Critical Thinking คือ ความสามารถในการคิดแบบมีเหตุมีผล หรือที่เราเรียกว่ามีวิจารณญาณในการคิดเรื่องต่างๆได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นความเข้าใจในเหตุและผลที่สามารถเชื่อมโยงให้เข้ากับความคิดในเรื่องต่างๆได้ดียิ่งขึ้น การมี Critical Thinking หรือที่เราเรียกว่าการคิดเชิงวิพากษ์ จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมากสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่วินาที และเราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ที่บางครั้งก็ทำให้เราเกิดความรู้สึกและมีอารมณ์ร่วมในประเด็นต่างๆ จนเชื่อในสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินโดยไม่ได้ฉุกคิดแต่อย่างใดว่าเป็นเรื่องจริงอย่างที่เป็นหรือไม่ หากเป็นในด้านการทำงานการมี Critical Thinking จะช่วยให้คุณมองอะไรที่เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น เข้าใจที่มาที่ไป ทำอะไรแบบมีข้อมูลรองรับ สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ดี และไม่ตัดสินใจอะไรแบบง่ายๆนั่นเอง ในบทความนี้ผมจะเน้นไปที่วิธีเริ่มต้นในการพัฒนาให้เกิด Critical Thinking สำหรับคนที่ต้องการมีทักษะนี้ติดตัวเพื่อนำไปใช้ในการทำงานรวมถึงปรับใช้กับชีวิตส่วนตัวครับ
รวม 7 ขั้นตอนการพัฒนา Critical Thinking ให้กับตนเอง
การเข้าสู่กระบวนการคิดอย่างมีเหตุมีผลจะต้องละทิ้งอคติและเข้าสู่ความคิดอย่างมีเหตุผล ซึ่งถือว่ามีประโยชน์สำหรับการตัดสินใจในเรื่องที่ซับซ้อนและในด้านที่คุณอาจไม่คุ้นเคย ที่จะช่วยให้คุณมีมุมมองที่แตกต่างออกไปโดยปราศจากอคติใดๆ และ 7 ขั้นตอนนี้จะช่วยพัฒนาและเพิ่มการมี Critical Thinking ในตัวเองได้
1. ระบุปัญหาหรือการตั้งคำถาม
จุดเริ่มต้นก่อนที่คุณจะพัฒนาให้เกิดทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณนั้น คุณต้องระบุปัญหาที่คุณกำลังจะแก้ไขหรือเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นให้ได้ก่อน โดยขั้นตอนนี้จำเป็นต้องมองปัญหาจากมุมมองที่แตกต่างกัน เช่น
- เกิดอะไรขึ้น
- ทำไมถึงเกิดสิ่งนี้ขึ้น
- จะตั้งสมมติฐานกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าอะไร
- จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร
สิ่งสำคัญของทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ก็คือ การเรียนรู้วิธีหาข้อสรุปที่เป็นกลาง และเพื่อที่จะทำสิ่งนั้นได้คุณต้องรู้ถึงอคติที่คุณมีหรือกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน หากคุณสามารถระบุรายละเอียดเหล่านี้ได้สำเร็จนั่นก็ถือเป็นกุญแจดอกแรกของ Critical Thinking
2. รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
เมื่อได้แนวคิดทั่วไปเกี่ยวกับการระบุปัญหาแล้วก็จำเป็นต้องเจาะให้ลึกลงไปอีก โดยการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นสถิติที่เกิดขึ้นในอดีต และข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด และนำมาตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณมีข้อมูลที่เพียงพอ เพราะหากคุณไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอความสามารถในการตัดสินใจในขั้นสุดท้ายก็จะถูกบิดเบือนไป
3. วิเคราะห์และประเมินผลข้อมูล
เมื่อได้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆแล้วก็ต้องนำมาวิเคราะห์ดูว่าทั้งหมดนั้นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร เพราะการมีข้อมูลเยอะแยะมากมายไม่ได้หมายความว่าข้อมูลทั้งหมดที่คุณได้มานั้นจะเกี่ยวข้องกันเสมอไป ดังนั้นเมื่อคุณรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้ว ให้กรองสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป การสังเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดจะช่วยให้คุณชั่งน้ำหนักแหล่งข้อมูลที่แตกต่างกันได้ เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ในขั้นตอนนี้ผมอยากให้คุณลองตั้งตัวอย่างคำถามกับตัวเองดูครับ เช่น
- ข้อมูลที่ได้มานี้น่าเชื่อถือขนาดไหน
- ข้อมูลที่ได้มานั้นมีความสำคัญมากขนาดไหน
- ข้อมูลที่ได้มานั้นมันล้าสมัยหรือไม่
- ข้อมูลที่ได้มานั้นมันตรงหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่หรือไม่
4. พิจารณาทางเลือกอื่นๆเพิ่มเติม
ในเรื่องของกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ คือ การตัดสินใจโดยไม่มีอคติใดๆเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยคุณอาจจำเป็นต้องถอยออกมาจากสิ่งที่คุณตั้งสมมติฐานหรือคำถามไว้ตั้งแต่แรก เพื่อขจัดความเป็นอคติทางความคิดให้หมดสิ้นอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นคุณจำเป็นต้องคิดและมองหาทางเลือกอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อดูครับว่ายังมีอะไรหรือประเด็นอะไรที่เราหลงลืมไปบ้างหรือเปล่า ซึ่งก็เป็นเหมือนขั้นตอนของการทวนซ้ำอีกครั้งให้แน่ใจมากขึ้น โดยลองตั้งคำถามกับตัวเองดูว่า
- เรากำลังตั้งสมมติฐานกับเรื่องนี้จริงๆใช่หรือไม่
- มีตัวแปรหรือปัจจัยอื่นๆที่เราลืมไปหรือไม่ที่ต้องนำมาพิจารณา
- เราได้ประเมินข้อมูลต่างๆครบทุกมิติแล้วใช่หรือไม่
- มีมุมไหนที่เราพลาดไปบ้างหรือไม่
5. สรุปอย่างมีเหตุมีผล
เมื่อผ่านขั้นตอนทั้ง 4 ข้อแล้วคุณก็พร้อมที่จะสรุปผลเพื่อระบุวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ที่ต้องเชื่อมโยงระหว่างเหตุและผลเข้าด้วยกันโดยใช้ข้อเท็จจริงที่คุณรวบรวมมา ทั้งนี้เพื่อประเมินข้อสรุปให้ออกมาแบบเป็นกลางที่สุด และต้องจำไว้ครับว่าอาจมีวิธีแก้ปัญหามากกว่าหนึ่งวิธีเสมอ เพราะบ่อยครั้งนั้นปัญหาที่คุณกำลังเผชิญอาจมีความซับซ้อนที่ไม่เหมือนกัน กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณไม่จำเป็นต้องนำไปสู่วิธีแก้ปัญหาแบบฉับพลันในทันทีก็ได้ แต่กระบวนการคิดแบบนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจถึงตัวแปรต่างๆที่กำลังเผชิญอยู่ เพื่อให้คุณสามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น
6. สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
การสื่อสารเป็นทักษะสำคัญสำหรับนักคิดที่มีวิจารณญาณ ซึ่งการคิดแบบมีเหตุมีผลอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ คุณยังต้องแบ่งปันข้อสรุปกับทีมงานหรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียคนอื่นๆด้วย หากคุณมีวิธีแก้ปัญหาหลายอย่างก็ให้นำเสนอมันทั้งหมด โดยคุณอาจมีกรณีศึกษาจากการที่คุณนำไปทดลองปฏิบัติมา เพื่อทดสอบดูว่ามันใช้งานได้หรือไม่ก่อนที่จะนำวิธีการต่างๆไปใช้จริง กระบวนการสื่อสารและแบ่งปันแนวคิดจึงถือเป็นกุญแจสำคัญ ในการส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณภายในทีมและตัวขององค์กรทั้งหมด ดังนั้นคุณควรสนับสนุนให้มีการสนทนาและพูดคุยกันแบบเปิดกว้างและส่งเสริมในการแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะมันจะได้ทั้งสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณให้กับผู้อื่นอีกด้วย
7. ปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการต่างๆ
ในขั้นตอนสุดท้ายเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปรับปรุงประสิทธิภาพในแต่ละขั้นตอน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในการฝึกฝนและพัฒนาเรื่องของ Critical Thinking เพื่อให้ทักษะการคิดวิเคราะห์แบบมีเหตุมีผลยังคงซึ่งประสิทธิภาพมากที่สุด คุณควรลองปรับปรุงวิธีการในการทบทวนแต่ละขั้นตอนและแบ่งปันข้อมูลกันในทีม การทำลักษณะนี้จะช่วยให้สมาชิกในทีมมีการตัดสินใจที่คล้ายกันหรือเกี่ยวข้องกันได้ และนั่นจะช่วยให้การทำงานหรือการแก้ไขปัญหาต่างๆนั้นดีเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างการคิดแบบ Critical Thinking
เราลองมาดูตัวอย่างการนำ Critical Thinking มาปรับใช้ ที่ผมได้จำลองสถานการณ์เกี่ยวกับบริษัทแห่งหนึ่งขึ้นมา เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพกันมากขึ้นครับ โดยได้ลองหยิบยกเหตุการณ์เกี่ยวกับปัญหาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ Application
Scenario: บริษัทด้านเทคโนโลยีแห่งหนึ่งกำลังแก้ปัญหาเรื่องการพัฒนา Application ใหม่ (Problem-Solving in Product Development)
ในบริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่งทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์กำลังเผชิญกับความท้าทาย กับการคิดฟีเจอร์ใหม่ๆสำหรับแอปพลิเคชั่นโดยได้ลองทำออกมาเพื่อทดสอบกับกลุ่มเป้าหมาย และในช่วงระหว่างการนำไปทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายพบว่า การมีส่วนร่วมจากผู้ใช้งานนั้นแทบจะไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นค่อนข้างน้อยกว่าที่คาดเอาไว้ ทีมพัฒนาจึงคิดว่าแทนที่จะทำฟีเจอร์ใหม่ๆตามสมมติฐานที่เคยตั้งไว้ เลยลองให้ทีมงานคิดแบบ Critical Thinking ดูเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงก่อนการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ต่อไป เรามาดูลักษณะการคิดแบบ Critical Thinking ในเหตุการณ์นี้กันครับ
- การวิเคราะห์ข้อมูล
ทีมงานรวบรวมและวิเคราะห์ความคิดเห็นของผู้ใช้งาน โดยเอาสถิติการใช้งาน และข้อมูลพฤติกรรมมาใช้เพื่อระบุปัญหาที่เกิดขึ้น - ใช้มุมมองที่หลากหลาย
ทีมงานจัดระดมความคิด (Brainstorming) ให้กับสมาชิกในทีมที่เป็นตัวแทนจากแผนกต่างๆ เช่น ทีมออกแบบ ทีมการตลาด ทีมสนับสนุนลูกค้า และกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใช้งานจริง เพื่อรับข้อมูลเชิงลึกจากหลากหลายมุมมอง - การระบุสาเหตุที่แท้จริง
ทีมงานใช้เทคนิคต่างๆ เช่น แนวคิด “5 Whys” เพื่อเจาะลึกถึงต้นตอของปัญหา โดยพบว่าฟีเจอร์ที่ออกแบบมานั้นใช้งานได้ยากเนื่องจากการออกแบบ User Interface (UI) ที่ไม่เหมาะสมกับผู้ใช้งาน ตั้งแต่การ Login เข้าไปในระบบที่ไม่คุ้นชินและการจัดวางเมนูที่ทำให้สับสนมากกว่าเดิม - การสำรวจวิธีแก้ปัญหา
ด้วยความเข้าใจที่ชัดเจนในปัญหาที่เกิดขึ้น ทีมงานได้สำรวจและหาวิธีแก้ปัญหาต่างๆ โดยคำนึงถึงข้อดีและข้อเสียของแต่ละตัวเลือกที่อาจเกิดขึ้น - การใช้งานและการทดสอบ
ทีมงานมีการปรับปรุงใหม่และออกแบบตามที่ได้ทำการสำรวจและการวิเคราะห์สาเหตุต่างๆ โดยดำเนินการทดสอบแบบ A/B Testing เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการออกแบบ User Interface (UI) ว่าแบบไหนตอบสนองได้ดีกว่ากัน และยังคงรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆเพื่อการปรับปรุงเพิ่มเติมต่อไป
แนวทางการคิดแบบ Critical Thinking นี้ช่วยให้ทีมสามารถประเมินสถานการณ์ต่างๆได้อย่างมีวิจารณญาณ และตัดสินใจอย่างมีข้อมูลที่แท้จริงเพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้กับการออกแบบ User Interface (UI) ใหม่เป็นอันดับแรกให้ได้เสียก่อน เพราะหากด่านแรกของการออกแบบหน้าตาและการใช้งานนั้นไม่เหมาะสมไม่สะดวกสบายเพียงพอ ฟีเจอร์ทั้งหมดที่มีแม้ว่าจะดีแค่ไหนก็ตามก็คงจะไม่มีใครอยากใช้เพราะมันใช้ยากนั่นเอง
Critical Thinking จึงเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้คุณสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ดีมากยิ่งขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และตัดสินใจได้อย่างรอบด้าน ไม่ตัดสินอะไรจากอคติที่มีในตัว การมี Critical Thinking จะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมและสร้างคุณค่าให้กับองค์กร และช่วยให้ทีมบรรลุผลลัพธ์ในการทำงานที่ดีขึ้น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทุกๆองค์กรกำลังมองหาจากพนักงานอยู่นั่นเอง