
Tesla, Inc. ถือเป็นแบรนด์ที่เปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ไปตลอดกาล ด้วยการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่ล้ำสมัย (Electric Vehicle – EV) ควบคู่ไปกับโซลูชันด้านพลังงานสะอาด (Sustainable Energy Solutions) ที่ช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ตั้งแต่การก่อตั้งในปี 2003 Tesla ได้กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก นำโดย อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ที่พาบริษัทเติบโตจนมีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์
การก่อตั้งและแนวคิดเริ่มต้นธุรกิจ
Tesla ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 2003 โดย มาร์ติน เอเบอร์ฮาร์ด (Martin Eberhard) และมาร์ค ทาร์เพนนิง (Marc Tarpenning) ในเมืองซานคาร์ลอส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อของบริษัทได้รับแรงบันดาลใจจาก นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีกระแสไฟฟ้าสลับ (AC) โดยจุดมุ่งหมายของ Tesla คือ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีสมรรถนะสูง โดยไม่สูญเสียประสิทธิภาพด้านพลังงาน และเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน การพัฒนารถไฟฟ้าในช่วงแรกประสบปัญหาด้านต้นทุน และเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ยังไม่ก้าวหน้ามากนัก ทำให้มีอุปสรรคในการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด
ต่อมาในช่วงต้นปี 2004 อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้ก่อตั้งร่วมของ PayPal ได้เข้ามาเป็นผู้นำในการระดมทุนรอบ Series A ครั้งแรกของ Tesla โดยเขาลงทุนเป็นจำนวน 6.5 ล้านดอลลาร์จากเงินทุนทั้งหมด 7.5 ล้านดอลลาร์ที่ได้รับการระดมทุน ซึ่งหมายความว่า อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดึงดูดเงินทุนในรอบนี้ และตัวเขาเองก็ลงทุนส่วนใหญ่ ที่คิดเป็นประมาณ 87% ของเงินทุนทั้งหมดที่ Tesla ได้รับในการระดมทุนครั้งนั้น จนกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดและเป็นประธานคณะกรรมการของบริษัท
อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ของ Tesla โดยเน้นที่การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าสำหรับตลาดมวลชน (Mass) ที่ราคาไม่แพง และผลักดัน Tesla ให้ก้าวสู่ตลาดระดับโลก
การเติบโตของ Tesla
- 2003: จุดกำเนิดของ Tesla ก่อตั้งโดย มาร์ติน เอเบอร์ฮาร์ด (Martin Eberhard) และมาร์ค ทาร์เพนนิง (Marc Tarpenning)
- 2004: อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เข้ามาลงทุนและระดมทุน และได้กลายเป็นประธานคณะกรรมการ
- 2008: เปิดตัว Tesla Roadster รถสปอร์ตไฟฟ้าคันแรกของบริษัท
- 2010: Tesla เข้าสู่ตลาดหุ้น NASDAQ (TSLA) ระดมทุนได้ 226 ล้านดอลลาร์
- 2012: เปิดตัว Model S รถซีดานไฟฟ้าระยะทางไกล
- 2015: เปิดตัว Model X SUV ไฟฟ้าพร้อมประตู Falcon-Wing
- 2017: เริ่มผลิต Model 3 รถซีดานไฟฟ้าราคาย่อมเยา
- 2019: เปิดตัว Model Y SUV ไฟฟ้าขนาดกลาง
- 2020: Tesla กลายเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลก
- 2023: เปิดตัว Cybertruck และ Semi Truck
- 2024: รายงานรายได้ $25.2 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาส 3

ผลิตภัณฑ์ของ Tesla
1. ยานยนต์ไฟฟ้า
Tesla มีผลิตภัณฑ์ยานยนต์หลายรุ่นที่ตอบโจทย์ทั้งตลาดระดับสูงและตลาดแบบทั่วไป
- Roadster (2008, 2025 รุ่นใหม่) – รถสปอร์ตไฟฟ้าความเร็วสูง
- Model S (2012) – รถซีดานไฟฟ้าพรีเมียม
- Model X (2015) – SUV ไฟฟ้าขนาดใหญ่
- Model 3 (2017) – รถซีดานไฟฟ้าราคาย่อมเยา
- Model Y (2019) – SUV ไฟฟ้าขนาดกลาง
- Cybertruck (2023) – รถกระบะไฟฟ้าดีไซน์ล้ำยุค
- Semi Truck (2023) – รถบรรทุกไฟฟ้าระยะไกล

Source: https://teslahubs.com/it/blogs/tips/a-deep-dive-into-the-tesla-model-y-juniper-performance-enhancements-and-market-influence
2. Tesla Energy – ธุรกิจพลังงานสะอาด
Tesla ยังมุ่งเน้นไปที่การผลิตและจำหน่ายพลังงานสะอาด ผ่านโซลูชันด้านแบตเตอรี่และแผงโซลาร์เซลล์
- Solar Panels & Solar Roof – ระบบพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์
- Powerwall – แบตเตอรี่สำหรับเก็บพลังงานที่บ้าน
- Megapack – แบตเตอรี่ขนาดใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมและโครงข่ายไฟฟ้า
- Supercharger Network – สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าความเร็วสูง
Tesla Energy กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และเริ่มสร้างรายได้มากขึ้นโดยเฉพาะในธุรกิจ Megapack ซึ่งเป็นโซลูชันด้านพลังงานสำหรับบริษัทต่างๆและหน่วยงานรัฐ

Source: https://droidsans.com/tesla-powerwall-official-thai-price/
3. Full Self-Driving (FSD) – เทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติ
Tesla พัฒนา Full Self-Driving (FSD) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้รถยนต์สามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติได้ โดยอาศัย AI และกล้องตรวจจับรอบทิศทาง ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาและทดสอบ แต่อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ตั้งเป้าหมายให้สามารถใช้งานได้เต็มรูปแบบในอนาคต นอกจากนั้น Tesla ยังมีแผนพัฒนา Robotaxi หรือแท็กซี่ไร้คนขับ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการเดินทางและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้รถยนต์
4. Optimus – หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ (Tesla Bot)
Tesla กำลังพัฒนา Optimus หรือหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ ที่ออกแบบมาเพื่อทำงานแทนมนุษย์ในงานที่ซ้ำซากหรืองานอันตราย เช่น การขนส่ง การผลิต และการดูแลผู้สูงอายุ หุ่นยนต์นี้อาศัยเทคโนโลยีเดียวกับ Full Self-Driving (FSD) เพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวและตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้ โดยอีลอน มัสก์ (Elon Musk) เชื่อว่า Optimus จะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาลของ Tesla ในอนาคต

Source: https://www.shop4tesla.com/en/blogs/news/tesla-bot-action-figur-hype-online-shop-absturz
5. Dojo – ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ AI
Tesla ลงทุนสร้าง Dojo ซึ่งเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ AI ที่ใช้ฝึกโมเดล Machine Learning สำหรับการขับขี่อัตโนมัติและหุ่นยนต์ของบริษัท Dojo ได้รับการออกแบบให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทั่วไป โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ Tesla เป็นผู้นำด้าน AI และระบบประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่
6. GigaFactories – ธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่และชิป
Tesla ไม่ได้ผลิตแค่รถยนต์เท่านั้นแต่ยังลงทุนในโรงงาน Gigafactory หลายแห่งทั่วโลกเพื่อผลิตแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนรถยนต์ และเซมิคอนดักเตอร์ของตนเอง ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตและพึ่งพาซัพพลายเชนน้อยลง ปัจจุบัน Tesla มีโรงงานขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา จีน เยอรมนี และเม็กซิโก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตของบริษัท

Source: https://insideevs.com/news/608880/musk-tesla-12-gigafactories-20-million-evs/
ความท้าทายและอุปสรรค
Tesla เผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ตั้งแต่ปัญหาด้านซัพพลายเชน การผลิตรถยนต์ที่ล่าช้า และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตรายอื่น เช่น BYD, Rivian และ Lucid Motors ในปี 2024 Tesla เผชิญกับภาวะยอดขายลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยยอดส่งมอบรถลดลง 1.1% เหลือ 1.79 ล้านคัน เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากบริษัทจีนที่สามารถผลิต EV ราคาถูกกว่านั่นเอง
แหล่งที่มา