ต้องยอมรับครับว่าการตลาดในปัจจุบันนั้น เราใช้พลังของความเป็นผู้มีชื่อเสียงที่มีอิทธิพลทางความคิด หรือที่เรามักจะเรียกว่า Influencer ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มดารา นักร้อง นักแสดง หรือผู้เชี่ยวชาญในสายงานต่างๆ มาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จของแบรนด์และมักจะสร้างให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีอยู่เสมอ แต่หากการขับเคลื่อนโดยกลุ่ม Influencer หรือ Celebrity เหล่านั้น ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจผิดกฎหมาย หลอกลวง หรือมีแนวโน้มของการฉ้อโกง ก็จะเกิดหลากหลายคำถามขึ้นระหว่างการส่งเสริมการขาย ความรับผิดชอบ และหลักปฏิบัติด้านจริยธรรม โดยเราจะเห็นได้จากข่าวต่างๆที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆในทุกวันนี้
และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการแต่งตั้งบรรดา Influencer ผู้มีชื่อเสียงเข้ามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ และอาจจะเป็นหนึ่งในพนักงาน หรือแม้แต่ผู้บริหาร แต่ดันไปเกิดกับธุรกิจที่ผิดกฎหมายที่นำไปสู่การหลอกลวงและฉ้อโกง โดยเป็นผลพวงมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ได้ยินจากบรรดา Influencer ผู้มีชื่อเสียง และเมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น เราก็มักจะเห็นในหลายๆครั้งก็จะมีคนออกมาพูดว่า สิ่งที่นำเสนอหรือสื่อสารออกมานั้นมันคือการสื่อสารตามสคริปต์หรือบทที่ได้รับมา (Script) โดยไม่ไดัมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับความผิดที่เกิดขึ้น (ซึ่งแน่นอนครับว่ามันมีทั้งความจริงและความไม่จริงเสมอ) ในบทความนี้ผมจะมาอธิบายและสรุปมุมมองบางอย่างเกี่ยวกับคำว่า การตลาดแบบตามสคริปต์ (Scripted Marketing) ให้อ่านครับ ว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไร เกี่ยวข้องกับอะไร มีความเสี่ยงอย่างไร มีผลลัพธ์ร้ายแรงขนาดไหน เมื่อตัวแบรนด์และผู้มีชื่อเสียงทั้งหลายโยนทุกอย่างว่าเป็นสคริปต์ (Script) โดยผมขออธิบายเป็นหัวข้อดังนี้
อะไรคือ Scripted Marketing
การตลาดแบบตามสคริปต์ หรือ Scripted Marketing หมายถึง การสร้างคอนเทนต์เพื่อสื่อสารทางการตลาด การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การสื่อสารแคมเปญ ด้วยการบอกกล่าวหรือเล่าเรื่องราวที่ส่งผลให้เกิดการชักจูงหรือโน้มน้าวใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อให้เกิดการกระทำบางอย่างโดยเจตนา ซึ่งได้รับการควบคุมและอนุมัติโดยแบรนด์ องค์กร หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับที่ปรึกษา / เอเจนซี่ด้านการตลาดหรือด้าน PR และคำว่าสคริปต์ (Script) ก็หมายถึง ทุกคำพูด ทุกท่าทาง รวมถึงภาพที่ใช้ ก็ได้รับการจัดเตรียมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการสื่อสารนั้นๆ ซึ่งมักออกแบบมาเพื่อโน้มน้าวและการรับรู้ของสาธารณชนในการเพิ่มยอดขาย สื่อสารภาพลักษณ์ หรือการแก้ไขความเข้าใจผิด Scripted Marketing นับเป็นการถ่ายทอดบางสิ่งที่คิดมาอย่างดีเพื่อลูกค้า ผู้สนับสนุน บรรดาพรีเซ็นเตอร์ หรือบรรดาโฆษก ซึ่งแทบจะไม่มีโอกาสเบี่ยงเบนไปจากบทที่ได้รับเลย
แนวทางปฏิบัติในลักษณะนี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่า การสื่อสารในทุกๆรูปแบบและทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาทางโทรทัศน์ไปจนถึงโพสต์บนโซเชียลมีเดีย จะสอดคล้องกับเป้าหมายของแบรนด์ แต่ก็ยังทำให้เกิดคำถามด้านจริยธรรมเกี่ยวกับความโปร่งใสและความถูกต้อง หากบทที่ถูกเขียนออกมานั้นไม่ได้มาจากพื้นฐานของความจริงใจนั่นเอง เรามาดูรูปแบบของการตลาดแบบตามสคริปต์ (Scripted Marketing) ทั้ง 5 รูปแบบที่เรามักจะเห็นกันอยู่บ่อยๆ กันว่าในแต่ละรูปแบบนั้นมีรายละเอียดเป็นอย่างไรก่อนจะไปสู่มุมมองเรื่องอื่นๆครับ
- Hard Scripted Marketing
แบบที่ 1 เรียกว่า การได้รับบทที่เน้นหนักๆไปทางการโปรโมท ซึ่งในบทนั้นจะได้รับการควบคุมเป๊ะๆทุกตัวหนังสือ เมื่อไหร่ก็ตามที่บรรดา Influencer ผู้มีชื่อเสียงได้รับมอบหมายพูดและทำตามบท ก็จะถูกควบคุมให้สื่อสารออกไปอย่างชัดเจนในทุกบรรทัด การแสดงออกทางท่าทาง การใช้โทนและน้ำเสียงในการสื่อสาร การแต่งกาย ให้เหมาะสมและถูกต้อง เช่น พิธีกรและนักแสดงชื่อดังปรากฏตัวในโฆษณาทางทีวีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์บำรุงผิว มีบทสคริปต์ว่า “ครีมนี้จะช่วยให้ผิวคุณกระจ่างใสไร้ที่ติในเวลาเพียง 1 สัปดาห์” พร้อมถือผลิตภัณฑ์ด้วยท่าทางที่กำหนด ใส่เสื้อผ้าตามโทนสีของแบรนด์ แม้ว่าอาจจะไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ก็ตาม แต่ต้องปฏิบัติตามบทที่ได้มาอย่างเคร่งครัด - Soft Scripted Marketing
แบบที่ 2 นี้จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ที่สามารถใช้ความคิดเห็นส่วนบุคคลเข้าไปใส่ในบทนั้นๆ เพื่อให้รู้สึกเป็นธรรมชาติมากขึ้น แต่ก็ยังคงสอดคล้องกับข้อความหลักของแบรนด์ เช่น Influencer ด้านฟิตเนสแห่งหนึ่งโปรโมทเครื่องดื่มที่ให้พลังงานชนิดใหม่บน Instagram โดยมีบทให้พูดถึงคุณประโยชน์บางอย่าง เช่น ความอึดที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวที่เร็วขึ้น แต่ Influencer ได้เสริมถึงเรื่องประสบการณ์ของตัวเองที่ได้ใช้เครื่องดื่มลักษณะนี้มาก่อน สคริปต์นี้ก็จะดูเชื่อมโยงความรู้สึกได้ดีมากขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่งก็อาจเพิ่มระดับความเชื่อมโยงทางอารมณ์ จนใส่บทพูดที่เกินจริงออกไปก็จะกลายเป็นการหลอกลวงผู้ชมในทันที - Testimonial-Based Scripted Marketing
แบบที่ 3 นั้น เป็นเชิงรีวิวการใช้สินค้า โดยบรรดา Influencer ผู้มีชื่อเสียงจะได้รับบทที่เขียนไว้ล่วงหน้า ซึ่งมักกล่าวเกินจริงหรือมีการเพิ่มความน่าดึงดูดใจให้กับผลิตภัณฑ์ สิ่งนี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมาก เช่น Influencer ด้านความงามทำคอนเทนต์บน YouTube เกี่ยวกับวิธีที่ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม โดยสามารถ “เปลี่ยนโฉม” เส้นผมของพวกเขาได้อย่างสมบูรณ์แบบในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ แต่ในความเป็นจริง Influencer อาจไม่มีประสบการณ์ แต่ได้รับบทให้เล่าเรื่องนี้ให้ผู้ชมฟัง เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ดูเป็นของที่ดีจริงและเป็นที่ต้องการมากขึ้น - Narrative-Driven Scripted Marketing
การตลาดประเภทนี้จะเป็นการสร้างเรื่องราวหรือสถานการณ์เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ โดยบรรดา Influencer ผู้มีชื่อเสียงจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์เนื้อหาและใช้วิธีการถ่ายทอดที่น่าดึงดูดใจมากกว่าเดิม แต่อาจทำให้เส้นแบ่งระหว่างข้อเท็จจริงกับความเป็นนิยายดูมีความคลุมเครือได้ (หากที่มาของเรื่องราวนั้นเป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นมา) เช่น พิธีกรชื่อดังเป็นพรีเซ็นเตอร์ในงานๆหนึ่งที่นำเสนอความยิ่งใหญ่ของธุรกิจ โดยบอกเล่าเรื่องราวของผู้ก่อตั้งที่ผ่านความยากลำบาก มีการต่อสู้และฝ่าฝันกับอุปสรรคต่างๆจนกลายมาเป็นคนที่มีธุรกิจเป็นพันล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้คนที่เข้ามาร่วมฟังรู้สึกประทับใจและอยากเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ ลักษณะนี้เป็นเรื่องราวที่ถูกเขียนมาไว้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องจริง จริงแค่บางส่วน หรืออาจจะไม่ได้เป็นอย่างบอก - Crisis Management Scripted Marketing
แบบที่ 5 นั้น เป็นบทที่ถูกจัดทำขึ้นอย่างพิถีพิถันที่นำไปใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤต หรือที่เรียกว่าการสื่อสารในภาวะวิกฤต (Crisis Communication) โดยออกแบบมาเพื่อควบคุมการถ่ายทอดข้อมูล โดยให้การโฆษกหรือผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาขอโทษต่อเหตุการณ์หรืออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น คนดังท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ที่มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารในองค์กรหนึ่ง ปรากฏตัวในงานแถลงข่าวเพื่อชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่ความเสียหายของหลายๆคน โดยมีการกำหนดบทพูดและจำเป็นต้องอ่านอย่างละเอียด โดยอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น แสดงความเสียใจ อธิบายว่าแบรนด์จะมีแนวทางปฏิบัติ การแก้ไข และเยียวยาอย่างไร ข้อความทั้งหมดจะถูกจัดทำขึ้นโดยทีมสื่อสารหรือทีมประชาสัมพันธ์ เพื่อจำกัดความเสียหายต่อชื่อเสียงของแบรนด์ ข้อสังเกตในเรื่องนี้คือ หลายๆครั้งบทที่ถูกจัดเตรียมเอาไว้ อาจเป็นบทที่ปฏิเสธในความผิดที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดชื่อเสียงเชิงลบต่อแบรนด์ได้เช่นกัน
The Blame Game เมื่อบรรดา Influencer ผู้มีชื่อเสียงมักโยนทุกอย่างไปที่ Script
เมื่อบรรดา Influencer ผู้มีชื่อเสียงพบว่าตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์อื้อฉาวทางธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงและฉ้อโกง พวกเขามักจะโยนความผิดไปที่สคริปต์ (Script) โดยมักจะอ้างว่า “ผมแค่อ่านจากบท” หรือ “ผมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจทางธุรกิจ” แม้ว่าอาจจะเป็นความจริงบางส่วน แต่ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า การทำตามสคริปต์จะทำให้พวกเขาพ้นจากความรับผิดชอบในเรื่องนั้นๆได้หรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วข้ออ้างวในลักษณะนี้ก็มักจะใช้ไม่ได้ผล แต่ทำไมยังมีหลายๆคนยังพยายามโยนทุกอย่างไปว่า สิ่งที่สื่อสารออกไปนั้นเป็นไปตามบทที่ได้รับมาจากผู้ว่าจ้าง และก็มีคำยืนยันว่าได้มีการสกรีนก่อนที่จะสื่อสารออกไปทุกครั้งแต่ก็ยังผิดพลาดอยู่ดี กลายเป็น The Blame Game โดยการโยนให้สคริปต์ตกเป็นคนผิด นั่นใช่การปัดความรับผิดชอบหรือไม่ นั่นใช่การเอาตัวเองออกมาจากความผิดหรือไม่ ก็ยังคงเป็นคำถามคาใจหลายๆคนมาโดยตลอด
บทบาทของบรรดา Influencer ผู้มีชื่อเสียงกับ Scripted Marketing
บรรดา Influencer ผู้มีชื่อเสียงสามารถสร้างการเข้าถึงและสร้างความน่าเชื่อถือมาสู่ผลิตภัณฑ์ ด้วยการเชื่อมโยงความเป็น Personal Brand กับตัวแบรนด์ที่ว่าจ้างพวกเขา ด้วยการทำให้การประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขายนั้นเป็นที่ต้องการของสาธารณชนมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างในกรณีธุรกิจแบบ Mulit Level Marketing (MLM) หรือการตลาดแบบหลายชั้น Influencer ผู้มีชื่อเสียงอาจมีบทบาทอยู่หลายอย่าง ทั้งในฐานะ CMO ผู้บริหาร ผู้อำนวยการด้านการสื่อสาร และพรีเซ็นเตอร์ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการบริหารจัดการและหน้าดูแล้วไม่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมันเกี่ยวข้องกับ Scripted Marketing (หากอยู่ในสถานการณ์เลวร้าย เช่น บริษัทได้ทำในสิ่งที่ผิดหรือเรื่องหลอกลวง จากการสื่อสารของ Influencer ผู้มีชื่อเสียงท่านนี้) ตัวเขาก็อาจจะโบ้ยได้ว่าทุกอย่างนั้นเป็นการพูดตามบทที่ได้รับมา มีคนเตรียมไว้ให้ซึ่งต้องทำตามบทที่ได้รับว่าจ้างมา โดยไม่รู้เรื่องใดๆเกี่ยวกับการกระทำความผิด แต่ก็ยังมีอีกมุมหนึ่งเขาอาจไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจจริงๆ ซึ่งก็อาจจะนำไปสู่ความเสียหายต่อชื่อเสียงในหลายๆด้าน
Scripted Marketing ทำให้ผู้ชมเข้าใจผิดได้อย่างไร
ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดของ Scripted Marketing คือ สามารถนำเสนอในสิ่งที่ไม่ใช่ความจริงเสมอไป เพราะด้วยบทและข้อความที่ได้รับการขัดเกลามาอย่างดี ทำให้ดูเหมือนว่าบรรดา Influencer ผู้มีชื่อเสียงมีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์อย่างแท้จริงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ใช้ก็ตาม สิ่งนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งในหลายๆอุตสาหกรรม จนทำให้เกิดปัญหาเรื่องความโปร่งใส และในกรณีของธุรกิจที่มีการคิดและวางแผนการเพื่อฉ้อโกงมาตั้งแต่ต้น Scripted Marketing จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพมาก เพราะจะช่วยปิดบังความจริงหรือบิดเบือนสิ่งต่างๆ ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับข้อมูลอาจร่วมลงทุนหรือซื้อผลิตภัณฑ์ จากการที่ได้เห็นบรรดาคนมีชื่อเสียงที่ตัวเองชื่นชอบเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาและทำการตลาดให้ แต่สุดท้ายกลับตระหนักรู้ได้ในภายหลังว่าพวกเขาถูกหลอกอย่างน่าเจ็บปวดใจ
ผลกระทบทางกฎหมายและจริยธรรม
Scripted Marketing ก็มีส่วนในการข้ามเส้นจริยธรรมได้ เมื่อถูกนำมาใช้เพื่อจงใจหลอกลวงผู้บริโภค หลายครั้งที่บรรดา Influencer ผู้มีชื่อเสียงมักจะอ้างว่า “ฉันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทนี้” “ฉันรับเป็นพรีเซ็นเตอร์อย่างเดียว” “ไม่ได้อ่านข้อมูลอย่างละเอียด” ซึ่งดูแล้วเหมือนบอกปัดความรับผิดชอบจนทำให้เกิดคำถามตามมาอย่างมากมาย แต่ท้ายที่สุดแล้วก็มีผลทั้งทางกฎหมายและจริยธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความสำคัญของความโปร่งใสในเรื่อง Influencer Marketing
ความโปร่งใสมีความสำคัญมากกว่าที่เคย โดยทั้งตัวของแบรนด์และบรรดา Influencer ผู้มีชื่อเสียงต้องแน่ใจว่า ผู้ชมและผู้บริโภคนั้นตระหนักรู้ว่า Scripted Marketing เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสียเงินเพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ เพราะมาจากการที่คนส่วนใหญ่จะไว้วางใจในความมีชื่อเสียงของเหล่า Influencer ดังนั้นการขาดความโปร่งใสสามารถทำลายความน่าเชื่อถือของทั้ง Influencer และแบรนด์ได้อย่างรุนแรง และถ้าหนักสุดก็อาจจะถึงขั้นติดคุกและล้มละลายได้แบบไม่มีโอกาสแก้ตัว
ผลกระทบต่อแบรนด์และผู้มีชื่อเสียง
เมื่อบรรดา Influencer ผู้มีชื่อเสียงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพรีเซนเตอร์หรือตัวแทนของแบรนด์ ชื่อเสียงส่วนตัวของพวกเขาจะเข้าไปเกี่ยวพันกับแบรนด์อยู่ตลอดเวลา หากผู้มีชื่อเสียงเข้าไปเชื่อมโยงกับธุรกิจที่ผิดกฎหมาย หลอกลวง หรือฉ้อโกง ก็อาจสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อภาพลักษณ์ของตัวเอง และแน่นอนครับว่าอาจจะส่งผลถึงแบรนด์ที่พวกเขาร่วมงานหรือรับงานอื่นๆอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบในเรื่องต่างๆ ดังนี้
- การสูญเสียความไว้วางใจของผู้บริโภค
ผู้บริโภคอาจเริ่มตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของทั้งตัว Influencer และตัวแบรนด์ โดยสงสัยว่าทั้งแบรนด์และ Influencer นั้นมีส่วนในการหลอกลวงพวกเขา - ภาพลักษณ์เชิงลบ
การตั้งคำถามและการออกมาร้องเรียน สามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปยังหลายแพลตฟอร์ม ซึ่งขยายความเสียหายและทำให้ตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง - ยอดขายและความร่วมมือลดลง
ด้วยความไว้วางใจถูกทำลายลงจะส่งผลให้ยอดขายลดลง ความร่วมมือด้านต่างๆจะหายไป เพราะไม่อยากสนับสนุนสิ่งผิดๆ และต้องการแยกตัวออกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น - ผลที่ตามมาทางกฎหมาย
บรรดา Influence และแบรนด์ต่างๆ อาจเผชิญกับคำตัดสินทางกฎหมายหากสิ่งที่สื่อสารออกมา เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือทำให้เข้าใจผิด ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้มีการฟ้องร้องจากผู้บริโภคหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องนี้
สิ่งที่ Influencer จำเป็นต้องเรียนรู้
- รู้จักแบรนด์ที่ร่วมงานเป็นอย่างดี
บรรดาคนดังและผู้มีชื่อเสียงทั้งหลายต้องทำการตรวจสอบสถานะก่อนที่จะรับงานกับบริษัทใดๆ การรับงานไม่ว่าจะเป็นพรีเซ็นเตอร์ การโฆษณา การรีวิว การประชาสัมพันธ์ หรือมีบทบาทหน้าที่ในแบรนด์นั้นๆ ถ้าไม่เข้าใจรูปแบบธุรกิจอย่างแท้จริงก็จะถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ต้องแบกรับในภายหลัง - ยึดหลักความจริงใจและความถูกต้องด้านการสื่อสารการตลาด
ผู้บริโภคสมัยนี้มีความรอบรู้มากขึ้นและสามารถตั้งคำถามรวมถึงฟ้องร้องหากรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ หากเห็นว่าสิ่งที่นำเสนอมันไม่เหมือนกับความเป็นจริงก็เท่ากับว่าการทำการตลาดนั้นขาดซึ่งความจริงใจ แบรนด์ควรให้ความสำคัญกับการพูดและสื่อสารเรื่องราวที่แท้จริง และตัวของ Influencer เองก็ต้องไม่กระตุ้นความรู้สึกของผู้คนด้วยคำพูดที่ดูเกินจริง - เปิดเผยทุกสิ่งโดยไม่ปิดปังความจริงใดๆ
ความโปร่งใสตรวจสอบได้นับว่าสำคัญมากกับการทำการตลาด ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงเรื่องข้อกำหนดทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างความไว้วางใจให้กับผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงรูปแบบการทำธุรกิจ ที่มารายได้ โครงสร้างการบริหารงาน หลักการดำเนินงาน กระบวนการต่างๆ และเรื่องอื่นๆ เพราะเมื่อทุกอย่างชัดเจนโปร่งใส Scripted Marketing นั้นก็จะส่งเสริมและสนับสนุนความเป็นจริง โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเผชิญหน้ากับเรื่องเลวร้ายในอนาคต
การป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้เข้าไปอยู่ในวงจรแห่งการฉ้อโกง
ข้อแนะนำสำหรับบรรดา Influencer ผู้มีชื่อเสียง
- การตรวจสอบสถานะอย่างละเอียดถี่ถ้วน
คุณจำเป็นต้องตรวจสอบแบรนด์ที่กำลังจะร่วมงานด้วย เพื่อทำความเข้าใจรูปแบบธุรกิจโดยละเอียด ทั้งด้านการเงิน และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย - สัญญาข้อตกลงที่ชัดเจน
สัญญาควรกำหนดบทบาทและขอบเขตของงานอย่างชัดเจน โดยปกป้องพวกเขาตามกฎหมายหากแบรนด์มีส่วนร่วมในการปฏิบัติที่ผิดจรรยาบรรณ - หาที่ปรึกษาด้านกฎหมายที่เชื่อถือได้
ควรมีที่ปรึกษาด้านกฎหมายและการเงิน ที่สามารถให้คำแนะนำที่มีคุณค่าเพื่อให้แน่ใจว่า งานที่คุณกำลังจะรับทำนั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงทางธุรกิจที่ดูคลุมเครือ จนอาจนำไปสู่เรื่องที่ผิดกฎหมายหรือหลอกลวงใคร - ความแท้จริง
คุณจำเป็นต้องทดลองใช้ผลิตภัณฑ์หรือการบริการของแบรนด์ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณมีประสบการณ์จริง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อใจอย่างแท้จริง
ข้อแนะนำสำหรับแบรนด์
- ความโปร่งใส
แบรนด์ต้องมั่นใจว่าการดำเนินงานในทุกส่วนของตนมีความโปร่งใส และมีการสื่อสารอย่างชัดเจนโดยไม่มีอะไรหมกเม็ด ความชัดเจนในตัวผลิตภัณฑ์และบริการ ความชัดเจนในเงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ธุรกิจแบบ Mulit Level Marketing (MLM) หรือ การตลาดแบบหลายชั้น - การตรวจสอบประวัติความเป็นมา
แบรนด์ควรดำเนินการตรวจสอบสถานะและเบื้องหลังของบรรดา Influencer ผู้มีชื่อเสียง เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขามีชื่อเสียงที่ใสสะอาด ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องกับการทำอะไรที่ผิดกฎหมาย และต้องสอดคล้องกับค่านิยมของแบรนด์ (Core Values) - หลีกเลี่ยงการใช้ Script ที่มากจนเกินไป
การตลาดที่มีการควบคุมและเขียนสคริปต์มากเกินไปอาจดูไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งควรใช้คำการันตีจากลูกค้าและประสบการณ์จริงที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ มาเป็นคำยืนยันมากกว่าการยัดเยียดโฆษณาจนเกินพอดี - ตรวจสอบรับรอง
แบรนด์ควรตรวจสอบทุกการกระทำของ Influencer ผู้มีชื่อเสียงอยู่เป็นประจำ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขายังคงรักษาพฤติกรรมที่เหมาะสม ไม่ทำให้แบรนด์เสียชื่อเสียง และการกระทำต้องสอดคล้องกับกฎระเบียบต่างๆ
การตลาดได้กลายเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพ แต่สิ่งสำคัญก็คือคุณต้องแน่ใจว่าสคริปต์หรือบทที่เตรียมไว้นั้น ต้องมาจากพื้นฐานของความเป็นจริงเสมอ มิฉะนั้นผลที่ตามมาอาจเป็นมากกว่าแค่การรีวิวหรือการนำเสนอสิ่งที่ไม่เหมาะสม ทำให้สูญสิ้นความน่าเชื่อถือ แต่อาจเป็นจุดสิ้นสุดของชีวิตการทำงานของทั้งบรรดาผู้มีชื่อเสียงทั้งหลาย และแบรนด์ที่เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งที่ไม่รู้เรื่องจริงๆหรือแอบรู้เรื่องมาบ้างนั่นเอง