ในวงการนักเขียนโดยเฉพาะการเขียนข่าวเราจะเห็นลักษณะหรือสไตล์การเขียน ที่เป็นลักษณะของการเล่าเรื่องราว (Story) โดยการจัดลำดับความสำคัญ 3 ขั้น ที่อธิบายได้ด้วย Inverted Pyramid หรือปิรามิดหัวกลับที่ถูกใช้มานานเป็นศตวรรษแล้ว โดยเริ่มต้นด้วยรายละเอียดของ Who, What, Why, When และ Where หรือ “ใครกำลังจะทำอะไรที่มีความสำคัญที่ไหนเมื่อไหร่” ไว้ในตอนต้น ตามด้วยรายละเอียดสนับสนุนอื่นๆ ซึ่งมันก็มีความแตกต่างจากงานเขียนในรูปแบบอื่นๆ และต้องบอกว่า Inverted Pyramid นั้นก็ถูกจัดว่าเป็นแบบลักษณะการเขียนในเชิงกลยุทธ์เลยดีเดียวครับ
Inverted Pyramid จะเน้นให้ความสำคัญในช่วงต้นด้วยการกระจายข่าวสารที่จำเป็นต้องรู้ (Need to Know) ให้เป็นวงกว้างมากที่สุดตามด้วยรายละเอียดเสริมที่ไม่ได้สำคัญมากแต่ก็ควรจะรู้เอาไว้ (Nice to Know) ในสัดส่วนที่น้อยลงเพราะต้องการดึงดูดความสนใจให้ได้ในทันที ถ้าลองนำมาเปรียบเทียบกับการเล่าเรื่องราวแบบ Storytelling การทำหนัง หรือโฆษณา เราจะเห็นได้ถึงความต่างกันค่อนข้างชัดเพราะโดยส่วนใหญ่รูปแบบ Storytelling การทำหนัง หรือโฆษณานั้น จะค่อยๆปูทางความน่าสนใจเพิ่มระดับความเข้มข้นไปสู่จุดสูงสุดเป็นทีละขั้นๆไป และอาจมีหักมุมสร้างความตื่นเต้นในบางช่วงนั่นเอง และ Inverted Pyramid นั้นก็แบ่งออกเป็น 3 ชั้นด้วยกัน ได้แก่
1. LEAD (ส่วนนำ)
LEAD นั้นก็คือย่อหน้าแรกๆที่รองจากหัวข้อหรือพาดหัวหลัก (Headline) ที่ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด เพราะมีเป้าหมายคือดึงดูดความสนใจให้ได้ในทันที โดยแน่นอนครับว่ามันจะต้องเป็นตัวปูทางให้เข้ามาสู่การอ่านในตัว Body ให้ได้ และในหลักการของ Inverted Pyramid นั้นก็คือ LEAD จะต้องมีองค์ประกอบของ Who, What, Why, When และ Where หรือ “ใครกำลังจะทำอะไรที่มีความสำคัญที่ไหนเมื่อไหร่” โดยส่วนใหญ่ก็เขียนสรุปกันไม่เกิน 2-3 บรรทัด แบบอ่านปุ้บแล้วเกิดความเข้าใจสงสัยใคร่รู้และอยากอ่านต่อ
2. Body (ส่วนเนื้อหา)
Body หรือส่วนของการอธิบายรายละเอียดโดยเป็นการขยายความจากส่วน LEAD ที่นับว่ามีความสำคัญเช่นกัน โดยในส่วนของ Body นั้นสามารถสรุปรายละเอียดเป็นหลายย่อหน้าได้ แต่ก็ควรเรียงลำดับเหตุการณ์ในการเขียนและร้อยเรียงประเด็นให้ผู้อ่านอ่านแล้วเข้าใจและไม่สับสน
3. Tail (ส่วนท้าย)
