
จากบทความที่ผ่านมาที่ผมอธิบาย ลักษณะหรือกลุ่มทั้ง 4 ของ Personality Types ด้วยเครื่องมือ The Myers-Briggs Type Indicator (MBTI) โดยในบทความนั้นผมมุ่งเน้นไปที่การนำไปวิเคราะห์เบื้องต้นสำหรับผู้ที่จะผันตัวมาเป็น Influencer ให้กับผู้ที่อยากคนหาตัวเองเพื่อดูว่าแต่ละคนนั้นมีบุคลิกลักษณะเป็นอย่างไร Personality Types ก็ยังแยกออกมาได้อีก 16 ประเภทด้วยกัน โดยการทำความเข้าใจในเรื่อง Personality Types จะช่วยให้เราเข้าใจ จุดแข็ง จุดอ่อน ของตัวเอง การลดความขัดแย้งกับคนรอบข้าง และการทำงานร่วมกันผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งในบทความนี้ผมได้สรุปลักษณะสำคัญๆของบุคลิกลักษณะทั้ง 16 ประเภทที่เน้นการเข้าใจและนำไปใช้กับชีวิตการทำงาน เรามาลองดูและทบทวนดูกันครับว่าผู้อ่านแต่ละคนนั้นมี Personality Types ประเภทไหนกันบ้าง แต่หากอยากทดสอบว่าตัวเองมีบุคลิกภาพเป็นอย่างไรก็แนะนำให้เข้าไปทดสอบที่นี่เลยครับ >> www.16personalities.com

16 Personality Types กับชีวิตการทำงาน
ต้องอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจก่อนครับว่าแบบจำลองบุคลิกภาพทั้ง 16 ประเภทนี้ มีพื้นฐานมาจากผลงานของนักปรัชญาชาวสวิสที่ชื่อว่า คาร์ล จุง (Carl Jung) ที่สรุป Personality Types ออกมาเป็น 4 ลักษณะหรือ 4 กลุ่ม โดยบุคลิกภาพทั้ง 16 ประเภทนั้นทำให้เราเห็นกรอบการทำงานทั่วไปที่เป็นประโยชน์ ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเราเองและผู้อื่นได้มากขึ้น และ Personality Types 4 ลักษณะหรือ 4 กลุ่ม ที่ผมเขียนอธิบายไปในบทความก่อนหน้านี้ ก็ได้แก่
- บุคลิกภาพแบบเปิดเผย (Extraversion – E) / บุคลิกภาพแบบเก็บตัว (Introversion – I)
- ความรู้สึกนึกคิด (Sensing – S) / สัญชาตญาณ (Intuition – N)
- การคิด (Thinking – T) / ความรู้สึก (Feeling – F)
- การตัดสิน (Judging – J) / การรับรู้ (Perceiving – P)
โดยสรุปแล้ว การเข้าใจถึงความชอบและความไม่ชอบ จะสามารถนำมาบริหารจัดการในเรื่องต่างๆได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ที่สามารถช่วยให้พนักงานปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและทำงานได้ดีขึ้น เรามาดูรายละเอียดกันครับว่าบุคลิกภาพทั้ง 16 ประเภท นั้นเป็นอย่างไร มีแนวโน้มในความคิด ความรู้สึก และการทำงานเป็นอย่างไร
- ENTJ – Commanders “ผู้บังคับบัญชา”
- ENTP – Debaters “นักโต้วาที / นักอภิปราย”
- ENFJ – Protagonists “ตัวละครเอก / พระเอก”
- ENFP – Campaigners “นักรณรงค์ / นักต่อสู้”
- ESTJ – Executives “ผู้บริหาร”
- ESTP – Entrepreneurs “ผู้ประกอบการ”
- ESFJ – Consuls “กงสุล”
- ESFP – Entertainers “ผู้สร้างความบันเทิง”
- INTJ – Architects “สถาปนิก”
- INTP – Logicians “นักตรรกศาสตร์ / นักตรรกวิทยา”
- INFJ – Advocates “ผู้สนับสนุน”
- INFP – Mediators “คนกลาง / นักไกล่เกลี่ย”
- ISTJ – Logisticians “นักจัดการ / วางแผนเชิงระบบ”
- ISTP – Virtuosos “ช่างผู้ชำนาญ”
- ISFJ – Defenders “ผู้ปกป้อง / ผู้พิทักษ์”
- ISFP – Artists “ศิลปิน / นักผจญภัย”
ENTJ – Commanders
(Extraverted, Intuitive, Thinking, Judging)

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ENTJ หรือ “ผู้บังคับบัญชา” (Commanders) คนประเภทนี้โดดเด่นด้วยคุณสมบัติความเป็นผู้นำ เน้นการคิดเชิงกลยุทธ์ และมีธรรมชาติที่กล้าแสดงออก คนประเภท ENTJ จะประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาสามารถทำงานและดูแลแผนปฏิบัติงานได้อย่างชัดเจน และถือเป็นคนที่มีชื่อเสียงในด้านความสามารถ การเป็นผู้นำ สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้อย่างดีเยี่ยม แต่อาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ต้องใช้อารมณ์หรือความยืดหยุ่นสูง
จุดแข็งของคน ENTJ
- ความเป็นผู้นำและความมั่นใจ
มีความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ แสดงออกถึงความมั่นใจ และมักจะรับผิดชอบในการทำงานแบบกลุ่มหรือเป็นทีมได้ดี - การคิดเชิงกลยุทธ์
เก่งในการวางแผนเชิงกลยุทธ์และมีความสามารถพิเศษในการมองเห็นโอกาส และข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ - เด็ดขาดและกล้าแสดงออก
มีความสามารถที่โดดเด่นในการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างรวดเร็ว ทำการตัดสินใจที่ชัดเจนและแน่วแน่ได้ดี - การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
สื่อสารความคิดและวิสัยทัศน์ของตนอย่างชัดเจนและเก่งการโน้มน้าวใจ - ทักษะในการแก้ปัญหา
เก่งในการระบุประเด็นสำคัญๆในสถานการณ์ที่ซับซ้อน และคิดค้นกลยุทธ์ที่ปฏิบัติได้จริงที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
จุดอ่อนของคน ENTJ
- การมองข้ามรายละเอียด
บางครั้งการมุ่งเน้นไปที่ภาพรวมอาจทำให้มองข้ามรายละเอียดที่สำคัญได้ - ไม่อ่อนไหวต่อความรู้สึก
บางครั้งแนวทางที่ตรงไปตรงมาและเป็นเหตุเป็นผลมากเป็นพิเศษ อาจทำให้ขาดความเห็นอกเห็นใจอยู่บ้าง - มีปัญหากับความยืดหยุ่นในการปรับตัว
การปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่อาจผิดไปจากแผนงานเดิม ถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับพวกเขาค่อนข้างมาก - ความคาดหวังสูง
พวกเขามักจะมีความคาดหวังสูงต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดหวังได้ - ไม่ชอบความสบาย
ไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมของการทำงานที่ไม่มีโครงสร้าง ไม่มีแผนงานหรืออะไรที่มีเป้าหมายไม่ชัดเจน
ลักษณะบุคลิกภาพของคนประเภท ENTJ กับการทำงาน
หากเป็นในที่ทำงานบุคลิกภาพแบบ ENTJ จะมีความคิดก้าวหน้าและมีเป้าหมายชัดเจน มักจะเป็นเลิศและทำได้ดีในบทบาทที่ต้องการความเป็นผู้นำองค์กร และการนำระบบที่ซับซ้อนไปใช้งาน จะใช้การตัดสินใจด้วยกรอบความคิดเชิงตรรกะและมีความเป็นกลาง โดยให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลมากกว่าการพิจารณาทางอารมณ์ และมักจะนำทีมด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เพื่อให้แน่ใจว่างานสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ พวกเขามุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จ คนแบบ ENTJ มีความสามารถในการมองเห็นสถานการณ์ในอนาคต และการวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นๆ อีกทั้งยังสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับคนในทีมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งที่ต้องบริหารและจัดการองค์กรและองค์กรที่มีแนวทางการทำงานเชิงรุก
ENTP – Debaters
(Extraverted, Intuitive, Thinking, Perceiving)

