การทำ Real-Time Content ถึงเป็นหนึ่งในวิธีการนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน แนวโน้มที่เกิดขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคในขณะนั้น หรืออาจเกิดกระแสอะไรที่กลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ กลยุทธ์ในลักษณะนี้จะช่วยให้แบรนด์สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ชมและผู้ติดตามได้อย่างทันท่วงที เพิ่มการมองเห็น ทำให้แบรนด์ดูทันสมัยไม่ตกเทรนด์ และ Real-Time Content ที่เหมาะสมนั้นก็ไม่ควรทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Image) เสียด้วยเช่นกัน ซึ่งผมได้เคยเขียนบทความไว้เมื่อไม่กี่วันก่อนที่ชื่อ ทำ Real-Time Content อย่างไรไม่ให้เสีย Brand Image
แต่สำหรับบทความนี้จะเป็นการนำเสนอให้เห็นครับว่าการทำ Real-Time Content นั้นเราสามารถนำเอาเหตุการณ์อะไรมาทำในลักษณะไหนได้บ้าง ซึ่งมันก็มีอยู่ 9 รูปแบบที่เรามักจะเห็นอยู่เป็นประจำครับ
1. Real-Time Content จาก Event Marketing
Real-Time Content ที่ใช้ประโยชน์จากกิจกรรมสดหรืองานต่างๆเพื่อสร้างเนื้อหาที่โดนใจผู้ชม โดย Event Marketing จะรวมถึงกิจกรรมแทบจะทุกๆอย่าง ตั้งแต่การแข่งขันกีฬาสำคัญๆ งานประชุม งานแสดงสินค้า งานมหกรรมต่างๆ เช่น งานแข่งขัน Superbowl การมอบรางวัล Oscar งาน Motor Expo งาน Book Fair งาน Furniture Fair งานแสดง Concert หรืองานเปิดตัวสินค้า ซึ่งก็มีหลายๆแบรนด์ใช้ประโยชน์จาก Event Marketing มาทำคอนเทนต์อยู่ค่อนข้างบ่อย ตัวอย่างเช่น งานประกาศรางวัล Oscar ที่เดินบนพรมแดงก็มีหลายๆแบรนด์นำเอาลักษณะของงาน Oscar มาเปิดตัวสินค้า เช่น Gucci ใช้ประโยชน์จากกระแสดังกล่าวด้วยการแชร์รูปภาพและวิดีโอของคนดัง ที่สวมใส่เสื้อผ้าของแบรนด์ตัวเองบนพรมแดงบนสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยโพสต์ของ Gucci นั้นก็มีทั้งการร่วมเฉลิมฉลองให้กับการจัดงานและความสำเร็จให้กับดารา การนำเสนอภาพถ่ายดาราพร้อมอธิบายรายละเอียดของชุด ซึ่งเนื้อหานั้นก็ไม่ได้ตั้งใจจะขายสินค้าแต่อย่างใด จนสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้ติดตามและผู้ชมได้อย่างต่อเนื่อง และยังส่งเสริมความเป็นแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ของความหรูหราอีกด้วย
Source: https://www.facebook.com/GUCCI/
2. Real-Time Content จาก Newsjacking
การใช้ประโยชน์จากข่าวที่มาแบบด่วนๆหรือหัวข้อที่กำลังมาแรง เพื่อสร้างเนื้อหาที่ทันท่วงทีซึ่งมันก็เป็นวงจรของวงการข่าวและการสื่อสารครับ เนื้อหาประเภทนี้มักจะถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อให้แน่ใจว่า จะมีการเผยแพร่สู่ผู้ติดตามในขณะที่หัวข้อยังคงได้รับความนิยมอยู่ โดย Newsjacking นั้นส่วนใหญ่จะเป็นเหตุการณ์บังเอิญที่เกิดขึ้น แต่ก็อาจเป็นเหตุการณ์ตามวันสำคัญๆหรือมีการจัดกิจกรรมต่างๆก็ได้ ที่ข่าวนำมาสื่อสารและบอกต่อนั่นเอง เช่น การเฉลิมฉลองงานแต่งงานของเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน ในช่วงปี 2018 และในช่วงนั้นแบรนด์อย่าง KFC ก็ได้เปิดตัว Royal Wedding Commemorative Bucket รุ่นลิมิเต็ดในอังกฤษ โดยมีการออกแบบถัง KFC ที่ดูหรูหราเน้นสีทอง จนได้รับการแชร์และพูดต่ออย่างมากบนโลกโซเชียลมีเดีย
Source: https://www.eater.com/2018/5/14/17351632/kfc-royal-wedding-bucket
3. Real-Time Content จาก Trendsjacking
เป็นลักษณะที่คล้ายกับ Newsjacking ครับ แต่จะเน้นไปที่สิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียลมีเดียมากกว่า ไม่ว่าจเป็น Meme การ Challenge หรืออะไรที่กลายเป็นไวรัล นับเป็นสิ่งที่แบรนด์ใช้สร้างกระแสแบบปัจจุบันทันด่วนได้ โดยวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมไม่ว่าจะพูดคุยกันบนเพจหรือแม้แต่บอกต่อไปเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น การ Challenge ที่มาจากเคสในอดีตที่โด่งดังไปทั่วอย่าง Ice Bucket Challenge ที่เป็นแคมเปญการกุศลช่วยเหลือผู้ป่วยโรค ALS จนทำให้ CEO และผู้บริหารจากหลายๆแบรนด์ทั่วโลก รวมถึงนักร้อง นักแสดง และคนทั่วๆไป ต่างก็เข้าร่วมการ Challenge นี้กันจนกลายเป็นไวรัลระดับโลก
Source: https://toofab.com/2014/08/13/celebrities-promote-als-awareness-with-ice-bucket-challenge/
4. Real-Time Content จาก Crisis Management
ไม่น่าเชื่อนะครับว่าเรื่องของวิกฤต (Crisis) ก็ยังสามารถนำมาทำ Real-Time Content ได้ ซึ่งเป็นประเภทของคอนเทนต์ในเชิง PR ที่สร้างภาพลักษณ์และความรู้สึกเชิงบวกต่อแบรนด์ โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตใดๆขึ้นก็ตาม ที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองหรือแม้แต่จะเกิดขึ้นกับแบรนด์อื่นๆ การทำคอนเทนต์เพื่อชี้แจ้ง แก้ไข และบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤต (Crisis Management) ถือว่าเป็นการตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างทันท่วงที และยังช่วยลดระดับความตึงเครียดของสถานการณ์ลงได้อีก ตัวอย่างเช่น สายการบินมีการดีเลย์จนกระทบต่อหลายๆคน สายการบินมีการชี้แจง หาวิธีแก้ไข มีการอัพเดทข้อมูลต่างๆให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ และเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นหากเป็นแบรนด์สายการบินอื่นๆที่ไม่ได้เกิดวิกฤต ก็อาจนำเอาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสายการบินที่เกิดวิกฤตนั้นมาทำคอนเทนต์ในเชิง Pro-Active PR แสดงให้เห็นถึงวิธีบริหารจัดการ และความพร้อมของสายการบินในมุมต่างๆ เป็นต้น แต่ต้องระมัดระวังนิดนึงครับว่าการทำ Real-Time Content จากวิกฤต เป็นสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะเป็นสถานการณ์ในเชิงลบ หากทำคอนเทนต์ออกมาไม่ดีอาจเป็นการซ้ำเติมให้หนักกว่าเดิมได้
5. Real-Time Content จาก Reactive Content
คอนเทนต์เชิงโต้ตอบหรือ Reactive Content ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อเนื้อหา ความคิดเห็น หรือคำติชมที่ผู้ใช้งานหรือลูกค้าสร้างขึ้น โดยเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมโดยตรงกับผู้ชม ด้วยการรับทราบและตอบสนองต่อความคิดเห็นของพวกเขาแบบเรียลไทม์ หากเราดูคำจำกัดความแล้วมันดูเหมือนว่าจะเป็นการบริหารจัดการต่อความคิดเห็น ซึ่งดูแล้วก็ไม่ผิดครับแต่อย่าลืมนะครับว่าหลายๆกรณีมันกลายเป็นไวรัล ที่คนบอกต่อโดยเฉพาะเมื่อเป็นความเห็นเชิงลบ ดังนั้นหน้าที่ของคุณคือบริหารจัดการกับความคิดเห็นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพให้ได้นั่นเอง ตัวอย่างเช่น แบรนด์คุณทำธุรกิจด้านการขนส่ง (Logistics) และเกิดปัญหาที่ส่งของล่าช้าไม่ว่าจะมาจากเหตุใดก็ตาม จนเกิดการทวงถามจากลูกค้าซึ่งเป็นการทวงถามบนโซเชียลมีเดีย แบรนด์จะพูดคุยและหาทางออกอย่างไรกับปัญหาที่เกิด และจะทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการนั้นเข้าใจและรู้สึกว่าได้รับการดูแลได้อย่างไร ถ้าคุณจัดการไม่ได้ก็อาจนำไปสู่วิกฤต (Crisis) ได้แบบไม่รู้ตัวนั่นเอง
Source: https://digitalstack.io/handling-social-media-complaints-like-a-pro/
6. Real-Time Content จากการ Live Streaming
การสตรีมสดจะเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่เนื้อหาประเภทวิดีโอแบบเรียลไทม์ บนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Instagram, Facebook, YouTube หรือ TikTok ที่ช่วยให้แบรนด์ต่างๆมีส่วนร่วมกับผู้ชมได้โดยตรงผ่านการแชทสด และมีช่วงถามตอบอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใช้กับการเปิดตัวหรือแนะนำสินค้า แต่อันที่จริงแล้วทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นก็สามารถไลฟ์สดได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำโดยแบรนด์เองหรือผู้ชมที่อยู่ในงานนั้นๆ การไลฟ์สดจะได้ทั้งความสดใหม่และเข้าถึงข้อมูลได้ก่อนใคร ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีที่สร้างให้เกิดการพูดถึงและยอดขายได้ดี และยิ่งหากแบรนด์คุณเป็นที่สนใจและสร้างความอยากรู้ให้กับผู้ชม ก็จะเกิดการตั้งตารอคอยที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการฟังไลฟ์สดนั่นเอง ตัวอย่างเช่น แบรนด์อย่าง Apple หรือ Tesla มักจะถ่ายทอดสดการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อสร้างความตื่นเต้นและมอบประสบการณ์แบบเรียลไทม์แก่ผู้ชม หรือตัวอย่างล่าสุด หากใครเป็นแฟนคลับของ Linkin Park ก็คงจะได้เห็นการเปิดตัวนักร้องใหม่ที่ชื่อ Emily Armstrong ซึ่งเป็นนักร้องหญิงคนแรกของวง ที่สร้างความแปลกใจและน่าตื่นเต้นที่นับเป็นก้าวใหม่ของวง Linkin Park ซึ่งพอมีคนไลฟ์สดในการแสดงเปิดตัว ข่าวก็เริ่มแพร่กระจายเป็นวงกว้างจนมีหลายๆคนเอาไป Cover ต่ออีก มีคอนเทนต์แนว Reaction เกิดขึ้นอีกมาก และยังมีบางแบรนด์ที่ใช้โอกาสนี้ในการต่อยอดแนะนำสินค้า โดยเฉพาะแบรนด์สายยาแก้อักเสบหรือลูกอมที่ทำให้ชุ่มคอ เพราะเมื่อนักร้องที่ร้องเพลงแนว Metal จะมีการใช้เสียงแบบสุดพลัง ก็อาจจะมีอาการเสียงแหบเสียงแห้งเจ็บคอกันบ้างละครับ
Source: https://www.youtube.com/watch?v=to7kn4WequI
7. Real-Time Content จาก User-Generated Content (UGC)
การหยิบยกสิ่งที่ลูกค้าหรือผู้ใช้งานที่ได้ใช้สินค้าหรือบริการของเรามาทำคอนเทนต์ ที่ในทางการตลาดเรียกว่า User-Generated Content (UGC) ก็เป็นหนึ่งเหตุการณ์ที่นำมาทำ Real-Tme Content ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องของการเน้นย้ำและแบ่งปันเนื้อหาที่สร้างโดยลูกค้าหรือผู้ใช้งานอย่างแท้จริง ทั้งในแบบที่ลูกค้ามีความอยากที่จะพูดถึงเอง หรือการที่แบรนด์สนับสนุนให้ลูกค้าหรือผู้ใช้งานแบ่งปันประสบการณ์ บทวิจารณ์ หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการ และแบรนด์ก็จะโพสต์ซ้ำหรือแชร์ต่อ ตัวอย่างเช่น แบรนด์ Fashion อาจมีการรีโพสต์รูปภาพของลูกค้าที่สวมเสื้อผ้า ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ หรืออย่าง GoPro ที่เก่งในเรื่องของการทำ UGC มาก โดยลูกค้าส่วนใหญ่ก็มีการโพสต์ทั้งรูปและวีดิโอเวลาไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงที่เล่นกิจกรรมหรือกีฬาแนว Extreme และใช้กล้อง GoPro ถ่ายในแอคชั่นต่างๆ
Source: https://www.moast.io/blog/how-to-build-a-network-of-ugc-content-creators
8. Real-Time Content จากการทำ Contest และ การแจกของรางวัล
หนึ่งในการสร้างแคมเปญที่มีการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มผู้ชมและผู้ติดตาม ก็คือ การจัดการแข่งขันหรือแจกของรางวัลแบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สร้างความตื่นเต้นและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในทันที ตัวอย่างเช่น เราจะเห็นแบรนด์ต่างๆทำกิจกรรม Flash Sale แบบจุกๆไม่ว่าจะเป็น 9.9 / 12.12 ซึ่งตอนนี้ก็มีแทบจะทุกเดือน ที่มีทั้งส่วนลด การแจกของรางวัล การเล่นเกม และการลุ้นรับของรางวัลพิเศษ ที่นำไปสู่การนำกระแสไปต่อยอดในการทำ Real-Time Content ในช่องทางต่างๆของตัวเอง
Source: https://www.convertcart.com/blog/flash-sales-guide
9. Real-Time Content จาก Technology ใหม่ๆที่เกิดขึ้น
เทคโนโยลีที่เข้ามาใหม่ในตลาดได้สร้างประสบการณ์และความ Wow ให้กับหลายๆวงการ โดยเฉพาะเรื่องของ Metaverse และ AI ซึ่งกลายเป็นกระแสจนสร้างความตื่นตัวที่แบรนด์พยายามทำมาปรับใช้กับธุรกิจ และเราจะเห็นว่ามีหลากหลายแบรนด์ที่ได้นำเอาแนวคิดแบบโลกเสมือนจริงมาใช้กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมแบบ Virtual การจัดงานแบบ Virtual Event ในช่วง Covid19 ที่ผ่านมา หรือการสร้างเมืองจำลอง Metaverse ขึ้นมาเลยก็มี และที่เห็นจะเป็นอะไรที่ Wow ซ่ามากๆอยู่อย่างหนึ่งก็คือเรื่องของ Hyper Realistic Ads ที่ใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกขั้นสูงโดยนำเอาวัตถุ 3 มิติมาใส่ในโลกความเป็นจริง ซึ่งทำออกมาแล้วมันก็ดูเหมือนมีอยู่จริงๆจนกลายเป็นไวรัลแทบจะทุกครั้งไป
Source: https://yordstudio.com/cgi-ads-are-the-new-viral-marketing-benefits-and-top-examples/
Real-Time Content แต่ละรูปแบบนั้นได้ช่วยให้แบรนด์ต่างๆ สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ชมได้แบบฉับไว ด้วยการใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ แนวโน้ม เรื่องที่พูดถึงในสังคม และเรื่องอื่นๆที่เป็นที่สนใจ เพื่อเข้ามาใช้กับการสร้างสีสันทางการตลาด โดยหากทำอย่างถูกต้องมีความเกี่ยวข้องและสอดคล้องกัน การทำ Real-Time Content ก็จะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วม เพิ่มปริมาณการเข้าชม และนำไปสู่ Conversion ที่อาจนำไปสู่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นได้ในที่สุดนั่นเอง