
สถาปัตยกรรมของแบรนด์หรือ Brand Architecture ช่วยแสดงให้เราเห็นถึงวิธีการจัดระเบียบแบรนด์ย่อยในภาพรวมให้เห็นภาพที่ใหญ่ขึ้น และการเห็นถึงความเกี่ยวข้องกันของแบรนด์ย่อยทั้งหมดสามารถช่วยให้นักการตลาดเห็นว่าจะแยกส่วนต่างๆของแบรนด์ออกจากกันเมื่อจำเป็นได้อย่างไร อีกทั้งยังช่วยให้แบรนด์ต่างๆทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมกันในตลาดได้อย่างไรอีกด้วย ซึ่ง Brand Architecture นั้นก็มีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภทด้วยกัน คือ
- Branded House
- Sub-Brands
- Endorsed-Brands
- House of Brands
Brand Architecture อาจดูเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและอาจดูเหมาะกับธุรกิจใหญ่ๆ แต่อันที่จริงแล้วมันสามารถนำมาปรับใช้ได้กับหลากหลายธุรกิจ และมันก็มีประโยชน์อยู่หลายอย่างเลยทีเดียวโดยในบทความนี้ผมจะมาบอกถึงประโยชน์ของ Brand Architecture ว่ามันมีอะไรกันบ้างครับ และถ้าใครอยากรู้จักกับ Brand Architecture ก็ลองเข้ามาอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ >> รู้จัก Brand Architecture หรือสถาปัตยกรรมของแบรนด์

ประโยชน์ของการมี Brand Architecture
อยากให้คุณลองนึกภาพดูครับว่าการขยับขยายธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการเปิดธุรกิจใหม่ที่มีการวางแผนการเติบโตในระระยาว หรือการเข้าไปซื้อกิจการรวมไปถึงการควบรวมกิจการต่างๆ ซึ่งในหลายๆครั้งคุณจะเจอกับโครงสร้างของธุรกิจและลักษณะของธุรกิจที่ไม่เหมือนกัน และคุณจะเริ่มเห็นความไม่สอดคล้องกันของแต่ละส่วนงานหรือความเชื่อมโยงกันของธุรกิจ การมีการวาง Brand Architecture นั่นแหละครับจะช่วยให้คุณมองเห็นภาพรวมและรู้ว่าจะบริหารจัดการอย่างไรกับแบรนด์ต่างๆที่มีอยู่ โดยมันมีประโยชน์อยู่หลายอย่างดังนี้
1. สร้างความชัดเจนที่มากขึ้นในตลาด
หลายๆครั้งเรามักจะเตรียมการนำเสนอและทำ Portfolio เพื่อแสดงถึงสินค้าหรือบริการของบริษัท ที่ต้องใช้เวลาในการอธิบายค่อนข้างนานและอาจทำให้หลายๆคนนั้นหลุดโฟกัสมีความสับสนงงๆกับแบรนด์หรือสินค้าที่มีหลากหลาย แต่การมี Brand Architecture นั้นจะขยายให้คุณเห็นภาพทั้งหมดและความเชื่อมโยงทั้งหมดซึ่งมันอาจจะจบทุกอย่างได้แค่เพียงหน้าเดียว ซึ่งแน่นอนครับว่ามันทำให้ทุกอย่างชัดเจนและเพิ่มความมั่นใจให้กับทั้งบอร์ดบริหารรวมถึงนักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย
2. ดึงดูดความสนใจด้วยเรื่องราว
บางครั้งคุณพยายามจะเล่าเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปของแบรนด์คุณ แต่คุณอาจไม่ได้หยิบยกความน่าสนใจบางอย่างขึ้นมาเล่าอย่างถูกจุดจนทำให้เรื่องราวที่มันดูน่าสนใจนั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจ แต่หากคุณสามารถรวบรวมแบรนด์ต่างๆที่กระจัดกระจายให้มาอยู่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันได้ และนำมาพัฒนาเป็นการเล่าเรื่องมันจะทำให้แบรนด์ของคุณนั้นทรงประสิทธิภาพมากกว่าเดิมอีกหลายเท่า ซึ่งการเล่าเรื่องราวนั้นก็ต้องมีการวางแผนและกลยุทธ์มาเป็นอย่างดีด้วยเช่นเดียวกัน
3. สร้างรายได้ที่มากขึ้นจากการ Cross-Selling
เมื่อคุณวางแนวทางการเล่าเรื่องราวของแบรนด์ได้อย่างลงตัวแล้ว และสามารถแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแบรนด์แต่ละแบรนด์ที่สร้างความเชื่อมโยงกันได้อย่างไร คุณจะสามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการในแบบ Cross-Selling ในแต่ละส่วนที่เกี่ยวเนื่องกันแบบให้ประโยชน์กับลูกค้าอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งมันส่งผลต่อยอดขายในอนาคตอย่างแน่นอน
4. สร้างให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรอันเป็นหนึ่งเดียว
เรื่องราวที่รวมเป็นหนึ่งเดียวและน่าสนใจสามารถกลายเป็นเสียงสนับสนุนให้พนักงานทุกคนในองค์กรได้ เพราะมันทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนพวกเขากำลังต่อสู้เพื่อสาเหตุเดียวกัน นั่นคือเหตุผลที่ว่าเวลาคุณจะเปิดตัวแบรนด์ใหม่ๆคุณจำเป็นต้องสื่อสารและเล่าเรื่องราวให้กับพนักงานมีความเข้าใจเป้าหมายของสิ่งที่ตั้งไว้ก่อนที่จะสื่อสารไปยังคนภายนอก
5. ความทรงพลังของแบรนด์
Brand Architecture จะประสานและเชื่อมส่วนต่างๆของแบรนด์ที่ไม่ใช่แค่ตัวของบริษัทเท่านั้น แต่ยังเชื่อมในส่วนของพนักงาน ทีมงาน ส่วนงาน สินค้า บริการ คู่ค้าทางธุรกิจ และกลุ่มลูกค้า ที่เป็นแนวทางให้ทุกคนเห็นเป้าหมายในแบบเดียวกัน
6. โอกาสขยายธุรกิจ
ในด้านของการจัดการแบรนด์นั้นมีเป้าหมายคือการทำให้แบรนด์แต่ละแบรนด์ของคุณอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องกับเป้าหมายในกลุ่มต่างๆของคุณ และมันก็จะไม่ทับซ้อนซึ่งกันและกัน การวาง Brand Architecture ที่เหมาะสมจะช่วยให้แบรนด์ย่อยของคุณมีโอกาสเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและสร้างช่องว่างในตลาด ทำให้เห็นโอกาสในการขยายตลาดเป้าหมายและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดที่สูงขึ้น