Employees_Have_Many_Problems_in_the_Meeting

ทุกโครงการหรือกระบวนการที่ประสบความสำเร็จ มักจะขึ้นอยู่กับการกำหนดบทบาทที่ชัดเจน การกำหนดความรับผิดชอบที่ไม่คลุมเครือ และการสื่อสารที่ทันท่วงที แต่บ่อยครั้งที่ทีมงานต้องสะดุดและเกิดความสับสนกับคำว่า “ใครทำอะไร” และหนึ่งในเครื่องมือที่จะนำมาช่วยจัดการความรับผิดชอบ ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดเครื่องมือหนึ่ง ก็คือ “แผนภูมิ RACI” ซึ่งเป็นตารางมอบหมายความรับผิดชอบแบบง่ายๆ ที่ช่วยนำระเบียบมาสู่การจัดการกับความวุ่นวาย และในบทความนี้ผมจะพาผู้อ่านมารู้จักวิธีใช้ “แผนภูมิ RACI” เพื่อช่วยการจัดการของทีมงานกันครับ

แผนภูมิ RACI กับการมอบหมายความรับผิดชอบ

RACI_Chart

แผนภูมิ RACI หรือ “ตารางมอบหมายความรับผิดชอบ” เป็นตารางง่ายๆที่ใช้เพื่อจับคู่งาน (Tasks) หรือสิ่งที่ต้องส่งมอบ กับบุคคล (Persons) รวมถึงบทบาท (Roles) ที่เกี่ยวข้อง โดย RACI มีมาตั้งแต่แนวทางการจัดการโครงการ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 แล้ว แต่คำย่อ RACI เริ่มเป็นที่นิยมในช่วงปี 1970 – 1980 ผ่านงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ แนวคิดนี้มาจากแรงผลักดันในยุคนั้นที่ต้องการความชัดเจน ในโครงการขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างแบบเมทริกซ์ ซึ่งหลายแผนกต้องทำงานร่วมกันและมักจะเกิดความสับสนว่า “ใครทำอะไร” และเมื่อเวลาผ่านไป RACI ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของ PRINCE2 ซึ่งเป็นแนวทางจัดการโครงการ ที่พัฒนาจากรัฐบาลของสหราชอาณาจักร โดยเน้นที่กระบวนการ (Process-Based) และ PMBOK ซึ่งเป็นมาตรฐานองค์ความรู้การบริหารโครงการ โดย PMI ที่แบ่งงานเป็นกลุ่มกระบวนการและองค์ความรู้ โดยแผนภูมิ RACI ได้กำหนดระดับความรับผิดชอบออกเป็น 4 ระดับให้กับแต่ละจุดตัด ดังนี้

R – Responsible (ผู้รับผิดชอบ)

พวกเขา คือ ผู้ที่ “ทำ” งานนั้น เป็นคนที่ลงมือปฏิบัติงานจริงๆ เพื่อให้งานหรือกิจกรรมนั้นสำเร็จลุล่วง อาจมีผู้รับผิดชอบหลายคนสำหรับงานเดียว โดยแต่ละคนอาจรับผิดชอบส่วนงานย่อยๆที่แตกต่างกัน พวกเขาต้องมีทักษะและความรู้ที่จำเป็นในการดำเนินงานนั้นๆ และอาจต้องรายงานความคืบหน้าของงาน ให้กับผู้มีอำนาจตัดสินใจ (Accountable)

ตัวอย่างเช่น ในการพัฒนาเว็บไซต์ ทีมพัฒนา (นักออกแบบ โปรแกรมเมอร์ ผู้ทดสอบ) จะเป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบ เขียนโค้ด และทดสอบส่วนต่างๆของเว็บไซต์

A_Web_Designer_Drawing_Draft_Design_on_Laptop

A – Accountable (ผู้มีอำนาจตัดสินใจ)

พวกเขา คือ ผู้ที่ “รับผิดชอบ” ต่อผลลัพธ์สุดท้ายและมีอำนาจอนุมัติ ซึ่งก็คือ บุคคลที่มีอำนาจในการตัดสินใจสุดท้าย และรับผิดชอบต่อผลลัพธ์โดยรวมของงานนั้นๆ โดยจะมีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถ เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจสำหรับแต่ละงาน ลักษณะสำคัญ คือ พวกเขาไม่ได้ลงมือทำงานเอง แต่เป็นผู้มอบหมายงาน ติดตามความคืบหน้า และอนุมัติผลลัพธ์ พวกเขาต้องมั่นใจว่างานนั้นได้รับการดำเนินการ อย่างถูกต้องและเป็นไปตามเป้าหมาย และพวกเขามีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขหากจำเป็น

ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการโครงการจะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ ในการอนุมัติแผนการพัฒนาเว็บไซต์ กำหนดงบประมาณ และรับผิดชอบต่อความสำเร็จโดยรวมของโครงการ

Web_Developer_Coding_at_Laptop

C – Consulted (ผู้ให้คำปรึกษา)

พวกเขา คือ ผู้ที่ “ให้ข้อมูล” หรือ “คำแนะนำ” ก่อนดำเนินการ ซึ่งเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ หรือมีมุมมองที่สำคัญต่อการดำเนินงานนั้นๆ ทีมงานจะต้องขอความคิดเห็นจากพวกเขา ก่อนที่จะเริ่มงานหรือเมื่อมีการตัดสินใจเรื่องสำคัญ โดยเป็นการปรึกษาหารือแบบสื่อสารสองทาง มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ที่อาจมีผลต่อวิธีการดำเนินงานหรือผลลัพธ์สุดท้าย

ตัวอย่างเช่น ในการออกแบบเว็บไซต์ ทีมงานอาจต้องขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้าน UX/UI เพื่อให้แน่ใจว่าการออกแบบใช้งานง่ายและเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน

UX_UI_Designer_Drawing_Website_Layout

I – Informed (ผู้รับทราบ)

พวกเขา คือ ผู้ที่ “รับรู้” ที่อาจเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่จำเป็นต้องรับทราบความคืบหน้าของงาน ผลลัพธ์ หรือการตัดสินใจที่เกิดขึ้น เพื่อให้พวกเขาสามารถดำเนินงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ หรือเพียงแค่เพื่อให้พวกเขาทราบถึงสถานการณ์หรือความคืบหน้า โดยมีลักษณะสำคัญ คือ เป็นการแจ้งให้ทราบแบบการสื่อสารทางเดียว โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูล ขณะที่บุคคลเหล่านี้อาจไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงในการทำงาน แต่ผลลัพธ์ของงานอาจส่งผลกระทบต่อพวกเขาได้ ดังนั้นการรับทราบจะช่วยให้ทุกคนอยู่ในภาพรวม และสามารถประสานงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารระดับสูงอาจเป็นผู้รับทราบ ถึงความคืบหน้าของโครงการพัฒนาเว็บไซต์ เพื่อให้พวกเขาทราบถึงสถานะของโครงการโดยรวม

Boss_in_Blue_Suit_Talking_to_Their_Team_Via_Phone

ด้วยการวางงาน (Tasks) ตามแกนหนึ่งและบทบาท (Roles) ในอีกแกนหนึ่ง ทีมงานจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าใครทำอะไร ใครเป็นเจ้าของสิ่งที่ต้องส่งมอบแต่ละอย่าง และต้องได้รับการอนุมัติ หรือขอความคิดเห็นจากใคร


วิธีสร้างและใช้งานแผนภูมิ RACI

  1. กำหนดงานหรือสิ่งที่ต้องส่งมอบ (Tasks)
    แบ่งโครงการหรือกระบวนการ ออกเป็นกิจกรรมที่เฉพาะเจาะจง (เช่น “จัดทำเว็บไซต์ E-Commerce” “ร่างข่าวประชาสัมพันธ์” “ดำเนินการตรวจสอบทางกฎหมาย”)
  2. ระบุบทบาทหน้าที่ (Roles)
    ระบุรายชื่อบุคลากรตามบทบาทหน้าที่ (เช่น ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ นักออกแบบ UX ที่ปรึกษาทางกฎหมาย หัวหน้าฝ่ายการตลาด ผู้อำนวยการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์)
  3. เติมข้อมูลในตาราง
    ใส่ข้อมูลสำหรับแต่ละจุดตัดระหว่างงาน (Tasks) และบทบาท (Roles) โดยให้กำหนดความรับผิดชอบ เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งจาก
    • R (Responsible – ผู้รับผิดชอบ) – ผู้ที่ลงมือทำงาน
    • A (Accountable – ผู้มีอำนาจตัดสินใจ) – เจ้าของคนเดียวที่อนุมัติ
    • C (Consulted – ผู้ให้คำปรึกษา) – ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ให้ความเชี่ยวชาญ
    • I (Informed – ผู้รับทราบ) – ผู้ที่ต้องการทราบความคืบหน้า
      โดยหลักเกณฑ์ คือ ต้องมี A เพียงคนเดียวเท่านั้นต่อหนึ่งงาน แต่สามารถมี R หรือ C ได้หลายคน และควรหลีกเลี่ยงการกำหนด C หรือ I มากเกินไป
  4. ตรวจสอบความถูกต้องกับทีม
    ทบทวนแผนภูมิในการทำเวิร์กช็อปหรือการประชุม เพื่อหาบทบาทที่ขาดหายไป ภาระงานที่มากเกินไป หรือความสับสนใดๆที่อาจเกิดขึ้น
  5. เผยแพร่และใช้อ้างอิง
    แบ่งปันแผนภูมิ RACI ที่สรุปแล้วในไว้ที่ส่วนกลางของโครงการ และอ้างอิงถึงแผนภูมินี้ตลอดการทำโครงการนั้นๆ

ตัวอย่างการใช้งานแผนภูมิ RACI

ผมลองกำหนดสถานการณ์ตัวอย่าง คือ การเปิดตัวคุณสมบัติใหม่ของผลิตภัณฑ์ (New Features) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ประเภทหนึ่ง ทีนี้เราลองมาดูแผนภูมิ RACI โดยละเอียด กับการระบุทีมงานแบบสมมติพร้อมกับบทบาทหน้าที่ ดังนี้

  • ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ (Product Manager)
  • หัวหน้านักพัฒนา (Lead Developer)
  • วิศวกรประกันคุณภาพ (QA Engineer)
  • นักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน (UX Designer)
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด (Marketing Specialist)
  • หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนลูกค้า (Customer Support Lead)
  • ผู้สนับสนุนระดับบริหาร (Executive Sponsor)
Business_Team_Planning_to_Launch_New_Product_Features

1. กำหนดงานหลัก (Tasks)

เมื่อระบุบทบาทหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ต่อมาก็เป็นการกำหนดเรื่องของงานที่ต้องทำ เพื่อให้พร้อมต่อการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ๆของซอฟต์แวร์

  • รวบรวมความต้องการ (Gather Requirements)
  • ออกแบบส่วนที่ใช้ในการเชื่อมต่อกับผู้ใช้งาน (Design User Interface)
  • พัฒนาคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ (Develop Feature)
  • เขียนระบบทดสอบ (Write Test Cases)
  • ดำเนินการทดสอบ (Execute Testing)
  • เตรียมสื่อการตลาด (Prepare Marketing Collateral)
  • ฝึกอบรมทีมสนับสนุน (Train Support Team)
  • เปิดตัวและตรวจสอบติดตาม (Launch & Monitor)

2. ใส่ RACI ลงในตารางโดยระบุงาน (Task) กับบทบาท (Role)

RACI_Chart_Table

3. อธิบายรายละเอียดการดำเนินการทีละขั้นตอน

  • รวบรวมความต้องการ (Gather Requirements)
    • ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ (Product Manager) พบปะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด และรวบรวมข้อกำหนดคุณสมบัติ
      (A / R)
    • นักออกแบบ UX ได้รับการปรึกษาเพื่อให้แน่ใจ ถึงความเป็นไปได้ของขั้นตอนที่เสนอ (C)
    • ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด (Marketing Specialist) ฝ่ายสนับสนุนลูกค้า (Customer Support Lead) และผู้สนับสนุนระดับบริหาร (Executive Sponsor) ได้รับการแจ้งให้ทราบ (I) เพื่อให้พวกเขาสามารถวางแผนล่วงหน้าได้

  • ออกแบบส่วนที่ใช้ในการเชื่อมต่อกับผู้ใช้งาน (Design User Interface)
    • นักออกแบบ UX เป็นผู้นำในการสร้างโครงร่างและภาพจำลอง (A / R)
    • ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ (Product Manager) ให้ข้อเสนอแนะในระยะเริ่มต้น (C)
    • ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด (Marketing Specialist) และหัวหน้าฝ่ายสนับสนุนลูกค้า (Customer Support Lead) ตรวจสอบเพื่อให้สอดคล้องกับข้อความ และเอกสารสำหรับช่วยเหลือ (I)

  • พัฒนาคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ (Develop Feature)
    • หัวหน้านักพัฒนา (Lead Developer) เขียนโค้ดสำหรับฟีเจอร์ใหม่ (A / R)
    • ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ (Product Manager) ชี้แจงเกณฑ์การยอมรับ (C)
    • วิศวกรประกันคุณภาพ (QA Engineer) ได้รับแจ้งความคืบหน้า (I) เพื่อให้พวกเขาสามารถกำหนดตารางการทดสอบได้

  • เขียนระบบทดสอบ (Write Test Cases)
    • วิศวกรประกันคุณภาพ (QA Engineer) สร้างกรณีสำหรับทดสอบการทำงาน และกำหนดขอบเขต
      (A / R)
    • ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ (Product Manager) ตรวจสอบความครอบคลุมของการทดสอบ (C)
    • หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนลูกค้า (Customer Support Lead) ร่วมดูแผนการทดสอบ (I) เพื่อทำความเข้าใจส่วนที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งาน

  • ดำเนินการทดสอบ (Execute Testing)
    • วิศวกรประกันคุณภาพ (QA Engineer) ดำเนินการทดสอบ และบันทึกข้อผิดพลาด (A / R)
    • หัวหน้านักพัฒนา (Lead Developer) และนักออกแบบ UX ได้รับการปรึกษา เพื่อจัดลำดับความสำคัญของปัญหา (C)
    • ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ (Product Manager) และหัวหน้าฝ่ายสนับสนุนลูกค้า (Customer Support Lead) ได้รับการแจ้งสถานะเกี่ยวกับคุณภาพจากการทดสอบ (I)

  • เตรียมสื่อการตลาด (Prepare Marketing Collateral)
    • ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด (Marketing Specialist) เตรียมเขียนบทความ อีเมล์ และทำแบนเนอร์โฆษณา (A / R)
    • ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ (Product Manager) และนักออกแบบ UX ให้ข้อเสนอแนะในระยะเริ่มต้น (C)
    • หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนลูกค้า (Customer Support Lead) ได้รับการแจ้ง เพื่อให้พวกเขาสามารถอัปเดตคำถามที่พบบ่อย (FAQs) (I)

