การบริหารทีมงานที่ดีจะช่วยให้งานของคุณประสบความสำเร็จอย่างราบรื่น ซึ่งมันไม่ใช่แค่การวัดผลที่ตัวของผลงานเท่านั้นแต่มันยังจำเป็นต้องทำความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านคุณธรรมและศีลธรรมของทีมงานไปพร้อมๆกัน หรือที่เราเรียกว่า Moral Development โดยการทำความเข้าใจขั้นตอนต่างๆของการพัฒนาด้านคุณธรรมและศีลธรรมนั้น จะช่วยให้คุณบริหารทั้งทีมงานและองค์กรให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมครับ ซึ่งมันจะช่วยยกระดับขีดความสามารถขององค์กร วัฒนธรรมองค์กร และการพัฒนาแนวคิดของพนักงานให้อยู่กันอย่างมีความสุข เรามาทำความรู้จักกับ ทฤษฎีที่ว่าด้วยการพัฒนาด้านคุณธรรมและศีลธรรม (Theory of Moral Development) กันครับ
รู้จักกับ Theory of Moral Development
ทฤษฎีที่ว่าด้วยการพัฒนาด้านคุณธรรมและศีลธรรม (Theory of Moral Development) ถูกคิดค้นขึ้นโดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อ Lawrence Kohlberg โดยแก่นของทฤษฎีนี้ก็คือการพัฒนาเรื่องเกี่ยวกับคุณธรรมและศีลธรรมที่เกิดขึ้นมาจากประเด็นด้านจิตวิทยาและด้านการศึกษาเป็นหลัก ซึ่งมีผลมากจากทั้งการเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครองในช่วงวัยเด็ก ความเชื่อทางศาสนา ช่วงอายุต่างๆ รวมถึงประสบการณ์ที่พบเจอ และทฤษฎีดังกล่าวได้ถูกพัฒนาและปรับใช้ได้กับหลากหลายบริบทรวมไปถึงเรื่องของชีวิตการทำงาน โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับกับ 6 ขั้นด้วยกัน
ระดับที่ 1 Pre-conventional Morality
ระดับ Pre-conventional Morality ถือเป็นระดับแรกของการพัฒนาด้านคุณธรรมและศีลธรรม โดยทฤษฎีได้อธิบายว่าช่วงเวลาในการพัฒนานั้นเกิดมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ในช่วงตั้งแต่เกิดไปจนถึงอายุราว 9 ขวบ ด้วยการกรอบแนวคิดให้เป็นไปตามสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังเอาไว้และย่อมมีบทลงโทษหากทำอะไรที่ผิดแปลกออกไป ซึ่งก็เหมือนกับชีวิตการทำงานทั่วไปที่มีการวางกฎระเบียบปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยในระดับนี้ก็ประกอบไปด้วย 2 ขั้นได้แก่
- ขั้นที่ 1 การเชื่อฟังและการลงโทษ (Obedience and Punishment)
ในขั้นแรกนั้นคนเราจะเชื่อฟังและทำสิ่งต่างๆตามกฎระเบียบและกรอบที่ถูกกำหนดเพราะไม่อยากถูกลงโทษ ซึ่งมักจะเห็นได้จากการที่เด็กๆนั้นเชื่อฟังผู้ใหญ่ด้วยการอธิบายเหตุผลต่างๆนาๆ และหากนำมาเปรียบเทียบกับการทำงานจริงเราก็มักจะเห็นบริษัทส่วนใหญ่ใช้หลักการในลักษณะนี้ ซึ่งมันอาจทำให้ไม่สามารถทำงานอย่างสบายใจกล้าๆกลัวๆ สร้างความก้าวหน้าในการทำงานหรือการนำเสนอไอเดียต่างๆได้ไม่มากนัก เพราะอาจโดนเบรคจากหัวหน้าและอาจขัดกับนโยบายบางอย่างขององค์กร
- ขั้นที่ 2 การได้รับผลตอบแทนรายคน (Individualism and Exchange)
ขั้นที่สองนั้นเด็กแต่ละคนก็เริ่มมีมุมมองเป็นของตัวเองที่สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจอะไรบางอย่างได้ โดยจะเลือกทำในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของตัวเองเพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนกับสิ่งต่างๆ ซึ่งหากเทียบกับการทำงานนั้นก็คือการทำงานในสิ่งที่ตัวเองถนัดเพื่อแลกกับเงินเดือนหรือตำแหน่งโดยจะทำงานเมื่อได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมเท่านั้น หากมองดูแล้วมันคือการสร้างเงื่อนไขให้กับแนวทางการปฏิบัติงานโดยยึดถึงเรื่องของผลประโยชน์เป็นหลัก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา เช่น พนักงานทำงานเพื่อเงินเท่านั้น หากไม่ได้อะไรที่เหมาะสมก็พร้อมจะออกจากบริษัททันที และอาจทำให้เกิดช่องทางในการทำอะไรที่ทุจริตเพื่อผลตอบแทนที่งดงามได้
ระดับที่ 2 Conventional Morality
ระดับ Conventional Morality จะเริ่มเกี่ยวข้องกับกฎระเบียบของสังคมและอยากให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับ โดยเริ่มมีการยึดแบบอย่างจากบุคคลในสังคมหรือคนที่มีชื่อเสียงในสังคมมาใช้ในการดำเนินชีวิต ในระดับนี้ก็ประกอบไปด้วย 2 ขั้นได้แก่
- ขั้นที่ 3 การพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล (Developing Good Interpersonal Relationships)
ขั้นที่ 3 จะเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับบริบทของคนในสังคม มีการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจการใส่ใจกับคู่สนทนา เกิดความคาดหวังรวมถึงเรื่องของบทบาทหน้าที่ในสังคมขึ้นเพื่อทำให้ตัวเองกลายเป็นที่ยอมรับของสังคมให้ได้ ซึ่งในเรื่องของการทำงานให้เกิดบรรยากาศดีๆในทีมงานรวมถึงที่ทำงาน ก็จำเป็นต้องมีการพัฒนาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั้งภายในและภายนอกขององค์กรด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การกล่าวชื่นชม การให้เวทีในการแสดงความคิดเห็น การเปิดโอกาสให้แสดงผลงานอย่างเต็มที่
- ขั้นที่ 4 รักษากฎระเบียบในสังคม (Maintaining Social Order)
ในขั้นที่ 4 ผู้คนจะเริ่มทำการอะไรโดยยึดกฎเกณฑ์ของสังคมเป็นที่ตั้ง และจะทำอะไรก็ตามด้วยการดูบรรทัดฐานของสังคมเป็นหลักที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หน้าที่ความรับผิดชอบ และการเคารพต่อผู้ถือกฎหมาย หากมองในรูปแบบการทำงานนั้นก็คือการที่พนักงานต้องให้ความสำคัญของกฎระเบียบบริษัทและตัวบทกฎหมาย โดยหากทำอะไรผิดก็จำเป็นต้องถูกลงโทษด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งไม่ควรปล่อยไว้เป็นแบบอย่าง ไม่เช่นนั้นระเบียบข้อบังคับของบริษัทจะไม่มีความหมายอีกต่อไปและพนักงานคนอื่นๆอาจเอาเป็นแบบอย่างในการทำความผิดได้ เช่น การโกงเงินบริษัท การเปิดบริษัทส่วนตัวที่ทำธุรกิจเดียวกันกับบริษัทที่ตัวเองทำงานอยู่ การติดต่อลูกค้าตรงโดยไม่ผ่านบริษัท
ระดับที่ 3 Post-conventional Morality
ระดับ Post-conventional Morality เป็นระดับที่คนเริ่มเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องของหลักปฏิบัติของคำว่าคุณธรรมและศีลธรรม โดยในระดับนี้ก็ประกอบไปด้วย 2 ขั้นได้แก่
- ขั้นที่ 5 สัญญาทางสังคมและสิทธิส่วนบุคคล (Social Contract and Individual Rights)
ขั้นที่ 5 ถือเป็นจุดเริ่มของการเข้าใจการยอมรับในความแตกต่าง ความคิดเห็น หน้าที่ ความรับผิดชอบ และความเชื่อของคนอื่นๆในสังคม ซึ่งจะทำให้คนเราสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข และในการทำงานก็คือการอยู่ร่วมกันที่ต่างคนต่างมีหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง บางคนบางตำแหน่งงานอาจได้รับสิทธิพิเศษบ้าง เช่น การเป็นพนักงานขายที่ไม่ต้องเข้างานตรงเวลาเพราะต้องไปหาลูกค้า โดยความเข้าใจที่มาที่ไปและบริบทต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้บรรยากาศในการทำงานนั้นมีแต่การสนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การนั่งจับผิดหรือคอยคิดว่าทำไมคนนั้นถึงทำอย่างนี้ได้
- ขั้นที่ 6 ยึดเป็นหลักปฏิบัติสากล (Universal Principles)
ขั้นที่คุณรู้ได้ด้วยจิตสำนึกของตัวเองที่ถูกปลูกฝังมาจากขั้นก่อนหน้านี้ เรียกได้ว่ารู้ว่าอะไรคืออะไรอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำที่ถือเป็นหลักในการปฏิบัติของความมีคุณธรรมและศีลธรรม โดยหากในการทำงานทุกคนสามารถเข้าถึงจุดนี้ได้คุณก็จะทำงานแบบให้ใจและจิตวิญญาณที่เหนือกว่าคำว่าแค่หน้าที่และมองที่ผลรวมความสำเร็จขององค์กรเป็นที่ตั้ง ทีมงานก็จะไม่เกิดปัญหาการทำงานที่ทำแบบมีเงื่อนไขต่างๆหรือมีความรู้สึกอึดอัดขุ่นมัวอยู่ในใจ ซึ่งในขั้นที่ 5-6 นั้นถือว่าเป็นขั้นที่ยากที่สุดของการพัฒนาคุณธรรมและศีลธรรมโดยน้อยองค์กรนั้นจะมาสู่จุดนี้ได้
หวังว่าทฤษฎีที่ว่าด้วยการพัฒนาด้านคุณธรรมและศีลธรรม (Theory of Moral Development) จะช่วยให้คุณมองเห็นที่มาที่ไปของการพัฒนาด้านคุณธรรมและศีลธรรมและนำไปปรับใช้ให้การพัฒนาทีมงานและองค์กรนั้น เข้าไปสู่ระดับที่ 3 ซึ่งมีผลต่อการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีได้ในอนาคตอันใกล้นะครับ