Tail ส่วนท้ายสุดของเนื้อหาที่เขียนที่เป็นข้อมูลที่สำคัญน้อยที่สุด โดยเป็นการใส่ข้อมูลที่เอาไว้เสริม เพิ่มเติม หรือสรุปสิ่งที่อธิบายรายละเอียดมาทั้งหมด หากมีอะไรที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ก็สามารถนำมาใส่ไว้ในส่วนนี้ได้ เช่น การสรุปผลรวม การสรุปแนวทาง ข้อมูลธุรกิจ ข้อมูลติดต่อ ช่องทางติดต่อ
เริ่มเขียนในแบบ Inverted Pyramid อย่างไร
- กำหนดประเด็นหลักๆ
อันดับแรกก็ต้องเริ่มต้นด้วยการเขียนหัวข้อหลักๆว่าคุณต้องการเน้นในเรื่องอะไร อยากให้ผู้อ่านได้รู้อะไร เพื่อให้เกิดผลอะไร โดยหากคุณสามารถสรุปให้ผู้อ่านเข้าใจได้ในย่อหน้าเดียวก็นับว่ายิ่งกว่าสำเร็จครับ - จัดลำดับข้อมูลและเนื้อหา
ร่างรายละเอียดเนื้อหาและข้อมูลสนับสนุนเพื่อที่จะบอกเล่าเรื่องราว โดยเรียงลำดับความสำคัญที่เป็นข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นสิ่งที่อยากให้ผู้อ่านรับรู้ให้อยู่ในช่วงต้นๆ และต่อด้วยเนื้อหาสนับสนุนรองลงมา - เขียนให้ชัดเจนและกระชับ
เมื่อร่างรายละเอียดเสร็จแล้วก็ได้เวลาใส่ใจกับการเขียน โดยไม่ต้องเขียนอะไรที่เวิ่นเว้อหรือชักแม่น้ำทั้งห้า เขียนให้ตรงประเด็นกระชับชัดเจนและเข้าใจไปเลย ด้วยการใช้ภาษาที่อ่านง่ายไม่ต้องใช้ภาษาที่ดูหรูหราหรือต้องมาตีความ โดยอาจสรุปเป็นข้อๆได้ - จัดองค์ประกอบสำคัญๆเข้าด้วยกัน
หัวข้อหรือพาดหัวหลัก (Headline) ควรเป็นในลักษณะคำอธิบายและเรื่องราวควรเริ่มต้นด้วยประเด็นหลัก แต่ละหัวเรื่องหรือหัวเรื่องย่อยก็ควรเป็นคำอธิบายเช่นกัน ประโยคแรกของทุกย่อหน้าควรมีความสำคัญที่สุด คำแรกในแต่ละประโยคควรเป็นข้อมูลประกอบและระบุหรือปูทางให้เห็นว่าเนื้อหาใดกำลังจะตามมา เพื่อสร้างให้เกิดความอยากรู้ต่อไป - บทสรุปที่ดี
ไม่ว่าจะเป็นการเขียนในรูปแบบหนังสือ เอกสาร บล็อก บทความ หรือข่าวประชาสัมพันธ์ ก็ควรสรุปให้เห็นภาพรวมโดยอาจทำเป็นข้อๆเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ
การเขียนในแบบ Inverted Pyramid สามารถใช้ได้กับธุรกิจแบบ B2B และ B2C ครับ และยังนำไปปรับใช้ได้กับการเขียนข่าว การเขียนบทความ คำอธิบายสินค้า คำอธิบายธุรกิจ คำอธิบายกิจกรรม และอื่นๆได้อีกมากมาย แต่อาจจะไม่เหมาะกับอะไรที่เป็นแบบแผนอย่าง บทความวิชาการ เอกสารทางราชการ จดหมายทางราชการ รวมถึงเอกสารที่มีความยาวหลายสิบหน้า ยังไงก็ลองนำไปปรับใช้เพื่อให้งานเขียนของคุณนั้นออกมาดึงดูดใจผู้อ่านนะครับ