วิเคราะห์ Personality Types 4 ลักษณะ สู่การเป็น Influencer ในแบบฉบับของตัวเอง

สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นในอาชีพการทำงานที่ยังไม่รู้ว่าจะค้นหาตัวตนอย่างไร และโดยเฉพาะหากคุณมีจุดมุ่งเป้าหมายไปสู่การเป็น Influencer มืออาชีพด้วยแล้ว การรู้จักวิเคราะห์บุคลิกลักษณะของตัวเอง (Personality Types) ถือเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะความเป็น Influencer นั้นไม่ใช่แค่เพียงคุณมีความรู้หรืออยากที่จะลองทำเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะทำให้การเป็น Influencer นั้นไปได้ไม่สุดทาง แต่ถ้าเข้าใจความเป็นตัวเองอย่างถ่องแท้ก็จะยิ่งสร้างให้เกิดพลังของความเป็น Influencer นั้นเต็มเปี่ยมมากยิ่งขึ้น และมันก็มีหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์บุคลิกลักษณะของตัวเอง (Personality Types) ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ นั่นก็คือ The Myers-Briggs Type Indicator (MBTI) ครับ และผมก็ได้เคยนำไปสอนเกี่ยวกับวิธีการเป็น Influencer ตัวเล็กที่แบรนด์ไหนๆก็ต้องการ ให้กับผู้ร่วมโครงการ Influencer Challenge ที่จัดโดยสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (Thai-Nichi Institute of Technology) ซึ่งเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการค้นหาตัวตนสู่การเป็น Influencer มืออาชีพ และได้ผลตอบรับค่อนข้างดีจากผู้เรียน ก็เลยนำมาแบ่งปันเผื่อว่าผู้ที่อ่านบทความนี้ อยากจะลองค้นหาตัวตนที่แท้จริงทั้งการจะเป็น Influencer มืออาชีพ หรือแม้แต่จะนำไปใช้กับการทำงานด้านอื่นๆก็ได้ผลดีเช่นเดียวกัน โดยเราจะมาวิเคราะห์บุคลิกลักษณะจาก 4 Personality Types ไปพร้อมกันครับ

What's next?

รู้จักตัวเองด้วย The Myers-Briggs Type Indicator (MBTI)

หนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้คุณรู้จักตัวเองดีสุดนั่นก็คือ The Myers-Briggs Type Indicator (MBTI) หรือตัวชี้วัดประเภทของบุคลิกลักษณะ ซึ่งได้รับการพัฒนาโดย Isabel Briggs Myers และ Katharine Cook Briggs ตั้งแต่ปี 1942 โดยมีพื้นฐานอยู่บนทฤษฎีและแนวความคิดทางจิตวิทยาที่เสนอโดย Carl Jung โดยทั้งหมดจะมีบุคลิกลักษณะอยู่ 16 รูปแบบด้วยกัน (ซึ่งเป็นการทดสอบบุคลิกลักษณะที่หลายๆคนอาจได้เคยลองทำกันมาบ้างแล้ว) และเป้าหมายของ MBTI คือการช่วยให้คุณได้สำรวจและทำความเข้าใจบุคลิกภาพของตนเองเพิ่มเติม รวมถึงสิ่งที่ชอบ ไม่ชอบ จุดแข็ง จุดอ่อน ความชอบด้านอาชีพและความเข้ากันได้กับผู้อื่น โดยไม่มีบุคลิกภาพแบบใดที่ “ดีที่สุด” หรือ “ดีกว่า” ซึ่ง MBTI ไม่ใช่เครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อค้นหาความผิดปกติแต่อย่างใด แต่เป้าหมายก็คือการช่วยให้คุณได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวของคุณเอง ที่สรุปออกมาได้เป็น 4 ลักษณะที่แตกต่างกัน เรามาดูรายละเอียดของ Personality Types ทั้ง 4 ลักษณะกันครับ (แต่ต้องขอย้ำนะครับว่า MBTI ที่สรุปออกมานี้ ก็เพื่อให้คุณได้ประเมินตัวเองในเบื้องต้นเพียงเท่านั้น แต่หากต้องการเข้าใจความเป็นตัวเองแบบลึกๆ ก็ควรลองทำ Personality Test เพิ่มเติมดูครับ >>> 16 Personality Test)


Personality Types 4 ลักษณะ

การประเมินนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแบ่งแต่ละบุคคลออกเป็น 4 ลักษณะหรือกลุ่ม ตามวิธีที่พวกเขารับรู้และการตัดสินใจ ซึ่งช่วยให้คนเราสามารถทำความเข้าใจบุคลิกภาพของตนเองเพิ่มเติมได้ อันได้แก่ 1. บุคลิกภาพแบบเปิดเผย (Extraversion – E) กับ บุคลิกภาพแบบเก็บตัว (Introversion – I) 2. ความรู้สึกนึกคิด (Sensing – S) กับ สัญชาตญาณ (Intuition – N) 3. การคิด (Thinking – T) กับ ความรู้สึก (Feeling – F) และ 4. การตัดสิน (Judging – J) กับ การรับรู้ (Perceiving – P) โดยแต่ละคนจะมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งจากแต่ละลักษณะ จนทำให้เกิดบุคลิกภาพที่แตกต่างกันถึง 16 รูปแบบ นั่นเอง (ส่วน 16 รูปแบบนั้นมีอะไรผมจะมาสรุปให้อ่านในบทความต่อๆไปครับ)

1. Extraversion (E) vs Introversion (I)

Extraversion (E) vs Introversion (I)

บุคลิกลักษณะนี้อธิบายว่าบุคคลดึงพลังงานมาจากไหนและเกิดการโต้ตอบกับโลกภายนอกอย่างไร ซึ่งได้แก่

Extraversion (E): ผู้ที่ให้ความสำคัญกับโลกภายนอกของผู้คนและชอบกิจกรรมต่างๆ หรือเราเรียกว่าเป็นคนชอบสังคม พวกเขาจะได้รับพลังจากการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และโดยทั่วไปแล้วจะเน้นไปที่การกระทำแบบชัดเจน

  • ประเภท Influencer ที่เหมาะสม
    คนที่มีบุคลิกลักษณะแบบเปิดเผยอาจประสบความสำเร็จในฐานะ Influencer สายท่องเที่ยวที่ไปตามสถานที่ต่างๆ โดยถ่ายวิดีโอนำเสนอการผจญภัยที่ดูมีชีวิตชีวาและใช้พลังในการสื่อสารค่อนข้างสูง ตัวอย่างเช่น การสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเดินทางไปยังเมืองต่างๆ การโต้ตอบพูดคุยกับคนในท้องถิ่น และการนำเสนอกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นและน่าสนใจ เช่น เทศกาลหรืองานปาร์ตี้เด่นๆ แพลตฟอร์มอย่าง YouTube หรือ TikTok ก็น่าจะเหมาะกับคนบุคลิกลักษณะนี้ เพราะมีลักษณะการโต้ตอบพูดคุยผ่านช่อง Comment ได้ สร้างให้เกิดมีส่วนร่วมกับผู้ติดตามได้โดยตรงผ่านการ Stream หรือ Live สด

Introversion (I): ผู้ที่มุ่งความสนใจไปที่โลกภายในของความคิดและความรู้สึก พวกเขามักจะชอบความสันโดษซึ่งจะช่วยเติมพลังและช่วยให้ได้ไตร่ตรองและใช้ความคิด โดยจะไม่ค่อยสังสรรค์หรือกล้าแสดงออกและมีส่วนร่วมกับบุคคลภายนอกมากสักเท่าไหร่

  • ประเภท Influencer ที่เหมาะสม
    คนที่ชอบเก็บตัวอาจเก่งในการสร้างคอนเทนต์ประเภท การวิจารณ์ในเรื่องต่างๆ เช่น หนังสือ หนัง ภาพยนตร์ การสอนแบบละเอียด หรือการอภิปรายเชิงลึกในหัวข้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบทความเชิงวิเคราะห์ หรือทำวิดีโอเกี่ยวกับการพัฒนาตนเองหรือการให้รายละเอียดการเดินทางแบบละเอียดยิบ การพัฒนาตัวเอง หรือการสะท้อนถึงวัฒนธรรมบางอย่าง และการใช้แพลตฟอร์มอย่าง YouTube ที่อาจต้องมีสคริปต์ที่ชัดเจนหรือการมี Blog สำหรับการเขียนประเภท Evergreen Content ซึ่งไม่ถนัดที่จะออกหน้ากล้องมากเท่าไหร่ที่ดูไม่เหมือนกับ Extraversion (E)

2. Sensing (S) vs Intuition (N)

Sensing (S) vs Intuition (N)

บุคลิกลักษณะนี้มุ่งเน้นไปที่วิธีที่แต่ละบุคคลประมวลผลข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม ประสาทสัมผัส หรือผ่านแนวคิด และอาจเป็นแนวคิดที่เป็นนามธรรมก็ได้เช่นกัน ซึ่งได้แก่

Sensing (S): ผู้ที่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกนึกคิดกับช่วงเวลาปัจจุบัน อยู่กับความเป็นจริง และข้อเท็จจริง พวกเขาชอบข้อมูลที่เป็นรูปธรรมและมักจะเน้นรายละเอียดมากกว่า

  • ประเภท Influencer ที่เหมาะสม
    คนที่มีบุคลิกลักษณะนี้อาจเชี่ยวชาญในการสร้างคอนเทนต์ ที่เน้นการใช้งานจริงและแสดงรายละเอียดค่อนข้างมาก เช่น คอนเทนต์ประเภท DIY ที่แสดงให้เห็นทีละขั้นตอน การสอนทำอาหาร หรือด้านความงาม ตัวอย่างเช่น การอธิบายเทคนิคการแต่งหน้าด้วยขั้นตอนที่ชัดเจน การให้ความเห็นเกี่ยวกับสินค้า (Review) พร้อมข้อสังเกตโดยละเอียดในทุกๆมุม และแพลตฟอร์มอย่าง Instagram หรือ YouTube ก็เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการแชร์คอนเทนต์สำหรับคนลักษณะนี้

Intuition (N): ผู้ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสัญชาตญาณ ความเป็นไปได้ ศักยภาพในอนาคต และแนวคิดที่เป็นนามธรรม พวกเขามักจะมีจินตนาการมากกว่าคนในลักษณะ Sensing (S) และมักจะสนุกกับการคิดในแบบภาพใหญ่

  • ประเภท Influencer ที่เหมาะสม
    คนบุคลิกลักษณะนี้อาจเหมาะกับคอนเทนต์ที่เน้นไปที่การคาดการณ์แนวโน้ม การนำเสนอแนวคิด และความเป็นไปได้ในอนาคต ตัวอย่างเช่น การสำรวจเทรนด์เกี่ยวกับเสื้อผ้าที่ยั่งยืน หรือแนวคิดเกี่ยวกับแฟชั่นตามยุคสมัย เนื้อหาจะเป็นการสำรวจสถานการณ์และผสมผสานจินตนาการ หรือการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมต่างๆกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางใด คนบุคลิกลักษณะนี้หากใช้แพลตฟอร์มอย่าง TikTok หรือ YouTube ที่นำเสนอความคิดสร้างสรรค์และไอเดียใหม่ๆก็จะดึงดูดความสนใจได้อย่างรวดเร็ว

3. Thinking (T) vs Feeling (F)

Thinking (T) vs Feeling (F)

บุคลิกลักษณะนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีที่แต่ละบุคคลตัดสินใจ ไม่ว่าจะผ่านการวิเคราะห์เชิงตรรกะ (เป็นเหตุเป็นผล) หรือโดยการพิจารณาจากค่านิยมและอารมณ์ส่วนบุคคล

Thinking (T): ผู้ที่ให้ความสำคัญกับตรรกะ การวิเคราะห์อย่างเป็นกลาง และความเป็นธรรมในการตัดสินใจ พวกเขาให้ความสำคัญกับความสม่ำเสมอ และมักจะมีการคิดแบบมีวิจารณญาณมากกว่า

  • ประเภท Influencer ที่เหมาะสม
    คนบุคลิกลักษณะนี้อาจเก่งในการทำคอนเทนต์เชิงวิเคราะห์ เช่น การรีวิวเทคโนโลยี การเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ หรือทำวิดีโอวิจารณ์อะไรแบบตรงๆ ตัวอย่างเช่น การเปรียบเทียบสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ต่างๆ โดยแจกแจงข้อดีและข้อเสียที่ใช้ข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างสมเหตุสมผล ผู้ชมจะชื่นชอบแนวทางที่มีเป็นกลางและความใส่ใจในรายละเอียด และ YouTube หรือ Blog จะเป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะในการแสดงการวิเคราะห์เชิงลึก เพราะอาจใช้เวลานานในคลิปๆหนึ่งและมีการใช้ภาพรวมถึงรายละเอียดค่อนข้างเยอะที่เหมาะสมกับการทำ Blog

Feeling (F): ผู้ที่ให้ความสำคัญกับค่านิยมส่วนบุคคลและอารมณ์ของผู้อื่นในการตัดสินใจ พวกเขามักจะเห็นอกเห็นใจและเห็นคุณค่าของความสมานสามัคคี (ไม่หักหาญน้ำใจกัน)

  • ประเภท Influencer ที่เหมาะสม
    คนบุคลิกลักษณะนี้อาจโดดเด่นในการทำคอนเทนต์ที่แสดงอารมณ์หรือความเห็นอกเห็นใจ เช่น วิดีโอที่สร้างแรงบันดาลใจ การสนับสนุนเพื่อสังคม หรือการเล่าเรื่องส่วนตัว ตัวอย่างเช่น การตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิต การแบ่งปันการเดินทางและเรื่องราวของตัวเอง การสนับสนุนให้ผู้อื่นเปิดใจเกี่ยวกับความรู้สึกของตน แพลตฟอร์มอย่าง Instagram, YouTube หรือ Facebook จะช่วยเชื่อมต่อกับกลุ่มผู้ชมได้อย่างลึกซึ้ง ที่ดูค่อนข้างเหมาะกับสไตล์เนื้อหาที่เน้นสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์และก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมแบบชุมชนเดียวกัน

4. Judging (J) vs Perceiving (P)

Judging (J) vs Perceiving (P)

ข้อมูลที่อธิบายว่าแต่ละบุคคลเข้าถึงสภาพแวดล้อมภายนอกของตนอย่างไร ไม่ว่าจะผ่านการวางแผนที่มีโครงสร้างชัดเจน มีความเด็ดขาด หรือยืดหยุ่นที่ปรับเปลี่ยนได้เอง

Judging (J): ผู้ที่ชื่นชอบโครงสร้าง ระบบ ระเบียบ การจัดองค์กร และการวางแผน พวกเขามักจะมีความเด็ดขาด และต้องมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน

  • ประเภท Influencer ที่เหมาะสม
    คนบุคลิกลักษณะนี้อาจเหมาะกับคอนเทนต์ที่ต้องมีการจัดระเบียบและเป็นไปตามโครงสร้างที่ชัดเจน เช่น การวางแผนการออกกำลังกาย กิจวัตรประจำวัน หรือเกี่ยวกับการศึกษา ตัวอย่างเช่น การทำช่องเกี่ยวกับฟิตเนสที่นำเสนอกิจวัตรประจำวันในการการออกกำลังกาย แผนการควบคุมอาหาร มีการวางแผนอย่างชัดเจน ซึ่งจะเหมาะกับ YouTube หรือ Instagram ที่สามารถจัดระเบียบโพสต์เป็นเพลย์ลิสต์หรือไฮไลท์เรื่องราว ทำให้ผู้ติดตามติดตามอย่างเป็นระเบียบง่ายมากขึ้น

Perceiving (P): ผู้ที่ชอบความเป็นธรรมชาติ ความยืดหยุ่น และเปิดโอกาสให้กับทางเลือกต่างๆ พวกเขามักจะปรับตัวได้มากกว่าและชอบเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ

  • ประเภท Influencer ที่เหมาะสม
    คนบุคลิกลักษณะนี้อาจเหมาะกับคอนเทนต์ที่ปรับเปลี่ยนได้เองและเป็นธรรมชาติ เช่น วิดีโอ ทำบล็อก สตรีมแบบสด หรือบันทึกการเดินทางแบบกะทันหัน ตัวอย่างเช่น บันทึกการเดินทางแบบ Real-time Vlog ประสบการณ์แบบ A Day in A Life โดยไม่ต้องมีแผนการอะไรที่เข้มงวดมากนัก การตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นแบบ Real-time Content การใช้ TikTok หรือ Instagram / Facebook Stories น่าจะเหมาะสำหรับคนลักษณะนี้ โดยสามารถโพสต์เนื้อหาใหม่ๆได้อย่างรวดเร็ว และค่อนข้างไวต่อหัวข้อที่กำลังมาแรงหรือเมื่อเจอะเจอกับประสบการณ์แบบไม่คาดคิด
What's next?

สรุปตัวอย่างคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับ Personality Type

  • Extraversion (E): เน้น Live-streaming การทำ Q&A sessions พูดคุยสื่อสารผ่าน Social Media ทำ Challenges รูปแบบต่างๆ และการทำ Influencer Collabs กัน
  • Introversion (I): เน้นการใส่รายละเอียดพวก How-to หรือข้อมูลที่ต้องอาศัยการค้นคว้าเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับการให้ความรู้ในด้านต่างๆ
  • Sensing (S): เน้นแสดงขั้นตอนที่ลงรายละเอียด เช่น การทำ Product Review การทำ Tutorials
  • Intuition (N): เน้นการทำ Storytelling เชิงสร้างสรรค์ การวิเคราะห์แนวโน้ม และใช้จินตนาการในการถ่ายทอดคอนเทนต์
  • Thinking (T): เน้นอธิบายรายละเอียดเป็นข้อๆหรือแตกออกมาเป็นเป็นประเด็น โดยทุกอย่างต้องเป็นเหตุเป็นผล ใช้การเปรียบเทียบ การวิพากษ์วิจารณ์ อาจจะเป็นแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้น เรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม
  • Feeling (F): เน้นการทำ Storytelling เชิงอารมณ์ การใช้ภาษาแบบโน้มน้าวใจ เจาะความรู้สึกคน และแสดงความเห็นใจต่อผู้อื่น
  • Judging (J): เน้นการวางแผน จัดแจงทุกอย่างให้เป็นระบียบ ทำอะไรที่ออกมาเป็นซีรี่ย์อย่างต่อเนื่อง มีการวางโครงสร้างชัดเจน ที่ทำให้ผู้ชมนั้นเห็นภาพและเข้าใจอย่างชัดเจน
  • Perceiving (P): เน้นความยืดหยุ่นปรับได้หลายอย่างที่เหมาะกับการทำ Vlog อาจเป็น Reacts Video ที่เกี่ยวกับแนวโน้มหรือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น หรือทำอะไรที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องมีแผนอะไรมากมาย

สำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้นทำความเข้าใจและค้นหาตัวเองอยู่ การใช้ The Myers-Briggs Type Indicator (MBTI) มาช่วยในการวิเคราะห์ตัวตน จะช่วยให้คุณเริ่มมองเห็นในสิ่งที่ตัวเองเป็นอย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการปูทางไปสู่การทำในสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองที่ไม่ใช่แค่เพียงการไปสู่การเป็น Influencer ในสายต่างๆ แต่ยังพัฒนาต่อในการทำงานทุกรูปแบบได้ในอนาคตนั่นเอง


Share to friends


Related Posts

9 บุคลิกลักษณะของการเป็นยอดนักขายที่ดี (Sales Personality)

การเป็นนักขายนับเป็นงานที่ยากที่สุดงานหนึ่ง เพราะในแต่ละวันนั้นก็อาจต้องเผชิญกับทั้งปัญหาและความท้าทายทั้งในการพูดคุย เจรจา ปิดการขาย ที่ต้องรับมือกับความกดดันในหลากหลายรูปแบบ โดยนอกจากความรู้และประกบการณ์ที่เต็มเปี่ยมในทักษะด้านการขาย มันก็ยังมีองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เสริมศักยภาพในการขาย


เข้าใจบุคลิกภาพทั้ง 16 แบบกับวิธีการทำงานให้ราบรื่น

ในการทำงานนั้นคุณจะต้องเจอและสัมผัสกับคนหลากหลายประเภทที่มีทั้งความเหมือนและความต่างทั้งในด้านทักษะการทำงาน ทัศนคติในการทำงาน ลักษณะนิสัยส่วนตัวรวมไปถึงนิสัยในการทำงานทั้งส่วนบุคคลและการทำงานเป็นทีม ซึ่งการรู้จักและเข้าใจลักษณะนิสัยในแต่ละแบบนั้นจะช่วยให้คุณสามารถคัดกรอง มอบหมายงาน จัดการบริหารทีมงาน รวมไปถึงการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ


ลักษณะของคนที่มีบุคลิกที่โดดเด่น

นอกจากทักษะสำคัญๆอย่าง Hard Skill ที่คุณจำเป็นต้องมีในการทำงานแล้ว มันก็ยังมีทักษะที่เรียกว่า Soft Skill หรือทักษะที่เกี่ยวข้องกันระหว่างบุคลลไม่ว่าจะเป็น การสื่อสาร การโน้มน้าวใจ ความเป็นผู้นำ หรือการแก้ไขปัญหาที่มีความสำคัญไม่แพ้กันกับ Hard Skill หรือในบางหน่วยงานก็อาจสำคัญกว่าด้วยซ้ำครับ



copyright 2024@popticles.com
หากท่านต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ไปเผยเพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซต์