การเพิ่มผลผลิตในการทำงานหรือที่เราจะคุ้นๆกับคำว่า Productivity สามารถช่วยให้ธุรกิจของคุณเติบโตและสร้างกำไรได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาทักษะ ความร่วมมือจากพนักงาน รวมถึงการปรับเปลี่ยนพัฒนากระบวนการต่างๆ โดยหลายๆธุรกิจให้ความสำคัญกับเรื่องของ Productivity จนนำไปเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำหรับการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจครับ ธุรกิจต่างๆจึงต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่ม Productivity ให้กับการทำงานรวมถึงตัวของพนักงาน ด้วยการหาวิธีการต่างๆเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ดี ทั้งต่อตัวของพนักงานเองรวมไปถึงผลลัพธ์ที่ดีต่อธุรกิจ แล้วการเพิ่ม Productivity นั้นสามารถทำออกมาในวิธีไหนได้บ้างบทความนี้มีคำตอบให้ผู้อ่านที่สนใจครับ
รวม 9 วิธีในการเพิ่ม Productivity ให้กับพนักงานของคุณ
Productivity นับเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จอย่างหนึ่งของการบริหารธุรกิจที่ทุกๆธุรกิจควรให้ความสำคัญ และมันก็มีวิธีการเพิ่ม Productivity ให้กับพนักงานของคุณอยู่ด้วยกัน 9 วิธี ดังนี้
1. ควบคุมการทำงานให้น้อยลง
บางครั้งการที่จะช่วยเพิ่ม Productivity ให้กับพนักงานได้ คุณในฐานะหัวหน้างานจำเป็นต้องถอยออกมาบ้างเพื่อให้อิสระในการทำงาน ด้วยการให้สิทธิและอำนาจในการตัดสินใจในขอบข่ายที่เหมาะสม และให้พนักงานได้ลองบริหารจัดการงานของตัวเองดูบ้าง วิธีการในลักษณะนี้อาจดูขัดอกขัดใจกับการบริหารงานในแนวคิดหนึ่งที่ว่า ถ้าอยากให้ได้ผลงานออกมาดีต้องกำกับควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ก็มีหลายๆงานวิจัยออกมาว่าบริษัทที่ให้อิสระทางความคิดกับพนักงาน จะช่วยกระตุ้นให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลายและสร้าง Productivity ได้ดีกว่า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าลักษณะงานแบบไหนเหมาะกับการทำงานแบบไหนด้วยเช่นกันครับ
2. จ้างพนักงานให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร
ประเด็นเรื่องความเข้าได้กับวัฒนธรรมองค์กรถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจค่อนข้างมาก การจ้างพนักงานสักคนจำเป็นต้องตรวจสอบและพิจารณาเรื่องของความเข้ากันกับเพื่อนร่วมงานรวมไปถึงแนวทางขององค์กรด้วย ดังนั้นมันจึงไม่ใช่แค่ความเก่งเรื่องงานเพียงอย่างเดียวแต่ต้องรวมไปถึงแนวคิด ลักษณะนิสัย การเข้ากันได้กับเพื่อนร่วมงาน เพื่อสร้างสรรค์บรรยากาศในองค์กรให้เกิดพลังและความคิดเชิงบวกในการขับเคลื่อนธุรกิจ และ Productivity ของพนักงานก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยากเย็น
3. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการทำงานล้วนมีผลต่อการเพิ่ม Productivity ทั้งสิ้น โดยเฉพาะสถานที่ทำงานซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง ที่จำเป็นต้องมีการปรับภูมิทัศน์ให้ส่งเสริมบรรยากาศการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นโทนสีของห้องทำงาน โทนสีห้องประชุม เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ อุณภูมิของห้องทำงาน และอื่นๆ โดยทั้งหมดมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานทั้งนั้นครับ ดังนั้นการออกแบบบรรยากาศให้เข้ากับสถานที่ทำงานจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีการ ที่จะช่วยเสริมความรู้สึกทางใจและด้านร่างกายไปพร้อมๆกัน
4. ตรวจสอบประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน
ตรวจสอบดูครับว่ากระบวนการทำงานรอบๆตัวพนักงานนั้นมีอะไรที่ยังขาดตกบกพร่องอยู่ บางกระบวนการอาจจะใช้ขั้นตอนมากเกินไปจนส่งผลต่อ Productivity ของพนักงาน ก็จำเป็นต้องปรับปรุงให้กระบวนการนั้นกระชับรวดเร็วมากขึ้น คุณอาจจำเป็นต้องนำเครื่องไม้เครื่องมือบางอย่างมาช่วยเสริมให้กระบวนการบางอย่างเร็วขึ้น จะได้บรรลุเป้าหมายของการทำงานและเป้าหมายของธุรกิจ
5. ฝึกทักษะให้กับพนักงาน
วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งและนิยมใช้กันมากที่สุด ก็คือ การฝึกทักษะให้กับพนักงานครับ หากพนักงานได้รับการฝึกฝนทักษะที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ก็จะช่วยให้เกิด Productivity กับตัวพนักงานและธุรกิจไปในคราวเดียวกัน และวิธีการฝึกสอนให้พนักงานมีทักษะในการทำงานที่เก่งขึ้นก็มีอยู่หลายวิธีครับ ไม่ว่าจเป็น On the Job Training (OJT) การฝึกสอนด้วยกิจกรรมเชิงปฏิสัมพันธ์ การฝึกสอนภาคปฏิบัติ วิธีการ Coaching และ Mentoring โดยต้องดูว่าทักษะด้านไหนจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้กับพนักงาน
6. นำเครื่องมือมาช่วยเพิ่ม Productivity
บางครั้งคุณจำเป็นต้องนำเอาเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆมาช่วยเสริม เพื่อให้การบริหารจัดการงานรวมถึงกระบวนการต่างๆรวมเร็วยิ่งขึ้น อาทิ แอปพลิเคชั่นหรือโปรแกรมในการติดตามงาน การเปิดจ็อบงาน การประมวลผลของงาน รวมถึงการนำเครื่องมือมาใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างทีมงาน การแชร์ไฟล์ข้อมูล รวมถึงการประชุมต่างๆ ก็จะช่วยให้พนักงานมี Productivity ที่เพิ่มมากขึ้น
7. ลดสิ่งเร้าที่ทำให้เสียสมาธิ
หลายๆครั้งพนักงานมักจะถูกดึงให้ไขว้เขวหรือเสียสมาธิจากงานที่ทำ จากการเข้าไปอยู่บนโลก Social Media หรือการพูดคุยกับเพื่อนผ่าน Line สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ Productivity นั้นลดลงได้ครับ ซึ่งนั่นก็เป็นหน้าที่ที่องค์กรจำเป็นต้องมีนโยบายบางอย่างในการนำมาปรับใช้เพื่อควบคุมการใช้งาน แต่ผมไม่ได้บอกว่าให้งดใช้นะครับเพียงแค่จะบริหารการใช้สิ่งต่างๆเหล่านี้อย่างไร ในช่วงเวลาไหนให้เหมาะสมที่ไม่กินเวลาการทำงาน บางแผนกหรือบางหน้าที่ความรับผิดชอบที่จำเป็นต้องใช้ช่องทาง Social Media หรือ Line ในการศึกษาหาข้อมูลหรือเจรจาธุรกิจก็ยังคงต้องนำมาใช้อยู่ เพียงแต่หาวิธีบริหารจัดการกับสิ่งเร้าเหล่านี้ให้มุ่งไปที่การใช้เพื่อการทำงานก่อนเรื่องส่วนตัวให้ได้นั่นเองครับ
8. กระจายหน้าที่การทำงานอย่างเหมาะสม
การที่พนักงานไม่รู้ว่าเป้าหมายและความคาดหวังในสิ่งที่ตัวเองทำนั้นคืออะไร ก็อาจส่งผลต่อเรื่องของ Productivity ได้เช่นกัน บางคนสามารถทำงานได้ตามตำแหน่งที่ได้รับและอาจจะทำได้ดีกว่าความคาดหมาย แต่บางคนอาจจะไม่สามารถทำได้อย่างนั้นก็จะกลายเป็นความล้มเหลวและอาจทำให้ Productivity นั้นลดลงอย่างมากจนกระทบสภาพจิตใจได้ ดังนั้นการมองว่าใครเหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบและการรับภาระงานต่างๆได้ จะช่วยให้คุณกระจายงานและกระจายความรับผิดชอบให้เหมาะสมและตรงกับพนักงานคนนั้น จนกลายเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่ม Productivity ให้ทั้งตัวพนักงานและองค์กร
9. มองถึงอนาคตที่สดใสร่วมกัน
การมีเป้าหมายที่ทำได้จริงและสร้างกำลังรวมถึงพลังใจในการทำงาน จะมีส่วนช่วยเพิ่ม Productivity ของพนักงานได้ องค์กรต้องให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของพนักงาน มีการสื่อสารเป้าหมายอย่างชัดเจน เปิดโอกาสให้พนักงานเสนอความคิดเห็นในการวางเป้าหมายการทำงานและกระบวนการต่างๆในการทำงานร่วมกัน มุ่งเป้าหมายไปที่การขับเคลื่อนอนาคตให้กับธุรกิจ และเป้าหมายในการสนับสนุนการทำงานของพนักงาน เพื่อสร้างความเป็นส่วนหนึ่งของพนักงานกับองค์กรนั่นเอง