การทำวิจัยตลาดหรือ Market Research ถือเป็นหลักสำคัญของการทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นทำธุรกิจ การหาโอกาสใหม่ๆให้กับธุรกิจ การผลิตสินค้าหรือบริการ รวมไปถึงการทำความเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ที่จำเป็นต้องมีการตั้งคำถามที่ถูกต้องเพื่อให้ได้คำตอบที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยนั้นๆ หากจะบอกว่าการตั้งคำถามในการวิจัยจะเป็นคีย์หลักในการตัดสินความอยู่รอดและทิศทางของธุรกิจในอนาคตก็คงจะไม่ดูเกินจริงจนเกินไปครับ เพราะข้อมูลที่ได้มานั้นมันจะเป็นแนวทางให้กับธุรกิจของคุณไปในระยะเวลาหนึ่งเลยทีเดียว และมันก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะให้ความสำคัญกับรายละเอียดที่จะนำมาสนับสนุนธุรกิจในส่วนไหนมากแค่ไหนนั่นเอง โดยในบทความนี้ผมได้รวบรวมตัวอย่างคำถามสำหรับการวิจัยหรือการสำรวจตลาดเพื่อนำมาเป็นไอเดียตั้งต้นสำหรับการวางแผนทำวิจัยในรูปแบบต่างๆครับ
เรามาเริ่มทำความรู้จักประเภทของการวิจัย รูปแบบการวิจัย และวิธีทำการวิจัยกันก่อนครับ
การวิจัยนั้นมี 2 ประเภท
- การทำวิจัยแบบปฐมภูมิ (Primary Research) คือ การเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง
- การทำวิจัยแบบทุติยภูมิ (Secondary Research) คือ การหาข้อมูลที่มีคน หน่วยงาน หรือองค์กรทำเอาไว้อยู่แล้ว
การวิจัยนั้นมี 2 รูปแบบในการเก็บข้อมูล
- การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เช่น แบบสอบถาม การสำรวจ
- การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เช่น การสัมภาษณ์เชิงลึก สัมภาษณ์กลุ่ม การสังเกตการณ์ การทดลอง การสนทนา
วิธีการวิจัยนั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน
- การทำวิจัยกลุ่ม (Focus Group)
- การสำรวจ (Survey)
- การสัมภาษณ์ (Interviews)
- การสังเกตการณ์ (Observation)
- สอบถามผู้ใช้งาน (User Groups)
- ทดสอบตลาด (Test Market)
- การรับฟังเสียงผู้บริโภคจากสื่อโซเชียล (Social Media Listening)
- วิเคราะห์คู่แข่ง (Competitive Analysis)
- ข้อมูลการขาย (Sales Data)
- ข้อมูลสถิติต่างๆ (Statistics)
- การซื้อข้อมูล (Buy Research)
หากสนใจรายละเอียดของการวิจัยลองอ่านได้ที่นี่ครับ >>> วิธีการทำ Market Research ในแบบต่างๆ
ประเภทของคำถามวิจัย (Research Questions)
คำถามวิจัยนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆด้วยกัน ได้แก่ คำถามวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research Questions) และคำถามวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research Questions)
1. คำถามวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research Questions)
คำถามวิจัยประเภทนี้มุ่งเน้นการเก็บข้อมูลเชิงลึกที่มีความชัดเจนและมีความละเอียด และค้อนข้างยืดหยุ่น โดยจะมุ่งเป้าไปที่การทำความเข้าใจพฤติกรรม (Behavior) การรับรู้ (Perception) ความรู้สึก (Feeling) ในลักษณะคำถามปลายเปิดให้ตอบอย่างอิสระเน้นการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงด้วยการอธิบายรายละเอียด สามารถนำมาใช้ได้กับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การแพทย์ การศึกษา ธุรกิจ การตลาด และอื่นๆ ผ่านการสัมภาษณ์ การสัมภาษณ์กลุ่ม การทำแบบสอบถามปลายเปิด รวมไปถึงการสังเกต ตัวอย่างเช่น
- ทำไมคุณถึงใช้สินค้าชนิดนี้
- สินค้าที่ใช้อยู่ตอบสนองความต้องการด้านไหนบ้าง
- ทำไมคุณถึงเลือกใช้บริการของเรา
- คุณได้รับประโยชน์อะไรจากใช้สินค้าของเราบ้าง
- นโยบายที่ออกมาส่งผลต่อการทำงานอย่างไร
- คุณสมบัติเด่นๆที่คุณชอบในตัวสินค้าของเรา
- คุณอยากให้เราพัฒนาสินค้าหรือบริการส่วนไหนบ้าง
- คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อใช้สินค้าของเรา
- คุณให้คำนิยามคำว่า “ดี” ของสินค้าหรือบริการไว้อย่างไร
- คุณมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ทำอะไรในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
- คุณคิดว่าเทคโนโลยีมีผลกระทบในด้านไหนกับชีวิตคุณบ้าง
- คุณเคยเจอประสบการณ์แย่ๆในการใช้สินค้าด้านไหนบ้าง
- คุณชอบบรรยากาศการทำงานแบบไหนที่สุด
- คุณคิดว่าสินค้าของเราเหมาะกับพรีเซ็นเตอร์ลักษณะไหน
- แบรนด์เครื่องดื่มชาเขียวที่คุณจำได้ 3 อันดับแรกคือแบรนด์ใด
2. คำถามวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research Questions)
คำถามวิจัยประเภทนี้มุ่งเน้นการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์เชิงสถิติ เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับความถี่ (Frequency) จำนวนครั้ง (Time) โดยมักจะถูกนำไปใช้กับแบบสอบถามหรือคำถามด้านความพึงพอใจโดยส่วนใหญ่ และไม่ได้เน้นเอาคำตอบถึงสาเหตุของสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยคำถามปลายปิด รูปแบบตัวเลือก “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” Rating Scale (เช่น คะแนนจากมากสุด 5 ไปน้อยสุด 1) Likert Scale (เช่น เห็นด้วยที่สุด 5 เห็นด้วย 4 ค่อนข้างเห็นด้วย 3 ไม่เห็นด้วย 2 ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 1) ตัวอย่างเช่น
- คุณเข้าฟิตเนสกี่ครั้งต่อเดือน
- คุณใช้สื่อออนไลน์ประเภทใดบ้าง
- คุณซื้อเสื้อผ้าเดือนละกี่ครั้ง
- คุณดู YouTube บ่อยแค่ไหน
- คุณคิดว่าคุณยอมจ่ายเงินกี่บาทสำหรับสินค้าชิ้นนี้
- ความแตกต่างระหว่างการทำงานที่บ้านกับที่ทำงาน
- คุณเห็นด้วยกับคำว่าคุณภาพยิ่งดียิ่งทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตามไปด้วย
- คุณมีความสุขกับการร่วมงานอีเว้นท์นี้หรือไม่
- คุณจะแนะนำบริการเร้าให้กับเพื่อนหรือไม่
- คุณพึงพอใจในบริการของเรามากแค่ไหน
- ปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าของคุณ
ทั้งหมดเป็นแค่เพียงตัวอย่างของแนวคำถามสำหรับการทำวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ และอย่าลืมว่าการทำวิจัยนั้นถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจทุกรูปแบบที่จะช่วยกำหนดความสำเร็จหรือความล้มเหลวในอนาคตครับ