Bulb_of_Idea

นวัตกรรมไม่ใช่แค่การสร้างสิ่งใหม่เพียงเท่านั้น แต่เป็นการนำเสนอสิ่งที่ให้คุณค่าอย่างแท้จริงในแบบที่แตกต่าง และด้วยการนำ ERRC Framework มาใช้ จะทำให้แบรนด์และธุรกิจของคุณนั้นมีวิธีคิดกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อเปิดพื้นที่ไปสู่ตลาดใหม่ อย่าง Blue Ocean Strategy ซึ่งถือว่าเป็นการท้าทายการคิดในแบบเดิมๆ ท้าทายบรรทัดฐานของอุตสาหกรรมแบบเดิมๆ โดยมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่สำคัญต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง ในบทความนี้ผมจะพาผู้อ่านมารู้จักกรอบการทำงานของ ERRC Framework และตัวอย่างความสำเร็จของแบรนด์ที่ได้รับประโยชน์จากการใช้ ERRC Framework เพื่อที่คุณจะนำไปใช้กับการออกแบบธุรกิจของคุณให้มีคุณค่าในอนาคตครับ

What's next?

อะไรคือ ERRC Framework

ERRC Framework คือ กรอบการทำงานที่เป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ (Strategic Framework) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้แบรนด์และธุรกิจได้มีแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับแนวทางการสร้างคุณค่า การสร้างมูลค่า และการสร้างความแตกต่างในตลาด ซึ่งย่อมาจาก Eliminate (กำจัด) Reduce (ลด) Raise (ยกระดับ) Create (สร้าง) ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะแสดงถึงขั้นตอนการดำเนินการที่สำคัญๆ ที่แนะนำให้แบรนด์และธุรกิจต่างๆปรับรูปแบบข้อเสนอถึงคุณค่า (Value Proposition) ของตนใหม่ กรอบการทำงานนี้สนับสนุนให้แบรนด์ธุรกิจต่างๆก้าวออกจากการแข่งขันที่ดุเดือดโดยตรงอย่าง Red Ocean โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างมูลค่าและคุณค่าให้กับลูกค้า ซึ่งมักจะนำไปสู่ตลาด “มหาสมุทรสีฟ้าหรือสีน้ำงิน / น่านน้ำสีคราม” หรือ Blue Ocean นั่นเอง เรามาดูรายละเอียดองค์ประกอบของ ERRC Framwwork กันครับ

ตาราง ERRC (Eliminate-Reduce-Raise-Create)

1. กำจัด (Eliminate)

การกำจัดคือการสนับสนุนให้ระบุกิจกรรมที่ขัดขวางความก้าวหน้า และการใช้ทรัพยากรโดยไม่เพิ่มมูลค่าหรือคุณค่าที่สำคัญให้กับลูกค้าและธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจมีเวลาเพิ่มขึ้น คิดได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ทำให้สามารถจัดสรรทรัพยากรในเชิงกลยุทธ์ได้มากยิ่งขึ้น เพื่อริเริ่มโครงการหรือทำผลิตภัณฑ์ที่ดีและสร้างประโยชน์ที่สูงกว่าเดิม ซึ่งถือเป็นการปูทางไปสู่ผู้นำในตลาดแบบคล่องตัวมากขึ้น และหากเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็จำเป็นต้องระบุและลบคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ หรือฟังก์ชันการทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่มีคุณค่าหรือไม่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าออกไป เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ของคุณพัฒนาได้ง่ายขึ้น ลดต้นทุนการผลิต และเร่งเวลาในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ซึ่งช่วยให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ของคุณมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกค้าของคุณ เช่น ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอาจยกเลิกช่องเสียบหูฟังเพื่อลดปัญหาความซับซ้อนของฮาร์ดแวร์ และเพิ่มพื้นที่สำหรับความจุแบตเตอรี่ให้ดีขึ้นหรือคุณสมบัติอื่นๆที่สูงขึ้น

2. ลด (Reduce)

เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรหรืออาจเป็นคุณสมบัติบางประการ โดยธุรกิจจะต้องประเมินการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ที่แม้ว่าจะมีความสำคัญแต่ก็อาจไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะมีประสิทธิภาพเสมอไป ด้วยการลดระดับการลงทุนในด้านต่างๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไปสู่การเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนในด้านที่สำคัญได้อย่างสูงสุด ซึ่งเป็นการส่งเสริมแนวทางความเป็นผู้นำในตลาดที่คล่องตัวมากยิ่งขึ้น และหากเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็ควรปรับขนาดหรือลดคุณสมบัติบางอย่างที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง และขั้นตอนนี้จะช่วยให้คุณไม่ต้องทำผลิตภัณฑ์ที่เกินจำเป็น จนส่งผลให้กระทบค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ตัวอย่างเช่น การที่บางสายการบินอาจยกเลิกการของเมนูอาหารและการกำหนดที่นั่ง โดยมุ่งเน้นไปที่การเดินทางแบบราคาประหยัดแทน โดยสิ่งนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่คำนึงถึงราคา และไม่ส่งผลเสียต่อเป้าหมายหลักซึ่งนั่นก็คือเที่ยวบินราคาประหยัด

3. ยกระดับ (Raise)

หัวใจสำคัญของ ERRC Framework ก็คือ แนวคิดในการยกระดับการดำเนินงานและกิจกรรมที่มีศักยภาพ ในการสร้างผลกระทบให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจำเป็นต้องพยายามลงทุนในสิ่งที่จำเป็น เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จและส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆที่ยังไม่มีใครค้นพบ หากเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมๆนั้น คุณก็จำเป็นต้องหาคุณลักษณะที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าเกณฑ์แต่เป็นสิ่งที่ลูกค้าให้คุณค่าสูง เพื่อทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ของคุณ จะกลายเป็นสิ่งที่ส่งมอบคุณค่าได้มากขึ้นซึ่งนำไปสู่ความพึงพอใจของลูกค้า และสร้างความแตกต่างในตลาดได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ยานยนต์ไฟฟ้าได้มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ เพื่อสร้างให้เกิดความคุ้มค่าและตอบโจทย์การใช้งานในระยะยาวมากขึ้น

4. สร้าง (Create)

การปลดปล่อยนวัตกรรมและศักยภาพใหม่ๆ ถือเป็นองค์ประกอบสุดท้ายของ ERRC Framework ที่เรียกร้องให้แบรนด์และธุรกิจสำรวจในสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ด้วยการลงทุนในนวัตกรรมบางอย่างและเปิดรับมุมมองอะไรใหม่ๆ เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่ากับทั้งองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน การสร้างสรรค์จะจุดประกายของวัฒนธรรมแห่งความอยากรู้อยากเห็นและความกล้าเสี่ยง และยังช่วยจุดประกายจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการภายในองค์กร ด้วยแนะนำคุณลักษณะใหม่ๆรวมไปถึงขีดความสามารถใหม่ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาและความต้องการของลูกค้าที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองได้ (Unmet Needs) ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเปิดกลุ่มตลาดใหม่ที่ดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ จนกลายเป็นตลาดที่ไม่มีคู่แข่งขันได้ในระยะยาว ตัวอย่างเช่น แบรนด์เครื่องดูดฝุ่นอาจสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถทิ้งขยะเองได้ ซึ่งจะช่วยจัดการกับปัญหาที่เป็น Pain Point ของลูกค้า และนำเสนอมิติด้านความสะดวกสบายสู่ตลาด

What's next?

ERRC Framework ช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างไร

ERRC Framework ทำให้คุณเห็นแนวทางเชิงกลยุทธ์ ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้ โดยการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น การบริหารทรัพยากรต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถช่วยยกกระดับกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในแง่มุมต่างๆ ดังนี้

1. การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่กระชับและตรงเป้ามากขึ้น

ERRC Framework ช่วยให้การออกแบบผลิตภัณฑ์ง่ายขึ้น โดยเน้นไปที่การตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นและลดองค์ประกอบที่ซับซ้อน ซึ่งส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ใช้งานง่ายขึ้น ผลิตง่ายขึ้น และดูแลรักษาง่ายขึ้น เช่น Smartphone กำจัดฟีเจอร์ที่ไม่สำคัญออกไป เช่น ปุ่ม Home เพื่อให้การออกแบบนั้นดูใช้งานง่ายและไม่เกะกะหน้าจอ และลดฟีเจอร์ที่ไม่จำเป็นอย่างการใช้ Finger Scan หรือ Laptop ราคาประหยัดที่ลดความละเอียดหน้าจอจาก 4K เป็นแค่ Full HD สำหรับผู้ที่ให้ความสำคัญกับราคาและการใช้งานธรรมดาๆ

Smartphone_with_no_home_button

2. การเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุน

การกำจัดและลดองค์ประกอบที่มีมูลค่าต่ำจะช่วยลดต้นทุนและจัดสรรทรัพยากร ไปยังสิ่งที่สร้างคุณค่าได้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น การประหยัดต้นทุนจากการใช้วัสดุน้อยลง ลดกระบวนการผลิตบางอย่างลง หรือการออกแบบที่ง่ายขึ้น เพื่อสามารถนำไปลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆหรือการปรับปรุงอะไรที่ตรงตามความต้องการของลูกค้า ตัวอย่างเช่น IKEA ปรับต้นทุนให้เหมาะสมโดยการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถบรรจุแบบแบนได้ เพื่อการขนส่งและการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยลดความจำเป็นในการประกอบเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูป ลดขยะที่เป็นบรรจุภัณฑ์ และลดต้นทุนการขนส่ง ทำให้สามารถออกแบบและนำเสนอเฟอร์นิเจอร์ที่มีคุณภาพในราคาที่เอื้อมถึงได้

Flat_Pack_Design_of_IKEA

Source: https://www.fastcompany.com/3057837/the-man-behind-ikeas-world-conquering-flat-pack-design

3. มุ่งเน้นที่ความต้องการหลักของลูกค้า

การเพิ่มและการสร้างจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์นั้นตรงกับความคาดหวังของลูกค้า และตอบโจทย์ความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ที่ส่งผลให้เกิดการตอบรับที่ดีจากตลาดและอาจกลายเป็นการเปิดตลาดใหม่ๆ เช่น การเน้นความทนทาน ความง่ายในการใช้งาน ฟังก์ชันการทำงาน หรือการสร้างฟีเจอร์ใหม่ที่ช่วยปัญหาลูกค้าได้ แล้วไม่มีคู่แข่งคนไหนทำได้ ตัวอย่างเช่น Dyson ที่มาพร้อมกับเครื่องดูดฝุ่นไร้สายที่เคลื่อนที่ได้สะดวก ทำให้แบรนด์กลายเป็นผู้นำในตลาดนั้นๆได้

Dyson-V15-Detect-Most-powerful

Source: https://www.dyson.com.au/

4. กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ

ERRC Framework ช่วยกระตุ้นให้ทีมคิดนอกกรอบและค้นหาโอกาสในการสร้างนวัตกรรมที่ล้ำสมัย เสมือนบังคับให้ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์มองหาความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองอย่างแท้จริง และพัฒนาคุณลักษณะหรือเทคโนโลยีใหม่ๆที่อาจเปลี่ยนโฉมตลาดได้ เช่น Tesla ได้สร้างแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าระยะไกล ที่ตอบโจทย์ความกังวลเรื่องระยะทางการขับขี่ และเปลี่ยนมุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อรถยนต์ไฟฟ้า และเราจะได้ยินว่าพักหลังๆ Tesla ก็ได้ซุ่มพัฒนารถยนต์ที่ใช้พลังงาน Hydrogen ในการขับเคลื่อน ซึ่งอาจกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ในอุสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตอันใกล้

