ใช้ Emoji มากจนเกินไปและอาจดูขี้เกียจได้ในทันที Emoji มีทั้งที่แบบแสดงอารมณ์ เช่น ยิ้ม ดีใจ ยินดี เศร้า ปรบมือ และอื่นๆ รวมไปถึง การแสดงถึงธุรกิจบางประเภท เช่น พิซซ่า กล้องถ่ายรูป ผักผลไม้ รถยนต์ และอื่นๆอีกมากมายครับ
Source: https://martech.org/dominos-pizza-uses-emoji-storm-to-tease-twitter-triggered-delivery/
8. มหกรรมการ Tag
นอกจากการ Tag ชื่อเพื่อนๆเพื่อมาร่วมกิจกรรมแล้ว การติด Tag สถานที่ Tag แบรนด์ที่เกี่ยวข้อง Tag ชื่อสินค้า Tag คนที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้นๆ ก็สร้างการมีส่วนร่สมระหว่างกันได้ดีมากวิธีหนึ่งครับ
- @/#friend
- @/#brand
- @/#place
- @/#people
- @/#product
9. ใส่อารมณ์ขำๆไปบ้าง
เทคนิคสุดท้ายก็หนีไม่พ้นการใส่ Feeling แบบสนุกสนานแต่พองามเข้าไปใน Caption การเล่าเรื่องต่างๆให้ดูสนุกสนาน เพราะบางครั้งในสถานการณ์ที่ผู้อ่านเจออะไรที่เครียดๆมา แล้วมาเจอ Caption ที่ผ่อนคลายจากโพสต์ของคุณมันก็สามารถสร้างความรู้สึกดีๆได้ โดยอารมณ์ขำขันที่ว่านั้นก็ไม่ใช่ขำแบบไร้ซึ่งสาระนะครับ อย่างน้อยความขำขันก็ควรเชื่อมโยงหรือต่อยอดแบบเนียนๆเข้าไปกับแบรนด์หรือสินค้าของคุณด้วยเช่นกัน แต่หากคุณเห็น Real-time คอนเทนต์ หรือ Meme อะไรแล้วนำมาทำเป็นมุขขำๆเพื่อพูดคุยกับผู้ผู้ติดตาม ก็ต้องมองบริบทอื่นๆให้รอบด้านก่อนนะครับ เพราะบางครั้งความขำอาจกลายเป็นความตึงเครียดมากกว่าเดิมก็ได้เช่นกัน
เป็นอย่างไรบ้างครับกับเทคนิคที่คุณสามารถนำไปปรับใช้ในการเขียน Caption บนโซเชียลมีเดียต่างๆ โดย Caption นั้นไม่ใช่แค่ตัวหนังสือที่เราพิมพ์อย่างเดียวนะครับ แต่อาจเป็นการออกแบบเป็นภาพแล้วเขียน Caption โดนๆก็ได้เช่นกัน หากใครที่ทำอยู่แล้วก็ลองผสมผสานไอเดียดีๆเข้าไปเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ติดตามให้มากขึ้น และหากใครที่ยังไม่เคยลองเทคนิคเหล่านี้ผมคิดว่าหากลองนำไปใช้แล้ว มันน่าจะสร้างผลลัพธ์อะไรดีๆกลับมาอย่างแน่นอนครับ