รู้จัก 6 ประเภทวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์กับวิธีการสื่อสารที่เหมาะสม

ในสภาพแวดล้อมของการทำงานโดยเฉพาะหากคุณเป็นหัวหน้าที่ต้องมีการสื่อสารกับทีมงานอยู่เป็นประจำ หรือคุณอาจเป็นนักพูด วิทยากร อาจารย์ ในแบบทั้งการพูดในที่สาธารณะ การบรรยายตามหน่วยงานต่างๆ หรือแม้แต่การสอนหนังสือ ผมเชื่อว่าหลายๆคนอาจจะต้องเคยเจอกับปัญหาในการสื่อสารกับหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความตั้งและและความสนใจของผู้ฟังใช่ไหมครับ หลายครั้งคุณในฐานะผู้พูดหรือนักพูดก็มักจะกลับมาตั้งคำถามว่า เราสื่อสารดีพอหรือยังเราเตรียมข้อมูลมามากน้อยแค่ไหน เรานำเสนอได้ถูกต้องเพียงใด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีสำหรับการวิเคราะห์ตัวเองเป็นอันดับแรกครับ แต่ก็ยังมีอีกมุมหนึ่งคือฝั่งของผู้ฟัง (Audience) ที่ไม่อาจมองข้ามได้เช่นกัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นในการสื่อสารประเด็นหนึ่งที่นอกเหนือจากตัวผู้พูดเองก็คือตัวของผู้ฟัง (Audience) ครับ ผู้ฟังนั้นมีหลากหลายพฤติกรรมหลากหลายประเภท แต่ละคนก็มีการเรียนรู้และรับรู้ในสิ่งที่คุณนำเสนอด้วยวิธีที่แตกต่างกัน และนั่นเป็นเรื่องที่เราจะมาทำความเข้าใจกันครับกับ 6 ประเภทวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์หรือผู้ฟัง ว่าผู้ฟังนั้นมีวิธีการเรียนรู้ในแบบใดบ้างที่คุณจำเป็นต้องเข้าใจและวิเคราะห์ผู้ฟังให้ออก เพื่อที่จะสื่อสารและถ่ายทอดสิ่งที่คุณพูดให้เข้าถึงทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนผู้อ่านท่านใดอยากรู้ว่าผู้ฟังนั้นมีพฤติกรรมกี่ประเภท ก็ลองเข้ามาอ่านบทความก่อนหน้าที่ผมเขียนสรุปได้ที่นี่ครับ >> พฤติกรรมผู้ฟัง 10 ประเภท Link

What's next?

6 ประเภทการเรียนรู้ของผู้ฟัง

ประเภทที่ 1 ผู้ฟังที่ชอบเรียนรู้โดยการฟังเสียง

ประเภทที่ 1 เราเรียกว่าผู้ที่ชอบฟังและเรียนรู้ผ่านเสียง (Audio) โดยการฟังผ่านเสียงอย่างเดียวเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่สามารถสร้างความเข้าใจและการจดจำข้อมูลต่างๆได้อย่างแม่นยำ โดยการสื่อสารแบบเสียงก็ต้องอาศัยการพูดที่ผสมผสานการพูดในลักษณะการเล่าเรื่องเชิงบรรยายเชิงอธิบาย (Narrative) และการพูดแบบสร้างแรงจูงใจ Link ที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ สะกดใจ และเปิดใจซึมซับรายละเอียดต่างๆได้ดีขึ้น ผู้พูดต้องใส่ประเด็นสำคัญๆหลักๆเข้าไปในเนื้อหา ยกตัวอย่างให้เห็น ไม่ยัดเยียดว่าต้องกระทำในลักษณะนี้ และพยายามให้ผู้ฟังพูดตามในสิ่งที่คุณพูดและเน้นประโยคสำคัญๆให้เข้าใจจึงจะทำให้ผู้ฟังจดจำรายละเอียดได้ดีขึ้น คุณจำเป็นต้องใช้โทนและน้ำเสียงที่ไม่ดุดันจนเกินไปเป็นโทนเสียงที่สร้างความอบอุ่นและสร้างความผ่อนคลาย และหากสามารถใส่เสียงเพลงหรือมีวีดิโอเข้ามาเกี่ยวข้องกับการพูดของคุณได้ จะยิ่งสร้างผลลัพธ์ที่ดีกับคนกลุ่มนี้มากเลยทีเดียวครับ

ประเภทที่ 1 ผู้ฟังที่ชอบเรียนรู้โดยการฟังเสียง (Audio Learner)

ประเภทที่ 2 ผู้ฟังที่ชอบเรียนรู้ด้วยภาพ

ประเภทที่ 2 เหมาะมากครับสำหรับการนำเสนอในรูปแบบ PowerPoint Presentation ที่เรียงลำดับเรื่องราวด้วยภาพทั้งรูปจริงและกราฟิกสวยๆ ที่ไม่ได้เน้นในเรื่องของตัวหนังสือมากมาย ผู้ฟังประเภทนี้จะชอบมองภาพ (Visual) และคิดจินตนาการตาม และหลายๆครั้งอาจจะไม่ได้ฟังเสียงของผู้พูดเลยก็ได้ครับ เปรียบเสมือนการนั่งดูหนังหรือดูวีดิโอและมีอารมณ์ร่วมไปกับมัน หากคุณเจอผู้ฟังประเภทนี้ก็จำเป็นต้องผสมผสานภาพ วีดิโอ กราฟิก กราฟต่างๆ ตารางต่างๆ สถิติต่างๆ และการลำดับเรื่องราวใน Presentation ให้ดีจึงจะดึงดูดความสนใจแลสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้ฟังได้ดีที่สุด และหากเสริมด้วยการเล่าเรื่องแบบ Storytelling เป็นการบรรยายเรื่องราวที่น่าสนใจก็ยิ่งดีเลยครับ

ประเภทที่ 2 ผู้ฟังที่ชอบเรียนรู้ด้วยภาพ (Visual Learner)

ประเภทที่ 3 ผู้ฟังที่ชอบเรียนรู้ด้วยการเขียน

ประเภทที่ 3 คือ การเรียนรู้และจดจำได้ด้วยการเขียนซ้ำๆ (Writing) ซึ่งผู้ฟังประเภทนี้แม้ว่าจะฟังบ่อยครั้งแค่ไหนแต่โอกาสในการเรียนรู้และจดจำอาจไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะผู้ฟังประเภทนี้ชอบการจดบันทึกและการเขียนอธิบายเป็นที่สุดนั่นเองครับ และวิธีการนำเสนอของผู้พูดกับกลุ่มผู้ฟังประเภทนี้ก็คือการนำเสนอไปพร้อมกับตั้งคำถามไป ให้ผู้ฟังได้จดประเด็นลงบนกระดาษเพื่อเตรียมคำตอบ หรือบอกให้ผู้ฟังจดอะไรบางอย่างตั้งแต่เริ่มต้นเลยก็ได้ เพื่อที่จะนำมาเป็นประเด็นถาม-ตอบและแสดงความคิดเห็นต่างๆในช่วงอื่นๆ หรืออาจจะมีการให้ทำแบบทดสอบอะไรบางอย่างก็ถือว่าส่งผลดีกับการเรียนรู้และจดจำของผู้ฟังประเภทนี้ครับ

ประเภทที่ 3 ผู้ฟังที่ชอบเรียนรู้ด้วยการเขียน (Writing Learner)

ประเภทที่ 4 ผู้ฟังที่ชอบเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ

ประเภทที่ 4 คือ เป็นประเภทผู้ฟังที่เรียนรู้ได้ด้วยการลงมือทำ (Action) หรือเน้นเรื่องการเรียนรู้ผ่านภาษากายครับ ผู้ฟังประเภทนี้จะจดจำสิ่งต่างๆได้ผ่านการลงมือปฏิบัติได้ดีกว่าวิธีอื่นๆ และจะไม่ทนฟังอะไรนานๆเพราะรู้สึกว่าอึดอัดและสมองไม่ค่อยอยากจะรับอะไรจากการฟังเพียงอย่างเดียว หากคุณสังเกตดีๆผู้ฟังกลุ่มนี้จะเริ่มออกอาการไม่อยู่นิ่ง กระสับกระส่าย หันไปหันมา เขย่าขาบ้าง ซึ่งแสดงถึงความรู้สึกไม่สบายใจในการฟังอะไรนานๆ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่คนกลุ่มนี้จะให้ความสนใจและร่วมมือกับกิจกรรมรวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมในแบบต่างๆ นั่นจึงเป็นหน้าที่ของผู้พูดครับที่ต้องออกแบบการสื่อสารที่ผสมผสานกิจกรรมเข้าไปด้วย เช่น การสร้างสถานการณ์แบบ Role Play การแบ่งกลุ่มทำ Workshop การแบ่งกลุ่มการนำเสนองาน และอื่นๆ

ประเภทที่ 4 ผู้ฟังที่ชอบเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (Action Learner)

ประเภทที่ 5 ผู้ฟังที่ชอบเรียนรู้จากการอยู่เป็นกลุ่มๆ

ประเภทที่ 5 คือ เป็นประเภทผู้ฟังที่เรียนรู้กับการทำกิจกรรมเป็นคู่ๆหรือเป็นกลุ่มๆครับ (Group) ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีคู่ร่วมคิดแบบ Partner ในการฟังการนำเสนอต่างๆ กลุ่มคนประเภทนี้มักจะมองว่าการเรียนรู้เป็นการแบ่งปันบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน ซึ่งมันสร้างให้เกิดบรรยากาศที่สนุกสนานมากขึ้น และหากคุณเจอผู้ฟังประเภทนี้ก็ใช้วิธีการจัดกลุ่มการเรียนรู้เลยครับ ด้วยการโยนกิจกรรมหรือไอเดียบางอย่างไปให้แต่ละกลุ่มคิดร่วมกันทำ จากสิ่งที่คุณได้บรรยายหรืออธิบายให้พวกเขาฟังก่อนหน้านี้ เปิดโอกาสให้มีการนำเสนอพูดคุยแบบ Group Discussion นำเสนอผลงานแบบกลุ่ม และการนำเสนอไอเดียดีๆเป็นกลุ่ม

ประเภทที่ 5 ผู้ฟังที่ชอบเรียนรู้จากการอยู่เป็นกลุ่มๆ (Group Learner)

ประเภทที่ 6 ผู้ฟังที่ชอบเรียนรู้ด้วยตัวคนเดียว

ประเภทที่ 6 อาจจะดูปลีกวิเวกหน่อยครับเพราะเป็นผู้ฟังที่ชอบเรียนรู้ด้วยตัวคนเดียว (Solitary) ชอบการเรียนรู้แบบเดี่ยวๆไม่ถนัดการรวมกลุ่มใดๆซึ่งการรวมกลุ่มจะทำให้ลดประสิทธิภาพของตัวเองลงได้ ผู้ฟังประเภทนี้ใช้สมาธิกับตัวเองค่อนข้างสูงในการตีความประเด็นต่างๆครับ เสมือนกับการใช้เวลาเตรียมตัวสอบที่ต้องมีสมาธิสูงมากๆ ซึ่งมันจะทำให้คนกลุ่มนี้เข้าใจได้อย่างถ่องแท้มากที่สุดเมื่อเทียบกับประเภทอื่นๆ ผู้ฟังประเภทนี้ไม่ถือว่าเป็นข้อเสียนะครับเพียงแค่เป็นคนที่ต้องจดจ่อทำสมาธิค่อนข้างสูง การอยู่ในบรรยากาศของคนๆเดียวจะเค้นศักยภาพในตัวให้ออกมาได้มากที่สุดนั่นเอง และในฐานะที่คุณเป็นผู้พูดก็จำเป็นต้องมีลูกเล่นนิดหน่อยครับ โดยพยายามไม่ให้พวกเขาพูดท่ามกลางผู้คนเยอะๆเพราะหากรู้ว่าต้องพูดท่ามกลางผู้คนเยอะๆ อาจทำให้เกิดการประหม่าและอาจไม่พูดหรือไม่แสดงความเห็นใดๆเลยก็ได้ คุณอาจสังเกตจากใบหน้าคนผู้ฟังประเภทนี้ได้จากการที่พวกเขาจะมีอาการสงสัยบางอย่าง มีอาการส่ายหน้าเพราะอาจจะไม่ได้คิดเหมือนที่คุณสื่อสารออกไป เพราะกำลังครุ่นคิดอะไรบางอย่างอยู่ในหัวสมองจนทำให้สมาธิหลุดไปในบางช่วง เมื่อสบโอกาสเหมาะๆเช่นเวลาพักเบรคคุณควรเข้าไปพูดคุยกับผู้ฟังกลุ่มนี้ และลองพูดคุยแบบส่วนตัวดูเพื่อให้รับรู้ถึงความคิดของพวกเขาครับ นับเป็นการช่วยสนับสนุนให้การเรียนรู้ของกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้

ประเภทที่ 6 ผู้ฟังที่ชอบเรียนรู้ด้วยตัวคนเดียว (Solitary Learner)

เป็นอย่างไรบ้างครับกับการรู้จักผู้ฟังทั้ง 6 ประเภท ที่มีศักยภาพในการเรียนรู้และปรับตัวในแบบฉบับที่แตกต่างกัน โดยมันจะทำให้คุณรู้วิธีการเตรียมตัวและการรับมือในการสื่อสารรูปแบบต่างๆกับผู้ฟังแต่ละประเภท นอกจากนั้นก็ยังทำให้คุณได้ลองมีเวลาตรวจสอบตัวของคุณเองดูว่าแล้วคุณหละเป็นผู้ฟังประเภทไหน ยังไงก็ลองนำแนวทางไปศึกษาและสังเกตทีมงาน ผู้เข้าร่วมสัมนา หรือการเรียนการสอนกันดูนะครับ จะได้นำไปปรับใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง


Share to friends


Related Posts

วิเคราะห์พฤติกรรมผู้ฟัง 10 ประเภท ที่นักพูดต้องเจอ

สำหรับวิทยากร อาจารย์พิเศษ ผู้บริหาร ที่ต้องออกไปพูด บรรยาย หรือสอนหนังสือให้กับทั้งนักเรียน นักศึกษา พนักงานหรือผู้บริหารตามองค์กรต่างๆ คุณมักจะเจอกับกลุ่มผู้ฟังที่มีหลากหลายระดับ มีทั้งคนที่มีความรู้ในเรื่องที่คุณพูดและไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ


วิธีการสื่อสารเพื่อลดความขัดแย้ง

ความขัดแย้งหรือ Conflict ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับมนุษย์ครับ โดยเราจะเห็นความขัดแย้งแบบต่างๆทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงาน หลายๆไอเดียที่คุณนำเสนอในการทำงานหรือการพูดคุยกับคนในทีม อาจนำไปสู่ปัญหาหรือความขัดแย้งในการสื่อสารได้อยู่เสมอ โดยหากปล่อยประละเลยไม่ได้รับการแก้ไขหรือปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพที่มากขึ้น ก็อาจส่งผลต่อการทำงานระหว่างทีม


8 เหตุผลที่การพูดแบบสร้างแรงจูงใจ (Motivational Speech) นั้นดีต่อชีวิตคุณ

เชื่อว่าหลายๆคนน่าจะเคยได้เข้าร่วมหรือได้เข้าฟังการสัมมนา การบรรยาย การอบรม การเรียนการสอน ทั้งในรูปแบบ On-site และ Online มาไม่มากก็น้อย และคุณเคยรู้สึกไหมครับว่าในหลายๆครั้งในฐานะผู้ฟังเรารู้สึกคล้อยตามในสิ่งที่ผู้พูดนำเสนอ หลายๆครั้งรู้สึกเกิดอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่าง บางคนก็มีสภาพเหมือนตกอยู่ในภวังค์และเพลิดเพลินกับสิ่งที่ได้ยิน นั่นหมายความถึงคุณกำลังตกอยู่ภายใต้การสร้างแรงบันดาลใจ



copyright 2024@popticles.com
หากท่านต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ไปเผยเพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซต์