การใช้ Influencer สำหรับการทำการตลาดบน Social Media กลายเป็นที่นิยมในช่วงหลังๆมากที่สุดประเภทหนึ่ง และหนึ่งในกลยุทธ์การใช้ Influencer Marketing นั่นก็คือ KOL หรือ Key Opinion Leader ครับ ซึ่งโด่งดังและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในประเทศจีน และในประเทศไทยเองก็นิยมใช้ KOL ในการโปรโมทสินค้าของแบรนด์ต่างๆเช่นกัน แต่ในระยะหลังเราเริ่มเห็นคำว่า KOC หรือ Key Opinion Customer ที่กลายเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การทำการตลาดออนไลน์และ Social Media ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียวครับ และมีการคาดการณ์กันว่า KOC อาจกลายเป็นกลยุทธ์ที่แบรนด์อาจนำมาใช้ในการโปรโมทสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจทำให้ KOL นั้นหมดความนิยมลงไป เรามาทำความเข้าใจถึงความต่างระหว่าง KOL กับ KOC กันดีกว่าครับว่า มันมีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไร และจะนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการโปรโมทแบรนด์ได้อย่างไร
ในบทความก่อนหน้านี้ผมได้เขียนสรุปอธิบายถึง KOL Marketing เอาไว้แล้ว หากใครสนใจก็ลองเข้าไปอ่านได้ที่นี่ครับ >>> KOL Marketing ช่วยแบรนด์ของคุณได้อย่างไร
อะไรคือ KOC กันแน่
KOC หรือ Key Opinion Customer นั้นหมายถึงการที่ลูกค้าผู้ที่ซื้อและใช้สินค้าหรือบริการต่างๆของแบรนด์ มีความต้องการที่จะมารีวิวหรือแบ่งปันประสบการณ์จากการใช้งานสินค้าอย่างแท้จริงผ่าน Social Media และช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยที่ไม่ได้รับการว่าจ้างใดๆจากแบรนด์หรือสินค้าให้มารีวิวเพื่อแลกกับค่าตอบแทนครับ ซึ่งแน่นอนครับว่า KOC นั้นไม่ได้มีฐานของผู้ติดตามเป็นจำนวนมากโดยอาจมีแค่หลักร้อยถึงหลักพันเพียงเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่น่าสนใจมากๆก็คือ KOC นั้นมีความแท้จริงและดูแล้วมีความจริงใจมากกว่าซึ่งสร้างความน่าเชื่อถือได้ดีกว่า และส่วนใหญ่จะมารีวิวหรือพูดถึงสินค้าตามที่ตัวเองนั้นมีความสนใจอย่างแท้จริงที่ไม่ได้ทำเป็นอาชีพเหมือน Influencer ประเภทอื่นๆ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นลักษณะของงานอดิเรกเบาๆก็น่าจะได้ครับ
หากลองมาดูที่ KOL หรือ Key Opinion Leader จะเห็นประเด็นที่แตกต่างอย่างชัดเจนครับว่า ฐานผู้ติดตามนั้นค่อนข้างเยอะกว่ามากซึ่งอาจจะเป็นหลักหมื่นเป็นต้นไป และมีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆอย่างลึกซึ้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานในวิชาชีพโดยตรงหรือเคยเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆมาเป็นระยะเวลานาน KOL ถือเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในระดับหนึ่งจนกลายเป็นที่รู้จักในวงสังคม โดยอาจเป็นไปได้ทั้งกลุ่มดารานักแสดง นางแบบ YouTuber หรือแม้แต่คนที่สร้างตัวตนบน Social Media จนมีผู้คนติดตามมากมาย และแบรนด์ก็จะเสียเงินเพื่อจ้าง KOL มาให้ความรู้หรือรีวิวเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการนั่นเอง
KOC ไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่มีสถานะ ชื่อเสียง หรือบทบาทในสังคมมากเท่ากับ KOL แต่ที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งก็คือ KOC นั้นดูจะมีผู้ติดตามที่เป็นระดับจงรักภักดี (Loyal) มากกว่าและอาจส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้ามากกว่าครับ ดังนั้น KOL จะมีลักษณะเป็น Social Media Influencer ส่วน KOC จะมีลักษณะเป็น Content Creator มากกว่า เรามาลองดูตารางเปรียบเทียบกันครับ
Key Opinion Leader (KOL) | Key Opinion Customer (KOC) | |
---|---|---|
จุดเริ่มต้น | ได้รับการว่าจ้างจากเจ้าของแบรนด์โดยอาจจะเป็นค่าตอบแทนหรือสินค้า เพื่อทำการโปรโมทสินค้าให้กับแบรนด์ | ทำการติดต่อแบรนด์โดยตรงเพื่อนำสินค้าที่ตัวเองมีความสนใจจริงๆ มาทำการทดลองและรีวิว |
ผู้ติดตาม | ผู้ติดตามสำหรับ KOL ถือว่าค่อนข้างเป็นเรื่องสำคัญ โดยหากเป็นระดับผู้มีชื่อเสียงมากๆ (Celebriry) จะมีผู้ติดตามหลัก 1 ล้านคน หากเป็น Micro-Influencers จะมีผู้ติดตามราว 1 หมื่น – 5 หมื่นคน และระดับ Nano-Influencers มีผู้ติดตามราว 1 พัน – 1 หมื่นคน ซึ่งนั่นมีผลต่อการว่าจ้าง | ในความเป็นจริงกลุ่มผู้ติดตามนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับ KOC ซึ่งอาจมีเพียงหลักร้อยถึงหลักพันต้นๆ |
ความแท้จริง | เนื่องจากเป็นการร่วมมือระหว่างแบรนด์และ KOL ในการรีวิวสินค้า จึงอาจทำให้พลังความแท้จริงนั้นดูน้อยกว่า | ขณะที่ KOC หลายๆคนจะมีบล็อกหรือ Vlog ส่วนตัวเพื่อรีวิวประสบการณ์จากการใช้สินค้าหรือบริการ และนั่นคือผู้ใช้สินค้าตัวจริงจึงมีพลังของความแท้จริงค่อนข้างมากกว่า |
KOL นั้นกลายเป็นที่นิยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่แบรนด์ที่อยู่มานานจะวางกลยุทธ์ด้วย KOL Marketing กันค่อนข้างเยอะ แต่หากเป็นแบรนด์ใหม่ๆมักมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้ KOC Marketing มากกว่าเพราะมีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับสินค้าที่ค่อนข้างตรง ซึ่งสามารถเข้าถึงจิตใจของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ถือได้ว่าเป็นการเลือกแบบเจาะจงในการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม เน้นเชิงคุณภาพของการขายสินค้าแบบคุ้มค่างบประมาณในระดับหนึ่ง ที่ไม่แพงเท่า KOL Marketing ซึ่งก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียวครับ