ชื่อบริษัทรวมไปถึงสินค้าหรือบริการ นับเป็นสิ่งแรกที่ดึงดูดให้ลูกค้ามาติดต่อกับคุณ หรือเรียกได้ว่าเป็นความประทับใจในครั้งแรกก็ไม่ผิดนะครับ คำถามถัดมาก็คือคุณต้องการสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นในครั้งแรก เพื่อให้ลูกค้าของคุณรู้ว่าคุณน่าสนใจเพียงใด มีเรื่องราวอะไรจะจะเล่าหรือไม่ ซึ่งการตั้งชื่อแบรนด์นั้นเป็นเรื่องของการวางกลยุทธ์อย่างมีเหตุมีผล ที่ต้องมาจากรากฐานของคำมั่นสัญญา การวางตำแหน่ง และคุณค่าของแบรนด์
โดยในบทความที่ผ่านมาผมได้เขียนสรุปถึง “วิธีตั้งชื่อแบรนด์ให้โดดเด่นในตลาด” ไปแล้ว และในบทความนี้ผมได้รวมรูปแบบและไอเดียการตั้งชื่อแบรนด์ให้น่าจดจำ และเป็นเหตุเป็นผล เพื่อทำให้แบรนด์นั้นแข็งแกร่งและตอบโจทย์เป้าหมายของธุรกิจ เราลองมาดูกันครับ
ชื่อแบรนด์ตามผู้ก่อตั้ง (Founder)
การตั้งชื่อแบรนด์ตามผู้ก่อตั้งจะเห็นค่อนข้างบ่อย และนับว่าเป็นการตั้งชื่อที่เรียบง่ายที่สุดวิธีหนึ่ง แต่ก็ค้อนข้างยากที่จะนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยความที่ผู้ก่อตั้งธุรกิจใช้ชื่อหรือนามสกุลของตัวเอง ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับตัวสินค้าหรือบริการ แต่ก็มีหลายแบรนด์ที่สามารถสร้างความเชื่อมโยงให้เกิดเป็นชื่อที่มีความหมายและสร้างคุณค่าในระดับโลกได้เช่นกัน ตัวอย่างแบรนด์ที่ตั้งชื่อตามผู้ก่อตั้ง
- Disney (ตั้งชื่อตาม Waltz Disney)
- Tata Group (ตั้งชื่อตาม Jamsetji Tata)
- Dell (ตั้งชื่อตาม Michael Dell)
- Gucci (ตั้งชื่อตาม Guccio Gucci)
- Honda (ตั้งชื่อตาม Soichiro Honda)
- Nestlé (ตั้งชื่อตาม Henri Nestlé)
Source: wikimedia.org
ชื่อแบรนด์ที่สื่อความหมายโดยตรง (Descriptive)
การตั้งชื่อแบรนด์ที่อธิบายถึงสินค้าและบริการ ซึ่งอธิบายอย่างชัดเจนว่าเป็นธุรกิจเกี่ยวกับอะไร บางครั้งอาจใช้คำพ้องความหมาย (Synonym) โดยการตั้งชื่อในลักษณะนี้จะค่อนข้างชัดเจนและมีอิทธิพลกับผู้บริโภค ไม่ต้องตีความให้สลับซับซ้อน แต่เมื่อแบรนด์ของคุณเติบโตและขยายธุรกิจมากขึ้น เมื่อมีการแตกไลน์ธุรกิจออกเป็นหลายประเภทที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม ก็อาจทำให้ผู้บริโภคสับสนซึ่งต้องสร้างการรับรู้ใหม่ให้กับแบรนด์ ซึ่งก็เสี่ยงกับการไม่ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ตัวอย่างการตั้งชื่อแบรนด์ในรูปแบบนี้ เช่น
- Xerox – แบรนด์เครื่องถ่ายเอกสาร
- Band-Aid – แบรนด์พลาสเตอร์ปิดแผล
- Scotch tape – แบรนด์สก็อตเทป
- Hoovering – แบรนด์เครื่องดูดฝุ่น
Source: pngkit.com
ชื่อแบรนด์ตามแหล่งที่มา (Geographical)
การตั้งชื่อแบรนด์ตามถิ่นกำเนิด ภูมิภาค ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการ ก็นับเป็นอีกวิธีที่หลายๆแบรนด์นำมาใช้กัน เพื่อย้ำเตือนและแสดงจุดเด่นให้กับผู้บริโภคได้รับรู้ว่า แบรนด์ของคุณมาจากไหน มีจุดเด่นอย่างไร ซึ่งสามารถแสดงถึงความพิเศษ ความภาคภูมิใจของคนในชุมชนได้ เช่น
- Patagonia – เสื้อผ้าและอุปกรณ์สำหรับกิจกรรมผจญภัยนอกสถานที่ ตั้งชื่อตามภูมิภาคที่อยู่ทางใต้สุดของอเมริกา ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและการผจญภัย
- Emo Oil – ผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ตั้งชื่อตามหมู่บ้าน Emo
- Cisco Systems – ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ San Francisco
- Fiji Water – น้ำดื่มจากเกาะ Viti Levu ที่มใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐฟิจิ
Source: wikimedia.org
ชื่อแบรนด์ตามชื่อบุคคล (Person)
การตั้งชื่อแบรนด์ตามชื่อบุคคลอื่นๆที่ไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง และอาจไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆเลยกับบริษัท การตั้งชื่อประเภทนี้มักจะตั้งตามแหล่งที่มาตามประวัติศาสตร์ ตำนานต่างๆ หรือแม้แต่การสร้างบุคลิกภาพของแบรนด์ (Brand Personality) ขึ้นมาใหม่ เช่น