2025-tesla-model-s

Source: https://www.caranddriver.com/tesla/model-s

5. ลดระยะเวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตัดองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นและลดความซับซ้อนลง สามารถเข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนาและเปิดตัวได้เร็วขึ้น ดังนั้นการออกแบบที่กระชับจะช่วยให้การสร้างต้นแบบ การทดสอบ และการปรับปรุงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ทีมงานสามารถมุ่งเน้นไปที่ฟีเจอร์หรือคุณบัติสำคัญเพียงไม่กี่จุด เพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้าที่เกิดจากการเพิ่มอะไรที่มากจนเกินไป โดยเราจะเห็นธุรกิจ Startup โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการสร้างแอปพลิเคชั่น ก็มักจะใช้ ERRC Framework ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีคุณสมบัติที่สำคัญๆเพียงพอที่ตลาดต้องการ หรือ Minimum Viable Product (MVP) ออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว

Example_Application

6. เพิ่มความแตกต่างในตลาด

การรวม การกำจัด การลด การเพิ่ม และการสร้าง ช่วยให้ผลิตภัณฑ์นั้นเกิดความโดดเด่นในตลาดที่มีการแข่งขันสูง ด้วยการนำเสนอคุณค่าที่ไม่ซ้ำใคร การลดและกำจัดบางสิ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ดูเรียบง่าย และตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ในขณะที่การเพิ่มและการสร้างจะช่วยให้แบรนด์ธุรกิจของคุณมีผลิตภัณฑ์หรือโซลูชันใหม่ๆที่น่าดึงดูดใจ เช่น แบรนด์ Oatly จากประเทศสวีเดนได้ปฏิวัติตลาดทางเลือกสำหรับผลิตภัณฑ์นมใหม่ ด้วยการยกเลิกการพึ่งพาผลิตภัณฑ์นมจากสัตว์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับการผลิตนมแบบดั้งเดิมอื่นๆ และแบรนด์ได้สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความยั่งยืน โดยสร้างนมข้าวโอ๊ตให้เป็นทางเลือกที่คำนึงถึงสุขภาพ ซึ่งทำให้พวกเขาแตกต่างจากแบรนด์คู่แข่งมากยิ่งขึ้น

Otaly_Brand

Source: https://www.oatly.com/

7. สนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืน

การกำจัดและลดองค์ประกอบหรือกระบวนการที่ใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น จะช่วยให้บริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งช่วยให้แบรนด์สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และกลายเป็นจุดแข็งของแบรนด์ได้ในอนาคต ตัวอย่างเช่น แบรนด์ Patagonia กำจัดวัสดุที่เป็นอันตรายและลดของเสียในการผลิตลง พร้อมเพิ่มคุณภาพและความทนทานของเสื้อผ้าสาย Outdoor และยังส่งเสริมให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าแต่พอดีแต่จำเป็น โดยเอาเงินไปซื้อสิ่งที่สำคัญกับชีวิตก่อนที่จะซื้อเสื้อของ Patagonia อีกด้วย

Patagonia_Brand

Source: https://www.patagoina.com/

What's next?

ตัวอย่างการใช้ ERRC Framework กับแบรนด์และธุรกิจต่างๆ

ERRC Framework ถือว่าเป็นกรอบที่บังคับให้แบรนด์และธุรกิจต่างๆ ถอยห่างจากการแข่งขันอันดุเดือดและมุ่งเน้นไปที่คุณค่าของลูกค้าเป็นหลัก ช่วยป้องกันไม่เกิดการใช้ทรัพยากรหรือการปรับปรุงอะไรที่ไม่เหมาะสม และส่งเสริมการสร้างแบรนด์และทำธุรกิจในเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น ด้วยการจัดการในแต่ละขั้นตอนอย่างมีระบบทั้งต่อตัวของธุรกิจและลูกค้า เรามาดูตัวอย่างจากการนำเอา ERRC Framework มาปรับใช้ในการสร้างแบรนด์และการดำเนินธุรกิจกันครับ

1. Spotify

  • กำจัด (Eliminate) ยกเลิกการผลิต CD และการดาวน์โหลดเพลงที่ผิดกฎหมาย
  • ลด (Reduce) ลดปริมาณการโฆษณาลงให้แตกต่างจากวิทยุในแบบเดิมๆ
  • ยกระดับ (Raise) ปรับปรุงและเพิ่มประสบการณ์ผู้ใช้งาน ด้วยการสร้าง Playlist ส่วนตัว เช่น Discover Weekly และรายการแนะนำแบบเรียลไทม์
  • สร้าง (Create) เปิดตัวการสตรีมเพลงแบบ On-Demand และ Playlist ที่สามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเดียวกัน
Spotify

2. IKEA

  • กำจัด (Eliminate) เลิกใช้พนักงานขายแบบเดิมๆ และความต้องการเฟอร์นิเจอร์แบบประกอบสำเร็จ
  • ลด (Reduce) การออกแบบที่เรียบง่ายเพื่อเน้นไปที่ความคุ้มค่าและฟังก์ชันการทำงาน
  • ยกระดับ (Raise) เพิ่มศักยภาพการเข้าถึงด้วยร้านค้าขนาดใหญ่ในเมืองต่างๆ และแคตตาล็อกออนไลน์ที่มีจำหน่ายทั่วโลก
  • สร้าง (Create) แนะนำให้ผู้คนรู้จักวัฒนธรรมที่ต้องทำด้วยตัวเองแบบ Do-It-Yourself (DIY) และการออกแบบการเดินทางของลูกค้าในร้านของ IKEA ที่ไม่เหมือนใคร พร้อมด้วยร้านอาหารภายใน IKEA เพื่อประสบการณ์แบบออฟไลน์ที่แสนอบอุ่น
IKEA

3. UNIQLO

  • กำจัด (Eliminate) การลบแบรนด์ที่เป็นแฟชั่นตามฤดูกาล ที่มักส่งผลให้เกิดการผลิตและเกิดเป็นสินค้าคงคลังที่มากจนเกินไป และยังขจัดความจำเป็นในการใช้โลโก้หรือการสร้างแบรนด์ที่มากเกินไป โดยมุ่งเน้นไปที่การออกแบบที่เรียบง่ายซึ่งดึงดูดกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างแทน
  • ลด (Reduce) ลดการพึ่งพา Influencer สายแฟชั่นหรืองานแสดงบนรันเวย์ที่มีราคาสูง โดยมุ่งเน้นไปที่สไตล์ที่ใช้งานได้จริง กับการทำการตลาดกับผู้บริโภคในชีวิตประจำวันโดยตรง และยังลดของเสียจากผ้าโดยการใช้กระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
  • ยกระดับ (Raise) ปรับปรุงคุณภาพเนื้อผ้าโดยการนำวัสดุคุณภาพขั้นสูง เช่น แอริซึ่ม (AIRism) ที่ช่วยระบายความชื้นและความร้อนพร้อมดูดซับเหงื่อ รวมไปถึง HeatTech กับการถักทอแบบพิเศษซึ่งจะทำให้เนื้อผ้าดักจับความอุ่นได้มากขึ้นมาใช้ โดยปรับปรุงความสะดวกสบายและการใช้งานที่ง่ายขึ้น เข้าถึงตลาดโดยการเสนอราคาที่เอื้อมถึงได้สำหรับเสื้อเชิ้ตคุณภาพสูงและมีความทนทาน
  • สร้าง (Create) พัฒนาคุณสมบัติที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น เสื้อเชิ้ตไร้รอยยับ ผ้าควบคุมกลิ่น และวัสดุป้องกันรังสียูวี เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ และให้ความสำคัญกับความยั่งยืนโดยการพัฒนาเสื้อ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล
UNIQLO_Central_Embassy

