เคยสงสัยกันไหมครับว่าทำไมรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารที่เรียกว่า เรื่องราว หรือ เรื่องเล่า (Story) ถึงเป็นรูปแบบการสื่อสารที่น่าสนใจจนกลายเป็นหนึ่งในรูปแบบการสื่อสารที่ทรงพลังมากที่สุดในโลก จนหลายๆธุรกิจนำมาใช้ในการสื่อสารกันในยุคปัจจุบันและถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสร้างการจดจำให้กับแบรนด์ ผ่านช่องทางออนไลน์ โซเชียลมีเดีย รวมไปถึงสื่อดั้งเดิมพวกจำพวกสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ที่ยังมีการสื่อสารในแบบการเล่าเรื่องราวอยู่อย่างสม่ำเสมอ เรามาดูเหตุผลกันครับว่าทำไมการสื่อสารผ่านเรื่องราว (Story) ถึงเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ดีที่สุดรูปแบบหนึ่งในโลก
จุดกำเนิดและพลังของเรื่องราว (Story)
ความประทับใจที่เรามีต่อเรื่องราวหรือเรื่องเล่าต่างๆนั้นมีมาตั้งแต่เด็กๆครับ ซึ่งผมเชื่อว่าทุกๆคนคงเคยได้ดูและได้ฟังนิทานหรือนิยายที่นำมาเล่าก่อนนอน ไม่ว่าจะเป็นนิทานพื้นบ้านของไทยหรือนิทานจากฝั่งตะวันตกหลายๆเรื่อง ที่พอเราฟังแล้วก็จะรู้สึกอารมณ์ดีแล้วเคลิ้มหลับไป หรือการที่เราเห็นภาพวาดตามผนังถ้ำที่เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาเป็นหลายร้อยหลายพันปี จนกลายเป็นประวัติศาสตร์อันยาวนานที่แสดงให้เห็นจุดกำเนิดของหลายๆสิ่ง และบางเรื่องราวก็กลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมไปบ้างก็มี
เรื่องราวนั้นเป็นสิ่งที่อยู่รอบๆตัวเรามาตั้งแต่เกิดและถูกพัฒนาให้มีความสลับซับซ้อนไปตามยุคสมัย เมื่อเราเติบโตขึ้นเราก็จะพบเจอกันเรื่องราวที่เริ่มเข้ามามีบทบาทกับความรู้สึกนึกคิดรวมถึงพฤติกรรม ที่มีหลากหลายรูปแบบและวิธีการจนแทบจะกลายเป็นสิ่งเดียวกับชีวิตประจำวันไปแล้ว
เมื่อหลายปีก่อนมีทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบความเชื่อมโยงทางระบบประสาทระหว่างเรื่องราวกับพื้นที่ในสมอง ซึ่งเกี่ยวกับการเอาใจใส่ ความเห็นอกเห็นใจ และความร่วมมือ ความรู้สึกเหล่านี้ถูกควบคุมโดยสารเคมีที่เรียกว่าออกซิโตซิน (Oxytocin) จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเราได้รับการบอกเล่าเรื่องราวที่ตรงใจครับ มีการทดลองและเก็บตัวอย่างเลือดของผู้เข้าร่วมทดลองทั้งก่อนและหลังฟังเรื่องราว ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมานั้นแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ได้ยินเรื่องเล่าที่มีตัวละครชัดเจน จะมีระดับออกซิโตซิน (Oxytocin) ในกระแสเลือดที่สูงขึ้นทันที นั่นหมายความว่าการเล่าเรื่องที่น่าดึงดูดใจสามารถนำไปใช้เต็มเติมความรู้สึกตามธรรมชาติของคนเราได้นั่นเอง
ทำไมเรื่องราวถึงเปลี่ยนอารมณ์และความรู้สึกของผู้ฟังได้อย่างน่าประหลาดใจ
เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนเริ่มเล่าเรื่องราวบางอย่าง สมองก็จะเริ่มสั่งการให้คุณเข้ามาค้นหาดูครับว่า เรื่องราวนั้นมันเกี่ยวข้องกับชีวิตคุณมากขนาดไหน และมันจะสร้างผลกระทบด้านไหนกับตัวของคุณบ้าง และนี่คือ 7 เหตุผลที่ทำให้เรื่องราว (Story) นั้นกลายเป็นวิธีการสื่อสารที่ดีที่สุดและทำให้คุณคล้อยตามด้วยความเต็มใจ
1. ผู้คนจะให้ความตั้งใจฟังอะไรที่เป็นเรื่องราวเสมอ
ต้องยอมรับครับว่าจิตใจของมนุษย์ทุกๆคนจะซึมซับเรื่องราวโดยอัตโนมัติทั้งในแบบตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ หรือเรียกได้ว่าเราไม่สามารถต้านทานพลังของเรื่องราวได้แม้ว่ามันจะเกี่ยวข้องมากหรือเกี่ยวข้องน้อยกับตัวของคุณเองก็ตาม ยิ่งหากผู้เล่าเป็นคนที่รู้วิธีการเล่าเรื่องราวได้อย่างชำนาญ เขาก็จะพยายามจู่โจมอารมณ์และความรู้สึกของผู้ฟังอย่างรวดเร็ว และสามารถดึงความสนใจไปจากคุณได้ในทันที
2. ภายในจิตใจจะถูกเติมเต็มด้วยภาพและฉากต่างๆ
เรื่องราวคือการนำเสนอภาพบางสิ่งที่นอกเหนือจากข้อมูลแบบปกติทั่วไป ด้วยการนำเอาภาพมาผสมผสานกับข้อเท็จจริงที่เป็นบริบทโดยรอบ หลักของการเล่าเรื่องราวจึงเป็นการทำให้ผู้ฟังได้มองเห็นภาพอย่างชัดเจน เชื่อมโยงความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ต่างๆ ทำให้ผู้คนมีจินตนาการและสวมบทบาทของตัวเองให้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ
3. เป็นทั้งผู้สอนและช่วยให้เรามีความพร้อมอยู่เสมอ
เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดออกมานั้นอาจจะเกิดกับคนทั่วๆไปได้ในวันใดวันหนึ่ง โดยเรื่องราวนั้นมักจะนำเสนอวิธีการหรือหนทางเพื่อเอาชนะปัญหาหรืออุปสรรคด้านต่างๆ ผู้ฟังจะรับรู้ได้ว่าสินค้าหรือบริการของคุณมันดีอย่างไร มันช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร มันมีประโยชน์มากขนาดไหนผ่านการเล่าเรื่องราวในรูปแบบต่างๆ
4. เรื่องราวสามารถสร้างให้เกิดความผูกพันแบบไม่มีที่สิ้นสุด
การแบ่งปันเรื่องราวจะสร้างให้เกิดประสบการณ์ร่วมและเชื่อมโยงให้ผู้คนมีความคิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรื่องราวจึงก่อให้เกิดการแบ่งปันด้านความรู้สึกที่มาจากหลากหลายสถานการณ์ และกระตุ้นให้เกิดการติดตามได้อยู่ตลอดเวลา
5. กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมบางอย่าง
เรื่องราวจะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนทำบางสิ่งบางอย่างเสมอ เพราะด้วยสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นสร้างแรงบันดาลใจรวมไปถึงแรงจูงใจให้เกิดการกระทำเหล่านั้น คนจะตอบสนองความรู้สึกเชิงอารมณ์ผ่านสิ่งที่เรื่องราวกำลังสื่อสาร โดยเฉพาะหากเรื่องราวนั้นมันส่งผลกระทบและเกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มผู้ฟัง
6. สร้างประสบการณ์แบบครบทุกประสาทสัมผัส
การสื่อสารผ่านการร้อยเรียงเรื่องราวส่งผลต่อการตอบสนองของระบบประสาท ให้เปลี่ยนรูปแบบไปตามการถ่ายทอดเรื่องราว ไม่ว่าจะรัก จะเกลียด จะมีความสุข จะเสียใจ ฮึกเหิม หรือแม้แต่ความผิดหวัง ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงคำพูดที่คุณได้ยิน แต่ฉากในเรื่องราวต่างๆที่ถูกถ่ายทอดออกมารวมถึงอากัปกิริยาของตัวละคร ที่ทำออกมาแล้วสะท้อนให้เราได้เห็นว่ามันเข้าไปถึงทุกๆประสาทสัมผัสได้อย่างน่าประหลาดใจ
7. สร้างความบันเทิงให้เกิดขึ้นในจิตใจ
ไม่ใช่ทุกเรื่องราวที่จะทำให้คุณตกอยู่ในห้วงความรู้สึกคล้อยตามเพียงอย่างเดียว แต่บางรูปแบบของการเล่าเรื่องราวนั้นยังสร้างให้เกิดความบันเทิง ความสุข ความสนุกสนาน ได้เช่นกัน