- Betty Crocker – ชื่อแบรนด์ที่เกี่ยวกับการทำอาหารที่ถูกสร้างขึ้นมาจากตัวละครในนิยาย และกลายเป็นต้นแบบทางวัฒนธรรมของอเมริกามาช้านาน โดยมีบริษัทแม่ชื่อ General Mills และมีการดึงเอาดารานักแสดงรวมถึงคนมีชื่อเสียงหลายคนมาเป็นสร้างเป็น Brand Character ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นงานโฆษณา เสียงในวิทยุ ซึ่ง Betty Crocker นั้นถูกเปรียบเทียบว่าเป็นเทพเจ้าชุส (Zeus) ของบริษัทเลยทีเดียว
Source: wikipedia.org
ชื่อแบรนด์ที่แสดงถึงความหมายสำหรับบางสิ่ง (Suggestive)
การตั้งชื่อแบรนด์ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ ที่เชื่อมโยงกับลูกค้าอย่างชัดเจน โดยการเชื่อมโยงนั้นเป็นไปได้ทั้ง บุคลิกภาพ รูปการดำเนินชีวิต ความชื่นชอบ ความเป็นตัวตน เช่น
- The Body Shop – ชื่อแบรนด์ที่แสดงออกถึงการให้ความสำคัญกับการดูแลเรือนร่าง
- Amazon – ชื่อแบรนด์ที่มาจากแม่น้ำอเมซอน (The Amazon River) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้ผู้ก่อตั้งนำไอเดียในการใช้ชื่อนี้เพื่อมาทำให้บริษัทกลายเป็นแหล่งขายหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลกตามชื่อแม่น้ำอเมซอน
Source: utdmercury.com
ชื่อแบรนด์ที่เน้นการสัมผัสอักษร หรือมีความคล้องจอง (Rhyme)
การตั้งชื่อแบรนด์ที่เน้นการจดจำได้ และเน้นความสนุกสนานเวลาพูดถึง ที่ใช้ทั้งการสัมผัสอักษร คำสั้นๆ คำคล้องจอง เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและพูดติดปาก เช่น YouTube, Piggly Wiggly, Dunkin’ Donuts, Best Buy, Coca-Cola, PayPal
Source: freebiesupply.com
ชื่อแบรนด์แบบแปลกใหม่ (Misspelled / Tweaked)
เป็นวิธีการตั้งชื่อเชิงสร้างสรรค์ให้มีความแปลกใหม่ ที่มีการเปลี่ยนหรือรวบคำที่เคยได้ยินคุ้นหูกันอยู่เป็นปกติ ซึ่งการตั้งชื่อแบบนี้สามารถสร้างการจดจำได้ดีและยังง่ายต่อการจดทะเบียน อาจเป็นคำที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่หรือการเอาสองคำมารวมกัน เช่น Nespresso, Zappos, Yahoo
Source: freebiesupply.com
ชื่อแบรนด์ที่สร้างขึ้นใหม่ (Invented)
บางแบรนด์ก็ใช้วิธีการสร้างคำขึ้นมาใหม่ ที่สร้างให้เกิดความโดดเด่นไม่เหมือนใคร ซึ่งการสร้างชื่อแบรนด์รูปแบบนี้หากพัฒนากลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ได้ดี อาจกลายเป็นแบรนด์ที่ทรงพลังได้เลยทีเดียว และก็ง่ายต่อการนำไปจดทะเบียนในแบบต่างๆ เช่น Kodak, Twitter
Source: twitter.com
ชื่อแบรนด์แบบผสมสาน (Compound)
การรวมกันของคำสองคำที่นำมาเชื่อมกันแล้วเกิดเป็นความหมายใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงให้กับแบรนด์ผ่านคุณลักษณะและประโยชน์ของสินค้าหรือบริการ การตั้งชื่อแบรนด์ในลักษณะนี้ถือว่ามีการนำเอาความคิดสร้างสรรค์เข้ามาใช้ เพื่อให้เกิดความทรงจำดีๆและง่ายต่อการนำไปใช้ เช่น Swissair, Microsoft, Facebook
Source: swissair.com
ชื่อแบรนด์แบบอักษรย่อ (Acronym)
การตั้งชื่อแบรนด์ในรูปแบบนี้ใช้สำหรับชื่อแบรนด์ที่มีความยาวเกินไปในการอ่าน ซึ่งการจดทะเบียนชื่อแบรนด์นั้นก็ยังเป็นตัวเต็ม แต่การย่อนั้นทำเพื่อให้ผู้บริโภคและการทำการสื่อสารการตลาดและการสื่อสารแบรนด์ง่ายขึ้น และจำได้ง่ายยิ่งขึ้น นับว่าเหมาะกับแบรนด์ที่ค่อนข้างใหญ่และมีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง เช่น
- KFC (Kentucky Fried Chicken)
- HP (Hewlett-Packard)
- GE (General Electric)
- AA (Automobile Association)
- BMW (Bavarian Motor Works)
Source: wikipedia.org
รูปแบบทั้งหมดก็นับเป็นชื่อแบรนด์ที่เราเห็นกันอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยแม้ว่าการตั้งชื่อแบรนด์จะสำคัญต่อการทำธุรกิจ แต่หากขาดกลยุทธ์ที่ถูกต้องและเหมาะสม ก็อาจทำให้ชื่อแบรนด์เหล่านั้นเจอกับปัญหาในการทำธุรกิจก็ได้ครับ
Photo from batesmeron.com/logo-lawsuit-no-no