Group-of-People-Protest-in-the-City

ทุกแบรนด์บนโลกต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่เสมอ ไม่ว่าจะมาจากปัจจัยภายนอก ความผิดพลาดในการดำเนินงาน หรือกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่คาดไม่ถึงจากคนทั่วไป วิธีที่แบรนด์ตอบสนองต่อสิ่งต่างๆเหล่านี้ จะเป็นตัวกำหนดภาพลักษณ์ (Brand Image) และความอยู่รอดของแบรนด์ในระยะยาว บางแบรนด์สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยใช้สถานการณ์ที่ยากลำบากเป็นเวทีแสดงให้เห็นถึงคุณค่า (Core Values) ที่พวกเขายึดมั่น ในขณะที่บางแบรนด์กลับจัดการผิดพลาด โดยปล่อยให้การรับมือนั้นล้มเหลวด้วยการจัดการวิกฤตที่ย่ำแย่ (Poor Crisis Management) ทำลายชื่อเสียงและบั่นทอนความไว้วางใจของลูกค้าลงไป ในบทความนี้ผมจะพาผู้อ่านไปสำรวจข้อผิดพลาดของการจัดการวิกฤตที่ล้มเหลว พร้อมทั้งแนะนำกลยุทธ์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อช่วยปกป้องและกู้ภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ของคุณ

What's next?

ทำไมการจัดการวิกฤตที่ล้มเหลวส่งผลเสียต่อแบรนด์ของคุณ

การจัดการวิกฤต (Crisis Management) เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถสร้างหรือทำลายแบรนด์ได้ โดยหากรับมือไม่ดีผลกระทบอาจรุนแรงจนสร้างความเสียหายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เรามาดูผลกระทบสำคัญๆของการจัดการวิกฤตที่ผิดพลาดกันครับ

1. สูญเสียความน่าเชื่อถือ (Loss of Credibility)

แบรนด์ใช้เวลาหลายปีในการสร้างความเชื่อมั่น (Trust) และภาพลักษณ์ที่ดี (Brand Image) แต่หากตอบสนองต่อวิกฤตอย่างล่าช้าหรือไม่เหมาะสม จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าแบรนด์ไม่มีความเป็นมืออาชีพ ขาดความรับผิดชอบ หรือหากแย่ไปกว่านั้นก็คือการไม่แยแสต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น กรณีของ United Airlines ในปี 2017 ที่มีวิดีโอการลากผู้โดยสารออกจากเครื่องบินเผยแพร่ไปทั่วอินเทอร์เน็ต แต่ทางบริษัทกลับตอบสนองอย่างไม่จริงใจในช่วงแรก ทำให้เกิดกระแสต่อต้านรุนแรง สูญเสียความไว้วางใจจากผู้บริโภค และหุ้นตกระนาวกราวรูด

วิธีแก้ไข

  • แบรนด์ต้องเตรียมแผนรับมือวิกฤต (Crisis Management Plan) ไว้ล่วงหน้า และให้ความสำคัญกับความโปร่งใส รวมถึงการสื่อสารอย่างรวดเร็ว
  • ออกแถลงการณ์ (Statement) ที่จริงใจและรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ ไม่ใช่การปกป้องตัวเองหรือโทษผู้อื่น
People-Boycott

Source: https://www.usatoday.com/story/news/2017/04/12/how-united-must-make-their-skies-friendly-again/100365668/

2. ผลกระทบจะถูกขยายในวงกว้างบนโลกดิจิทัล (Amplified Damage in the Digital Age)

ในยุคที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลสูง ข่าวสารสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วในระดับวินาที หากแบรนด์จัดการวิกฤตได้ไม่ดีพอหรือสื่อสารผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ก็อาจถูกกระแสสังคมโจมตีและเกิด ไวรัลด้านลบ ได้ ตัวอย่างเช่น Pepsi กับโฆษณาของ Kendall Jenner ในปี 2017 ที่ถูกมองว่าไม่ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางสังคมที่เพียงพอ ทำให้ผู้บริโภคไม่พอใจและเกิดกระแสต่อต้านทั่วโลก แม้บริษัทจะรีบถอดโฆษณาและขอโทษ แต่ความเสียหายต่อแบรนด์ก็เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว

วิธีแก้ไข

  • แบรนด์ต้องมีทีมจัดการสื่อสารวิกฤต ที่สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและรอบคอบ
  • ใช้การสื่อสารต้องถูกต้องและคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการปกป้องแบรนด์
kendall-jenner-pepsi-ad

