
ข้อมูลสรุปจากรายงาน Digital 2025 ของ DataReportal ได้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ (Online Shopping) ของคนทั่วโลก โดยรายงานฉบับนี้ได้อ้างอิงข้อมูลจากแหล่งชั้นนำระดับโลก เช่น GWI, Reuters Institute for the Study of Journalism และ We Are Social เพื่อให้เห็นภาพรวมของพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ (Online Shopping) เรามาดูสรุปข้อมูลกันครับ

ภาพรวมการซื้อของออนไลน์รายสัปดาห์
สรุปข้อมูลกิจกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์รายสัปดาห์ (Weekly) โดย GWI เผยให้เห็นพฤติกรรมของผู้ใช้ Internet ดังนี้ 55.8% ซื้อสินค้า/บริการออนไลน์ 27.3% สั่งของชำผ่านร้านค้าออนไลน์ 10.8% ซื้อสินค้ามือสองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 19.9% ใช้บริการเปรียบเทียบราคาสินค้าออนไลน์ 15.3% ใช้บริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” (Buy Now, Pay Later) ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ (Online Shopping) ยังคงเติบโตโดยเฉพาะการซื้อสินค้าและบริการ ตลาดของชำออนไลน์มีสัดส่วนผู้ใช้สูงขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความสะดวกของบริการส่งสินค้า การซื้อสินค้ามือสองยังคงมีตลาดอยู่ แต่ยังเป็นสัดส่วนที่เล็กเมื่อเทียบกับการซื้อสินค้าปกติ เครื่องมือเปรียบเทียบราคาเริ่มมีบทบาทสำคัญในการช่วยผู้บริโภคตัดสินใจ รวมไปถึงระบบ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” กำลังเป็นที่นิยม ซึ่งอาจสะท้อนถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ที่ต้องการความยืดหยุ่นทางการเงิน

คนไทย Shopping ออนไลน์มากที่สุดในโลก
พฤติกรรมการซื้อออนไลน์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้ใช้ Internet ซื้อของออนไลน์มากที่สุดในรอบสัปดาห์เป็นอันดับ 1 (69.2%) ตามติดมาด้วยเกาหลีใต้ (64%) อันดับที่ 3 คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (63.6%) ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่ 55.8%

ค่าเฉลี่ยอายุของผู้ใช้งาน Internet สำหรับกิจกรรมการซื้อออนไลน์ ดูแล้วไม่ค่อนแตกต่างกันมากนัก โดยในกลุ่มช่วงอายุ 35-44 ปี คือ กลุ่มที่ซื้อของออนไลน์มากที่สุดที่มีสัดส่วนของผู้หญิง (62.4%) ผู้ชาย (57.2%) ที่น่าสนใจคือกลุ่มวัยเกษียณอายุ 65 ปีขึ้นไปก็ชอบซื้อของออนไลน์มากเช่นกัน

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการซื้อสินค้าออนไลน์
เหตุผลที่ผู้ใช้ Internet นิยมซื้อสินค้าออนไลน์เพราะปัจจัยเรื่องการส่งฟรีมากที่สุดถึง 52.6% ซึ่งเหตุผลดังกล่าวถือเป็นเหตุผลหลักที่หลายๆแบรนด์ใช้เป็น Value Added ให้กับลูกค้า สำหรับคูปอง ส่วนลด รวมถึงการรีวิวจากลูกค้ามีสัดส่วนที่น้อยกว่า ทำให้เงื่อนไขเรื่องการส่งฟรีกลายเป็นสิ่งแรกที่ทุกแบรนด์ควรนำเสนอลูกค้า เพื่อดึงความสนใจให้เกิดการซื้อเป็นอันดับต้นๆ

เมื่อเจาะลึกถึงช่วงอายุจะเห็นว่าทุกช่วงวัยให้ความสำคัญกับการส่งฟรีมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 โดยกลุ่มวัยเกษียณที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปให้ความสำคัญกับการส่งฟรีมากที่สุด (76.7%) เมื่อเทียบกับวัยอื่นๆ และไม่ใช่แค่เพียงการส่งฟรีเท่านั้นแต่วัย 65 ปีขึ้นไปยังเป็นกลุ่มแรกที่ให้ความสำคัญกับคูปอง ส่วนลด นโยบายการคืนสินค้าที่สะดวก รวมถึงการรีวิวจากลูกค้า มากกว่าวัยอื่นๆอีกด้วย สิ่งนี้จะท้อนให้เห็นว่าวัยเกษียณให้ความสำคัญในทุกรายละเอียด และมองในเรื่องความคุ้มค่ามากที่สุดที่ช่วยให้เกิดการตัดสินใจซื้อของออนไลน์

Application การซื้อของออนไลน์ยอดนิยม
รายงานจาก Data.Ai ระบุว่า Amazon ยังคงเป็นแอปฯที่ครองอันดับหนึ่งในใจนักช้อปออนไลน์มาหลายปี Shopee มาแรงในตลาดอาเซียน และเป็นคู่แข่งสำคัญของ Amazon ส่วน Flipkart และ Myntra ก็ตอกย้ำความแข็งแกร่งของ Walmart ในตลาดอินเดีย Alibaba Group ครองตลาดด้วย AliExpress, Lazada และ AliExpress Russia สำหรับ Temu และ Shein ยังคงเติบโตเร็ว โดยเน้นกลยุทธ์ราคาประหยัดและการตลาดเชิงรุก

ผู้ใช้ Internet หาสินค้าอะไรบน Google
ข้อมูลจาก Google Trends ระบุถึงคำที่ผู้ใช้ Internet ค้นหามากที่สุดสำหรับการซื้อของออนไลน์ โดย iPhone มีผู้ค้นหามากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง และส่วนใหญ่ใน 20 อันดับแรกจะเป็นสินค้าหมวดหมู่เทคโนโลยีอย่าง โทรศัพท์มือถือ แท็ปเล็ตคอมพิวเตอร์ เกม เช่น iPhone, Samsung, iPad, Laptop, Xiaomi, PS5 และอุปกรณ์กีฬา เช่น Nike, Adidas, Puma, New Balance มากที่สุด

วิธีชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าออนไลน์
ข้อมูลจาก Worldpay Global Payments Report 2024 ระบุว่าวิธีการชำระเงินผ่านช่องทาง E-Commerce ผ่านช่องทางดิจิทัล และ Digital Wallets มีสัดส่วนมากถึง 50% รองลงมาเป็นการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต (34%) และมี 5% ที่เลือกแบบ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” (Buy Now, Pay Later)

อุปกรณ์ที่ใช้ในการซื้อของออนไลน์ (ระหว่างมือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์)
เราจะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2019-2023 สัดส่วนการซื้อของออนไลน์ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ มีสัดส่วนมากกว่าการซื้อของออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่ในปี 2024 ข้อมูลเผยให้เห็นว่าผู้ใช้งาน Internet เริ่มซื้อของผ่านอุปกรณ์มือถือมากกว่า

เมื่อเจาะลึกลงไปในแต่ละประเทศจะเห็นว่า สัดส่วนการใช้อุปกรณ์ในการซื้อของออนไลน์ มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทและพฤติกรรมการใช้งานที่แตกต่างกัน โดยผู้ใช้ Internet ในประเทศอินเดียซื้อของออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือมากที่สุด (81.2%) สิงคโปร์ (70.1%) เกาหลีใต้ (69.9%) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (69.9%) ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 5 ที่ซื้อของออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ (68.3%) ส่วนประเทศเปรูและอาร์เจนตินามีพฤติกรรม การซื้อของออนไลน์ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะมากกว่ามือถืออย่างเห็นได้ชัดที่ 79.5% และ 82.9% ตามลำดับ

ประเภทของสินค้าอุปโภคบริโภคบนช่องทาง E-Commerce
สินค้าประเภทแฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย มียอดการสั่งซื้อรายปีมากที่สุด โดยผู้คนทั่วโลกใช้จ่ายเงินถึง 771 พันล้านดอลลาร์ ตามติดมาด้วยอาหาร (680 พันล้านดอลลาร์) อันดับที่ 3 เป็นของอุปโภคประเภท DIY และฮาร์ดแวร์ (494 พันล้านดอลลาร์) อันดับที่ 4 เป็นอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ (465 พันล้านดอลลาร์) แต่กลับพบว่าอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ในครัวเรือน เป็นประเภทสินค้าที่มีคนซื้อผ่าน E-Commerce ค่อนข้างน้อย (123 พันล้านดอลลาร์) เมื่อเทียบกับประเภทอื่นๆ

ภาพรวมการซื้อสินค้า Grocery ผ่านช่องทางออนไลน์
สำหรับการซื้อสินค้า Grocery หรือของชำจำพวก ผัก ผลไม้ อาหารสด อาหารแห้ง เครื่องปรุง และอื่นๆ มีจำนวนคนสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์จำนวน 1.73 พันล้านคน เมื่อเทียบแบบปีต่อปีถือว่าเพิ่มขึ้น 12.1% โดยมีมูลค่ารวม ณ สิ้นปีอยู่ที่ 785.6 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 22.2% โดยมีการจับจ่ายใช้สอยเฉลี่ย 450 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี

พฤติกรรมการซื้อสินค้า Grocery ผ่านช่องทางออนไลน์
ผู้ใช้ Internet ในประเทศไทยเป็นกลุ่มผู้ซื้อสินค้าในกลุ่ม Grocery รายสัปดาห์มากที่สุดถึง 45.1% อันดับที่ 2 คือ เกาหลีใต้ (43%) อันดับที่ 3 คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (39.4%) แต่ดูเหมือนว่าสินค้าในกลุ่ม Grocery จะไม่ค่อยนิยมซื้อผ่านช่องทางออนไลน์กันมากเท่ากับสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีหลายประเทศที่มีอัตราการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ต่ำกว่า 20% อาทิ อาร์เจนตินา ฟิลิปปินส์ แคนาดา สวีเดน ญี่ปุ่น สเปน เป็นต้น

เมื่อนำมาเจาะลึกถึงช่วงอายุจะพบว่า กลุ่มผู้ใช้ Internet ช่วง 35-44 ปี เป็นกลุ่มที่ซื้อสินค้าในกลุ่ม Grocery มากที่สุด รองลงมาก็คือกลุ่มอายุ 25-34 ปี และ 45-54 ปี ส่วนกลุ่มที่เป็นวัยเกษียณอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์น้อยที่สุด ที่น่าสังเกตก็คือในทุกช่วงอายุผู้หญิงจะนิยมซื้อออนไลน์มากกว่าผู้ชาย

สำหรับผู้ใช้ Internet ในประเทศอเมริกาถือเป็นผู้ซื้อสินค้าในกลุ่ม Grocery ที่สั่งซื้อมากที่สุดต่อปี เฉลี่ย 1,740 ดอลล่าร์ต่อคน ตามมาด้วยฮ่องกง (1,360 ดอลล่าร์ต่อคน) ออสเตรเลีย (1,092 ดอลล่าร์ต่อคน) โดยค่าเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่ 450 ดอลล่าร์ต่อคน ในขณะที่ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 188 ดอลล่าร์ต่อคน

พฤติกรรมการซื้อ Digital Content
ข้อมูลจาก GWI เผยว่าผู้ใช้ Internet ที่ซื้อ Digital Content (นับรวมทุกแบบ) ในแต่ละเดือน มีสัดส่วนมากที่สุด คือ คนในประเทศนอร์เวย์ (83.1%) รองลงมา คือ เม็กซิโก (80.1%) อันดับที่ 3 คือ สวีเดน (77.5%) สำหรับประเทศไทยมีผู้ใช้ Internet ที่ซื้อ Digital Content ในแต่ละเดือนคิดเป็น 65.1% ส่วนญี่ปุ่นถือว่ามีสัดส่วนค่อนข้างน้อยที่ 37%

Digital Content ดูจะเหมาะกับคนรุ่นใหม่ในช่วงอายุ 16-24 ปี ซึ่งไม่ต่างจากกลุ่มช่วงอายุ 25-34 ปี และ 35-45 ปีมากนัก แต่ที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด คือ กลุ่มวัยเกษียณอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่ซื้อ Digital Content ไม่ถึง 50% และในทุกช่วงอายุนั้นสัดส่วนการซื้อ Digital Content จะเป็นผู้ชายมากกว่า

Digital Content ยอดนิยมในแต่ละเดือนที่มีผู้ใช้ Internet ซื้อมากที่สุด คือ หนังหรือบริการ TV Streaming (31.5%) รองลงมา คือ บริการ Music Streaming (22.5%) อันดับที่ 3 คือ การดาวน์โหลดเพลง (17.5%) อันดับที่ 4 คือ การดาวน์โหลดแอปฯต่างๆ (17.1%) และอันดับที่ 5 คือ เกมมือถือ (15.5%) ส่วน Dating Service อยู่รั้งท้ายที่ 4.4%

หนังหรือบริการ TV Streaming เป็น Digital Content ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในทุกกลุ่มอายุ โดยกลุ่มอายุ 35-44 ปีมีสัดส่วนสูงสุด (33.7%) บริการ Music Streaming เป็นที่นิยมรองลงมา โดยกลุ่มอายุ 25-34 ปีมีสัดส่วนสูงสุด (26.8%) บริการข่าวสาร ได้รับความนิยมในกลุ่มอายุ 35-64 ปี เนื้อหาเพื่อการศึกษา ได้รับความนิยมในกลุ่มอายุ 16-44 ปี

Source:
https://datareportal.com/reports/digital-2025-global-overview-report