การสื่อสารหรือ Communication นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของทั้งชีวิตการทำงาน การทำธุรกิจ รวมไปถึงชีวิตส่วนตัวที่มีความสำคัญไม่แพ้กับความรู้ความสามารถด้านอื่นๆ และแน่นอนครับว่าหากยิ่งเป็นการสื่อสารหรือพูดคุยในชีวิตการทำงานหรือการทำธุรกิจต่างๆมันก็ย่อมมีความสลับซับซ้อน และจำเป็นต้องมีการวางแผนหรือเตรียมคำพูดเพื่อสื่อสารให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งหลายๆคนน่าจะคุ้นเคยกับรูปแบบการสื่อสารเหล่านั้นเป็นอย่างดี แต่หลายๆคนอาจไม่คุ้นเคยกับคำว่าระดับของการสื่อสาร (Levels of Communication) กันสักเท่าไหร่ โดยในบทความนี้จะพาทุกคนมารู้จักกับระดับของการสื่อสารกันให้มากขึ้นครับ
ระดับของการสื่อสาร
หากมองเชิงวิชาการตามแนวคิดเกี่ยวกับระดับการสื่อสารนั้นก็ได้มีการแบ่งออกเป็น 6 ระดับด้วยกัน คือ
1. การสื่อสารระดับตัวเอง (Intrapersonal Communication)
การสื่อสารที่เกิดขึ้นกับตัวเองหรือการพูดคุยกับตัวเอง ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งการคิด การวิเคราะห์ การตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง โดยทั้งหมดจะเป็นการตัดสินใจและตีความหมายด้วยตัวเองทั้งสิ้น
2. การสื่อสารระดับบุคคล (Interpersonal Communication)
การสื่อสารที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคนขึ้นไปหรืออาจเรียกว่าการสื่อสารระหว่างบุคคล มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การตั้งคำถาม การแบ่งปันแนวคิด ปรึกษาหารือประเด็นต่างๆ ซึ่งในการสื่อสารระดับนี้จะทำให้เกิดการไว้เนื้อเชื่อใจกัน สามารถนำประเด็นการสื่อสารไปสนับสนุนแนวคิดของตนเอง และอาจลดความกังวลในเรื่องบางอย่างได้เช่นกัน
3. การสื่อสารระดับกลุ่มย่อย
การสื่อสารในระดับนี้จะมีประสิทธิภาพค่อนข้างมากที่เน้นความสัมพันธ์ในการทำงาน เน้นการปรึกษาเสนอความคิดเห็นเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งส่งผลต่อทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวต่อกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้น บรรยากาศในการทำงานเน้นการทำงานในรูปแบบเสมอภาคเท่าเทียมกัน
4. การสื่อสารระดับเทคโนโลยี
การสื่อสารที่นำเอาเครื่องมือต่างๆเข้ามาใช้เพื่อให้การสื่อสารง่ายและสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยผู้ใช้เทคโนโลยีนั้นต้องมีความเข้าใจในเครื่องมือต่างๆเป็นอย่างดี และรู้ว่าเทคโนโลยีไหนเหมาะกับอะไรและควรสื่อสารในรูปแบบใดกับคนกลุ่มใด เช่น การใช้โทรศัพท์ อีเมล์ แชท เป็นต้น
5. การสื่อสารระดับชุมชน (Public Communication)
การสื่อสารที่มีผู้รับข้อมูลข่าวสารเป็นจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่ามีจำนวนคนที่มากกว่าการสื่อสารกลุ่มย่อยโดยอาจเป็นได้ในรูปแบบกลุ่มคนในหมู่บ้าน ชุมชนในพื้นที่ กลุ่มคนในตำบล หรือท้องถิ่นต่างๆ และมักจะเกิดขึ้นเนื่องในโอกาสพิเศษที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งนัก อาจเป็นการแจ้งประกาศต่างๆหรือเหตุการณ์พิเศษเฉพาะกิจบางอย่าง เพื่อส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ทัศนคติ และพฤติกรรมให้คล้อยตามกัน
6. การสื่อสารระดับมวลชน (Mass Communication)
การสื่อสารที่อาศัยสื่อกลางเป็นจำนวนมากในการเป็นตัวกลางเพื่อส่งข้อมูลข่าวสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยเป้าหมายของการสื่อสารนั้นถึงขั้นระดับประเทศแบบไม่จำกัดเลยก็ว่าได้ โดยส่วนใหญ่จะสื่อสารผ่านทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือในปัจจุบันก็เป็นช่องทางออนไลน์รูปแบบต่างๆ
Reference:
เสนาะ ติเยาว์. 2541.การสื่อสารในองค์กร พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร:คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสาตร์.