Source: https://www.centralembassy.com/store/uniqlo/


4. Canva

  • กำจัด (Eliminate) ขจัดความจำเป็นในการใช้ซอฟต์แวร์การออกแบบกราฟิกที่ซับซ้อนและมีราคาแพงออกไป
  • ลด (Reduce) ลดเวลาและทักษะที่จำเป็นในการออกแบบในระดับมืออาชีพ โดยการนำเสนอเทมเพลตที่สร้างไว้แล้วล่วงหน้า ให้ง่ายต่อผู้ใช้งานที่ไม่จำเป็นต้องมีทักษะด้านการออกแบบ
  • ยกระดับ (Raise) การเข้าถึงด้วยอินเทอร์เฟซแบบลากและวาง (Drag & Drop) ที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ใช่นักออกแบบใดๆ
  • สร้าง (Create) สร้างแพลตฟอร์มที่สามารถทำงานร่วมกันและการเข้าถึงบนระบบคลาวด์ได้ ช่วยให้ทีมสามารถทำงานร่วมกันในแคมเปญโฆษณาหรือการออกแบบอื่นๆได้อย่างราบรื่น
Canva_Template_Example

ด้วยการนำ ERRC Framework มาใช้งานจะทำให้แบรนด์และธุรกิจต่างๆ สามารถคิดและสร้างกลยุทธ์แบบ Blue Ocean Strategy ได้ ด้วยการหลีกหนีจากการแข่งขันอันดุเดือด ซึ่งจะเป็นการสร้างเส้นทางแห่งนวัตกรรมที่มีคุณค่า และเป็นประโยชน์ต่อทั้งธุรกิจและกลุ่มลูกค้า จึงนับเป็นวิธีปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างมีกลยุทธ์และสร้างผลกระทบที่ยั่งยืนให้กับแบรนด์ ธุรกิจ และลูกค้านั่นเอง


Share to friends


Related Posts

วิธีค้นหา Unmet Needs เพื่อก้าวสู่ตลาดแบบ Blue Ocean

ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ทำให้ธุรกิจมากมายต่างต้องการความแตกต่าง เพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากตลาด “Red Ocean” ที่มีคู่แข่งอย่างหนาแน่น ไปสู่ตลาดแบบ “Blue Ocean” ซึ่งเป็นตลาดที่ยังไม่ค่อยมีใครเข้าไปลงเล่น และหากยึดครองตลาดนี้ได้ก็อาจทำให้ธุรกิจของคุณเติบโตแบบไร้คู่แข่งได้ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะก้าวเข้าไปสู่ตลาด “Blue Ocean”


ส่องกลยุทธ์แบบ Blue Ocean และ Red Ocean

ในแวดวงการทำธุรกิจคงจะรู้จักคำว่า Blue Ocean กับ Red Ocean กันเป็นอย่างดีเพราะมันคือตลาดที่แบรนด์หรือธุรกิจนั้นจะเข้าไปทำธุรกิจและทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมาย โดยที่เรารู้กันดีก็คือ Red Ocean นั้นเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันสูงมาก ส่วน Blue Ocean นั้นคือตลาดที่โดดเด่นด้วยคุณค่าและความแตกต่างของแบรนด์ ที่เป็นตลาดที่ยังไม่มีคู่แข่งมากเท่ากับ Red Ocean


วิเคราะห์ขีดความสามารถธุรกิจ กับ VRIO Analysis Framework

VRIO Analysis คือ อีกหนึ่งเทคนิคที่สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ รวมถึงประเมินทรัพยากร (Resource) และขีดความสามารถขององค์กร (Competitive Advantage) ที่ถูกพัฒนาโดย Jay B. Barney ศาสตราจารย์ด้านการบริหารเชิงกลยุทธ์ชาวอเมริกัน โดย VRIO Analysis นั้นถือเป็นการวิเคราะห์จากมุมมองภายในขององค์กร


เริ่มปั้น Personal Brand แบบง่ายๆด้วย P-B-P-B-J Framework

การสร้าง Personal Brand หรือที่เราเรียกว่าแบรนด์บุคคลถือว่ามีความสำคัญและมีประโยชน์มาก หากคุณต้องการมีตัวตนบนโลกออนไลน์ในสายอาชีพที่ทำอยู่ ซึ่งอาจเป็นทั้ง Influencer, Content Creator, YouTuber, TikToker หรือแม้แต่การทำงานในบทบาทที่คุณเป็นเจ้าของกิจการหรือแม้แต่พนักงานก็ตาม



copyright 2024@popticles.com
หากท่านต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ไปเผยเพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซต์