อีกหนึ่งกรณีศึกษาที่เคยร่วมทำกับเพื่อนๆในช่วงที่เรียนปริญญาโท เกี่ยวกับกลยุทธ์การสื่อสารในภาวะวิกฤตต่างๆ ซึ่งหนึ่งในภาวะวิกฤตนั้น คือ การสื่อสารในภาวะการเกิดโรคระบาดที่ได้มีการสรุปกรณีศึกษาของการสื่อสารในภาวะการเกิดโรคระบาดที่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เลยอยากเอามาแชร์ให้ได้อ่านกันครับว่าแต่ละเหตุการณ์นั้นมีวิธีการสื่อสารและการป้องกันสถานการณ์กันอย่างไร
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2014 รัฐบาลของ Sierra Leone โดยกระทรวงสาธารณสุขประกาศการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอีโบล่า (EVD) ใน Sierra Leone ซึ่งวิเคราะห์ว่าเป็นการระบาดมาจากประเทศกินีและไลบีเรียในช่วงเดือนมีนาคม 2014 โดยผลสรุป คือ มีผู้ติดเชื้อ 2,090 คน และเสียชีวิต 552 คน ใน 12 เขต
วันที่ 30 กรกฎาคม 2014 ประธานาธิบดีของ Sierra Leone ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพแห่งชาติและมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดการปัญหา มีการออกแผนการจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบล่าในวันเดียวกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการเจ็บป่วยและการตาย พร้อมการแจ้งเตือนประชาชนด้วยการจัดการที่มีประสิทธิภาพ และใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการช่วยกันป้องกันปัญหา ความท้าทายของรัฐบาล Sierra Leone นั้นคือ การที่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับโรคอีโบล่าที่เพียงพอในช่วงที่มีการระบาดของโรคอย่างหนักในช่วงแรก ขาดประสบการณ์ในการจัดการกับภาวะวิกฤตและขาดการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่รวดเร็ว ไม่รู้วิธีการควบคุมความตื่นตระหนกของสถานการณ์ รวมถึงผู้ที่ดูแลด้านสาธารณสุขกลัวที่จะรักษาผู้ป่วย และการที่ Sierra Leone อยู่ติดกับชายแดนสามประเทศที่ทำให้ยากต่อการติดตามผู้ป่วยว่ามาจากที่ใด ทำให้รัฐบาล Sierra Leone จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการอีโบล่า Ebola Operations Centre (EOC) ขึ้น และมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการอีโบล่าขึ้นในจังหวัดต่างๆอีกด้วย โดยคณะทำงานแก้ไขปัญหาอีโบล่าแห่งชาติ มีหน้าที่หลัก 4 อย่าง คือ
- ประสานงานเรื่องการเงิน การขนส่ง
- การเฝ้าระวังและดูแลระบบปฏิบัติการห้องทดลอง
- ควบคุมการติดเชื้อและให้การสนับสนุนด้านต่างๆ
- การให้ข้อมูลข่าวสารและการใช้สังคมมวลชน
กลยุทธ์การสื่อสาร
จากการระบาดของโรคอีโบล่าใน Sierra Leone นั้น ทำให้รู้ถึงกลยุทธ์การสื่อสารที่รัฐบาลใช้ ประกอบไปด้วย การสื่อสารที่ต้องมีความรวดเร็วเพื่อป้องกันข่าวลือและข้อมูลที่ผิดพลาดจากที่อื่น ข้อมูลที่สื่อออกไปต้องถูกต้องและมีความโปร่งใส มีการสื่อสารในรูปแบบสองทางเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงโรคที่ร้ายแรงและบอกต่อ การสื่อสารในเชิงบวก เช่น การนำข้อมูลจากทีมวิจัยมาสนับสนุน หลีกเลี่ยงการสื่อสารที่ทำให้เกิดความตื่นตระหนก
ข้อมูลที่ใช้สื่อสารนั้นเป็นข้อมูลเกี่ยวกับโรค วิธีการป้องกัน วิธีการสังเกตและเฝ้าระวังอาการ รวมถึงมีการกระตุ้นให้คนร่วมมือกันต่อต้านเชื้อไวรัสอีโบล่า
ช่องทางการสื่อสาร
โดยส่วนใหญ่รัฐบาล Sierra Leone ใช้การสื่อสารผ่านทางวิทยุและใช้พลังมวลชนในการสื่อสาร โดยสามารถเข้าถึงได้มากกว่า 85% ผ่านรูปแบบของการใช้เสียงเพลง การสื่อสารในช่วงเวลาข่าว การสื่อสารในช่วงเวลาของเพลงประจำคลื่นวิทยุ และการข่าวประชาสัมพันธ์ และมีการสื่อสารผ่านทางโทรทัศน์ซึ่งมีแค่เพียง 1 ช่อง นอกจากนั้นยังมีการสื่อสารแบบ 1 ต่อ 1 หรือการที่สื่อสารผ่านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ การสื่อสารผ่านผู้หญิงในเมืองต่างๆเพราะเนื่องจากผู้หญิงส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำชุมชนและเป็นสื่อบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการสื่อสารได้เป็นอย่างดี การประชุมชุมนุมชนและการชุมนุมด้านศาสนา การสื่อสารผ่านเพื่อนบ้านซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในช่องทางการสื่อสารที่ประสบความสำเร็จที่สุดใน Sierra Leone และการใช้สื่อนอกบ้านประเภทสื่อเคลื่อนที่จำพวก รถโดยสารประจำทาง แท็กซี่ และบิลบอร์ด แบนเนอร์ต่างๆ เพื่อสื่อสารถึงโรคอีโบล่า
Reference
Republic of Sierra Leone (2014). NATIONAL COMMUNICATION STRATEGY FOR EBOLA RESPONSE IN SIERRA LEONE