
ในโลกของแบรนด์นั้นการรับรู้ของผู้บริโภคเกี่ยวกับแบรนด์ มีความสำคัญต่อความสำเร็จของแบรนด์อย่างยิ่ง เพราะภาพลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Image) คือ ภาพในใจที่ผู้บริโภคสร้างขึ้นเมื่อคิดถึงแบรนด์นั้นๆ ซึ่งรวมถึงทุกอย่างเมื่อได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัส ตั้งแต่ชื่อแบรนด์ (Naming) โลโก้ ข้อความ โทนเสียง และแม้กระทั่งความรู้สึกเชิงอารมณ์ การสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่แข็งแกร่งและน่าจดจำ ไม่ใช่แค่การออกแบบโลโก้ให้ดูโดดเด่น แต่คือการสร้างภาพที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายอย่างตั้งใจ ดังนั้การเข้าใจประเภทหรือรูปแบบของ Brand Image จึงเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญไปสู่การสร้างตัวตนของแบรนด์ (Brand Identity)
ที่ชัดเจนและทรงพลัง และในบทความนี้ผมจะพามาทำความรู้จักกับประเภทของ Brand Image โดยละเอียดทั้งลักษณะเฉพาะ รูปแบบที่เป็นไปได้ และยกตัวอย่างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ ในการสร้างภาพลักษณ์เหล่านี้จนผู้บริโภคจดจำได้ขึ้นใจ

กลุ่มที่ 1: ประเภทของ Brand Image เชิงบวกและน่าหลงใหล
ในกลุ่มนี้สะท้อนถึงภาพลักษณ์ที่เป็นที่ต้องการ น่าชื่นชม และให้ความรู้สึกเชิงบวก ซึ่งแบรนด์มุ่งสร้างขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้าที่เป็นขาประจำ ด้วยการถ่ายทอดคุณค่าอันสูงส่ง และสร้างความเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งกับกลุ่มเป้าหมาย แบรนด์เหล่านี้มักถูกมองว่ามีคุณภาพสูง มีความเป็นต้นฉบับ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคใหม่ ด้วยการสร้างความภาคภูมิใจและความไว้วางใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งมีอยู่ 7 ประเภท ดังนี้
- สง่างามและมีรสนิยม (Elegant)
- เหนือกาลเวลาไม่ตกยุค (Timeless)
- ทันสมัยและร่วมสมัย (Modern)
- สนุกสนานและสร้างสรรค์ (Playful)
- แข็งแกร่งทนทาน (Rugged)
- อบอุ่น เป็นมิตร น่าเชื่อถือ (Friendly)
- พรีเมียม คุณภาพสูง (Premium)
ประเภทของ Brand Image ในกลุ่มนี้มุ่งเน้นไปที่ ความหรูหรา สถานะ และคุณภาพสูง แบรนด์ที่ใช้ภาพลักษณ์เหล่านี้ มักจะวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นที่ต้องการและมีความพิเศษ และมักเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ที่หรูหราและน่าหลงใหล เรามาดูรายละเอียดของแต่ละประเภทกันครับ
1. ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูสง่างาม (Elegant Brand Image)
แบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ที่ดูสง่างาม (Elegent) จะมีความเปล่งประกาย โชว์ความมีระดับ และความรู้สึกของความพิเศษเหนือใคร แบรนด์เหล่านี้มักเชื่อมโยงกับความหรูหรา ความประณีต มีความเป็นอมตะ โดยเน้นไปที่งานฝีมือคุณภาพสูง และการแสดงออกถึงสถานะที่โดดเด่น ความสง่างามของแบรนด์สะท้อนออกมา ผ่านการออกแบบที่เรียบง่ายแต่ดูงดงาม โดยใช้วัสดุระดับคุณภาพพรีเมียม มุ่งเน้นในเรื่องความงาม (Beauty) และความสมบูรณ์แบบ (Perfection)
ลักษณะภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูสง่างาม
- ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณภาพสูง
- การออกแบบที่เรียบง่าย สะอาดตา และให้ความสำคัญกับความสวยงาม
- สร้างความรู้สึกพรีเมี่ยมและหรูหรา
- มักใช้โทนสีที่เรียบหรูและมีระดับ (เช่น ดำ ทอง ขาว)
- ดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่ต้องการความพิเศษ และสถานะที่เหนือกว่า
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีลักษณะของ Elegant Brand Image
- Chanel แบรนด์แฟชั่นและน้ำหอมสุดคลาสสิก ที่สะท้อนถึงความสง่างามผ่านดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่หรูหรา การใช้วัสดุพรีเมียม และการเป็นผู้นำในตลาดแฟชั่นระดับไฮเอนด์
- Rolex สัญลักษณ์แห่งความหรูหราและงานฝีมือระดับ Masterpiece โดย Rolex สื่อถึงภาพลักษณ์ที่สง่างามผ่านนาฬิกาที่ออกแบบอย่างประณีต มีดีไซน์ที่ไม่ตกยุค และสื่อถึงคุณค่าแห่งคุณภาพและความพิเศษ
- Cartier แบรนด์เครื่องประดับระดับโลก ที่สะท้อนภาพลักษณ์แห่งความประณีต ความงาม และความพิเศษ เครื่องประดับของ Cartier ถูกออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างความรู้สึกของความเหนือชั้น และความสง่างามให้กับผู้สวมใส่

Source: https://mygemma.com/en-au/blogs/news/best-cartier-love-bracelet-size-guide
2. ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เหนือกาลเวลา (Timeless Brand Image)
แบรนด์ที่มีภาพลักษณ์เหนือกาลเวลา (Timeless Brand Image) มุ่งเน้นไปที่ความคลาสสิกและความยั่งยืน โดยมีชื่อเสียงที่ไม่ขึ้นอยู่กับกระแสหรือแฟชั่นที่เปลี่ยนไปมากนัก แบรนด์เหล่านี้มีความสม่ำเสมอ ความน่าเชื่อถือ และคุณค่าที่คงอยู่ตลอดเวลา ความน่าสนใจของแบรนด์ไม่ได้มีผลมาจากเทรนด์ที่เปลี่ยนไป แต่จากความสามารถในการรักษาความเกี่ยวข้องและความเป็นที่ต้องการในระยะยาว
ลักษณะภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่อยู่เหนือกาลเวลา
- ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ยังคงได้รับความนิยมแม้เวลาผ่านไปนานเพียงใด
- ความสม่ำเสมอในการสื่อสารและการออกแบบผลิตภัณฑ์
- มีภาพลักษณ์ที่เชื่อถือได้และน่าไว้วางใจ
- มักเกี่ยวข้องกับคุณภาพและความทนทาน
- ดึงดูดลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับเรื่องราว ความยาวนาน ความเป็นตำนาน ความเป็นอมตะ ประเพณี
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีลักษณะของ Timeless Brand Image
- Levi’s – แบรนด์กางเกงยีนส์สัญชาติอเมริกันที่มีประวัติยาวนานกว่า 150 ปี Levi’s สร้างภาพลักษณ์ที่อยู่เหนือกาลเวลาด้วยคุณภาพ ความทนทาน และสไตล์อเมริกันสุดคลาสสิก ทำให้เป็นไอเท็มที่ไม่มีวันล้าสมัยในโลกแฟชั่น
- Coca-Cola – ความเป็นอมตะของ Coca-Cola มาจากการเป็นเครื่องดื่มที่อยู่คู่กับผู้บริโภคมาหลายยุคหลายสมัย การออกแบบโลโก้ ขวด และการสื่อสารแบรนด์ที่สม่ำเสมอทำให้ Coca-Cola เป็นสัญลักษณ์ของความสุขและความทรงจำที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
- Ford – ด้วยประวัติยาวนานกว่าศตวรรษ Ford ได้สร้างชื่อเสียงในฐานะแบรนด์รถยนต์ที่แข็งแกร่ง เชื่อถือได้ และมีคุณค่า แบรนด์นี้มุ่งเน้นที่ความทนทานของยานยนต์ และมรดกทางวัฒนธรรมของอเมริกา ทำให้ภาพลักษณ์ของ Ford นั้นคงอยู่เหนือกาลเวลา

Source: https://www.motorauthority.com/news/1119275_classic-recreations-first-mustang-boss-
429-makes-debut-packs-815-horsepower-from-stroked-v-8
3. ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูทันสมัย (Modern Brand Image)
แบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ที่ดูทันสมัย (Modern Brand Image) มุ่งเน้นไปที่ความทันสมัย สดใหม่ และสอดคล้องกับยุคสมัย แบรนด์เหล่านี้ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ และความสวยงามแบบร่วมสมัย แบรนด์ที่ทันสมัยมักเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และบริการล้ำสมัย ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตไม่ตกยุค
ลักษณะภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูทันสมัย
- แนวคิดที่เน้นนวัตกรรมและความก้าวหน้า
- การออกแบบที่ร่วมสมัยเน้นความเรียบง่ายและทันสมัย
- การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆหรือการนำเทรนด์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตมาใช้
- มีภาพลักษณ์ที่สดใหม่และดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่
- แบรนด์ที่โดดเด่นในด้านความทันสมัยและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีลักษณะของ Modern Brand Image
- Apple – แบรนด์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีล้ำหน้า ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เรียบหรู ไปจนถึงอินเทอร์เฟซที่ล้ำสมัย Apple เป็นตัวแทนของการก้าวไปข้างหน้าเสมอ
- Tesla – แบรนด์ที่พลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า Tesla นำเสนอภาพลักษณ์ของความทันสมัย ความยั่งยืน และเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่ออนาคตที่ดีกว่า
- Spotify – ผู้บุกเบิกวงการสตรีมมิ่งเพลง Spotify มีภาพลักษณ์ที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับคนรุ่นใหม่ มุ่งเน้นการให้บริการที่เข้าถึงง่าย พร้อมนำเสนอเพลง พอดแคสต์ และเพลย์ลิสต์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ฟังในยุคดิจิทัล

4. ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูสนุกสนาน (Playful Brand Image)
แบรนด์ที่มีภาพลักษณ์สนุกสนาน (Playful Brand Image) มักจะสื่อถึงความสนุก ความคิดสร้างสรรค์ และความร่าเริง แบรนด์เหล่านี้มักใช้มุกตลก การออกแบบที่มีสีสันสดใส และการสื่อสารที่แฝงไปด้วยอารมณ์ขัน ภาพลักษณ์ของแบรนด์แนวนี้มักสร้างความรู้สึกแห่งความสุขและอิสรภาพ ทำให้ผู้บริโภครู้สึกผ่อนคลายและเพลิดเพลินเมื่อมีส่วนร่วมกับแบรนด์
ลักษณะภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูสนุกสนาน
- การออกแบบที่สดใสและมีสีสันโดดเด่น
- การใช้ข้อความที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน
- มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการเป็นหัวใจหลักของแบรนด์
- ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่มีพลังงานสูงและมีจิตวิญญาณของความเป็นเด็ก
- กระตุ้นความรู้สึกสนุกสนานและความตื่นเต้นให้กับผู้บริโภคอยู่เสมอ
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีลักษณะของ Playful Brand Image
- M&M’s – ด้วยตัวการ์ตูนสีสันสดใสและโฆษณาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน M&M’s สร้างภาพลักษณ์แบรนด์ที่เน้นความสนุกสนานและความเพลิดเพลิน ทำให้ขนมช็อกโกแลตนี้เป็นที่รักของทุกวัย
- Old Spice – แบรนด์น้ำหอมและผลิตภัณฑ์ดูแลบุรุษทั้งหลาย ที่สร้างภาพลักษณ์สนุกสนานผ่านโฆษณาที่แปลก แหวกแนว และเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ช่วยให้ Old Spice แตกต่างจากคู่แข่งและเป็นที่จดจำของผู้บริโภค
- Ben & Jerry’s – แบรนด์ไอศกรีมที่ใช้การออกแบบที่มีสีสันสดใส รสชาติที่มีชื่อเรียกสุดแหวกแนว และการสื่อสารที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน Ben & Jerry’s เป็นตัวอย่างที่ดีของแบรนด์ที่สร้างสรรค์และเต็มไปด้วยความสนุกสนาน

Source: https://www.adweek.com/creativity/old-spice-isaiah-mustafa-man-horse-super-bowl-commercial-never-was/
5. ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูแข็งแกร่งและรักการผจญภัย (Rugged / Adventurous Brand Image)
แบรนด์ที่มีภาพลักษณ์แข็งแกร่งและรักการผจญภัย (Rugged / Adventurous Brand Image) มักดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่มีความหลงใหลในกิจกรรมกลางแจ้ง การสำรวจ และการท้าทายขีดจำกัดของตัวเอง แบรนด์เหล่านี้มักสื่อถึงความแข็งแกร่ง ความทนทาน และความตื่นเต้น เหมาะสำหรับแบรนด์ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ที่มีไลฟ์สไตล์แบบ Active และชื่นชอบความท้าทายอยู่เสมอ
ลักษณะภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูแข็งแกร่งและรักการผจญภัย
- ผลิตภัณฑ์ที่แข็งแรง ทนทาน และออกแบบมาเพื่อรองรับกับสภาวะที่สมบุกสมบัน
- โฟกัสที่การสำรวจ การใช้ชีวิตกลางแจ้ง และกิจกรรมที่ต้องใช้พละกำลัง
- เน้นความน่าเชื่อถือและความทนทานของผลิตภัณฑ์
- การสื่อสารที่ให้ความรู้สึกแข็งแกร่ง ดุดัน หรือเน้นแนวไลฟ์สไตล์กลางแจ้ง
- ดึงดูดลูกค้าที่รักการผจญภัยและต้องการสัมผัสประสบการณ์ที่ท้าทาย
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีลักษณะของ Rugged / Adventurous Brand Image
- Patagonia – แบรนด์อุปกรณ์กลางแจ้งที่มีชื่อเสียงด้านคุณภาพ ความทนทาน และความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Patagonia เป็นสัญลักษณ์ของการผจญภัยและความรับผิดชอบต่อธรรมชาติ
- The North Face – แบรนด์เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์กลางแจ้งที่เป็น ที่รู้จักในฐานะแบรนด์แห่งการสำรวจและชอบความท้าทาย The North Face มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่สามารถทนต่อสภาพอากาศและภูมิประเทศที่โหดร้าย
- Harley-Davidson – แบรนด์มอเตอร์ไซค์ระดับตำนานที่เป็นตัวแทนของความแข็งแกร่ง อิสรภาพ และจิตวิญญาณแห่งการเดินทาง Harley-Davidson สร้างภาพลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ของผู้ที่รักการผจญภัยบนท้องถนน

Source: https://www.behance.net/gallery/16042649/The-North-Face-Brand-Campaign
6. ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูเป็นมิตรและเข้าถึงง่าย (Friendly and Approachable Brand Image)
แบรนด์ที่มีภาพลักษณ์เป็นมิตรและเข้าถึงง่าย (Friendly and Approachable Brand Image) มักเน้นความอบอุ่น ความน่าเชื่อถือ และความเป็นกันเอง ทำให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจและสามารถเชื่อมโยงกับแบรนด์ได้ง่ายขึ้น ภาพลักษณ์นี้สร้างขึ้นจากแนวคิดที่ว่าแบรนด์ให้ความสำคัญกับลูกค้า พร้อมช่วยให้ชีวิตของพวกเขาสะดวกสบายและมีความสุขมากขึ้น
ลักษณะภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูเป็นมิตรและเข้าถึงง่าย
- การออกแบบและการสื่อสารที่อบอุ่นและเป็นกันเอง
- มุ่งเน้นไปที่ลูกค้าและความต้องการของพวกเขา
- สร้างความไว้วางใจและความสัมพันธ์กับลูกค้า
- ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ใช้งานง่ายและสะดวก
- แบรนด์ที่ให้ความรู้สึกเป็นมิตรและเข้าถึงได้
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีลักษณะของ Friendly and Approachable Brand Image
- Coca-Cola – แม้จะมีภาพลักษณ์ที่เหนือกาลเวลา แต่ Coca-Cola ก็ยังคงรักษาความเป็นแบรนด์ที่เป็นมิตรและเข้าถึงง่าย ด้วยการใช้ภาพลักษณ์แห่งความสุข ความสนุก และการแบ่งปันช่วงเวลาดีๆร่วมกัน
- IKEA – แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่เป็นมิตรกับผู้บริโภค โดยเน้นความเรียบง่าย ราคาที่เข้าถึงได้ และการออกแบบที่ใช้งานได้จริง IKEA สร้างความรู้สึกเป็นกันเองด้วยแนวทางการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาและเป็นธรรมชาติ
- Mailchimp – แพลตฟอร์มอีเมลที่ออกแบบให้ใช้งานง่าย พร้อมด้วยโทนและน้ำเสียงในการสื่อสารที่เป็นกันเอง พร้อมภาพลักษณ์ที่ดูสนุกสนาน ทำให้ธุรกิจทุกขนาดสามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างสะดวก

Source: https://www.ikea.cn/cn/en/ikea-family/
7. ภาพลักษณ์ของแบรนด์ระดับพรีเมียมและไฮเอนด์ (Premium and High-End Brand Image)
แบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ระดับพรีเมียมหรือไฮเอนด์ (Premium and High-End Brand Image) จะเน้นความพิเศษเฉพาะตัว คุณภาพที่เหนือกว่า และความหรูหรา แบรนด์เหล่านี้มักมีราคาสูง และดึงดูดลูกค้าที่ต้องการแสดงถึงความสามารถในการเข้าถึงสินค้าหรือบริการที่ดีที่สุดในตลาด
ลักษณะภาพลักษณ์ของแบรนด์ระดับพรีเมียมและไฮเอนด์
- คุณภาพและงานฝีมือระดับสูง
- สร้างความรู้สึกพิเศษและมีแสดงความสถานะสูง
- ราคาสูงและการวางตำแหน่งให้เป็นแบรนด์ระดับพรีเมียม
- ให้ความสำคัญกับดีไซน์ ประสบการณ์ และความหรูหรา
- ดึงดูดลูกค้ากลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและต้องการสินค้าที่ดีที่สุด
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีลักษณะของ Premium and High-End Brand Image
- Louis Vuitton – แบรนด์เครื่องหนังสุดหรูที่สะท้อนภาพลักษณ์ของความ Prestige งานฝีมือที่ประณีต และประวัติศาสตร์อันยาวนานในวงการแฟชั่นระดับไฮเอนด์
- Apple – นอกจากจะเป็นแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ของความทันสมัยแล้ว Apple ยังเป็นแบรนด์พรีเมียมที่เน้นดีไซน์ล้ำสมัย เทคโนโลยีระดับสูง และสร้างความปรารถนาให้กับผู้บริโภค
- Bentley – แบรนด์รถยนต์สุดหรูที่เป็นสัญลักษณ์ของความหรูหรา งานฝีมือระดับสูง และประสบการณ์การขับขี่ที่สะท้อนถึงความมั่งคั่งและสถานะของเจ้าของ

Source: https://www.behance.net/gallery/90416633/Bentley-Continental-GT

กลุ่มที่ 2: ประเภทของ Brand Image ที่ดูท้าทายหรือแนวคิดเชิงลบ
ภาพลักษณ์ของแบรนด์ในกลุ่มนี้สะท้อนถึงการรับรู้ที่ดูจะซับซ้อน ไม่ค่อยเป็นที่นิยมหรืออาจส่งผลเชิงลบต่อแบรนด์ โดยเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น การตามไม่ทันยุคสมัย ความล้าหลัง การขาดความเป็นมืออาชีพ หรือการถูกมองว่าไม่มีจริยธรรม แบรนด์เหล่านี้อาจประสบปัญหาด้านภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ หรือการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้บริโภค บางแบรนด์อาจเลือกใช้ภาพลักษณ์ที่ดูท้าทายเพื่อให้ดูแหวกแนวและสร้างจุดยืนที่แตกต่าง (ไม่เชื่อว่าจะมีแต่ก็มีจริงๆครับ) บางแบรนด์ก็สร้างขึ้นมากด้วยความตั้งใจให้มีภาพลักษณ์แบบนี้ บางแบรนด์ก็ทำให้ตัวเองมีภาพลักษณ์ในลักษณะนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งมันก็มีตลาดในตัวของมันเองและก็มีความเสี่ยงอยู่บ้าง ที่จะทำให้กลุ่มผู้บริโภคบางส่วนไม่พอใจหรือไม่ยอมรับได้ โดยมีอยู่ 6 ประเภท ดังนี้
- ล้าสมัยหรือตกยุค (Old-Fashioned / Outdated)
- เงอะงะหรือไม่เป็นมืออาชีพ (Clumsy / Unprofessional)
- ราคาถูกหรือคุณภาพต่ำ (Cheap / Low-Quality)
- หยิ่งยโสหรือมีภาพลักษณ์ของชนชั้นสูงเกินไป (Arrogant / Elitist)
- ไม่น่าเชื่อถือหรือไม่ซื่อสัตย์ (Untrustworthy / Dishonest)
- ขัดแย้งหรือสร้างกระแสให้เกิดการถกเถียง (Disruptive / Controversial)
แบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ตกอยู่ในกลุ่มนี้อาจต้องเผชิญกับความท้าทายด้านความน่าเชื่อถือ แต่อย่างไรก็ตามแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์เชิงลบก็สามารถพลิกฟื้นและสร้างโอกาสได้ หากมีการปรับกลยุทธ์อย่างเหมาะสม เรามาดูรายละเอียดของแต่ละประเภทกันครับ
1. ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ล้าสมัยหรือตกยุค (Old-Fashioned / Outdated)
ภาพลักษณ์แบรนด์ที่ดูล้าสมัยหรือเชย (Old-Fashioned / Outdated) มักถูกมองว่าไม่สามารถก้าวตามยุคสมัยได้ แบรนด์เหล่านี้อาจมีผลิตภัณฑ์ บริการ หรือการออกแบบที่ดูไม่ทันสมัย และไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน แบรนด์ที่อยู่ในประเภทนี้มักประสบปัญหาในการปรับตัว และการนำนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันในตลาด
ลักษณะภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูล้าสมัยหรือตกยุค
- การออกแบบหรือใช้เทคโนโลยีที่ล้าหลัง
- ใช้แนวทางการตลาดแบบเดิมที่ไม่ดึงดูดคนรุ่นใหม่
- มีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคยุคใหม่ในระดับต่ำ
- มีภาพลักษณ์ที่เต็มไปด้วยความย้อนยุคหรือยึดติดกับแนวคิดอนุรักษ์นิยม
- มักถูกมองว่าไม่เหมาะกับผู้บริโภคที่ต้องการความทันสมัยและการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีลักษณะของ Old-Fashioned / Outdated
- Kodak – ครั้งหนึ่งเคยเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมฟิล์มถ่ายภาพ แต่การไม่สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างทันท่วงที ทำให้แบรนด์ถูกมองว่าล้าสมัยและขาดความสามารถในการนำนวัตกรรมใหม่ๆมาปรับใช้
- BlackBerry – โทรศัพท์มือถือที่เคยครองตลาดธุรกิจ แต่เมื่อสมาร์ทโฟนจอสัมผัสเข้ามาครองตลาด BlackBerry ไม่สามารถแข่งขันได้และถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีที่ตกยุค
- Blockbuster – ร้านเช่าวิดีโอระดับตำนานที่ไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่ยุค Online Streaming ทำให้แบรนด์กลายเป็นสัญลักษณ์ของความล้าหลัง ในโลกที่ผู้บริโภคนิยมใช้บริการออนไลน์ เช่น Netflix และ Disney+

Source: https://www.washingtonpost.com/travel/2024/04/06/last-blockbuster-bend-oregon/
2. ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูเงอะงะหรือไม่มีความเป็นมืออาชีพ (Clumsy / Unprofessional Brand Image)
ภาพลักษณ์แบรนด์ที่ดูเงอะงะหรือไม่มีความเป็นมืออาชีพ (Clumsy / Unprofessional Brand Image) มักถูกมองว่าขาดความน่าเชื่อถือ ขาดความเป็นระเบียบ หรือไม่มีมาตรฐานที่ดีพอ แบรนด์ประเภทนี้อาจมีปัญหาเรื่องการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน การออกแบบที่ดูไม่เป็นมืออาชีพ หรือการให้บริการที่ไม่มีคุณภาพ ส่งผลให้ลูกค้าขาดความไว้วางใจและไม่ภักดีต่อแบรนด์
ลักษณะภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูเงอะงะหรือไม่มีความเป็นมืออาชีพ
- การออกแบบและการสื่อสารแบรนด์ที่ไม่สม่ำเสมอ
- การบริการลูกค้าที่ไม่ดีหรือขาดความเป็นมืออาชีพ
- เกิดข้อผิดพลาดในการสื่อสารหรือคุณภาพสินค้าอยู่บ่อยครั้ง
- ขาดความน่าเชื่อถือหรือไม่มีอำนาจในตลาด
- ดูไม่เป็นระบบระเบียบที่อาจทำให้ลูกค้ารู้สึกไม่มั่นใจ
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีลักษณะของ Clumsy / Unprofessional Brand Image
- MySpace – เคยเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชั้นนำ แต่ด้วยอินเทอร์เฟซที่ยุ่งเหยิง ขาดนวัตกรรม และการบริหารจัดการที่ผิดพลาด ทำให้แบรนด์สูญเสียความเป็นมืออาชีพ และความเกี่ยวเนื่องกับยุคปัจจุบัน
- Yahoo! – แม้จะเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกด้านอินเทอร์เน็ต แต่ Yahoo! ต้องเผชิญกับกลยุทธ์ที่ไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารบ่อยครั้ง รวมไปถึงการซื้อกิจการที่ล้มเหลว ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดูขาดทิศทา งและไม่มีความน่าเชื่อถือ
- WeWork – เคยเป็นสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงมาก แต่กลับล่มสลายจากเรื่องอื้อฉาวของผู้บริหาร การบริหารทางการเงินที่ผิดพลาด และคำสัญญาที่ไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ ทำให้แบรนด์มีภาพลักษณ์ที่ดูวุ่นวายและขาดความเป็นมืออาชีพ

Source: https://news.sky.com/story/myspace-confirms-losing-every-song-uploaded-between-2003-15-11669261
3. ภาพลักษณ์แบรนด์ดูราคาถูกหรือคุณภาพต่ำ (Cheap / Low-Quality)
ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูราคาถูกหรือคุณภาพต่ำ (Cheap / Low-Quality) สะท้อนให้เห็นว่าแบรนด์นั้นอาจไม่ได้รับการมองว่าให้คุณค่าหรือมาตรฐานที่ดีในสายตาผู้บริโภค แม้ว่าบางแบรนด์อาจเลือกวางตำแหน่งตัวเองในตลาดล่าง เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่คำนึงถึงราคาเป็นหลัก แต่ในบางกรณีแบรนด์อาจถูกจัดอยู่ในประเภทนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ เนื่องจากปัญหาด้านคุณภาพหรือการรับรู้ของตลาด
ลักษณะภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูราคาถูกหรือคุณภาพต่ำ
- ตั้งราคาต่ำโดยเน้นความคุ้มค่าเป็นหลัก
- ถูกมองว่ามีคุณภาพต่ำหรือใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน
- แบรนด์ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “ราคาประหยัด” หรือ “เน้นความคุ้มค่า” แต่ไม่มีจุดเด่นด้านคุณภาพ
- อาจถูกมองว่าเป็นสินค้าที่ใช้ชั่วคราว ไม่ทนทาน หรือไม่มีความพิเศษ
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีลักษณะของ Cheap / Low-Quality
- Walmart – แม้จะเป็นหนึ่งในผู้ค้าปลีกที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก แต่ Walmart ก็มีภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เน้นสินค้าราคาถูกเป็นหลัก ทำให้หลายคนมองว่าคุณภาพของสินค้าบางอย่างอาจต่ำกว่ามาตรฐาน
- K-Mart – มีลักษณะคล้ายกับ Walmart โดย K-Mart มุ่งเน้นการขายสินค้าราคาประหยัดและสินค้าจำเป็นพื้นฐาน ซึ่งนำไปสู่การรับรู้ว่าเป็นแบรนด์ราคาถูกที่ไม่มีจุดเด่นด้านคุณภาพ
- Dollar Tree – เป็นแบรนด์ที่เน้นสินค้าราคาประหยัดแบบสุดๆ โดยตั้งราคาขายทุกอย่างที่ 1 ดอลลาร์ ซึ่งทำให้ลูกค้ามองว่าสินค้าอาจมีคุณภาพต่ำ และเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ
4. ภาพลักษณ์แบรนด์ดูหยิ่งยโสหรือมีภาพลักษณ์ของชนชั้นสูงเกินไป (Arrogant / Elitist)
ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูหยิ่งผยองหรือเน้นชนชั้นสูง (Arrogant / Elitist) สะท้อนให้เห็นถึงความเหนือกว่าหรือความเป็นเอกสิทธิ์ที่เข้าถึงได้ยาก แบรนด์ประเภทนี้มักสร้างบรรยากาศของความพิเศษ ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าต้อง “คู่ควร” หรือ “ได้รับสิทธิ์” ในการใช้สินค้าและบริการของแบรนด์ แม้ว่าภาพลักษณ์นี้สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าระดับบนได้ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้ลูกค้ากลุ่มอื่นรู้สึกถูกกีดกันหรือด้อยค่า
ลักษณะภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูหยิ่งผยองหรือเน้นชนชั้นสูง
- มีท่าทีเหนือกว่าหรือลักษณะของความเป็นอภิสิทธิ์ชน ในข้อความที่ใช้สื่อสารทางการตลาด
- ตั้งราคาสูงเพื่อสร้างความพิเศษและความพรีเมียม
- ใช้น้ำเสียงที่ให้ความรู้สึกดูถูกหรือมั่นใจในตัวเองมากเกินไป
- การสื่อสารที่เน้นเฉพาะกลุ่มลูกค้าระดับบน ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปอาจรู้สึกว่าเป็นแบรนด์เข้าไม่ถึงหรือไม่ต้อนรับ
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีลักษณะของ Arrogant / Elitist
- Louis Vuitton – แม้ว่าจะเป็นแบรนด์หรูที่มีชื่อเสียงระดับโลก แต่ Louis Vuitton ก็มักถูกมองว่าเป็นแบรนด์ที่มีความเป็นชนชั้นสูงสูงมาก ด้วยราคาที่แพงและการวางตำแหน่งแบรนด์ที่เน้นเฉพาะลูกค้าระดับ High-end
- Patek Philippe – แบรนด์นาฬิกาสุดหรูที่ขึ้นชื่อเรื่องงานฝีมือระดับสูง แต่ก็มาพร้อมกับภาพลักษณ์ที่ให้ความรู้สึกว่า “มีไว้สำหรับคนรวยเท่านั้น” ซึ่งทำให้บางคนมองว่าเป็นแบรนด์ที่มีความหยิ่งและเอื้อมไม่ถึง
- Rolex – แม้ว่าจะเป็นแบรนด์ที่แสดงถึงความหรูหรา สง่างาม และคลาสสิก แต่ Rolex ก็ถูกมองว่ามีภาพลักษณ์ที่เน้นชนชั้นสูงมาก ด้วยราคาที่แพงและการสื่อสารที่ทำให้การครอบครอง Rolex กลายเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและอภิสิทธิ์ชน
5. ภาพลักษณ์แบรนด์ดูไม่น่าเชื่อถือหรือไม่ซื่อสัตย์ (Untrustworthy / Dishonest)
ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูไม่น่าเชื่อถือหรือไม่ซื่อสัตย์ (Untrustworthy / Dishonest) เกิดจากการที่ผู้บริโภครู้สึกว่าแบรนด์มีพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรม ขาดความโปร่งใส หรือมีประวัติเกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาว การโฆษณาเกินจริง หรือการดำเนินธุรกิจที่ขาดจริยธรรม แบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ในลักษณะนี้มักสูญเสียความไว้วางใจจากลูกค้า ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและความภักดีของผู้บริโภค
ลักษณะภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูไม่น่าเชื่อถือหรือไม่ซื่อสัตย์
- มีประวัติเรื่องอื้อฉาว ปัญหาทางกฎหมาย หรือข้อกังวลด้านจริยธรรม
- ขาดความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ
- ใช้การโฆษณาเกินจริงหรือกลยุทธ์ทางการตลาดที่ทำให้เข้าใจผิด
- คะแนนความพึงพอใจของลูกค้าต่ำและมักได้รับคำวิจารณ์เชิงลบ
- ถูกมองว่าเป็นแบรนด์ที่ไม่ซื่อสัตย์หรือไม่จริงใจ
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีลักษณะของ Untrustworthy / Dishonest
- Volkswagen – เคยเป็นแบรนด์รถยนต์ที่ได้รับความไว้วางใจ แต่กลับต้องเผชิญกับเรื่องอื้อฉาวครั้งใหญ่จากกรณีโกงค่ามลพิษ (Dieselgate) ส่งผลให้ผู้บริโภคหมดความเชื่อถือ และแบรนด์ต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นฟูชื่อเสียงได้
- Theranos – สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสุขภาพ ที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลก แต่สุดท้ายถูกเปิดโปงว่าผลิตภัณฑ์ไม่สามารถใช้งานได้จริง และบริษัทใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จในการหลอกลวงนักลงทุน
- Enron – บริษัทพลังงานรายใหญ่ที่ล่มสลายจากกรณีอื้อฉาว ด้านการฉ้อโกงและการจัดการบัญชีที่ไม่โปร่งใส ส่งผลให้กลายเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับความล้มเหลวขององค์กร

Source: https://www.caranddriver.com/news/a15339250/everything-you-need-to-know-about-the-vw-diesel-emissions-scandal/
6. ภาพลักษณ์แบรนด์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือสร้างกระแสให้เกิดการถกเถียง (Disruptive / Controversial)
ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เป็นตัวแปรในการเปลี่ยนแปลง หรือก่อให้เกิดความขัดแย้งนั้น อาจเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง แบรนด์ประเภทนี้มักท้าทายแนวคิดเดิมๆ ทำลายข้อจำกัดของอุตสาหกรรม และใช้กลยุทธ์การสื่อสารที่โดดเด่นจนกลายเป็นที่ถกเถียง ซึ่งแม้ว่าอาจทำให้บางกลุ่มผู้บริโภคไม่พอใจหรือรู้สึกต่อต้าน แต่ก็สามารถสร้างฐานแฟนคลับที่ภักดีและมีจุดยืนที่แข็งแกร่งในตลาดได้
ลักษณะภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดูขัดแย้งหรือสร้างกระแสให้เกิดการถกเถียง
- ใช้ข้อความหรือกลยุทธ์การตลาดที่โดดเด่นและอาจสร้างความขัดแย้ง
- พร้อมที่จะท้าทายขนบธรรมเนียมและวิธีปฏิบัติแบบเดิมในอุตสาหกรรม
- มักถูกมองว่าเป็นแบรนด์ที่ไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆและมีแนวคิดก้าวหน้า
- อาจสร้างความแตกแยกในกลุ่มผู้บริโภค โดยบางคนสนับสนุนอย่างเต็มที่ขณะที่บางคนอาจต่อต้าน
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีลักษณะของ Disruptive / Controversial
- Ben & Jerry’s – แบรนด์ไอศกรีมที่ไม่เพียงแต่เน้นรสชาติอร่อย แต่ยังเป็นแบรนด์ที่มีจุดยืนทางการเมืองและสังคมที่ชัดเจน เช่น การสนับสนุนสิทธิ LGBTQ+ และการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ได้รับทั้งคำชมและคำวิจารณ์
- Nike – ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ออกแคมเปญอย่างกล้าหาญ เช่น โฆษณาที่มี Colin Kaepernick ซึ่งเป็นนักกีฬาที่เคยคุกเข่าประท้วงความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ ทำให้ Nike กลายเป็นแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ของการสนับสนุนความเท่าเทียมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
- Tesla – ภายใต้การนำของ Elon Musk ที่ไม่เพียงแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า แต่ยังมีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นการเลิกใช้โฆษณาแบบดั้งเดิม หรือการใช้โซเชียลมีเดียของซีอีโอ ในการสื่อสารโดยตรงกับผู้บริโภค