  • ฝึกอบรมทีมสนับสนุน (Train Support Team)
    • หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนลูกค้า (Customer Support Lead) สร้างสื่อสำหรับการฝึกอบรม และเป็นผู้นำในการอบรม (A / R)
    • ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด (Marketing Specialist) จัดเตรียมแนวทางในการใช้ข้อความ (C)
    • ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ (Product Manager) ได้รับแจ้ง ในกรณีที่มีคำถามทางเทคนิคที่ซับซ้อน (I)

  • เปิดตัวและตรวจสอบติดตาม (Launch & Monitor)
    • ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ (Product Manager) ลงนามอนุมัติการเปิดตัว และติดตามตัวชี้วัดหลัก (A)
    • หัวหน้านักพัฒนา (Lead Developer) ตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบ (C)
    • วิศวกรประกันคุณภาพ (QA Engineer) ตรวจสอบข้อบกพร่องหลังการเปิดตัว (C)
    • ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด (Marketing Specialist) และหัวหน้าฝ่ายสนับสนุนลูกค้า (Customer Support Lead) เฝ้าติดตาม Feedback จากผู้ใช้งาน (C)
    • ผู้สนับสนุนระดับบริหาร (Executive Sponsor) ได้รับรายงานสรุป (I)

แผนภูมิ RACI เป็นเครื่องมือที่สร้างขึ้นมาได้ง่าย แต่ค่อนทรงพลังในการแสดงผลด้วยภาพ ซึ่งช่วยจัดระเบียบโครงการที่ซับซ้อน โดยการกำหนดว่าใครทำอะไร ใครเป็นเจ้าของการตัดสินใจ และใครที่ต้องรับทราบข้อมูลอยู่เสมอ การนำกรอบงาน RACI ที่เรียบง่ายนี้มาใช้และปรับให้เข้ากับความต้องการ จะช่วยลดความสับสน เร่งการตัดสินใจ และทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกันตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการนั่นเอง


Share to friends


Related Posts

Power vs. Interest Matrix เครื่องมือวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

ในทุกๆโครงการไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินค้าใหม่ (New Product Development) การสื่อสารการตลาด (Marketing & Communication) การปรับโครงสร้างองค์กร (Organization Structure) หรือแม้แต่การดำเนินนโยบายภาครัฐ (Government Oolicy) หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะชี้เป็นชี้ตายว่าโครงการจะ “ประสบความสำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว” ก็คือ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” (Stakeholders) แต่ปัญหาที่ตามมา ก็คือ Stakeholders ไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกันทั้งหมด


Impact Effort Matrix เครื่องมือช่วยในการจัดเวลาการทำงานให้ดีขึ้น

หลายคนที่ได้รับมอบหมายงานหลายๆอย่างมาพร้อมๆกัน ก็คงยากที่จะบริหารจัดการงานให้เสร็จตรงตามกำหนด โดยเฉพาะทุกๆงานที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้างานและบอกว่างานทุกอย่างนั้นด่วนไปหมด แต่ในความเป็นจริงนั้นมันอาจไม่ได้ด่วนไปซะหมดทุกอย่าง เพียงแต่เป็นหน้าที่ที่เราในฐานะ


AEIOU Framework เครื่องมือหา Insight สำหรับสร้างนวัตกรรมที่ตรงใจ

เมื่อพูดถึงการทำความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ การสร้างสรรค์ข้อมูลเชิงลึก และการพัฒนานวัตกรรมให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการ การใช้การสังเกต (Observation) ก็ถือเป็นเครื่องมือง่ายๆเครื่องมือหนึ่ง ที่หลายๆองค์กรนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่มันก็ยังมีอีกเครื่องมือหนึ่งที่ได้รับความนิยม สำหรับปรับใช้ในการคิดเชิงออกแบบ (Creative Thinking) การสร้างแบรนด์ (Branding) การตลาด (Marketing) และงานวิจัยเชิงชาติพันธุ์วิทยา (Ethnographic Research) ซึ่งนั่นก็คือ AEIOU Framework



copyright 2025@popticles.com
หากท่านต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ไปเผยเพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซต์