Types of CSR

กิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility) หรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า CSR เป็นแนวคิดในการดำเนินกิจกรรมภายในและภายนอกองค์กร ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรหรือทรัพยากรจากภายนอกองค์กร เพื่อทำให้สังคมนั้นอยู่อย่างมีความสุข

แนวคิดเรื่อง CSR นั้นจะช่วยให้บริษัทคำนึงถึงความรู้จักผิดชอบกับการกระทำใดๆที่ก่อให้เกิดผลดีต่อสังคมในมิติต่างๆ ทั้งตัวบริษัท พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่ง ประชาชน สังคม สิ่งแวดล้อม หน่วยงาน องค์กรต่างๆ หรือที่เรียกว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ในทางปฏิบัติคำว่า CSR อาจเรียกได้ว่าความเป็นพลเมืองที่ดี (Corporate Citizenship) ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบในทุกๆด้าน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

หากบริษัทไหนเริ่มต้นที่จะนำแนวคิด CSR มาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความน่าชื่อถือให้กับบริษัทเอง รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ในการสร้างธุรกิจให้เติบโตก้าวหน้าพร้อมกับคืนกำไรต่างๆสู่ชุมชนและสังคม ดังนั้น CSR จึงกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญในการทำธุรกิจสำหรับองค์กรใหญ่ๆทุกบริษัท และกลายเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินธุรกิจด้วยจริยธรรมต่อเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมธุรกิจ คู่แข่ง และอุตสาหกรรม

ประเภทของ CSR

CSR นั้นแบ่งได้ออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ

  • กิจกรรมเพื่อสังคม (CSR-After-Process)
    เป็นการดำเนินกิจกรรมขององค์กรที่แสวงหากำไรในธุรกิจต่างๆ และนำเงินส่วนหนึ่งที่เป็นรายได้จากการสินค้าหรือบริการ ที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการผลิต การขายสินค้าหรือบริการของบริษัท เป็นกิจกรรมที่ถูกวางแผนและทำขึ้นมาหลังจากการดำเนินธุรกิจ เช่น การบริจาคเงินสมทบทุน การบริจาคเงินช่วยเหลือภัยพิบัติ การสร้างโรงเรียนในต่างจังหวัด หรือการเป็นอาสาสมัครในด้านต่างๆ

  • ธุรกิจเพื่อสังคม (CSR-in-Process)
    ความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการทำงานหลักของบริษัทหรือองค์กรนั้นๆ ที่แสวงหากำไรแต่ไม่ลืมที่จะคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การควบคุมและป้องกันการสร้างมลพิษจากกระบวนการผลิต การผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน การระบุข้อความหรือข้อมูลส่วนผสมในสินค้า หรือการจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่บริษัททำอะไรผิดพลาดที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ความผิดพลาดต่อลูกค้า ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในเวลาทำงานปกติขององค์กร

  • กิจการเพื่อสังคม (CSR-as-Process)
    กิจการเพื่อสังคมจะมีความแตกต่างจากกิจกรรมเพื่อสังคมและธุรกิจเพิ่มสังคม เนื่องจากกิจการเพื่อสังคมนั้นเป็นการทำโดยที่ไม่ได้แสวงหากำไรให้กับตัวเอง หรือเรียกได้ว่าทุกกระบวนการของธุรกิจนั้นจะเกี่ยวข้องกับประโยชน์เพื่อสังคมทั้งหมด เช่น มูลนิธิเพื่อสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการสร้างประโยชน์สูงสุดแก่สังคม แต่ก็จำเป็นต้องอยู่รอดด้วยการรับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ และเรายังเห็นได้จากองค์กรใหญ่หลายๆองค์กรก็เริ่มมีการจัดตั้งหน่วยงานกิจการเพื่อสังคมขึ้นมาเป็นรูปแบบมูลนิธิเพื่อสังคม ในการกำกับดูแลการทำเพื่อสังคมโดยเฉพาะ

ระดับของ CSR

การทำ CSR นั้นมีทั้งแบบการทำโดยความตั้งใจจริงและการทำตามข้อกำหนดบางอย่าง ที่มีความเข้มข้นต่างกันอยู่ด้วยกัน 4 ระดับ คือ

  • ระดับพื้นฐาน ที่จำเป็นต้องทำตามกฎระเบียบ หรือข้อกำหนดต่างๆ โดยส่วนใหญ่เราจะเห็นได้จากองค์กรที่เป็นมหาชน ที่จำเป็นต้องมีกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบต่างๆ
  • ระดับก้าวหน้า หรือกิจกรรมที่เกิดจากการสมัครใจของตัวองค์กรเอง โดยที่ไม่ได้ถูกบังคับด้วยกฎระเบียบใดๆ
  • องค์กรเป็นผู้ขับเคลื่อน (Corporate-Driven) หรือการที่องค์กรบริจาคเงินหรือทรัพยากรต่างๆเพื่อช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ รวมทั้งการใช้กำลังคนในองค์กรลงไปร่วมกิจกรรมต่างๆ อาจเรียกได้ว่าเป็นการเสียสละทั้งกำลังทรัพย์และการลงแรง
  • พลังสังคมเป็นผู้ขับเคลื่อน (Social-Driven) หรือการที่องค์กรประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าหรือผู้ที่สนใจ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือสังคมด้วยการซื้อสินค้าและองค์กรจะนำเงินส่วนหนึ่งในร่วมทำกิจกรรมดีๆเพื่อสังคม เช่น หากซื้อรองเท้า 1 คู่ บริษัทจะบริจาค 1 คู่ เพื่อผู้ยากไร้ หรือการระดมเงินทุนต่างๆเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน
TOMS One for One

Source: www.magtoo.fr/toms-faites-une-bonne-action

ชนิดของ CSR

CSR สามารถแบ่งออกได้เป็น 7 ชนิดด้วยกัน คือ

  • การส่งเสริมประเด็นสังคม (Cause Promotion) การที่องค์กรส่งเสริมประเด็นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม โดยการช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น การจัดหาเงินทุน การระดมทุน การบริจาคทรัพยากร การส่งอาสาสมัครเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ
  • การตลาดที่เกี่ยวโยงกับประเด็นสังคม (Cause-Related Marketing) การที่องค์กรบริจาครายได้ส่วนหนึ่งจากการขายสินค้าหรือบริการ เพื่อนำไปสมทบทุนหรือบริจาคให้กับหน่วยงานการกุศล หรือมูลนิธิต่างๆ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้ร่วมทำบุญกับองค์กรและมูลนิธิด้วยความสมัครใจ
  • การตลาดเพื่อแก้ปัญหาสังคม (Corporate Social Marketing) การที่องค์กรรณรงค์หรือสนับสนุนให้เกิดการสร้างความตระหนักรู้ และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมในด้านต่างๆ อาทิ ด้านสาธารณสุข ด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรจะสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นในแคมเปญการรณรงค์ต่างๆ
  • การบริจาคเพื่อการกุศล (Corporate Philanthropy) การบริจาคปัจจัยหรือสิ่งของเพื่อช่วยเหลือปัญหาสังคม ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการร้องขอจากหน่วยงานต่างๆ ที่ไม่ใช่การวางแผนในการทำโดยตัวองค์กรเอง
  • การอาสาช่วยเหลือชุมชน (Community Volunteering) การที่องค์กรจูงใจให้พนักงานสละเวลาในการทำงานเพื่อช่วยเหลือกิจกรรมทางสังคม โดยองค์กรอาจทำกิจกรรมด้วยตัวเองหรือร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ
  • การประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Business Practices) การดำเนินธุรกิจที่หลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับสังคม โดยการพิจารณาตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้า การเลือกใช้วัตถุดิบต่างๆ อีกทั้งยังหาวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในกระบวนการต่างๆ รวมถึงการร่วมรณรงค์ให้คนในสังคมมีความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย
  • การพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก (Developing and Delivering Affordable Products and Services) การใช้กระบวนการทางธุรกิจในการผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการสู่ตลาดในราคาที่ไม่แพง เหมาะกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในระดับฐานราก ให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ข้อควรระวังในการทำ CSR

การทำกิจกรรมเพื่อสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก และมีสิ่งที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับตัวองค์กร และคงไว้ซึ่งจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ องค์กรควรหลีกเลี่ยงโดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักขององค์กรหรือความถูกต้องในการทำธุรกิจ และควรหลีกเลี่ยงจากการใช้ประโยชน์จาก CSR เพื่อประโยชน์ทางการตลาด เพื่อไม่ให้เกิดคำถามจากสังคมว่าเป็นการทำเพื่อประโยชน์อย่างอื่นหรือเป็นแค่การสร้างภาพลักษณ์ ดังนั้นการวางแผนการทำกิจกรรม CSR ใดๆจำเป็นต้องคิดให้รอบด้านที่จะต้องส่งผลดีต่อทุกๆฝ่าย โดยจะต้องส่งผลบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นอย่างแท้จริง

ตัวอย่างการทำ CSR

  • การลดการใช้คาร์บอน
  • ปรับปรุงนโยบายการจ้างงาน
  • การเข้าไปมีส่วนร่วมในการขายสินค้าอย่างมีจริยธรรม
  • อาสาสมัครทำกิจกรรมเพื่อชุมชน
  • การบริจาคเงินทุน
  • การเปลี่ยนนโยบายบริษัทให้หันมามุ่งเน้นเรื่องประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม
  • การลงทุนในกระบวนการผลิตเพื่อพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • การตั้งโครงการด้านการกุศล

Reference

Philip Kotler and Nancy Lee, Corporate Social Responsibility, (New Jersey, John Wiley & Sons, 2005), p.23.
Philip Kotler and Nancy Lee, Up and Out of Poverty, (Wharton School Publishing, 2009), p.294.

ThaiCSR.com

Cover photo by Rodrigo Vieira from FreeImages

Share to friends

Tags



Related Posts

ตัวอย่างกิจกรรม CSR ของแบรนด์ต่างๆ

กิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility) หรือที่เรียกสั้นๆว่า CSR นั้นช่วยให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมๆกับภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร ที่เป็นแนวคิดสำคัญในการทำธุรกิจสมัยนี้ด้วยการที่องค์กรทำสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง ที่นอกเหนือจากเรื่องของรายได้แต่ยังแสดงออกถึงความใส่ใจในสังคมกับสิ่งแวดล้อม


แนวคิด CSV กับการทำธุรกิจแบบยั่งยืน

Creating Shared Value หรือ CSV ได้กลายเป็นหนึ่งในรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) ที่สำคัญสำหรับยุคนี้ไปแล้ว ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จให้กับธุรกิจของคุณ โดยมีเป้าหมายนั่นก็คือการทำธุรกิจแบบยั่งยืนครับซึ่งสามารถทำทั้งกำไรและสิ่งดีๆควบคู่กันไปได้ โดยหากจะบอกว่ามันเป็นการยกระดับจากการทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือ Corporate Social Responsibility (CSR)


อะไรคือ Sustainable Brand

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อนเราจะได้ยินกระแสของความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งอาจจะยังดูไม่ค่อยคุ้นหูกับคนไทยมากนัก แต่ว่าในต่างประเทศนั้นมีการพัฒนาแนวคิดของความยั่งยืนมานานมากแล้ว ด้วยการนำแนวคิดความยั่งยืนมาพัฒนาให้แบรนด์นั้นเติบโตอย่างยั่งยืนหรือก็คือการไปสู่ Sustainable Brand ครับ และเราจะมาทำความรู้จักกับคำว่า Sustainable Brand กันในบทความนี้กันครับ



Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


copyright 2025@popticles.com
หากท่านต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ไปเผยเพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซต์