TCDC ได้เผยธีมสีประจำปี 2025 (Color Theme) ออกมาเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งนับเป็นธีมสีที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสู่จินตนาเชิงกลยุทธ์ (Strategic Imagination) โดยมีความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือสำคัญในการคิดแก้ปัญหาและความท้าทายต่างๆ ทั้งการดิสรัปชั่น ความผันผวน และความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น โดยความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับสีสันมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผ่านความเข้าใจบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตอันใกล้ ที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างความเป็นจริงและจินตนาการมากกว่าที่ผ่านมา เรามาดูสีหลักทั้ง 7 ที่เกิดจากกระบวนการวิเคราะห์และการคัดกรองจากสำนักเทรนด์ต่างๆ จนกลายเป็นตัวแทนของสีในปี 2025 กันครับ
เฉดสีองุ่นเหลือง (Chardonnay)
สีเหลืองอ่อนเฉดเดียวกับองุ่น หรือ Chardonnnay ได้กลายเป็นหนึ่งในสีประจำปี 2025 ซึ่งถูกพูดถึงอย่างหลากหลายจากสำนักเทรนด์ต่างๆ นับเป็นสีที่มาแรงในฤดูกาล Autumn / Winter ว่าเป็นเวลาแห่งการพักผ่อนจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว สี Chardonnnay เป็นสีเหลืองอ่อนที่ปนสีเขียวลงไปเล็กน้อย จนได้สีเหลืองที่ดูสว่างสดใสคล้ายสีเรืองแสงที่ขวนให้นึกถึงดวงดาว ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ในความหมายจึงเปรียบเสมือนเฉดสีแห่งกุญแจนำทางของจิตวิญญาณ โดยสำนักเทรนด์ของจีนอย่าง Top Fashion เผยว่า แนวโน้มเสื้อผ้างานคราฟต์ ผ้ายืด และผ้าพิมพ์ ยังคงเป็นที่นิยมของกลุ่มคน Gen Z และ Gen Alpha การใช้สีเหลืองอ่อนเฉดเดียวกับองุ่นนั้นสามารถจับคู่กับสีเทา สีน้ำตาล และสีเอิร์ธโทนได้ ซึ่งทำให้รู้สึกสบายตา จึงเหมาะกับการทำไป Mix & Match ให้เหมาะกับทุกฤดูกาลได้อย่างลงตัว
เฉดสีฟ้าอ่อน (Clearwater)
สีฟ้าคือหนึ่งในสีหลักที่ให้ความรู้สึกแบบ New Sensitivity ที่เชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติ เทคโนโลยี และมนุษย์ ซึ่งเป็นวิวัฒนาการที่ไม่มีที่สิ้นสุุด นับเป็นการเริ่มต้นสู่อนาคตที่ยั่งยืนที่มาพร้อมกับความกลมกลืน และสะท้อนภาพลักษณ์เชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมที่อยู่ ณ ขณะนั้น และสีฟ้ายังเป็นตัวแทนของความหวังและการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ ที่จะเข้ามาเยียวยาจิตใจของผู้คน ปรับสมดุลของธรรมชาติ และสร้างความหวังด้านนวัตกรรมเพื่อโลกยุคใหม่ หากเป็นเสื้อผ้าโทนสีฟ้าอ่อนเฉด Clearwater ก็อาจให้ความรู้สึกย้อนยุคไปยังปี 90 โดยสีฟ้าจะนำภาพจำเก่าๆในอดีตให้กลับมาฉายใหม่ ในมุมที่ทันสมัยและพร้อมใช้งานมากขึ้น สีฟ้าอ่อนถูกยกให้เป็นสีมาแรงในสาขาแฟชั่น เครื่องประดับ ชุดออกกำลังกาย และอุปกรณ์สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง หากเป็นการตกแต่งพื้นที่ Co-Working Space และห้องประชุม การใช้สีฟ้าอ่อนยังเป็นหนึ่งในการออกแบบด้านความรู้สึก ทำให้ห้องดูไม่อึดอัด ดูทันสมัย ดูสะอาดตาในสไตล์ Retro Future อีกด้วย
เฉดสีชมพูอ่อน (Crystal Pink)
สีชมพูเฉดอ่อนเคยเป็นหนึ่งในสีประจำปี 2016 จากสำนักเทรนด์สี Pantone โดยจับคู่สีชมพูอ่อน Rose Quartz เข้ากับสีฟ้า Blue Serenity ที่ผสานเข้าหากันแบบไร้เส้นแบ่งเพื่อเป็นตัวแทนความเท่าเทียมด้านเพศ ที่ไม่ถูกจำกัดด้วยสีชมพูสำหรับผู้หญิงหรือสีฟ้าสำหรับผู้ชายอีกต่อไป และในปี 2025 สีชมพูอ่อนก็ถูกนำมาใช้อีกครั้งด้วยการคาดการณ์ของสำนักเทรนด์อย่าง Carlin, WGSN และอีกหลายสำนัก Crystal Pink เป็นสีชมพูอ่อนที่ให้ความรู้สึกโปร่งแสงและเล่นกับจิตใจของคน ที่ใช้สื่อสารด้านอารมณ์เป็นหลัก นับเป็นสีที่แสดงถึงการยอมรับตัวตนและมองเห็นความงามที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของมนุษย์ทุกคน จึงเหมาะกับการนำมาใช้ในงานออกแบบทุกประเภท ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ สินค้าแฟชั่น แก็ดเจ็ต สกินแคร์ และน้ำหอม
เฉดสีแดงมะเขือเทศเชอร์รี (Cherry Tomato)
สีแดงเป็นสีที่กระตุ้นให้เกิดการรับรู้และความสนุกสนาน แสดงออกถึงจุดยืนและใช้เป็นภาพจำสำหรับการเฉลิมฉลอง อย่างการปลดล็อกจากโควิด-19 ที่กินระยะเวลายาวนาน ทำให้ร้านค้า บาร์ คาเฟ่ เปิดไฟแบล็กไลต์สีแดงที่แสดงถึงการกลับมาเปิดให้บริการยามค่ำคืนอีกครั้้ง สีแดงยังเคยเป็นสีประจำปี 2017 เพื่อบ่งบอกความเป็นตัวเอง และในปี 2025 สำนักเทรนด์ก็ได้กลับมาเลือกเฉดสีแดงที่ใกล้เคียงอีกครั้้ง ซึ่งนั่นก็คือแดงเฉด Cherry Tomato โดยให้ความเห็นว่า แท้จริงแล้วเทรนด์ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาหนึ่งไม่เคยหายไปไหน และสามารถกลับมาเกิดขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง โดยแรงกระตุ้นจากผู้บริโภคและปรากฏการณ์ทางสังคม โดยในปี 2025 รหัสทางวัฒนธรรม คือ หัวใจสำคัญสำหรับผู้บริโภคทุกกลุ่ม ความภาคภูมิใจในชนชาติที่แสดงออกผ่านสีแดง กระตุ้นให้เกิดความกล้าหาญแม้กระทั่งในชนชาติแอฟริกัน ที่เคยกังวลเกี่ยวกับสีแดงในยุคฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในอดีต ปัจจุบันมีหลายแบรนด์ที่นำนางแบบและนายแบบชาวแอฟริกันมาสวมใส่เสื้อผ้าสีแดงบนรันเวย์ เพราะสีแดงเป็นตัวแทนของความกล้าหาญซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วในทุกพื้นที่ทั่วโลก
เฉดสีเขียวมอส (Grenoble Green)
เฉดสีเขียวมอสได้รับแรงบันดาลใจจากความมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิต ที่ไม่แตกต่างจากประสบการณ์เสมือนจริง และสมดุลด้วยค่าสีจากโทนสีอินทรีย์และสีสังเคราะห์ จากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงสามารถสัมผัสได้ถึงการแสดงออกของการเชื่อมโยงระหว่างผู้คนกับธรรมชาติในแนวทางใหม่ๆ สอดคล้องและเข้ากันได้ดีกับเฉดอื่นๆตั้งแต่สีฟ้าของมหาสมุทรไปจนถึงสีน้ำตาลเข้มของพื้นโลก อีกทั้งเมื่อลดเฉดสีเขียวดังกล่าวให้อ่อนลงก็ยังสร้างความรู้สึกปลอดโปร่ง ขณะเดียวกันเมื่อผสมผสานด้วยสีโทนเข้มก็ยังสามารถแสดงความลึกล้ำของธรรมชาติได้ โดยภาพรวมสามารถบ่งบอกถึงความอ่อนเยาว์ การแตกหน่อ และเจริญเติบโตของธรรมชาติ ไปพร้อมๆกับนวัตกรรมอันล้ำสมัย และเราจะเห็นเฉดสีเขียวมอส (Grenoble Green) ปรากฏอยู่ในกลุ่มงานออกแบบสถาปัตยกรรม และการตกแต่งภายในที่คำนึงถึงสุขภาวะและความยั่งยืน หรือพื้นที่ที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความสงบและความสมดุล
เฉดสีม่วงอมน้ำเงิน (Skipper Blue)
สีม่วงอมน้ำเงินเป็นเฉดสีที่สำนักเทรนด์ Coloro คาดการณ์ว่าจะเป็นสีหลักแห่งปี 2025 โดยสะท้อนถึงอิทธิพลที่จะเกิดขึ้นระหว่างโลกจริง โลกเสมือนจริง และนวนิยายแฟนตาซี โดยเฉพาะสีม่วงในชื่อ Future Dusk เฉดสีเข้มดุดันและน่าดึงดูด อยู่ระหว่างเฉดสีน้ำเงินและสีม่วงที่ให้ความรู้สึกลึกลับและหลีกหนีจากความวุ่นวาย ทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิดการเปลี่ยนผ่าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนจากความมืดไปสู่แสงสว่างหรือช่วงค่ำสู่รุ่งเช้า นับเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงในระบบธรรมชาติที่ส่งผลต่อผู้คน นอกจากนี้เฉดสีม่วงยังให้ความรู้สึกเหนือจริงและสอดคล้องกับยุคอวกาศ ซึ่งเดินหน้าไปพร้อมกับพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มโอกาสให้ธุรกิจต่างๆตั้งแต่การท่องเที่ยวในอวกาศ ไปจนถึงการเพิ่มขึ้นของการสำรวจดาวเคราะห์น้อยเพื่อทรัพยากรและบ้านหลังใหม่ และที่สำคัญเฉดสีดังกล่าวจะกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารทางความคิดสร้างสรรค์ที่ผูกโยงไปกับเทคโนโลยีอันล้ำสมัย เช่น Generative AI ซึ่งค่อยๆลบเส้นแบ่งระหว่างความเป็นจริง และโลกแห่งแฟนตาซีจนขยายทุกภาพฝันให้เกิดขึ้นจริงได้
เฉดสีเทาอมน้ำตาล (Smokery Olive)
สีเทาอมน้ำตาล (Smokery Olive) เป็นสีโทนเข้มที่ Interior Colour Forecast ยกให้เป็นเฉดสีที่น่าจับตามอง โดยใช้ชื่อว่า Sustained Grey ซึ่งแสดงออกถึงความงดงามที่เน้นประโยชน์ใช้สอย เป็นรากฐานของวิธีคิดสำคัญที่ทำให้งานสร้างสรรค์อยู่เหนือกาลเวลา โดยเฉดสีเทายังสามารถผสมผสานเข้ากับรูปแบบการออกแบบที่หลากหลายได้อย่างลงตัว ทั้งรูปแบบที่เรียบง่ายหรือซับซ้อนตั้งแต่สำนักงานสมัยใหม่ไปจนถึงการตกแต่งภายในที่หรูหรา สีที่เรียกว่าสีแห่งอรรถประโยชน์นี้จึงมีแนวโน้มการสื่อสารถึงความชัดเจนที่เรียบง่าย โดยนิตยสาร Viewpoint ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า เฉดสีเทาดังกล่าวเป็นการสื่อสารถึงการลดทอนเพื่อแก้ไของค์ประกอบที่มากจนเกินไป สิ่งที่เหลืออยู่จึงเป็นความสวยงามและดูพิเศษบนความเรียบง่าย และเมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมการบริโภคก็หมายถึง หลักการที่ว่าด้วยการซื้ออย่างมีวิจารณญาณที่ดี ด้วยเหตุนี้ทิศทางการออกแบบทั้งรูปทรง รายละเอียด โครงสร้าง ฟังก์ชันต่างๆ จึงถูกคิดและประเมินถึงห่วงโซ่การผลิตอย่างเป็นระบบ ที่ออกแบบมาและสามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้นั่นเอง
Source: TCDC