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ENTP หรือที่รู้จักกันในชื่อ “นักโต้วาที / นักอภิปราย” (Debaters) นับเป็นคนที่มีลักษณะบุคลิกภาพที่เป็นคนเปิดเผย มีความเป็นธรรมชาติ มีความคิดและมีไหวพริบ มีความกระหาย และชอบการถกเถียงอย่างมีสติปัญญา ชอบที่จะท้าทายบรรทัดฐานเดิมๆ และมีทักษะในการคิดนอกกรอบ อย่างไรก็ตาม คน ENTP อาจถูกมองว่าในการถกเถียงโต้แย้งนั้นดูแล้วไม่เป็นระเบียบสักเท่าไหร่ และมีแนวโน้มที่จะเป็นคนผัดวันประกันพรุ่งได้ (Procrastinators)
จุดแข็งของคน ENTP
- หัวคิดสมัยใหม่
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ENTP เป็นที่รู้จักในแนวทางการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของพวกเขานั้นช่วยให้คิดวิธีแก้ปัญหาทั่วไปได้อย่างรวดเร็วได้ในทันที - เจ้าความคิด
สามารถเชื่อมโยงและดึงโปรเจ็กต์ต่างๆมารวมกันได้ ด้วยความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อมอบผลลัพธ์ที่ดีที่สุด - เป็นนักวิเคราะห์และนักกลยุทธ์
ความสามารถในการค้นหารูปแบบและวางกลยุทธ์ พวกเขามีทักษะและความสามารถในเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกที่ผู้อื่นอาจมองข้ามไป - ทักษะการสื่อสารที่ยอดเยี่ยม
รูปแบบการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาประหนึ่งนักโต้วาที มีความชัดเจน ฉะฉาน มั่นใจ ไม่สื่อสารอะไรให้เกิดความคลุมเครือ - ไหวพริบดีและฉลาด
สามารถสร้างความสัมพันธ์กับทีมได้อย่างรวดเร็วโดยใช้อารมณ์ขันแบบธรรมชาติ และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เก่ง
จุดอ่อนของคน ENTP
- ผัดวันประกันพรุ่ง
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ENTP มักจะเป็นคนผัดวันประกันพรุ่งและอาจกลายเป็นอาการแบบเรื้อรังได้ โดยหากงานนั้นดูน่าเบื่อในสายตาของพวกเขางานนั้นๆก็จะถูกเลื่อนออกไปให้นานที่สุด - ความไม่เป็นระเบียบ
ธรรมชาติของสมองของคน ENTP จะคิดแบบกระจัดกระจาย ซึ่งอาจส่งผลให้ขาดการจัดระเบียบในชีวิตส่วนตัวและในอาชีพการงานได้ - ชอบโต้แย้ง
ด้วยความเป็นนักโต้วาทีทำให้มักถูกมองว่าเป็นคนชอบโต้แย้งและมีความก้าวร้าว - ไม่ชอบอะไรแบบเดิมๆ
คนประเภทนี้มองว่างานในวันต่อวันดูเป็นเรื่องธรรมดาน่าเบื่อ ซึ่งอาจประสบปัญหาในลักษณะของการทำงานประจำ เกิดเบื่อหน่ายกับกิจกรรมที่ซ้ำซาก
ลักษณะบุคลิกภาพของคนประเภท ENTP กับการทำงาน
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ENTP ใช้แนวทางเชิงรุกในทำงานและจะทำโครงการต่างๆให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว บุคลิกภาพของนักโต้วาทีสนุกกับการชักจูงผู้อื่นด้วยการสร้างตนเองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ และพวกเขาให้ความสำคัญกับงานที่ทำโดยมองเรื่องการพัฒนาความรู้และทักษะอย่างต่อเนื่อง และยังสนุกกับการทำงานร่วมกับผู้อื่น ชอบแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนร่วมงาน ส่งเสริมการทำงานเป็นทีมและอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการทำงานร่วมกันข้ามสายงานเพื่อเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ให้สูงสุด
ด้วยการชอบความยืดหยุ่นและความเป็นธรรมชาติ จึงไม่ชอบโครงสร้างและตารางเวลาที่เข้มงวด ซึ่งอาจนำไปสู่ความท้าทายในการประสานงานงานและการจัดการแผนงานภายในทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมที่มีระบบ ระเบียบ โครงสร้าง หรืออะไรที่ต้องขับเคลื่อนตามกำหนดเวลา
ENFJ – Protagonists
(Extraverted, Intuitive, Feeling, Judging)

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ENFJ หรือ “ตัวละครเอก / พระเอก” (Protagonists) มีความโดดเด่นโดยธรรมชาติที่ชอบเห็นแก่ผู้อื่นและค่อนข้างมีมีอิทธิพลต่อผู้อื่น บุคลิกภาพประเภทนี้แสดงถึงลักษณะของคนที่เปิดเผย มีสัญชาตญาณ ความรู้สึก และชอบการพิพากษา ด้วยความเป็นตัวเอกที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นนั้น ก็มักจะถูกขับเคลื่อนด้วยความรู้สึก อุดมคติ และศีลธรรมอันแรงกล้า มีความเป็นผู้นำโดยกำเนิด คน ENFJ ถนัดการโน้มน้าวใจและมุ่งมั่นที่จะให้ผู้อื่นได้แต่สิ่งดีๆ
จุดแข็งของคน ENFJ
- ผู้นำโดยธรรมชาติ
ด้วยความที่เกิดมาเป็นผู้นำพวกเขานำความสามารถพิเศษ รวมถึงวิธีการแนะนำที่ดูอ่อนโยนมาสู่ทุกคนในทีม ความเป็นผู้นำของคน ENFJ จะใช้แนวทางการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น - ความเห็นอกเห็นใจ
ความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะช่วยเหลือและยกระดับผู้อื่น เพื่อทำให้ผู้อื่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในบทบาทที่ต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในตำแหน่งสูงๆ - การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก
ด้วยสำนึกในหน้าที่และความเอาใจใส่เป็นอย่างมาก คน ENFJ จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมและโครงการที่ขับเคลื่อนด้านจริยธรรม พวกเขามักจะอยู่ในระดับแถวหน้าของโครงการ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทางสังคม - นักสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ENFJ มีความรู้สึกที่ค่อนข้างไวต่อเรื่องต่างๆ และเป็นคนช่างพูดช่างเจรจา ทำให้คน ENFJ เป็นนักสื่อสารที่ยอดเยี่ยม โดยพวกเขาเก่งและถนัดในการแสดงความคิด และเป็นการแสดงอย่างให้ความเคารพ
จุดอ่อนของคน ENFJ
- ความเพ้อฝัน
แม้ว่าธรรมชาติของคน ENFJ ที่มีความเป็นผู้นำสูงและคาดหวังว่าทุกอย่างจะสำเร็จได้ด้วยดี แต่บางครั้งก็อาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้คิดเกินเลยอยู่ในความฝันแบบไม่สมเหตุสมผล ซึ่งนำไปสู่ความผิดหวังหรือความคับข้องใจ - เชื่อมั่นจนเกินไป
บางครั้งความเชื่อมมั่นจนเกินเหตุอาจนำไปสู่การครอบงำผู้อื่น โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่ได้เห็นดีเห็นงานด้วยซะทุกเรื่อง - คิดมากและมีความเป็นศิลปิน
ความปรารถนาที่อยากจะทำให้ทุกอย่างออกมาดี อาจนำไปสู่ความยืดเยื้อแบบไม่รู้จบ หากไม่มีการกำหนดขอบเขตที่เหมาะสม
ลักษณะบุคลิกภาพของคนประเภท ENFJ กับการทำงาน
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ENFJ เป็นที่ดูคนอบอุ่น คนในอุดมคติ มีเสน่ห์ มีความสร้างสรรค์ และชอบเข้าสังคม คนประเภทนี้จึงประสบความสำเร็จในบทบาทที่หลากหลาย และยิ่งไปกว่านั้นพวกเขามักจะเป็นที่ชื่นชอบของทุกๆคน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สามารถขับเคลื่อนพวกเขาให้ประสบความสำเร็จเมื่อมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับผู้อื่น
พวกเขาอาจมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน คน ENFJ ชอบที่จะปฏิบัติตามแผนที่วางไว้และอะไรที่ดูสบายๆไม่บังคับกัน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจึงมีแนวโน้มที่จะทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกอึดอัดได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคน ENFJ มีโอกาสที่จะปรับทัศนคติและเริ่มคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง ก็จะกลับมารู้สึกเป็นปกติอีกครั้ง
ENFP – Campaigners
(Extraverted, Intuitive, Feeling, Perceiving)

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ENFP ที่เราเรียกว่า “นักรณรงค์” หรือ “นักต่อสู้” (Campaigners) ได้รับการยกย่องเรื่องความกระตือรือร้นสูง เป็นคนที่ร่าเริงและมีความคิดสร้างสรรค์อย่างไร้ขอบเขต ซึ่งเป็นที่รู้จักด้านความสามารถในการปรับตัวและพร้อมจะสำรวจแนวคิดใหม่ๆ โดยทั่วไปแล้วพวกเขาจะเก่งในสภาพแวดล้อมที่เปิดรับสิ่งใหม่ๆและให้อิสระในการคิดนอกกรอบ ลักษณะเหล่านี้สามารถเติมเต็มพลังให้กับเขาและจูงใจทั้งทีมได้
จุดแข็งของคน ENFP
- ทักษะการสื่อสารที่ยอดเยี่ยม
คนกลุ่ม ENFP มักจะแสดงความคิดของตนเองอกมาอย่างชัดเจน นั่นทำให้พวกเขาเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ และเป็นคนที่สามารถโน้มน้าวใจสมาชิกในทีมได้เป็นอย่างดี - นักคิดนักสร้างสรรค์สมัยใหม่
พวกเขามักจะประสบความสำเร็จในการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ และมักจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่มีความท้าทายที่ไม่เหมือนใคร - ความเห็นอกเห็นใจ
ความสามารถในการเข้าใจมุมมองของผู้อื่น ทำให้เหมาะสมกับบทบาทที่ต้องพบปะกับลูกค้า หรือสภาพแวดล้อมที่ต้องใช้การทำงานเป็นทีม - ความกระตือรือร้น
คน ENFP จะมีพลังงานค่อนข้างสูงในการกระตุ้นและยกระดับคนรอบข้างได้
จุดอ่อนของคน ENFP
- ไม่ชอบความจำเจ
การทำงานซ้ำๆกันในแบบเดิมๆอาจทำให้ความเป็นนักรณรงค์ เกิดความเบื่อหน่ายขาดแรงกระตุ้น จนส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง - ไวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์
คน ENFP มีความไวต่อคำวิจารณ์จากคนอื่นๆ โดยยังพอที่จะรับคำพูดต่างๆด้วยตัวเองได้ แต่ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะอาจมีแนวโน้มที่จะกลัวคำวิจารณ์ในเชิงลบ ทำให้ความภาคภูมิใจในตัวเองลดลง มองโลกในแง่ร้าย และเกิดอาการซึมศร้าได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขา - ไม่ชอบอะไรที่เป็นโครงสร้าง
ในสภาพแวดการทำงานที่มีโครงสร้างหรืออะไรที่เข้มงวด อาจจะทำให้เกิดความหงุดหงิดใจได้
ลักษณะบุคลิกภาพของคนประเภท ENFP กับการทำงาน
บุคลิกภาพแบบนี้อาจสะดุดกับความมุ่งมั่นที่มากจนเกินไป และอาจต้องการความช่วยเหลือในการบริหารจัดการกับเรื่องนี้ เพราะความกระตือรือร้นที่เต็มเปี่ยมของพวกเขาอาจส่งผลเชิงลบได้ การเจอกับข้อจำกัดบางอย่างที่เคร่งครัดและเมื่อแรงบันดาลใจนั้นหมดลง ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานได้ ดังนั้นการทำงานจากระยะไกล (Remote Work) หรือการได้ออกไปใช้ความคิดสร้างสรรค์นอกสถานที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเจรจาและการสื่อสารอยู่บ่อยๆ ก็จะทำให้คน ENFP สามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีและมีค่าได้
ESTJ – Executives
(Extraverted, Sensing, Thinking, Judging)

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ESTJ หรือที่มักเรียกกันว่า “ผู้บริหาร” (Executives) นับเป็นหนึ่งในบุคลิกภาพ 16 ประเภท ซึ่งได้รับการยอมรับในด้านคุณสมบัติความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง มีทักษะในการจัดองค์กร และการมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน คน ESTJ มักจะทำงานได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีโครงสร้างมีระบบชัดเจน ซึ่งพวกเขาสามารถแสดงวิสัยทัศน์ (Vision) ที่ชัดเจนและแสดงถึงความเด็ดขาดได้ แต่ความชอบในเรื่องกฎระเบียบและธรรมเนียมประเพณีแบบสุดๆ ก็อาจสร้างความขัดแย้งกับสภาพแวดล้อมที่ยืดหยุ่นดูสบายๆอยู่บ้าง
จุดแข็งของคน ESTJ
- ความเป็นผู้นำและการมีอำนาจ
กลุ่มคน ESTJ โดดเด่นในฐานะบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือสูง มีความสามารถในการประสานงานกับทีมต่างๆ และความสามารถในการบริหารทรัพยากรอย่างเชี่ยวชาญ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้วยความแม่นยำและมีประสิทธิภาพ - ทักษะในการจัดองค์กร
เก่งในการสร้างและจัดการคำสั่ง การวางแผนงาน และการตั้งวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน - ความอุทิศตนและความโดดเด่นด้านความสามารถ
เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับหน้าที่อย่างสูงสุด มีความน่าเชื่อถือมาก และปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาอย่างจริงจัง - เน้นปฏิบัติ
รู้วิธีในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง โดยเลือกใช้วิธีที่ผ่านการทดสอบมาแล้ว มากกว่าการคิดในเชิงทฤษฎี - การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา
ให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์และความตรงไปตรงมา เพื่อให้มั่นใจว่าทุกๆการมีส่วนร่วมกับทุกๆคนนั้นมีความชัดเจน
จุดอ่อนของคน ESTJ
- ยึดมั่นใจความคิดตัวเองจนเกินไป
คุณอาจต้องต่อสู้กับการปรับตัวให้เข้ากับวิธีการใหม่ๆที่แตกต่างจากแบบเดิมๆ เพราะคุณมักจะยึดติดกับความคิดที่ว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อยู่เสมอ - ไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ
คนกลุ่ม ESTJ อาจกลายเป็นคนใจร้อนได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ไม่มีทิศทางหรือโครงสร้างที่ชัดเจน - ควบคุมอารมณ์ไม่เก่ง
เป็นเรื่องยากที่จะจัดการกับสถานการณ์ที่ต้องใช้ความเห็นอกเห็นใจ หรือความอ่อนไหวทางอารมณ์ในระดับสูง - ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
มีแนวโน้มที่จะต่อต้านกับความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการเปลี่ยนแปลงนั้นท้าทายบรรทัดฐาน กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือขั้นตอนที่กำหนดไว้ - ถูกมองว่าเผด็จการเกินไป
บางครั้งรูปแบบความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งก็อาจถูกมองเป็นผู้ที่มีอิทธิพลครอบงำผู้อื่น
ลักษณะบุคลิกภาพของคนประเภท ESTJ กับการทำงาน
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ESTJ เป็นคนที่มีความเด็ดขาด และจำเป็นต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้พวกเขากำหนดโครงสร้างและนำทีมไปสู่ผลลัพธ์ที่จับต้องได้ พวกเขามักจะจัดการกับงานต่างๆด้วยกรอบความคิดเชิงตรรกะและมีความเป็นระบบ โดยให้ความสำคัญกับเรื่องของประสิทธิภาพและประสิทธิผล คน ESTJ จะจัดลำดับความสำคัญตามลำดับเวลาที่ชัดเจน ตามบทบาทที่กำหนดไว้ และมีเป้าหมายที่วัดผลได้ เน้นความรับผิดชอบและมาตรฐานระดับสูง มีความสามารถในการวางแผนเชิงกลยุทธ์และความใส่ใจในรายละเอียด ซึ่งเหมาะกับองค์กรที่ต้องการความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง มีความพิถีพิถัน และแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน แต่ก็อาจจะขาดความยืดหยุ่นและมนุษยสัมพันธ์ไปบ้าง ซึ่งอาจทำให้บรรยากาศในการทำงานนั้นมีความกดดันมากเป็นพิเศษ
ESTP – Entrepreneurs
(Extraverted, Sensing, Thinking, Perceiving)

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ESTP หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ผู้ประกอบการ” (Entrepreneurs) นับเป็นบุคลิกที่มีความโดดเด่นด้วยลักษณะที่กระตือรือร้น มุ่งเน้นการลงมือปฏิบัติ และทักษะการแก้ปัญหาเชิงปฏิบัติ โดยพวกเขาจะเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่ต้องการการคิดอย่างรวดเร็วและการปรับตัวอย่างฉับไว คนประเภทนี้มีความชอบอิสระเป็นธรรมชาติ ซึ่งอาจขัดแย้งกับสภาพแวดล้อมในแบบที่มีโครงสร้างชัดเจนหรืออะไรที่ต้องวางแผนในระยะยาว
จุดแข็งของคน ESTP
- ทักษะเชิงปฏิบัติและการแก้ปัญหา
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ESTP จะเชี่ยวชาญในการทำงานกับสถานการณ์ที่ซับซ้อน ด้วยแนวทางในเชิงกลยุทธ์และดำเนินการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพได้ในทันที - ความสามารถในการปรับตัว
ถือว่าเป็นคนเก่งในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไว สามารถปรับตัวเข้ากับความท้าทายใหม่ๆด้วยความมั่นใจ - ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
มีเสน่ห์และสามารถโน้มน้าวใจได้ดี สามารถสื่อสารและเจรจาต่อรองอย่างมีประสิทธิภาพในสังคมรูปแบบต่างๆ - จิตวิญญาณของผู้ประกอบการ
มีไหวพริบและความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการโดยธรรมชาติ มักจะใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และยอมรับความเสี่ยงในการแสวงหาอะไรใหม่ๆในชีวิต - เน้นการปฏิบัติ
เป็นคนมุ่งเน้นในเรื่องการปฏิบัติ ชอบงานที่ต้องลงมือปฏิบัติจริง และการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์มากกว่าการพูดในเชิงทฤษฎี
จุดอ่อนของคน ESTP
- ไม่อดทนต่อการวางแผนอย่างละเอียด
การวางแผนโดยละเอียดและงานวิเคราะห์ที่ยืดเยื้อและใช้เวลานาน ถือเป็นข้อจำกัดของคน ESTP ค่อนข้างมาก - หลีกเลี่ยงงานประจำ
พวกเขาจะแสวงหาความหลากหลายและความตื่นเต้นในงานของตน การทำงานประจำนานๆอาจทำให้ประสิทธิภาพในตัวเองลดลงเป็นอย่างมาก - แนวโน้มการกล้าเสี่ยง
ด้วยความชอบอะไรที่ตื่นเต้นอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่มีความเสี่ยง ซึ่งบางครั้งก็มองข้ามผลที่ตามมาที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว - ไม่ชอบอะไรที่ถูกจำกัด
ค่อนข้างอึดอัดเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นระบบ และมีโครงสร้างการทำงานที่เข้มงวด มันทำให้พวกเขารู้สึกว่าไม่มีอิสระในการทำงานเอาเสียเลย - สื่อสารแบบตรงไปตรงมา
ด้วยความที่เป็นคนชัดเจนชอบสื่อสารแบบตรงประเด็นซึ่งก็มักจะได้ผลเป็นอย่างดี แต่บางครั้งอาจมองว่ารุนแรงหรือตรงเกินไปจนกลายเป็นทำร้ายจิตใจคนอื่นๆ
ลักษณะบุคลิกภาพของคนประเภท ESTP กับการทำงาน
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ESTP เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของการลงมือปฏิบัติและการทุ่มเทใช้พลังงาน เป็นคนที่นำคำพูดและแผนการไปสู่การปฏิบัติแบบรวดเร็วและไม่มีเวลาสำหรับการครุ่นคิด การทำสิ่งต่างๆสามารถปรับเปลี่ยนได้ในขณะที่ดำเนินไป และหลายๆครั้งก็มักเกิดข้อผิดพลาดทำให้ต้องมานั่งตามแก้ไขเอาทีหลัง คน ESTP มีแนวโน้มที่จะลงมือปฏิบัติจริงไม่ค่อยสนพิธีการและไม่ค่อยสนใจกับหลักเกณฑ์สักเท่าไหร่ แม้ว่าความกล้าหาญที่มีสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ แต่คุณลักษณะนี้สามารถทำให้พวกเขามีความเสี่ยงในการทำงานได้ และในบางครั้งการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วอาจนำไปสู่ความไม่อดทนกับผู้อื่น และทำให้โครงสร้างทีมนั้นพังทลายลงได้
แต่ด้วยทักษะทางสังคมที่ยอดเยี่ยมคนประเภทนี้มักจะก้าวหน้า เมื่อได้ทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับการพบปะและการเชื่อมต่อพูดคุยกับผู้คน ดังนั้นการให้โอกาสในการสร้างเครือข่ายจึงเป็นแนวคิดที่ดีสำหรับคนประเภทนี้
ESFJ – Consuls
(Extraverted, Sensing, Feeling, Judging)

