อาการและพฤติกรรมของคนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่ง (Procrastinators) ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะดีนัก โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องของชีวิตการทำงานหรือแม้แต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัวที่อาจส่งผลในทางลบให้กับคนแต่ละคน และผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็มักจะประสบกับการผัดวันประกันพรุ่ง (Procrastinators) ในช่วงต่างๆของชีวิต ซึ่งมันเป็นปรากฏการณ์ทางอารมณ์ เรื่องของความรู้ความเข้าใจ และพฤติกรรมที่ค่อนข้างจะซับซ้อน และมันก็มีบทความวิจัยในด้านนี้อยู่หลากหลายงานวิจัยที่น่าสนใจเพื่อนำมาเรียนรู้ และลองประเมินดูครับว่าตัวของคุณเองนั้นมีลักษณะพฤติกรรมที่เข้าข่ายของผู้ที่ชอบผัดวันประกันพรุ่ง (Procrastinators) บ้างหรือเปล่า และพฤติกรรมเหล่านี้มีลักษณะอย่างไรได้บ้าง เรามาเรียนรู้ลักษณะพฤติกรรมของการผัดวันประกันพรุ่ง (Procrastinators) ทั้ง 6 ประเภท ไปพร้อมๆกันครับ
รวมลักษณะของคนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งทั้ง 6 ประเภท
ลักษณะพฤติกรรมทั้ง 6 ประเภทของการผัดวันประกันพรุ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มซึ่งถูกผลักดันด้วยอารมณ์ความรู้สึก
1. กลุ่มคนที่มีความวิตกกังวล (The Worrier)
The Worrier คือ กลุ่มคนที่จะไม่เริ่มงานสำคัญๆหรืองานอะไรที่ยากเพราะพวกเขาไม่เชื่อว่าตนเองจะทำได้ พวกเขากลัวว่าจะทำงานนั้นๆไม่สำเร็จ กลุ่มคนเหล่านี้จะรู้สึกวิตกกังวลเมื่อนึกถึงความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นจึงเป็นการดีกว่าที่จะไม่เริ่มทำงานใดๆเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอารมณ์ด้านลบที่เกี่ยวข้องกับความล้มเหลว โดยตรรกะของคนในกลุ่มนี้ ก็คือ หากคุณไม่พยายามตั้งแต่แรกก็รับประกันได้ว่าปัญหาเรื่องความล้มเหลวจะไม่เกิดขึ้น ความเชื่อเรื่องการผัดวันประกันพรุ่งโดยทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มที่มีความวิตกกังวล ก็คือ “ฉันทำไม่ได้เพราะ…….” เช่น ฉันไม่กล้าลาออกไปทำงานส่วนตัวเพราะกลัวไม่ประสบความสำเร็จ ฉันทำงานนี้ไม่ได้เพราะฉันกลัวผิดพลาดและรับผิดชอบไม่ไหว
วิธีปรับเปลี่ยน ก็คือ คุณควรเผชิญหน้ากับงานที่อยู่ตรงหน้าคุณ แสดงให้เห็นถึงความคิดที่ไร้เหตุผลค่อยๆลดความกลัวและความวิตกกังวลออกไป พยายามเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆแบบค่อยเป็ยค่อยไป ให้ร่างกายและสมองได้ลองคิดทำ ลองทำ และแก้ไขปัญหาอย่างมีเหตุมีผล ก็จะช่วยคลายความกังวลลงได้
2. กลุ่มคนที่มีชอบความสมบูรณ์แบบ (The Perfectionist)
กลุ่ม The Perfectionist อันที่จริงมีความคล้ายกับกลุ่ม The Worrier พวกเขาเป็นผู้ยึดถือความสมบูรณ์แบบและจะไม่เริ่มงานเพราะกลัวความล้มเหลว เพราะสำหรับคนชอบความสมบูรณ์แบบนั้นเปรียบความล้มเหลวเท่ากับการทำงานไม่สมบูรณ์และมักจะมีความคิดว่า “ถ้าฉันทำงานได้ไม่ดีนัก ก็ถือว่าฉันนั้นล้มเหลว” เช่น การจะเริ่มธุรกิจสักอย่างก็ต้องรอให้ทุกๆสิ่งนั้นลงตัวเป็นระบบระเบียบและพร้อมเพรียงจึงจะเริ่มได้ ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะเริ่มอะไรใหม่ๆด้วยความสมบูรณ์แบบในโลกใบนี้ แต่มันก็เพียงพอที่ทำให้คนในกลุ่มนี้ไม่ตัดสินใจที่จะทำอะไรแล้วปล่อยผ่านไปเรื่อยๆ
กลุ่มคนลักษณะนี้ต้องใช้ความเห็นอกเห็นใจในตนเอง พูดคุยกับตัวเองด้วยความกรุณาและอธิบายสิ่งต่างๆให้จิตใจได้ลองวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองดูว่า “การไม่สมบูรณ์แบบนั้นเป็นเรื่องปกติ บางครั้งความล้มเหลวก็เป็นเรื่องปกติ” การทำบางอย่างให้สำเร็จลุล่วงยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย คุณจะสามารถแทนที่ความคิดที่ไม่เป็นประโยชน์และไร้เหตุผลด้วยความคิดที่สมจริงมากขึ้นได้
3. กลุ่มคนที่ชอบทำอะไรเกินพอดี (The Over-Doer)
กลุ่ม The Over-Doer นับเป็นประเภทที่ 3 ของลักษณะคนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งที่เกิดจากความวิตกกังวล หรือคนที่ทำอะไรมาเกินพอดีไป ซึ่งเป็นผู้กระทำมากเกินไปและมุ่งมั่นที่จะทำงานหลายๆอย่าง จนทำให้พวกเขาล้มเหลวในการจัดลำดับความสำคัญของงานที่ต้องทำ ผลก็คือการทำงานไม่เสร็จตรงตามเวลา กลุ่มคนเหล่านี้จะมีความคิดว่า “ถ้าฉันไม่ทำทั้งหมดนี้ให้สำเร็จ แสดงว่าฉันก็ยังไม่ดีพอ” เกิดความกลัวที่จะไม่สามารถดำเนินชีวิตตามมาตรฐานที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้ หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานของผู้อื่นที่จินตนาการไว้ จึงทำให้คนกลุ่มนี้รับภาระมากจนเกินไปและไม่ได้ทำภารกิจที่สำคัญๆให้เสร็จสิ้น
หากคุณจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ลองใช้ Time Management Matrix หรือ Eisenhower Matrix เพื่อจัดลำดับความสำคัญของงานของคุณดูได้ เรียนรู้ที่จะเก็บงานที่ไม่สำคัญไว้ก่อน และมุ่งเน้นไปที่การทำงานสำคัญๆที่เพิ่มมูลค่าในระยะยาวให้สำเร็จ หยุดทุ่มเทพลังงานทั้งหมดของคุณในการจัดการกับทุกเหตุการณ์ หลังจากจัดลำดับความสำคัญแล้วคุณต้องกำหนดขอบเขตและเรียนรู้ที่จะพูดคำง่ายๆคำว่า “ไม่” เมื่อเพื่อนร่วมงานขอความช่วยเหลือ เพราะคุณไม่สามารถแบกโลกทั้งใบไว้ได้ด้วยตัวคนเดียว ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลลงไปได้มาก
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มซึ่งถูกผลักดันด้วยความเบื่อหน่ายและความหงุดหงิด
4. กลุ่มคนที่เป็นนักสร้างสถานการณ์วิกฤต (The Crisis Maker)
The Crisis Maker คือ “ผู้สร้างวิกฤต” ให้กับตัวเองโดยมักจะคิดว่ามีเวลาเหลืออีกเยอะแยะ มีความเชื่อว่าในการที่จะมีแรงจูงใจในการทำงานพวกเขาต้องการความเครียดหรือแรงกดดันที่มีอยู่ โดยหากไม่มีสิ่งเหล่านี้พวกเขาเชื่อว่าพวกเขาจะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ พวกเขาต้องการความกดดันเพื่อบรรเทาความเบื่อหน่าย โดยจะรอจนเกือบนาทีสุดท้ายจนเกิดความกดดันและความเครียดแล้วค่อยทำงานนั้นๆให้เสร็จ เรียกได้ว่ารอไว้ก่อนเดี๋ยวค่อยทำตอนใกล้ๆวันกำหนดส่งงาน ซึ่งอาจเกิดผลกระทบด้านจิตใจและสุขภาพได้
หากคุณเป็นคนลักษณะนี้คุณควรแสดงความมุ่งมั่นของคุณต่อสาธารณะชน เพื่อเป็นเครื่องการันตีว่าคุณต้องทำมันให้สำเร็จให้จงได้ เพราะคุณได้ให้คำมั่นสัญญากับทุกๆคนเอาไว้แล้ว ดังนั้นควรแจ้งเพื่อน ครอบครัว และเพื่อนร่วมงานของคุณให้ทราบ คุณอาจใช้ Pomodoro Technique หรือเทคนิคการบริหารเวลาแบบทำ 25 นาที พัก 5 นาที ที่ต้องโฟกัสแบบเพ่งสมาธิไปที่งานใดงานหนึ่ง
5. กลุ่มคนช่างฝัน (The Dreamer)
The Dreamer คือ หรือคนช่างฝันผู้เพ้อฝันที่ไม่คิดว่าจะต้องทำงานหนักเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ โดยคิดว่าถ้าวาดฝันเอาไว้แล้วมันก็จะมาหาเราเองโดยพวกเขาคิดว่าสิ่งๆนั้นควรจะตกมาอยู่บนตักของพวกเขาได้ในวันใดวันหนึ่ง ความคิดที่จะต้องทำงานจริงๆอาจทำให้พวกเขาเบื่อหรือหงุดหงิด ดังนั้นพวกเขาจึงคิดว่า “ฉันไม่ควรต้องทำงานหนักเพื่อเติมเต็มความฝันของตัวเอง” รอหน่อยเดี๋ยวก็ได้เอง
คุณจะดีขึ้นหากคุณเปลี่ยนเป้าหมายให้เป็นแผนการโดยมีลำดับเวลาที่ชัดเจน และจำเป็นต้องตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goal และติดตามความก้าวหน้าของคุณ ซึ่งจะช่วยให้คุณมีแรงบันดาลใจและมุ่งมั่นต่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
6. กลุ่มที่ชอบความท้าทาย (The Defier)
The Defier คือ กลุ่มคนที่ชอบอะไรท้าทาย ไม่ชอบงานธรรมดาๆงานที่น่าเบื่อหรืองานที่ไม่ได้ใช้ความคิด เพราะมันจะทำให้คุณโกรธ รู้สึกหงุดหงิด เกิดความไม่พอใจ คุณจึงดึงมันให้ช้ามากที่สุดและไปทำอะไรที่สำคัญกว่า ผลสรุปคืองานที่ได้รับมอบหมายนั้นก็ไม่สำเร็จสักที กลุ่ม Defier มีพฤติกรรมแบบกบฏ คือ ความโกรธ และเบื้องหลังความโกรธนี้ คือ ความเชื่อและความคิดที่ว่า “ฉันไม่ควรทำอย่างนั้น!” เพราะมันฝืนธรรมชาติของฉันซะเหลือเกิน
คุณสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยการแสดงรับผิดชอบต่อบริษัทที่คุณทำงานอยู่ มีการเจรจาต่อรองเมื่อมีโอกาสและมีความเป็นไปได้ คุณอาจจะได้ทางเลือกใหม่ๆและลองพิจารณาผลที่ตามมา ลองจัดสรรเวลาเพื่อทำสิ่งที่คุณชอบผสมกับการถ่ายทอดด้านที่เป็นกบฏของคุณเข้ามาปรับใช้ คุณจะเริ่มมองออกและคลายความวิตกกังวลลงไปได้
หวังว่าผู้อ่านจะพอเข้าใจเหตุและผลของคนที่มีลักษณะนิสัยที่ชอบผัดวันประกันพรุ่ง (Procrastinators) ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆคน สิ่งสำคัญที่สุดนั่นก็คือคุณจำเป็นต้องเปิดใจ เข้าใจ และยอมรับในสิ่งที่คุณเป็นหรือสิ่งที่คนอื่นเป็น และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดพฤติกรรมที่ดีขึ้นที่จะส่งผลดีกับทั้งการทำงานและชีวิตส่วนตัวนั่นเอง