Source: https://www.nytimes.com/2017/04/05/business/kendall-jenner-pepsi-ad.html

3. ผลกระทบทางการเงินในระยะยาว (Long-Term Financial Impact)

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจัดการวิกฤตที่ผิดพลาด ยังส่งผลกระทบต่อรายได้ ส่วนแบ่งทางการตลาด และความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้น ตัวอย่างเช่น BP (British Petroleum) จากกรณีน้ำมันรั่วไหลที่อ่าวเม็กซิโกในปี 2010 และถึงแม้จะเป็นอุบัติเหตุ แต่การตอบสนองที่ไม่เพียงพอและขาดความรับผิดชอบ ทำให้บริษัทต้องเสียค่าปรับมหาศาล สูญเสียลูกค้า และมูลค่าหุ้นตกลงอย่างรุนแรง

วิธีแก้ไข

  • ต้องมีแผนบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุม และเตรียมความพร้อมให้กับทุกฝ่ายในองค์กร
  • ลงทุนในกลยุทธ์การสร้างความไว้วางใจใหม่หลังเกิดวิกฤต เช่น การแสดงความรับผิดชอบ แผนการฟื้นฟูผลกระทบ และปรับปรุงมาตรฐานการดำเนินงาน
BP-Oil-Spill

Source: https://www.nrdc.org/stories/what-we-learned-bp-oil-disaster

4. ความไม่พอใจของพนักงานและการลาออกเพิ่มขึ้น (Employee Disengagement and Turnover)

หากแบรนด์จัดการวิกฤตผิดพลาด ก็ไม่เพียงแต่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก ที่จะสูญเสียความเชื่อมั่นเท่านั้น แต่พนักงานเองก็อาจรู้สึกผิดหวัง ขาดแรงจูงใจ และสูญเสียความภักดีต่อแบรนด์ได้ โดยเฉพาะถ้าการสื่อสารจากผู้บริหารไม่มีความชัดเจน หรือแสดงให้เห็นว่าองค์กรไม่ใส่ใจความรู้สึกของพนักงาน ตัวอย่างเช่น Wells Fargo กับกรณีอื้อฉาวเรื่องการสร้างบัญชีปลอมหลายล้านบัญชีโดยพนักงานของตัวเอง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายยอดขายที่บริษัทตั้งเอาไว้สูงมาก พนักงานจำนวนมากถูกไล่ออกหรือถูกบังคับให้ลาออก ถึงแม้ว่าพวกเขาจะทำตามนโยบายของบริษัทก็ตาม ซึ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ลดลงอย่างรุนแรง

วิธีแก้ไข

  • องค์กรต้องสื่อสารกับพนักงานอย่างโปร่งใส และเปิดโอกาสให้พวกเขามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
  • ต้องมีมาตรการสนับสนุนพนักงาน เช่น การฝึกอบรม การให้คำปรึกษา หรือโปรแกรมดูแลสุขภาพจิต
Wells-Fargo

Source: Source: https://www.fox5atlanta.com/news/wells-fargo-to-pay-3b-to-resolve-probes-into-fake-accounts

5. การฟ้องร้องและผลกระทบทางกฎหมาย (Legal and Regulatory Consequences)

หากแบรนด์รับมือกับวิกฤตได้ไม่ดีพอ หรือมีการละเลยมาตรฐานทางกฎหมาย อาจนำไปสู่การถูกฟ้องร้อง ถูกปรับ หรือถูกตรวจสอบจากหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งอาจสร้างภาระทางการเงินและทำลายชื่อเสียงของแบรนด์ และในหลายครั้งที่แบรนด์นั้นก็อาจถึงขั้นล้มละลายเลยก็ได้ ตัวอย่างเช่น Volkswagen ในประเทศเยอรมนี ที่บริษัทถูกจับได้ว่าติดตั้ง Software โกงค่าการปล่อย Co2 ของรถยนต์บางรุ่นและถูกส่งออกไปทั่วโลกกว่า 11 ล้านคัน ทำให้ถูกปรับเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ และต้องเผชิญกับคดีความจากทั้งรัฐบาลและลูกค้า

วิธีแก้ไข

  • ต้องมีแผนรับมือด้านกฎหมายพร้อมทีมกฎหมาย ที่สามารถให้คำแนะนำได้อย่างรวดเร็ว
  • ควรมีแนวทางดำเนินธุรกิจที่โปร่งใสและสอดคล้องกับกฎระเบียบของแต่ละประเทศ
VW-logo

Source: https://www.caranddriver.com/news/a15339250/everything-you-need-to-know-about-the-vw-diesel-emissions-scandal/

6. การสูญเสียพันธมิตรทางธุรกิจ (Loss of Business Partnerships)

แบรนด์ที่มีชื่อเสียงเสียหายจากการจัดการวิกฤตที่ผิดพลาด อาจสูญเสียความไว้วางใจจากพันธมิตรทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นซัพพลายเออร์ ผู้จัดจำหน่าย หรือพาร์ทเนอร์ด้านการตลาด ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านการดำเนินงานและการขยายตลาด ตัวอย่างเช่น ในอดีต Nike เคยถูกโจมตีเรื่องการใช้แรงงานเด็กในโรงงานที่รับจ้างผลิตสินค้า แม้ว่าจะไม่ใช่การกระทำโดยตรงของแบรนด์ แต่พันธมิตรทางธุรกิจหลายรายก็เริ่มถอยห่างออกจากแบรนด์จนกว่าปัญหาจะถูกแก้ไข

วิธีแก้ไข

  • ตรวจสอบพันธมิตรทางธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกฝ่ายดำเนินธุรกิจตามหลักจริยธรรม
  • ต้องมีแนวทางแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของพันธมิตรอย่างเป็นระบบ
People-Protest

Source: https://qz.com/1042298/nike-is-facing-a-new-wave-of-anti-sweatshop-protests

7. การสูญเสียโอกาสทางการตลาดและนวัตกรรม (Loss of Market Opportunities and Innovation)

เมื่อแบรนด์ต้องใช้เวลาและทรัพยากรไปกับการจัดการวิกฤต ก็อาจทำให้สูญเสียโอกาสทางการตลาด ไม่สามารถออกผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือพัฒนาโครงการที่คิดเอาไว้ได้ทันเวลา ซึ่งจะทำให้คู่แข่งสามารถแย่งชิงตลาดได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น Samsung กับกรณี Galaxy Note 7 ที่เกิดปัญหาแบตเตอรี่ระเบิดซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้บริษัทจะพยายามแก้ไขแต่การจัดการวิกฤตที่ไม่ดีในช่วงแรก ก็ทำให้แบรนด์ต้องเรียกคืนสินค้าทั่วโลกจนสูญเสียเงินมหาศาล และทำให้ Apple สามารถครองตลาดได้ในช่วงเวลาสำคัญ

วิธีแก้ไข

  • ต้องมีแผนสำรองด้านนวัตกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว
  • จัดทำกลยุทธ์การตลาดและประชาสัมพันธ์ที่ช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ของแบรนด์
Mobile-Battery-Explosion

Source: https://www.bbc.com/news/business-38714461

What's next?

องค์ประกอบสำคัญของการจัดการวิกฤตที่มีประสิทธิภาพ

1. เตรียมความพร้อมด้วยแผนรับมือวิกฤต

  • ทุกองค์กรมีโอกาสเผชิญวิกฤตอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่ง “ควรระบุสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ข้อผิดพลาดของผลิตภัณฑ์ วิกฤตด้านภาพลักษณ์ หรือปัญหาภายในองค์กร
  • “กำหนดกรอบการตอบสนองที่ชัดเจน” ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบแต่ละขั้นตอน และช่องทางสื่อสารที่เหมาะสมคืออะไร
  • จัดทำแนวทางการสื่อสาร (Crisis Communication Guidelines) เพื่อให้ทุกคนในองค์กรรับมือได้อย่างเป็นระบบและลดโอกาสเกิดความผิดพลาด

2. ตอบสนองอย่างรวดเร็ว และรับผิดชอบต่อสถานการณ์

  • ในยุคดิจิทัลนั้นข่าวสารแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และหากปล่อยให้ปัญหาค้างคาแบรนด์ก็อาจเสียการควบคุม จากกระกระแสสังคมจนทำให้วิกฤตรุนแรงขึ้นได้
  • การแสดงความรับผิดชอบ เป็นสิ่งสำคัญ แบรนด์ที่ปฏิเสธหรือเลี่ยงความผิด มักจะเผชิญกับกระแสต่อต้านมากขึ้น
  • หากเกิดข้อผิดพลาดจง “ยอมรับอย่างโปร่งใส พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การเรียกคืนสินค้า การชดเชยให้ลูกค้า หรือการปรับปรุงมาตรฐานภายใน

3. แสดงความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) อย่างจริงใจ

  • วิกฤตมักส่งผลกระทบต่อหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่ค้า หรือพนักงาน การสื่อสารที่ขาดความเห็นอกเห็นใจอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
  • ควรแสดงความห่วงใยผ่าน คำพูด และ การกระทำ เช่น การขอโทษที่จริงใจหรือการให้การสนับสนุนลูกค้าในช่วงเวลาวิกฤต
  • การเลือกใช้น้ำเสียงและวิธีการสื่อสาร ที่เหมาะสมถือเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การใช้โทนเสียงที่เป็นมิตรและถ่อมตัวในการแถลงการณ์

4. สื่อสารอย่างสม่ำเสมอ และรักษาความน่าเชื่อถือ

  • การสื่อสารที่ล่าช้าหรือคลุมเครืออาจทำให้เกิดข่าวลือและความเข้าใจผิด ดังนั้นแบรนด์จำเป็นต้อง สื่อสารอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกันที่เป็นความจริง
  • ใช้ “ทุกช่องทางที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์บริษัท การแถลงข่าว หรือฝ่ายบริการลูกค้า เพื่อแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • รักษาความสอดคล้องของข้อความ เพื่อป้องกันความสับสน และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฟัง

5. ติดตามผลหลังวิกฤต และป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ

  • วิกฤตไม่ได้จบลงแค่การขอโทษหรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ควรมี “มาตรการระยะยาว เช่น การปรับปรุงนโยบาย การฝึกอบรมพนักงาน การพัฒนากระบวนการผลิต ที่จำเป็นต้องตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา
  • อัปเดตให้ลูกค้าและสาธารณชนทราบว่า “แบรนด์ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดอย่างไร” และ “ดำเนินการอะไรบ้าง” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
  • “สร้างความไว้วางใจครั้งใหม่” ด้วยความโปร่งใสและการปรับปรุงที่จับต้องได้ เช่น รายงานความคืบหน้าผ่านโซเชียลมีเดีย จัดแถลงข่าว หรืออีเมล์ไปยังลูกค้า

วิกฤตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แต่การจัดการที่ผิดพลาดนั้นสามารถป้องกันได้ แบรนด์ที่เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน ตอบสนองอย่างโปร่งใส และให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้วยความรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถฟื้นตัวและแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม วิกฤตจึงไม่ใช่แค่ปัญหาแต่มันคือโอกาส ในการแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของแบรนด์และความสามารถในการฟื้นตัว หากบริหารจัดการได้ดีแบรนด์ของคุณสามารถเปลี่ยนความท้าทาย ให้กลายเป็นคำชื่นชมและความไว้วางใจจากลูกค้าได้นั่นเอง


Share to friends


Related Posts

การบริหารจัดการภาวะวิกฤต (Crisis Management)

ภาวะวิกฤตนั้น คือ สภาวะเหตุการณ์หรือสถานการณ์ชั่วคราวที่ไม่ได้คาดคิด มีความสับสน เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน สร้างให้เกิดความตื่นตระหนก ซึ่งโดยส่วนใหญ่นั้นจะไม่ได้มีการเตรียมการเพื่อรับมือ โดยภาวะวิกฤตนั้นจะส่งให้เกิดผลเสียกับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ซึ่งจะสร้างให้เกิดความกดดัน ภัยคุกคาม ผลกระทบทางลบต่อคนที่เกี่ยวข้อง เช่น บุคคล องค์กร ตั้งแต่จำนวนเล็กน้อย


การสื่อสารในภาวะวิกฤต (Crisis Communication)

ในการทำธุรกิจนั้นทุกองค์กรล้วนมีความเสี่ยงที่จะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น ที่อาจกระทบกับภาพลักษณ์ของตัวองค์กรเอง ซึ่งอาจสร้างผลกระทบไปถึงลูกค้า และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรทุกระดับ (Stakeholder) บางองค์กรอาจคิดว่าเรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องเล็กๆ เป็นแค่เรื่องภายในองค์กร แต่ถ้าเกิดเรื่องเหล่านั้นไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างถูกวิธี ก็อาจลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่


วิธีสร้าง Brand Communication ให้ประสบความสำเร็จ

ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจอะไรก็ตามทั้งแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ เรื่องของการสื่อสารก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดมาโดยตลอดครับ ยิ่งในยุคโซเชียลมีเดียที่อะไรต่างๆนั้นแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วแบบนาทีต่อนาทีกันเลยทีเดียว ทำให้แบรนด์นั้นยิ่งต้องใส่ใจกับคำว่าการสื่อสารแบรนด์ (Brand Communication) เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าพร้อมกับโปรโมทชื่อเสียง



copyright 2025@popticles.com
หากท่านต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ไปเผยเพร่ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของเว็บไซต์