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ESFJ ที่เรียกว่า “กงสุล” (Consuls) มีลักษณะนิสัยที่ชอบการเลี้ยงดูอีกทั้งยังช่วยเพิ่มการทำงานร่วมกันของทีม และด้วยความชอบเข้าสังคมและแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น พวกเขามักวางแผนล่วงหน้าในการทำอะไรก็ตามให้ทุกคนรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ คนประเภทนี้เคารพในเรื่องลำดับชั้นมาก และมักจะแสดงความอบอุ่นและความภักดีต่อคนรอบข้างในทุกๆโอกาส โดยสิ่งที่พวกเขาทำนั้นก็เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น
จุดแข็งของคน ESFJ
- การสื่อสาร
ด้วยการที่เป็นคนเปิดเผยและมีความฉลาดทางอารมณ์ ทำให้พวกเขาเป็นนักสื่อสารที่ยอดเยี่ยม และยังเป็นผู้นำโดยธรรมชาติอีกด้วย พวกเขาจึงสามารถทำให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกัน และสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในทีมได้ - ความเห็นอกเห็นใจ
คน ESFJ จะใส่ใจต่อความต้องการและความรู้สึกของผู้อื่น ทำให้พวกเขาสามารถแก้ไขข้อขัดแย้งและรักษาบรรยากาศการทำงานเชิงบวกได้ดี - เป็นระเบียบและพึ่งพาได้
พวกเขามักจะทำงานอย่างหนักซึ่งมาจากการมีระเบียบวินัยอย่างดี จนส่งผลให้การทำงานนั้นเสร็จตรงเวลา - มีจรรยาบรรณอย่างแท้จริง
คน ESFJ ช่วยทำให้สถานที่ทำงานอยู่ในร่องในรอย ทำงานได้ดีทั้งตัวคนเดียวและการทำงานเป็นทีม พวกเขายังเคารพผู้มีอำนาจ เคารพความเป็นระบบระเบียบ ไม่เอาเปรียบและไม่ส่งเสริมให้ทำอะไรผิดๆ
จุดอ่อนของคน ESFJ
- แนวโน้มที่จะทำงานหนักเกินไป
บางครั้งกลุ่มคนลักษณะแบบ ESFJ จะทำงานมากจนเกินไป และไม่ต้องการสร้างภาระให้ผู้อื่นด้วยการมอบหมาย - การหลีกเลี่ยงการสร้างความรู้สึกอึดอัดใจ
ด้วยความชอบที่จะเปลี่ยนแปลงทีมงานอย่างราบรื่น แต่ก็อาจเป็นตัวขัดขวางเรื่องการสื่อสารได้เช่นกัน พวกเขาอาจลังเลที่จะแสดงความคิดของตัวเองถ้ามันจะทำให้ใครบางคนเจ็บปวด แม้ว่าจะเป็นการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ก็ตาม - ไม่ค่อยชอบความยืดหยุ่นที่มากเกินไป
คน ESFJ จะชอบทำงานที่เป็น Routine ที่เห็นแนวทางที่ชัดเจนมากกว่า หรือเรียกได้ว่าไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลงใดๆ และหากเจออะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ ก็อาจเกิดปัญหาในการปรับตัวได้ - อ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์
ค่อนข้างอ่อนไหวกับคำวิพากษ์วิจารณ์ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดูเป็นแนวทางสร้างสรรค์ก็ตาม และหากต้องพูดจากันก็ต้องคุยกันเป็นการส่วนตัว ส่งผลต่อการเติบโตทางอาชีพและความสามารถในการปรับตัวได้
ลักษณะบุคลิกภาพของคนประเภท ESFJ กับการทำงาน
ด้วยความรับผิดชอบต่อหน้าที่อันแข็งแกร่ง ทำให้พนักงานกลุ่ม ESFJ นั้นมีความภักดีสูง และก็ไม่ชอบรุกรานใคร ไม่ชอบสร้างความไม่พึงพอใจให้กับใคร อีกทั้งยังมีความสามารถในการทำงานเป็นทีมสูงมาก ซึ่งหมายความว่าบางครั้งพวกเขาหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่คนอื่นคิดเกี่ยวกับพวกเขามากเกินไป (เป็นคนคิดมาก) ซึ่งอาจกลายเป็นจุดอ่อนได้ นอกจากนั้นคำวิพากษ์วิจารณ์จะไม่ส่งผลดีต่อพวกเขา (อ่อนไหวและรับไม่ได้) และพวกเขาก็จะไม่เต็มใจที่จะปรับตัวหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ESFJ จะประสบความสำเร็จมากที่สุดในงานเกี่ยวกับการเข้าสังคม เพราะคุณจะแน่ใจได้ว่าจะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างอ่อนโยน ซึ่งทำให้พวกเขานั้นรู้สึกไม่ประหม่าและรับได้ และควรแสดงความขอบคุณสำหรับงานที่พวกเขาทำเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ และเพิ่มความรู้สึกอบอุ่นและความตั้งใจที่ดีในการทำงานร่วมกัน
ESFP – Entertainers
(Extraverted, Sensing, Feeling, Perceiving)

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ESFP มีลักษณะพิเศษในด้านการรับรู้ความรู้สึก ซึ่งหมายความว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะเข้าสังคมได้อย่างเป็นธรรมชาติ และยังปรับตัวเข้ากับอารมณ์ในสถานการณ์ต่างๆได้เป็นอย่างดี หรือที่เรียกว่า “ผู้สร้างความบันเทิง” (Entertainers) พวกเขามักจะนำพลังงานและทัศนคติเชิงบวกมาสู่ทุกๆที่ เป็นคนที่มีความกระตือรือร้นในการเข้าสังคมและชอบทำกิจกรรม นั่นจึงทำให้พวกเขาเป็นหนึ่งในทีมงานที่ยอดเยี่ยม คน ESFP ชอบที่จะเป็นศูนย์กลางของความสนใจ และยังเชี่ยวชาญในการอ่านอารมณ์ของคนอื่นๆได้อีกด้วย
จุดแข็งของคน ESFP
- ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
คน ESFP มีความสามารถในการสื่อสารโดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความเชี่ยวชาญของพวกเขามีส่วนสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงของทีม - ความสนุกสนานและความเป็นธรรมชาติ
ด้วยความที่มีทัศนคติเชิงบวกทำให้พวกเขามีแรงจูงใจโดยธรรมชาติ และมีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศในที่ทำงานให้มีชีวิตชีวา ความสามารถของพวกเขาในการจูงใจและเติมเต็มพลังให้ผู้อื่น ช่วยทำให้พวกเขากลายเป็นผู้นำที่มีเสน่ห์ - ปรับตัวเก่ง
คน ESFP ทำงานได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และบางอย่างต้องอาศัยการตัดสินใจด้วยตัวเอง คุณสมบัติเหล่านี้ช่วยให้พวกเขาก้าวผ่านความไม่แน่นอนและเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆได้ - ทำงานเป็นทีม
คน ESFP จะประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมของการทำงานทีม ชอบให้การสนับสนุนเพื่อนร่วมทีมและมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน และด้วยความกระตือรือร้นและทัศนคติเชิงบวกของพวกเขา ก็เป็นประโยชน์อย่างมากในการจูงใจผู้อื่น - ความคิดสร้างสรรค์
ด้วยความชื่นชอบในความสวยงามและมีหัวคิดแบบสร้างสรรค์ คน ESFP จะมีส่วนร่วมในการคิดนอกกรอบและการแก้ปัญหาเชิงพัฒนาอยู่เสมอ สิ่งนี้สามารถนำมุมมองใหม่ๆมาสู่การสร้างอะไรดีๆในอนาคตได้ - ความกล้าที่ไม่แพ้ใคร
ไม่กลัวที่จะก้าวออกจาก Comfort Zone และสามารถสร้างผลลัพธ์ที่น่าประทับใจได้
จุดอ่อนของคน ESFP
- หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
แม้ว่ากลุ่มคน ESFP จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการทำงานร่วมกัน แต่พวกเขาไม่ชอบความขัดแย้งใดๆและมักจะพาตัวเองออกจากสถานการณ์เหล่านั้น แม้จะเป็นปัญหาสำคัญมากขนาดไหนก็ตาม - ความยากในการดำเนินการตามแผนระยะยาว
ด้วยความรักในความเป็นธรรมชาติและความเป็นอิสระ อาจส่งผลให้เกิดการตัดสินใจที่เร่งรีบมากเกินไป ซึ่งจะเป็นเรื่องยากในการดำเนินการตามและทำตามแผนระยะยาว - เบื่อง่าย
คน ESFP มักมองหาความหลากหลายและสร้างการมีส่วนร่วมอยู่เสมอ ที่อาจรู้สึกเบื่อหน่ายกับงานประจำที่ต้องทำแบบซ้ำๆ และพวกเขาไม่ชอบการทำงานแบบไม่เห็นหน้ากัน เพราะขาดซึ่งการสร้างปฏิสัมพันธ์ใดๆที่เป็นแหล่งพลังงานชั้นดี ดังนั้นงานประเภทที่ต้องประชุมแบบ Remote Working หรือ Work From Home อาจทำให้เกิดอาการอึดอัดอยู่บ้าง - อ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์
แม้ว่าคน ESFP จะสามารถรับฟังความคิดเห็นแบบเป็นการส่วนตัว และโต้ตอบทางอารมณ์ได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างใหญ่หลวง หากอยู่ในสถานการณ์ที่มีโครงสร้างชัดเจนและมีการวิพากษ์วิจารณ์แบบตรงไปตรงมา
ลักษณะบุคลิกภาพของคนประเภท ESFP กับการทำงาน
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ESFP มักจะมีความตื่นเต้นและมีพลังงานเหลือล้นที่จะมอบให้กับผู้อื่น และเป็นคนที่ชอบเข้าสังคมอย่างไม่ต้องสงสัย พวกเขาอ่อนไหวต่ออารมณ์ของผู้อื่นและมักจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งต่างๆ คน ESFP มีแนวโน้มที่จะเป็นคนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สามารถทำงานเป็นทีมได้ดี ทำให้ใครก็ตามที่ได้ร่วมงานนั้นก็ต่างสนุกสนานไปด้วย
แต่ด้วยความน่าประทับใจเหล่านี้ก็อาจนำไปสู่การละเลยงานพื้นฐานด้านอื่นๆในที่ทำงาน เพราะเป็นคนไม่ชอบการวางแผนระยะยาวซึ่งอาจส่งผลต่อการวางแผนความสำเร็จในระดับองค์กรได้ และด้วยการที่หลีกเลี่ยงความขัดแย้งอาจสะท้อนได้อีกว่า ถ้าอะไรที่จะทำให้เขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก ก็ยอมที่จะหนีมากกว่าการเผชิญหน้าซึ่งอาจทำให้ขาดประสิทธิภาพเกี่ยวกับภาวะผู้นำในด้านการแก้ไขปัญหาได้
INTJ – Architects
(Introverted, Intuitive, Thinking, Judging)

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ INJT หรือที่เรียกว่า “สถาปนิก” (Architects) ถือเป็นที่รู้จักในด้านความคิดเชิงลึกและเก่งการวางแผนเชิงกลยุทธ์ มีระดับความเข้มงวดทางสติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์สูงมาก ที่สามารถเป็นตัวเปลี่ยนเกมให้กับทุกองค์กร พวกเขามีความรอบรู้ มีความคิดที่ดูทันสมัย และมีความมั่นใจ โดยชอบแนวทางที่มีโครงสร้างมากกว่า ความท้าทายของพวกเขาอยู่ในด้านการเข้าสังคมและเรื่องของอารมณ์ และบางครั้งอาจมีการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์มากจนเกินไป
จุดแข็งของคน INTJ
- การคิดเชิงวิเคราะห์และเชิงกลยุทธ์
คน INTJ เก่งในการวิเคราะห์สถานการณ์และพัฒนากลยุทธ์ในระยะยาว ความสามารถในการมองเห็นภาพรวมจะช่วยในการวางแผนที่มีประสิทธิภาพได้ - มีสติปัญญาสูง
พวกเขามีความอยากรู้อยากเห็นโดยธรรมชาติ เพลิดเพลินและสนุกสนานกับการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน และมักมีฐานความรู้ที่กว้างขวาง - ชอบอิสระและมั่นใจในตนเอง
คน INTJ เป็นคนที่มีความมั่นใจในความสามารถของตนเองและชอบทำงานแบบอิสระ - มีความคิดแบบไม่เหมือนใคร
คนประเภทนี้มักจะมาพร้อมกับวิธีแก้ไขปัญหาในแบบเฉพาะตัว ที่หลายๆครั้งก็เกินความคาดหมาย - ความมุ่งมั่นและเด็ดขาด
เมื่อพวกเขากำหนดแผนงานได้อย่างชัดเจนแล้ว พวกเขาก็ใช้มีสมาธิและมุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้สำเร็จให้ได้
จุดอ่อนของคน INTJ
- การเข้าสังคม
คน INTJ อาจไม่ถนัดกับการเข้าสังคม และบางครั้งอาจดูเหมือนเป็นคนโดดเดี่ยว หรืออาจถูกมองว่าไร้ความรู้สึก - ความดื้อรั้น
ด้วยความมั่นใจในสติปัญญามากเป็นพิเศษ อาจทำให้พวกเขาไม่ยอมรับมุมมองของคนอื่นได้ - ขบคิดมากจนเกินไป
แม้ว่าการวิเคราะห์จะเป็นสิ่งที่ดีในขั้นตอนการวางแผน แต่บางครั้งการวิเคราะห์มากเกินไปก็อาจนำไปสู่การไม่ดำเนินการหรือการตัดสินใจล่าช้าได้ เพราะยังไม่แน่ใจว่าสิ่งที่วิเคราะห์มานั้นถูกต้องมากขนาดไหน - เถรตรงในคำพูดมากจนเกินไป
ด้วยความที่เป็นคนมาตรฐานสูงเป็นคนตรงๆ อาจวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นจนมากเกินพอดีได้ - อารมณ์คือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่
คน INTJ ไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ไม่ว่าจะทั้งของตัวเองและของผู้อื่น ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ท้าทายคน INTJ มากๆ
ลักษณะบุคลิกภาพของคนประเภท INTJ กับการทำงาน
คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้ค่อนข้างหายากที่มีทั้งความสามารถและความรอบคอบ พวกเขามีแนวโน้มที่จะวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ และมีความตั้งใจที่เข้มแข็งมุ่งมั่น ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเป็นหนึ่งในผู้ที่ชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ และมีแนวโน้มที่จะเชี่ยวชาญในทุกๆสิ่งที่พวกเขาตั้งใจจะทำ แต่ธรรมชาติของคนประเภทนี้จะมีความเป็นตัวเองและมีความเป็นส่วนตัวสูง ทำให้การเข้าสังคมและการที่ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่เน้นเรื่องอารมณ์ดูเป็นเรื่องยาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคน INTJ วิพากษ์วิจารณ์ใครขึ้นมา ก็มักถูกมองว่าเป็นคนที่ดูหยิ่งยโสเพราะความเป็นคนตรงๆและชัดเจน
แม้ว่าการทำงานเป็นทีมอาจเป็นอุปสรรคอยู่บ้างสำหรับพวกเขา แต่คุณลักษณะเหล่านี้ก็เหมาะกับการทำงานจากที่บ้าน ที่ต้องใช้เวลาครุ่นคิดและใช้ความละเอียดรอบคอบ แต่ด้วยความมั่นใจในตนเองก็อาจทำให้เขามองไม่เห็นมุมมองดีๆจากคนอื่นๆได้ด้วยเช่นเดียวกัน
INTP – Logicians
(Introverted, Intuitive, Thinking, Perceiving)

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ INTP หรือที่เราเรียกว่า “นักตรรกศาสตร์ / นักตรรกวิทยา” (Logicians) มีชื่อเสียงในด้านความคิดสร้างสรรค์และทักษะการแก้ไขปัญหา และด้วยสติปัญญาที่เข้มแข็งของตนเอง ก็อดไม่ได้ที่จะไขปริศนาความลึกลับในเรื่องต่างๆ คน INTP มักจะชอบความสันโดษที่สามารถจมอยู่กับความคิดของตัวเองได้ตลอดเวลา และไม่กลัวที่จะแสดงวิธีคิดที่แปลกใหม่หรือโดดเด่นจากคนอื่นๆ
จุดแข็งของคน INTP
- นักแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ INTP มีทั้งความคิดสร้างสรรค์และตรรกอยู่ในตัว มีความอยากรู้อยากเห็น พวกเขาเป็นนักวิเคราะห์โดยธรรมชาติที่เก่งในการตรวจสอบปัญหาที่ซับซ้อน และคิดหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สิ่งนี้ทำให้พวกเขามีคุณค่าในการทำงานที่จำเป็นต้องมีการคิดเชิงกลยุทธ์ และการวิเคราะห์โดยละเอียด - จริงจังมุ่งมั่น
ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของคน INTP คือ การมุ่งสมาธิไปยังสิ่งที่พวกเขาสนใจอย่างจริงจัง ด้วยการจะเจาะลึกประเด็นและหัวข้อต่างๆให้ถึงแก่นและสำรวจทุกแง่มุม ความมุ่งมั่นเหล่านี้จะนำไปสู่ความก้าวหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยี การวิจัย และสาขาอื่นๆ ที่ให้คุณค่ากับความคิดสร้างสรรค์ - ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา
แม้ว่าคน INTP จะมีความเป็นอิสระสูง แต่พวกเขาก็ยังสนุกกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ที่มีความสนใจเหมือนกัน โดยปกติพวกเขาจะรู้สึกสบายใจที่สุดเมื่ออยู่ในกลุ่มเล็กๆหรือการสนทนาแบบตัวต่อตัว ซึ่งพวกเขาสามารถหารือเกี่ยวกับแนวคิดในเชิงลึกได้
จุดอ่อนของคน INTP
- ค่อนข้างสันโดษไม่สนใคร
ด้วยความที่คน INTP ชอบใช้ตรรกะมากกว่าอารมณ์ บางครั้งก็อาจเป็นข้อจำกัดในที่ทำงานได้ หากต้องเจอสถานการณ์ทางอารมณ์ที่รุนแรง หรืออาจประสบปัญหาในการทำความเข้าใจความต้องการเชิงอารมณ์ของเพื่อนร่วมงาน และสิ่งนี้สามารถนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้ เสมือนว่าคน INTP นั้นดูไม่มีความรู้สึกใดๆ - ความสมบูรณ์แบบ
ความท้าทายอีกประการหนึ่งสำหรับคน INTP คือ การแสวงหาความสมบูรณ์แบบ โดยพวกเขามักจะมีมาตรฐานที่สูงมากสำหรับตัวเองรวมไปถึงงานที่พวกเขาทำ ซึ่งอาจนำไปสู่ความหงุดหงิดเป็นอย่างมากหากไม่สามารถบรรลุความสมบูรณ์แบบได้
ลักษณะบุคลิกภาพของคนประเภท INTP กับการทำงาน
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ INTP เป็นคนที่ใช้สติปัญญาของตนอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่พวกเขาเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว แต่จะเข้ากันได้ดีกับคนที่อยากรู้อยากเห็นในเรื่องเดียวกัน และชอบที่จะแลกเปลี่ยนความคิดกับคนที่มีความคิดเหมือนกัน และในฐานะที่เป็นคนที่มีการคิดเชิงวิเคราะห์สูง พวกเขามีสายตาที่ค่อนข้างเฉียบแหลมในรายละเอียดต่างๆ และมีความเชี่ยวชาญในการระบุข้อผิดพลาดต่างๆรวมถึงมีวิธีคิดในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
ด้วยความที่เป็นคนชื่นชอบในตรรกะก็อาจทำให้ไม่ถนัดในการจัดการกับเรื่องของอารมณ์ ซึ่งอาจนำไปสู่การความไม่อดทนหากต้องเจอกับสถานการณ์ลักษณะนี้ คนที่มีบุคลิกภาพแบบ INTP มักจะเป็นคนชอบความสมบูรณ์แบบ และอาจถูกมองว่าไร้ความปรานีโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นการส่งเสริมวิธีในการจัดการกับความผิดหวัง ก็อาจจะช่วยให้คน INTP กลับเข้ารูปเข้ารอยได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วสิ่งต่างๆในการทำงานมันไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอไป
INFJ – Advocates
(Introverted, Intuitive, Feeling, Judging)

