
Souce: https://underkids.wordpress.com/2010/07/13/fotos-calvin-klein-jeans/
โฆษณา (Advertising) เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารมวลชน (Mass Communications) ผ่านการซื้อช่วงเวลาบนโทรทัศน์หรือพื้นที่โฆษณาในสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ บิลบอร์ด อิเล็กทรอนิกส์ หรือในรูปแบบออนไลน์ นอกเหนือจากการสร้างการรับรู้และการกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าหรือบริการแล้วนั้น โฆษณายังสามารถสื่อสารตำแหน่งของแบรนด์หรือธุรกิจของคุณได้อีกเช่นกัน
โฆษณานั้นก็สามารถทำออกมาได้หลายประเภทด้วยกัน โดยวัตถุประสงค์หนึ่งก็เพื่อสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมทางอารมณ์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าหรือบริการ ผ่านกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ในการบอกเล่าเรื่องราวผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งความรู้สึกทางอารมณ์นั้นนับว่ามีแรงเสริมให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจได้เร็วยิ่งขึ้น และสำหรับสายงานโฆษณานั้นก็มีวิธีสร้างหรือเล่าความรู้สึกเชิงอารมณ์อยู่หลักๆ 8 ประเภทด้วยกัน เรามาดูพร้อมกันครับ
- บทละคร (Drama)
- ความประหลาดใจ (Shock)
- ความกลัว (Fear)
- เรื่องตลกขบขัน (Humor)
- ความอบอุ่น (Warmth)
- ความปรารถนา (Aspiration)
- เพลง (Music)
- เรื่องเกี่ยวกับเพศ (Sex)

บทละคร (Drama)
การเล่าเรื่องก็เหมือนการเขียนบทละครขึ้นมาซึ่งค่อนข้างทรงพลังมาก สำหรับสร้างความโดดเด่นและแตกต่างให้กับแบรนด์ ที่ค่อยๆสร้างเรื่องราวให้เกิดความสัมพันธ์ที่ลึกซึ่งระหว่างแบรนด์กับลูกค้า มีการวางเนื้อเรื่องที่ค่อยๆสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งมันดึงดูดผู้ชมได้มากเลยทีเดียวไม่ว่าจะสร้างให้เห็นถึงความผูกพันในครอบครัว ความผูกพันของเพื่อน เรื่องราวความรักในมุมต่างๆ
ความประหลาดใจ (Shock)
การใช้เทคนิคสร้างความประหลาดใจหรือเรื่องที่สร้างความตกตะลึง ก็นับเป็นหนึ่งในวิธีสร้างความรู้สึกทางอารมณ์ซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสีย ที่ต้องระวังในการสน้างและดำเนินเรื่องราวหรือออกแบบสื่อโฆษณาต่างๆ
ความกลัว (Fear)
เราจะเห็นเทคนิคการโฆษณาที่ใช้ความกลัวเป็นตัวกำหนดเรื่องราว และที่เห็นบ่อยๆก็คือการกลัวการสูญเสีย เช่น สูญเสียคนรัก สูญเสียครอบครัว การจากไปก่อนวัยอันควร โดยเรามักจะเห็นได้จากโฆษณารถยนต์ ประกันชีวิต และหน่วยงานที่รณรงค์ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมรวมถึงเรื่องของการงดสูบบุหรี่
เรื่องตลกขบขัน (Humor)
เรื่องตลกชวนหัวเราะถือเป็นเหรียญที่มีสองด้านหรือดาบสองคม ซึ่งความสนุกสนานนั้นก็ช่วยให้ผู้ชมมีความเพลิดเพลินและรู้สึกดี แต่หากเรื่องราวมันกระทบถึงความรู้สึกของคนที่มองว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องตลกก็อาจส่งผลเสียได้ ความสนุกสนานต้องอยู่บนความเพลิดเพลินที่ไม่ส่งผลเสียหรือเกิดเรื่องเจ็บปวดใจใดๆ และในฐานะนักโฆษณาก็ต้องสร้างความเชื่อมโยงให้แบรนด์เป็นที่จดจำ ไม่ใช่สนุกสนานและจำไม่ได้ว่าเป็นแบรนด์อะไร โดยส่วนใหญ่เราจะเห็นในโฆษณาที่จับกลุ่มวัยรุ่นหรือกลุ่มชาวบ้านทั่วๆไป
ความอบอุ่น (Warmth)
ช่วงเวลาดีๆและแสนอบอุ่นสามารถช่วยให้ผู้ชมมีความผ่อนคลาย และช่วยให้สภาพจิตใจนั้นดีขึ้นไม่ว่าจะเป็น ความอบอุ่นในครอบครับ ความรัก มิตรภาพดีๆ การห่วงใยเอาใจใส่ ที่เรามักเห็นในโฆษณาจำพวกอาหาร ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องดื่มและอาหารบางประเภท
ความปรารถนา (Aspiration)
การสร้างแรงบันดาลใจหรือความปรารถนาให้มีชีวิตอยู่เพื่อบางสิ่ง หรือมีพลังที่จะทำอะไรในชีวิตจะเป็นตัวขับเคลื่อนพลังที่มีในตัวคุณ มันช่วยให้คุณสามารถพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในตัวเอง เรามักจะเห็นโฆษณาที่ใช้เทคนิคนี้อยู่บ่อยๆก็คือ แบรนด์กีฬาที่นำเอาพรีเซ็นเตอร์มาเล่าเรื่องราวและสร้างแรงบันดาลใจ
เพลง (Music)
การใช้เพลงตัวนำในการโฆษณามักจะเห็นได้ในรูปแบบของโฆษณาทางโทรทัศน์และวิทยุ ไม่ว่าจะเป็น Jingle หรือใช้เพลงเป็นเสียงประกอบ โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ฟังมักจะจดจำเพลงและร้องตามได้แบบอัตโนมัติหากได้ยินบ่อยๆ นับเป็นเทคนิคที่กระตุ้นให้ผู้ฟังสนใจและจดจำโฆษณานั้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถใช้ได้กับทุกกลุ่มเป้าหมายหากเลือกเพลงที่เหมาะสม
เรื่องเกี่ยวกับเพศ (Sex)
เรามักจะเห็นโฆษณาประเภทน้ำหอม กระเป๋า เสื้อผ้า ที่ใช้ภาพในการโฆษณาในมุมของการนำเอาพรีเซ็นเตอร์ทั้งผู้ชายและผู้หญิงมาประกอบ โดยมีการแต่งตัววาบหวิวยั่วยวนใจซึ่งนับว่าได้ผลกับอารมณ์ในการตัดสินใจซื้อของลูกค้า หากสามารถสร้างให้เกิดความเชื่อมโยงกับสินค้านั้นๆได้ แต่ก็ไม่ควรใช้ภาพที่เกินความเหมาะสมเพราะอาจทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดูไม่ดี และต้องขึ้นอยู่กับบริบทรวมถึงบรรทัดฐานของสังคมในแต่ละประเทศอีกด้วย
สำหรับนักโฆษณาและนักการตลาดเชื่อว่าน่าจะรู้เทคนิคเหล่านี้เป็นอย่างดี ยังไงก็ลองนำไปปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัยรวมถึงพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายในยุคโซเชียล มีเดียกันดูนะครับ ที่สำคัญอะไรที่มันมากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็ไม่ดี ดังนั้นเราควรจะศึกษาข้อมูลให้ครบทุกด้านก่อนโฆษณาอะไรออกไปเพราะมันจะส่งผลถึงแบรนด์ของคุณในอนาคต
Photos by freepik – www.freepik.com