Source: https://www.nbcnews.com/business/business-news/nike-doubles-down-kaepernick-controversy-releases-full-length-tv-ad-n906786
ข้อชวนคิดเกี่ยวกับ Brand Image
จากตัวอย่างทั้งหมดที่ผมได้อธิบายให้เห็นนั้น ไม่ใช่การสรุปว่าทุกแบรนด์จะมีภาพลักษณ์แบบนี้ทั้งหมด แต่เป็นการอธิบายให้เห็นลักษณะสำคัญๆที่เป็นคุณสมบัติเด่นของภาพลักษณ์แต่ละประเภท (แบบชัดเจนที่เห็นแล้วต้องร้อง….อ๋อ) ซึ่งในความเป็นจริงนั้นก็อยู่ที่แบรนด์จับกลุ่มตลาดใด กลุ่มเป้าหมายใด และสื่อสารออกมาในรูปแบบใด แล้วกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์นั้นจะเป็นผู้ตัดสินเองว่า ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่แสดงออกมานั้นเป็นอย่างไรในสายตาของพวกเขา โดยแบรนด์ๆหนึ่งนั้นอาจมีภาพลักษณ์ได้มากกว่า 1 ประเภท ในแต่ละกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่แบรนด์เป็น สิ่งที่แบรนด์ยึดถือ สิ่งที่แบรนด์แสดงออก สิ่งที่แบรนด์สื่อสาร สิ่งที่แบรนด์ปฏิบัติ การตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ นั้นออกมาเป็นอย่างไร ผมขอยกตัวอย่างให้เห็น 2 กรณี ดังนี้
1. แบรนด์มีภาพลักษณ์หลายประเภท ซึ่งขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน
ตัวอย่างเช่น โค้ก (Coca-Cola)
โค้กเป็นตัวอย่างที่ดีของแบรนด์ที่มุ่งเป้าไปยังหลายกลุ่มลูกค้า ด้วยภาพลักษณ์ที่แตกต่างกัน
- สำหรับวัยรุ่นและมิลเลนเนียล
โค้กวางตำแหน่งแบรนด์ที่ดูสนุกสนาน เต็มไปด้วยพลัง และเป็นแบรนด์ที่ดูอ่อนเยาว์ โดยใช้แคมเปญที่มุ่งเน้นความสุข การเชื่อมโยงทางสังคม และช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความสุข เช่น การแชร์โค้กกับเพื่อน (Share A Coke) - สำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ
โค้กยังมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ โดยการเสนอผลิตภัณฑ์ Coca-Cola Zero และ Diet Coke ซึ่งมีภาพลักษณ์เกี่ยวกับทางเลือกที่มีแคลอรีต่ำ และทำให้ผู้บริโภคไม่มีความรู้สึกผิด - สำหรับกลุ่มที่มีอายุมากขึ้น
โค้กใช้การตลาดแบบ Nostalgia สำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุมากขึ้น โดยเน้นที่ประวัติศาสตร์ยาวนานและความเป็น “เครื่องดื่มคลาสสิก”
จะเห็นได้ว่าภาพลักษณ์เหล่านี้สะท้อนถึงการเชื่อมโยงทางอารมณ์ และคุณค่าที่แตกต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับความชอบและช่วงชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย

Source: https://joannamoraisblog.wordpress.com/2014/10/15/share-a-coke-campaign-a-success/
2. แบรนด์มีภาพลักษณ์หลายประเภท ซึ่งเกิดจากการกระทำที่ผิดพลาด
ตัวอย่างเช่น Samsung (กรณี Galaxy Note 7)
ก่อนเกิดเหตุการณ์ซึ่งแบรนด์ยังมีภาพลักษณ์ในเชิงบวก
- นวัตกรรมและความพรีเมียม
Samsung ได้สร้างสื่อสารว่าเป็นแบรนด์ที่มีนวัตกรรมและคุณภาพสูง โดยมุ่งเน้นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย โดย Galaxy Note ก็เป็นที่รู้จักในด้านหน้าจอขนาดใหญ่ ประสิทธิภาพสูง และคุณสมบัติระดับพรีเมียม ซึ่งดึงดูดทั้งผู้ที่ชื่นชอบเทคโนโลยีและกลุ่มพวกมืออาชีพ ส่วนการรับรู้ในระดับโลก Samsung เชื่อมโยงกับความสำเร็จและความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี โดยมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ไว้วางใจในผลิตภัณฑ์ เพราะความทนทานและคุณสมบัติที่ครบครัน
หลังเกิดเหตุการณ์ซึ่งแบรนด์เกิดภาพลักษณ์เชิงลบ
- การเรียกคืน Galaxy Note 7
ในปี 2016 Samsung ต้องเผชิญกับวิกฤตใหญ่เมื่อมีรายงานว่า Samsung Galaxy Note 7 มีปัญหาที่แบตเตอรี่ทำให้โทรศัพท์ร้อนเกินไปและเกิดไฟลุกไหม้ ซึ่งนำไปสู่การเรียกคืนผลิตภัณฑ์จำนวนมาก และการยกเลิกการผลิตโทรศัพท์รุ่นนี้ ทำให้ชื่อเสียงของซัมซุงในด้านคุณภาพและความปลอดภัยถูกทำลายอย่างหนัก ผู้บริโภคที่เคยไว้วางใจในแบรนด์เริ่มสงสัยและตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ในอนาคต
แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์วิกฤตในครั้งนี้ Samsung ก็ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Image) โดยมุ่งเน้นที่การปรับปรุงการควบคุมคุณภาพ ความโปร่งใส และความปลอดภัยของลูกค้า ในที่สุด Samsung ก็สามารถกลับมาได้อีกครั้งแต่ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ในการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์ Galaxy Note 7 นี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์เชิงลบเพียงเหตุการณ์เดียว สามารถเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างมหาศาล แม้ว่าในอดีตจะมีชื่อเสียงในด้านดีขนาดไหนก็ตาม

Source: https://www.bbc.com/news/technology-37615496
ภาพลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Image) ไม่ใช่แค่การรับรู้ของผู้บริโภคเกี่ยวกับชื่อ (Naming) โลโก้ (Logo) หรือสโลแกนของแบรนด์ (Slogan) เพียงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงทุกสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค ตั้งแต่ภาพลักษณ์ที่ดูหรูหรามีความคลาสสิก ไปจนถึงภาพลักษณ์ที่ดูไม่เป็นมืออาชีพและไม่น่าเชื่อถือ การเข้าใจประเภทต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้คุณกำหนดอัตลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างตรงใจ สะท้อนถึงคุณค่าที่คุณต้องการส่งมอบ เพราะทุกการตัดสินใจที่คุณทำจะมีผลต่อการรับรู้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ในตลาดนั่นเอง