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ INFJ หรือที่เรียกว่า “ผู้สนับสนุน” (Advocates) ถือเป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สติปัญญาเฉียบแหลม และมีความมุ่งมั่น ซึ่งถือเป็นส่วนเสริมที่ยอดเยี่ยมสำหรับการทำงาน คุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกเขามีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศเชิงบวกและความสามัคคี ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างเพื่อนร่วมทีม แต่อย่างไรก็ตามคน INFJ ก็เป็นผู้ที่มีจิตใจอ่อนไหวที่ต้องต่อสู้กับความขัดแย้ง หรือความท้าทายจากสถานการณ์ต่างๆที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
จุดแข็งของคน INFJ
- ความเห็นอกเห็นใจ
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ INFJ เป็นคนมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในระดับสูง ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับอารมณ์ของผู้อื่นและสามารถเชื่อมโยงกับคนรอบข้างได้ดี - ความมุ่งมั่น
คุณสามารถไว้วางใจคน INFJ ได้อยู่เสมอ เนื่องด้วยพวกเขามีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และอดทน แม้จะมีความท้าทายขนาดไหนก็ตาม - ขับเคลื่อนด้วยค่านิยม
คน INFJ มีความซื่อสัตย์และจะขับเคลื่อนด้วยค่านิยม พวกเขาจะตัดสินใจอย่างมีจริยธรรม และมีแนวโน้มที่จะเลือกงานที่สอดคล้องกับค่านิยมของพวกเขา - นักไกล่เกลี่ย
ด้วยการเอาใจใส่ที่เป็นลักษณะตามธรรมชาติ ทำให้พวกเขาเห็นมุมมองที่หลากหลาย และสามารถไกล่เกลี่ยเรื่องราวที่ขัดแย้งได้ดี
จุดอ่อนของคน INFJ
- เจ้าแห่งความสมบูรณ์แบบ
คน INFJ นับว่ามีมาตรฐานที่สูงมาก และในหลายๆครั้งก็นำไปสู่ความสมบูรณ์แบบที่สุด ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องที่ดีในการทำงานแบบมีคุณภาพ แต่บางครั้งความสมบูรณ์แบบของพวกเขา ก็สามารถขัดขวางความก้าวหน้าในการทำงานให้สำเร็จได้เช่นกัน - ไม่สามารถตัดสินใจได้
ด้วยความเป็นคนเก็บตัวซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของคน INFJ ผสมกับความสมบูรณ์แบบในตัว เวลาพิจารณาเรื่องต่างๆก็จะคิดอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งมีผลต่อการตัดวสินใจเรื่องต่างๆจนอาจทำให้งานสำคัญๆที่ทำนั้นไม่คืบหน้าไปไหน - หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
ด้วยธรรมชาติที่รักในสันติของคน INFJ จึงไม่ชอบการเข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งใดๆ พวกเขาอาจรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่กระอักกระอ่วมใจ และจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหลีกเลี่ยงมัน - ไม่ค่อยปฏิเสธคน
คน INFJ ยากที่จะปฏิเสธใครก็ตามเพราะความอยากช่วยเหลือ แต่ก็อาจส่งผลให้พวกเขาทำงานหนักจนเกินไป จนกลายเป็นงานของตัวเองนั้นไม่รู้จักเสร็จสักที
ลักษณะบุคลิกภาพของคนประเภท INFJ กับการทำงาน
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ INFJ มักจะเป็นผู้นำด้วยการใช้จินตนาการ นับบุคลิกภาพที่หายากที่สุดใน 16 บุคลิกภาพ พวกเขามีความเห็นอกเห็นใจและมีความสามารถรอบด้าน และมักเป็นคนที่มีจิตวิญญาณและมีอุดมคติอันแข็งแกร่ง ด้วยความเห็นแก่ผู้อื่นทำให้พวกเขาเก่งในการคิดและมองเห็นผลที่จะตามมาอยู่เสมอ คนประเภท INFJ สามารถรับคำวิจารณ์แบบส่วนตัวและมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความเครียดได้อยู่บ้าง และไม่เต็มใจที่จะขอความช่วยเหลือใครสักเท่าไหร่
สิ่งสำคัญสำหรับบุคลิกภาพประเภทนี้คือต้องใช้เวลาระบายอารมณ์ การส่งเสริมสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตที่ดี พร้อมการดูแลตนเองอย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาหลีกเลี่ยงความสมบูรณ์แบบและความเหนื่อยหน่ายได้ การทำงานจากที่บ้านในบางครั้งก็อาจเป็นประโยชน์ต่อคน INFJ ที่ทำให้ชีวิตมีความผ่อนคลายมากขึ้น ที่จะส่งผลต่อการสร้างแรงจูงใจให้กับตนเองได้ดีมากขึ้น
INFP – Mediators
(Introverted, Intuitive, Feeling, Perceiving)

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ INFP หรือที่เรามักจะเรียกว่า “คนกลาง / นักไกล่เกลี่ย” (Mediators) ที่มักจะเป็นคนเงียบๆ แต่มีความกระตือรือร้นและมักจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งเป็นที่รู้จักในเรื่องของความอ่อนไหว พวกเขาให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์และความเห็นอกเห็นใจ ถึงแม้ว่าคน INFP มักจะค่อนข้างเป็นคนเงียบๆ แต่ก็มีโลกภายในที่เต็มไปด้วยจินตนาการ ทำให้พวกเขาเป็นทั้งผู้สร้าง นักสร้างสรรค์ และนักแก้ปัญหาอันยอดเยี่ยมอีกด้วย
จุดแข็งของคน INFP
- ความคิดอย่างสร้างสรรค์
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ INFP มีความเป็นเลิศในการคิดนอกกรอบ สร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ และค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาใหม่ๆได้เสมอ - ความเห็นอกเห็นใจ
ด้วยความเข้าใจและสามารถเชื่อมโยงกับอารมณ์ของผู้อื่น ทำให้พวกเขาเป็นหนึ่งในทีมงานที่ยอดเยี่ยม - ความนึกฝัน
คนประเภทนี้ขับเคลื่อนด้วยค่านิยมและความรู้สึกที่มีจุดมุ่งหมาย สามารถสร้างแรงบันดาลใจในอุดมคติและจริยธรรมให้กับคนรอบข้างได้ - การเปิดกว้าง
มีความเห็นอกเห็นใจ เป็นคนที่เข้าถึงได้ ยอมรับบุคคลที่แตกต่าง และไม่ตัดสินอะไรง่ายๆในตัวของผู้อื่น - ความหลงใหล
มีความมุ่งมั่นอย่างสูงต่องานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นงานที่สอดคล้องกับค่านิยมของพวกเขา - ความยืดหยุ่น
เปิดกว้างสำหรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆและสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีอยู่ตลอดเวลา
จุดอ่อนของคน INFP
- วาดฝันเกินจริง
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ INFP จะมองทุกสิ่งดูสวยงามไปหมด และมักจะรู้สึกผิดหวังเมื่อมีบางอย่างไม่ตรงกับความคาดหวังหรือความคิดในอุดมคติของพวกเขา - หลุดโฟกัสสิ่งสำคัญ
อาจจมอยู่กับแนวคิดต่างๆที่หลากหลายมากเกินไป ทำให้มีสมาธิน้อยลงและไม่ทุ่มเทให้กับงานที่ทำอยู่ - ไม่ชอบเรื่องระเบียบที่เคร่งครัด
เป็นคนที่ไม่ชอบปฏิบัติตามตารางเวลาที่เข้มงวด หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีโครงสร้างและมีระเบียบสูง - กลัวการเผชิญหน้า
ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใดก็ตามจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเสมอ ทำให้ขาดความสามารถในการแก้ไขข้อขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพ - ชอบตำหนิตัวเอง
ด้วยความที่มีความคาดหวังในตัวเองค่อนข้างสูง และเมื่อไหร่ก็ตามที่ได้รับฟังความคิดเห็นจากคนอื่น โดยเฉพาะหากเป็นสถานการณ์ที่สร้างผลกระทบเชิงลบ ก็อดที่จะโทษตัวเองไม่ได้ว่าเป็นเหตุให้เกิดสิ่งเหล่านั้น - จิตใจเปราะบาง
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ INFP มักจะเก็บอารมณ์และทัศนคติด้านลบของผู้อื่นไว้ภายในใจของตนเอง ซึ่งส่งผลต่อความสุขและประสิทธิภาพการทำงานของตัวพวกเขาเอง
ลักษณะบุคลิกภาพของคนประเภท INFP กับการทำงาน
แม้ว่าคนที่มีบุคลิกภาพแบบ INFP มักจะค่อนข้างเป็นคนเงียบๆ แต่ก็มีโลกภายในที่เต็มไปด้วยจินตนาการ ทำให้พวกเขาเป็นผู้สร้าง นักสร้างสรรค์ และนักแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยม พวกเขามีอุดมคติอันลึกซึ้ง คิดใคร่ครวญ และมีศีลธรรมที่เข้มแข็ง มีความเห็นอกเห็นใจและไวต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น เป็นผู้ฟังและนักสื่อสารที่ดีที่สามารถนำความรู้สึกสามัคคีมาสู่การทำงานได้ คน INFP ยังมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ โดยมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และสำรวจช่องทางต่างๆ แทนที่จะยึดติดกับบรรทัดฐานและกิจวัตรประจำวันแบบเดิมๆ
แต่คน INFP มีแนวโน้มที่ชอบการทำงานจากที่บ้านมากกว่า เนื่องจากเป็นคนเก็บตัวและใช้สมาธิได้ดีเวลาอยู่กับตัวเอง คนแบบนี้ไม่ชอบการอยู่ในระเบียบโครงสร้างที่เคร่งครัด เพราะจะกลายเป็นกรอบที่จำกัดความคิดในการทำงาน และด้วยความคาดหวังในตัวเองสูงอาจทำให้เกิดความเครียด และมักโทษตัวเองในหลายๆครั้งว่ายังทำได้ไม่ดีพอ
ISTJ – Logisticians
(Introverted, Sensing, Thinking, Judging)

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ISTJ หรือ “นักจัดการ / วางแผนเชิงระบบ” (Logisticians) เป็นที่รู้จักในด้านความน่าเชื่อถือ ความทุ่มเท และความใส่ใจในรายละเอียดอย่างพิถีพิถัน ถือเป็นหัวใจสำคัญของหลายๆทีม และพวกเขามักจะก้าวหน้ากับลักษณะงานที่มีโครงสร้าง โดยคน ISTJ มีความโดดเด่นในการสร้างและรักษาความเป็นระบบ ถนัดการทำให้ระบบเหล่านี้มีคุณค่ามากที่สุดในสถานที่ทำงาน แต่อย่างไรก็ตามความชอบในระบบหรือโครงสร้างและการทำอะไรตามกิจวัตรเดิมๆ ก็อาจนำไปสู่การไม่เปิดรับกับวิธีการหรือแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในการทำงานแบบทีมที่มีความรวดเร็วสูง
จุดแข็งของคน ISTJ
- ความน่าเชื่อถือและการอุทิศตน
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ISTJ เป็นคนที่ผสมผสานทั้งจรรยาบรรณในการทำงานและความภักดีเข้าด้วยกัน คนประเภทนี้จะมีความมุ่งมั่นในหน้าที่ที่ตนเองทำค่อนข้างสูง - การแก้ปัญหาเชิงตรรกะ
มีความสามารถพิเศษตามธรรมชาติในการแก้ปัญหา มีความเป็นเลิศในการวางแผนเชิงกลยุทธ์ และการแก้ปัญหาด้วยเหตุและผล - การสื่อสารที่ตรงไปตรงมา
รูปแบบการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาทำให้มั่นใจได้ถึงความชัดเจนโปร่งใส ซึ่งเอื้อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีในการทำงาน - มีระเบียบแบบแผน
ด้วยการใส่ใจในรายละเอียดและมีวิธีการทำงานแบบมีโครงสร้าง ทำให้คนประเภท ISTJ มีส่วนสำคัญต่อการบริหารจัดการโครงการและงานที่ได้รับมอบหมายได้ดี - ความภักดีสูงและยึดมั่นในหน้าที่อย่างแรงกล้า
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ISTJ มีความรับผิดชอบสูง และหลายๆครั้งมักจะทำได้เกินความคาดหมาย เพื่อให้บรรลุบทบาทหน้าที่ในองค์กรของตน
จุดอ่อนของคน ISTJ
- ไม่ถนัดในการแสดงออกทางอารมณ์
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ISTJ อาจรู้สึกว่าการสื่อสารทางอารมณ์ค่อนข้างมีความยาก ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นได้ - ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง
ด้วยความชอบต่ออะไรที่เป็น Routine และความเป็นระเบียบโครงสร้างที่ชัดเจน ก็อาจทำให้เกิดการต่อต้านหากมีการเปลี่ยนแปลงอะไรในอนาคต - ไม่ชอบความไม่ชัดเจน
งานอะไรก็ตามที่ขาดคำแนะนำที่ชัดเจนอาจทำให้เกิดปัญหาสำหรับคน ISTJ ที่ต้องการความแม่นยำ - วิพากษ์วิจารณ์แบบตรงๆ
แม้ว่าธรรมชาติของการวิพากษ์วิจารณ์จะทำให้เกิดมาตรฐานการทำงานที่ดีขึ้น แต่ก็อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างไปโดยไม่ได้ตั้งใจ
ลักษณะบุคลิกภาพของคนประเภท ISTJ กับการทำงาน
บุคลิกภาพประเภท ISTJ ถือว่าเป็นประเภทที่พบบ่อยที่สุดในหมู่พวกเราทุกคน โดยใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผล ระมัดระวัง และมีระเบียบแบบแผน ด้วยความเป็นประหนึ่งนักสำรวจที่ชอบการลงมือและมีความทุ่มเท มักจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและเปลี่ยนคำพูดให้เป็นการกระทำอยู่เสมอ และมักจะให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์เป็นที่ตั้ง มีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์โดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์ใดๆ บางครั้งพวกเขามองว่าการพึ่งพาผู้อื่นเป็นจุดอ่อนจึงอาจดูเป็นคนที่เย็นชาอยู่บ้าง
โดยส่วนใหญ่แล้วคนประเภท ISTJ มักชอบทำงานตามลำพังมากกว่า ซึ่งดูแล้วอาจเหมาะกับการทำงานจากที่บ้าน และอะไรก็ตามที่ทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานหรือเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติ ก็อาจจะทำให้พวกเขารู้สึกอึดอัดเป็นอย่างมากเพราะด้วยบุคลิกที่ชอบอะไรที่ชัดเจนมีระบบระเบียบ หากเจออะไรที่ดูหย่อนยานหรือสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่แข็งขัน ก็อาจทำให้พวกเขาวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาจนกลายเป็นการขัดอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นๆได้
ISTP – Virtuosos
(Introverted, Sensing, Thinking, Perceiving)

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ISTP หรือ “ช่างผู้ชำนาญ” (Virtuosos) เปรียบเสมือนโรงไฟฟ้าที่มีพลังขับเคลื่อน ในการส่งต่อเรื่องความเชี่ยวชาญในฝีมือการปฏิบัติงาน ซึ่งจำเป็นสำหรับทีมที่ให้ความสำคัญกับการลงมือปฏิบัติงานจริง คน ISTP เป็นคนสบายๆและมีความสงสัยใคร่รู้เป็นอย่างมาก พวกเขาคือผู้สร้างสรรค์โดยธรรมชาติ สามารถย้ายจากโครงการหนึ่งไปยังอีกโครงการหนึ่งได้ในทันที ด้วยการสร้างสิ่งที่มีประโยชน์ที่มาพร้อมกับความสนุกสนาน ชอบเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมต่างๆไปพร้อมๆกัน
จุดแข็งของคน ISTP
- การแก้ปัญหาเชิงปฏิบัติ
เป็นผู้เชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนด้วยวิธีการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ - ความสามารถในการปรับตัว
มีความเป็นเลิศในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเร็ว สามารถปรับตัวเข้ากับความท้าทายใหม่ๆได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย - ความเป็นอิสระ
ให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระและมักจะทำงานได้ดีที่สุด เมื่อได้รับอิสระในการเข้าถึงงานต่างๆได้ในแบบของตนเอง - ทักษะทางเทคนิค
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ISTP มักจะการทำงานกับเครื่องมือและเทคโนโลยี ที่พัฒนาให้ตัวเองนั้นเป็นเลิศในงานด้านเทคนิคต่างๆ
จุดอ่อนของคน ISTP
- การสื่อสารระหว่างบุคคล
ด้วยความที่เลือกใช้ตรรกะมากกว่าความรู้สึก อาจทำให้การสื่อสารระหว่างบุคคลโดยเฉพาะเรื่องที่อ่อนไหวต่ออารมณ์มีปัญหาได้ - ไม่ชอบงานประจำ
คน ISTP ไม่ชอบอะไรซ้ำซากและกิจวัตรประจำวันที่น่าเบื่อหน่าย พวกเขาเป็นคนชอบความหลากหลายและความท้าทายใหม่ๆ - ความไม่อดทนเพียงพอ
เป็นคนค่อนข้างใจร้อนที่ชอบลงมือปฏิบัติในทันที ซึ่งอาจไม่เหมาะกับการวางแผนหรือประชุมหารือแบบยาวๆ - ค่อนข้างเก็บตัว
เป็นคนที่มีความเป็นส่วนตัวสูงทำให้ผู้อื่นเข้าถึงได้ยาก - ไม่ชอบการผูกมัดในระยะยาว
เป็นไปได้ที่คน ISTP อาจไม่ชอบทำอะไรแบบสัญญาระยะยาว ทั้งในโครงการต่างๆและการสร้างความสัมพันธ์ โดยมักจะเปิดเผื่อเป็นทางเลือกไว้เสมอ
ลักษณะบุคลิกภาพของคนประเภท ISTP กับการทำงาน
โดยทั่วไปแล้วคนที่มีบุคลิกภาพแบบ ISTP มีความอยากรู้อยากเห็นและมีความเป็นปัจเจกบุคคลสูง โดยชอบอะไรที่เป็นอิสระจากโครงสร้างต่างๆ พวกเขาชอบที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆอยู่เสมอ ชอบการเรียนรู้ผ่านการลองผิดลองถูกและการใช้ประสบการณ์ตรง คน ISTP มีแนวโน้มที่จะเรียนรู้ผ่านการกระทำมากกว่า การใช้แสดงออกทางอารมณ์อาจเป็นเรื่องไม่ถนัดสักเท่าไหร่ จึงเป็นลักษณะบุคลิกภาพที่มักจะเก่งในการทำงานคนเดียว และชอบการทำงานนอกสถานที่หรือจากที่บ้าน
อย่างไรก็ตามพวกเขาอาจไม่มีความสุขหากพวกเขารู้สึกว่า มีตารางเวลาหรือระเบียบที่เข้มงวดซึ่งขัดขวางการแก้ปัญหาของพวกเขา เพราะเขาอาจไม่สามารถใช้ความสามารถพิเศษในการปรับตัวภายใต้ระบบที่เคร่งครัดได้
ISFJ – Defenders
(Introverted, Sensing, Feeling, Judging)

คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ISFJ หรือ “ผู้ปกป้อง / ผู้พิทักษ์” (Defenders) เป็นคนที่ทุ่มเทและทำงานหนัก ชอบปกป้องและช่วยเหลือผู้อื่น โดยมีจุดแข็งในการทำงานเป็นทีมและเป็ยพนักงานที่มีความขยันยอดเยี่ยม แม้ว่าอาจดูเป็นคนที่เก็บตัวแต่ถึงเวลาเข้าสังคมก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน และเมื่อคน ISFJ ได้รับการสนับสนุนอย่างดีพวกเขามักจะผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูง และยังเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับผู้อื่นก่อนตัวเองอยู่เสมอ
จุดแข็งของคน ISFJ
- เก็บรายละเอียด
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ISFJ ให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ผู้อื่นอาจมองข้าม - ทุ่มเททำงานหนัก
ด้วยความเป็นผู้ปกป้องทำให้เป็นคนที่มีแนวโน้มที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่ย่อท้อ และพร้อมที่จะรับผิดชอบในสิ่งต่างๆเพิ่มขึ้น - เชื่อถือได้
เป็นบุคคลที่เชื่อถือได้และมีความรับผิดชอบสูง สามารถวางใจได้ในการปฏิบัติหน้าที่ และจะได้งานตรงตามกำหนดเวลา - การทำงานร่วมกันเป็นทีม
ให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมได้ดี เป็นคนที่มีส่วนสนับสนุนทัศนคติเชิงบวกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี และชอบส่งเสริมความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในทีม - มุ่งเน้นการบริการ
คน ISFJ มักจะช่วยเหลือผู้อื่นโดยธรรมชาติเป็นทุนเดิม และมีความคิดว่าการที่พวกเขาสามารถให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และดูแลบุคคลอื่นๆได้ ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของตัวเอง
จุดอ่อนของคน ISFJ
- การต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ISFJ อาจต่อต้านการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่าง โดยจะเลือกความมั่นคงและการทำอะไรในแบบเดิมๆ ดังนั้นหากมีสถานการณ์อะไรที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็อาจกลายเป็นข้อจำกัดของคน ISFJ ได้ - ไม่กล้าปฏิเสธ
คน ISFJ อาจประสบปัญหาในการปฏิเสธคำขอต่างๆ แม้ว่าอาจจะเป็นงานที่นอกเหนือหรือเกินความสามารถ ทำให้ความปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้อื่นอาจนำไปความเครียดได้ - ความสมบูรณ์แบบ
ด้วยความที่ชอบกำหนดมาตรฐานที่สูงเกินความเป็นจริงสำหรับตนเองและผู้อื่น จึงอาจนำไปสู่ความคับข้องใจเมื่อไม่เป็นไปตามความคาดหวัง
ลักษณะบุคลิกภาพของคนประเภท ISFJ กับการทำงาน
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ISFJ มีความใจดีและมั่นคง มักจะใส่ใจในรายละเอียดที่เป็นประโยชน์ มีความเชื่อถือได้ และมีความเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น หากเทียบกันแล้วพวกเขามักจะเข้าสังคมมากกว่าคนที่เก็บตัวประเภทอื่นๆ โดยมีความสามารถที่น่าประทับใจในการเชื่อมต่อพูดคุยกับผู้อื่นและจดจำสิ่งต่างๆเกี่ยวกับพวกเขาได้ดี พวกเขาเก่งในการทำงานเดิมๆที่คนอื่นอาจละเลยเพราะเบื่อหน่าย คน ISFJ มีทักษณะการทำงานที่ยอดเยี่ยม มีจิตใจกว้างที่ชอบช่วยเหลือสนับสนุนผู้อื่น และหลายๆครั้งการที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นก็อาจจะทำให้พวกเขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก และชอบการทำงานแบบส่วนตัวเสียมากกว่า
ISFP – Artists-Adventurer
(Introverted, Sensing, Feeling, Perceiving)

บุคลิกภาพแบบ ISFP หรือ “ศิลปิน / นักผจญภัย” (Artists / Adventurer) เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และสามารถสร้างความยืดหยุ่นให้กับทีมของคุณได้ พวกเขามีความโดดเด่นทางด้านศิลปะ มีความอ่อนไหว และเป็นกลุ่มปัจเจกบุคคลที่ขึ้นชื่อในเรื่องความสามารถในการเชื่อมโยงและเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมต่างๆได้อย่างลึกซึ้ง แต่ก็อาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายในการทำงาน ที่เป็นกำแพงจำกัดการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขา
จุดแข็งของคน ISFP
- ความคิดสร้างสรรค์
บุคลิกภาพแบบ ISFP จะมีความคิดสร้างสรรค์สูง และมักจะเป็นเลิศเกี่ยวกับเรื่องของศิลปะ สามารถนำมุมมองที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นมาสู่งานของพวกเขาได้ - ความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่น
คน ISFP มีความสามารถในการปรับตัวได้เก่ง และเปิดใจรับกับการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆได้อย่างง่ายดาย - ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
มีความเข้าใจผู้อื่นและสามารถสะท้อนอารมณ์ของผู้อื่นออกมาได้ด้วยสัญชาตญาณ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในตัวผู้คน - ทักษะการปฏิบัติงาน
มีความจริงจังในการทำงานและสามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ - ความเป็นอิสระ
เป็นคนที่พึ่งพาตนเองได้ ให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระ และมีไหวพริบในการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ
จุดอ่อนของคน ISFP
- ไม่สบายใจกับการวางแผนระยะยาว
อาจพบว่าเป็นเรื่องท้าทายในการวางแผนอนาคต โดยจะอะไรที่ดูยืดหยุ่นและเป็นธรรมชาติมากกว่า - ไม่ชอบเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง
มักจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรง และพบว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะจัดการกับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งต่างๆ - มักสงวนท่าทีแบบเป็นกลาง
บุคลิกภาพแบบ ISFP มักแสดงพฤติกรรมที่สงวนท่าทีโดยเฉพาะเมื่ออยู่เป็นกลุ่ม โดยพวกเขาอาจจะลังเลที่จะแบ่งปันความคิดเห็นอย่างเปิดเผย - จมอยู่กับคำวิจารณ์
เป็นเรื่องยากที่จะรับมือกับคำวิจารณ์โดยเฉพาะหากเป็นคำวิจารณ์แบบเปิดเผย ส่วนใหญ่มักจะรับฟังความคิดเห็นแบบเป็นการส่วนตัวมากกว่า - ขาดความสม่ำเสมอ
แรกเริ่มอาจมีความกระตือรือร้นอย่างเต็มเปี่ยม แต่นานๆไปก็จะเริ่มขาดความใส่ใจได้ เพราะด้วยความมีอารมณ์แบบศิลปิน
ลักษณะบุคลิกภาพของคนประเภท ISFP กับการทำงาน
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ ISFP มักจะเป็นคนมีเหตุผล เป็นคนเปิดใจ แต่จะดูแหวกแนวอยู่บ้าง และยังเป็นคนชอบแสวงหาอะไรใหม่ๆ การทดลองและการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุข และถึงแม้พวกเขาจะเป็นคนเก็บตัว แต่พวกเขาก็เต็มที่ในการในกิจกรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นส่วนตัวหรือในที่สาธารณะ เวลาทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงก็มักจะจัดการกับความเสี่ยงได้ดีกว่าคนส่วนใหญ่
โดยปกติแล้วคน ISFP จะไม่ค่อยยอมรับความพ่ายแพ้ ที่มักจะนำแนวคิดที่กล้าหาญมาสู่ที่การทำงาน และมาด้วยความกระฉับกระเฉงผสมกับความอยากรู้อยากเห็น แต่ด้วยความชอบอิสระเป็นอย่างมาก ก็ทำให้พวกเขาเหมาะกับการทำงานจากที่บ้านที่จะสร้างผลลัพธ์ได้ดีกว่า และด้วยความที่มีอารมณ์แบบศิลปินสูง ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะความรุนแรงทางอารมณ์ได้ ทำให้การจัดการกับความเครียดดูเป็นเรื่องยากกับคนลักษณะนี้
บุคลิกภาพแต่ละประเภทแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างจุดแข็ง ความชอบ แนวโน้มที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของแต่ละบุคคล หรือแม้กระทั่งมองเห็นจุดอ่อน ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นนักแก้ปัญหาเชิงตรรกะ ผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจ นักวางแผนที่เป็นระบบ หรือความเป็นนักผจญภัย กรอบของบุคลิกภาพทั้ง 16 นี้ถือเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่า ในการทำความเข้าใจตัวเราเองและตัวผู้อื่น เพื่อหาวิธีการส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัวให้ได้มากที่สุดนั่นเอง